Google พัฒนา MethaneSAT ดาวเทียมวัดปริมาณก๊าซพิษและติดตามตำแหน่ง | Techsauce

Google พัฒนา MethaneSAT ดาวเทียมวัดปริมาณก๊าซพิษและติดตามตำแหน่ง

ดีลใหญ่สิ่งแวดล้อม Google ได้ร่วมมือกับ Environmental Defense Fund (EDF) กลุ่มสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนา MethaneSAT ดาวเทียมติดตามการปล่อยก๊าซมีเทนจากนอกโลก

ทำไมถึงต้องเป็นก๊าซมีเทน ไม่ใช่คาร์บอนไดออกไซด์

ก๊าซมีเทน (Methane) เป็นก๊าซเรือนกระจกอันดับที่ 2 รองจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลให้โลกร้อนได้มากที่สุด และเป็นหนึ่งในก๊าซที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะจากฟาร์ม หลุมฝังกลบขยะ หรือแม้แต่มูลสัตว์ 

ในปัจจุบันทั่วโลกมักมุ่งเน้นไปที่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เชื่อไหมว่าความจริงแล้วมีเทนสามารถก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่าคาร์บอนถึง 80 เท่า 

แต่อายุไขของก๊าซมีเทนนั้นสั้นกว่าคาร์บอนมาก ดังนั้น หากหันมามุ่งเน้นในการลดระดับการปล่อยก๊าซมีเทนลง จะทำได้รวดเร็วกว่าลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยชะลอความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้

Steven Hamburg หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ EDF เผยว่า “ก๊าซมีเทนกำลังสร้างปัญหามากมายให้กับโลกในขณะนี้ ดังนั้นยิ่งเราดำเนินการจัดการมันได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งดีต่อโลกในระยะยาวมากเท่านั้น”

ทาง Google และ EDF จึงได้ร่วมกันพัฒนา MethaneSAT ดาวเทียมติดตามการปล่อยก๊าซมีเทน โดยโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลนิวซีแลนด์และกองทุน Bezos Earth Fund เป็นเงินจำนวนกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.6 พันล้านบาท)

MethaneSAT ทำงานยังไง?

ดาวเทียม MethaneSAT จะถูกนำมาใช้ร่วมกับอัลกอริทึมของ Google 

ดาวเทียมโคจรรอบโลกวันละ 15 รอบในทุก ๆ วัน และมันจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระดับมีเทนในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ผลิตน้ำมันและก๊าซชั้นนำของโลก ต่อมาอัลกอริทึมของ Google Cloud ก็จะเริ่มติดตามปริมาณมีเทนที