เปลี่ยนวันหยุดไม่ได้หยุดให้สุขที่สุด ด้วยแนวทางสร้างวันหยุดที่ดี | Techsauce

เปลี่ยนวันหยุดไม่ได้หยุดให้สุขที่สุด ด้วยแนวทางสร้างวันหยุดที่ดี

เคยรู้สึกไหม ทำไมการหยุดงานไปพักผ่อนของเราถึงไม่มีความสุขเลย… 

ทั้งๆ ที่การไปเที่ยวควรจะทำให้เรามีความสุข แต่กลับเต็มไปด้วยความกังวล ทั้งเรื่องงานที่จะต้องเจอหลังกลับจากวันหยุด รวมถึงกลัวว่าจะเพิ่มงานให้เพื่อนร่วมงานตอนเราไม่อยู่ เราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปหรอ ? 

เพราะการพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญ

นักวิจัยเรียกการพักผ่อนว่าการฟื้นฟู ถือเป็นการรีเซตความเครียดจากการทำงาน นี่ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพและการเติบโตที่ยั่งยืนในการทำงาน 

เช่นเดียวกับที่นักกีฬาต้องพักผ่อนและฟื้นฟูร่างกายเป็นระยะ ๆ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุดและหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ มนุษย์เงินเดือนก็ต้องใช้เวลาพักจากงานเพื่อพักฟื้นจากความเครียดจากการทำงาน เพื่อเติมพลังให้กับร่างกายและจิตใจ

ร่างกายมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทนต่อความเครียดเรื้อรัง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ไม่ได้หยุดพักผ่อนเลย มีความเสี่ยงสูงต่อความเหนื่อยล้า แรงจูงใจและประสิทธิภาพการทำงานต่ำ รวมถึงเหนื่อยหน่ายในการทำงานมากขึ้น ในขณะที่คนที่หยุดพักผ่อนเป็นประจำ จะพักผ่อนได้ดีขึ้น พอใจในการทำงานมากขึ้น มีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้นและยังเพิ่มความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย

ถึงแม้การพักผ่อนจะมีแต่ข้อดี แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเลือกที่จะไม่พัก?

แม้ว่าการพักผ่อนจะมีข้อดีที่เห็นได้ชัด แต่จากการศึกษาของ Skynova พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนอเมริกันใช้เวลาหยุดเพียง 14 วันต่อปี นอกจากนี้ 91% ของชาวอเมริกันบอกว่าภาระงานของพวกเขาทำให้พวกเขาไม่สามารถสละเวลาได้ตามต้องการ 

ชาวอเมริกันกว่าครึ่งหนึ่ง ไม่ได้ใช้วันหยุดตามสวัสดิการที่ได้รับ เหตุผลหลักคือกังวลว่าจะส่งผลเสียต่อโอกาสในการก้าวหน้า หรือแม้กระทั่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียงานไป 

นอกจากนี้ยังมีความรู้สึกที่การหยุดพักผ่อนของเรา จะไปเพิ่มงานให้กับคนอื่นในทีม อีกทั้งหลังจากการหยุดแล้ว ภาระงานมากมายหลังจากวันหยุดยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การพักผ่อนไม่เป็นการพักผ่อนอีกต่อไป พนักงานหลายคนต้องทำงานขณะเที่ยว หรือกดดันตัวเองในการทำงานให้ทันหลังจากกลับจากการพักผ่อน ทำให้ประโยชน์ที่ควรได้จากการพักผ่อนกลับไม่ได้มากเท่าที่ควร

สามแนวทางสร้างวันหยุดให้เป็นวันที่สุขที่สุด 

  • จัดลำดับความสำคัญและวางแผนล่วงหน้า

จัดลำดับความสำคัญของงานตั้งแต่ก่อนหยุดพักผ่อน อะไรที่ควรให้ความสำคัญก่อน-หลัง รวมถึงการวางแผนงานล่วงหน้า มอบหมายความรับผิดชอบให้กับเพื่อนร่วมงานให้เหมาะสม พูดคุยกับทีมในเรื่องของเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถวางแผนล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะไม่กระทบกับวันหยุด

  • ปิดทุกการแจ้งเตือนในวันหยุด

เนื่องจากการทำงานในปัจจุบันสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่เปิดจากโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล หรือแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการทำงานอื่น ๆ ทำให้อดไม่ได้ที่จะเข้าไปเช็กความคืบหน้าของงาน การศึกษาโดย Passportphoto Online พบว่ากว่า 68% ของกลุ่มตัวอย่างทำงานผ่านโทรศัพท์ขณะเดินทาง และกว่า 62% กล่าวว่าการใช้โทรศัพท์เพื่อทำงานในช่วงวันหยุดทำให้การพักผ่อนเป็นเรื่องยาก

ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือปิดเสียงการแจ้งเตือน ย้ายไอคอนแอปไปไว้หน้าที่มองเห็นยาก เพื่อที่จะใช้เวลาในวันหยุดได้อย่างเต็มที่ และควรไว้ใจเพื่อนร่วมงานว่าจะสามารถทำงานได้ตามแผนงานล่วงหน้าที่วางเอาไว้

  • เพิ่มการพักสั้น ๆ หลังหยุดพักผ่อน

เคยเป็นไหม ไปเที่ยวต่างจังหวัดกลับมา เผชิญรถติด เหนื่อยกับการเคลียร์เสื้อผ้า วันต่อมาก็ต้องทำงานอีกแล้ว ทำให้รู้สึกช็อกเมื่อถึงวันเปิดงาน สิ่งนี้แก้ได้ด้วยการ เพิ่มวันพักสั้นๆ หลังจากไปเที่ยวยาวๆ มาแล้ว 

เช่น หลังกลับจากทริปไปเที่ยว เราอาจจะเผื่อเวลาให้ตัวเองพักอยู่เฉยๆ สัก 1-2 วัน หรืออาจจัดตารางการเปิดงานด้วยการเคลียร์งานเบาๆ ไม่ต้องประชุมแน่นมาก เป็นเหมือนการอุ่นเครื่องให้เราค่อยๆ เตรียมตัว

ผลการศึกษาพบว่าการพักผ่อนเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูด้านจิตใจและทำงาน อีกทั้งยังรักษาประโยชน์ของการพักผ่อนให้คงอยู่ได้นานยิ่งขึ้น

การพักผ่อนในวันหยุดถือเป็นหนึ่งในวิธีที่จะฟื้นฟูพลังงานและประสิทธิภาพในการทำงานได้ โดยต้องมีการวางแผนที่เหมาะสม เพียงแค่ปรับตามแนวทางสามข้อนี้ จะช่วยสร้างสมดุลการทำงานกับวันหยุดของให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องมาพะวงหน้าพะวงหลังเรื่องงานในวันหยุดอีกต่อไป 

อ้างอิง: inc, hbr, forbes

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เทียบสวัสดิการหญิง ไทยสู้ใครได้บ้าง?

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามาดูว่าการต่อสู้กว่า 1 ศตวรรษที่ผ่านมา ในปัจจุบัน ‘สิทธิสตรี’ และสวัสดิการหญิงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว...

Responsive image

Bridgit Mendler อดีตดาราเด็ก Disney ผันตัวมาเป็น CEO บริษัทเทคโนโลยีอวกาศ

Bridgit Mendler อดีตดาราเด็กและนักร้องชื่อดังจาก Disney Channel ล่าสุดเธอผันตัวมาทำ Startup สถานีอวกาศภาคพื้นดินแล้ว...

Responsive image

5 เทคนิคการเขียน Journal ที่ช่วยพัฒนาทักษะของผู้นำ

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 5 แนวทางเพื่อพัฒนาทักษะผู้นำผ่านการเขียน Journal...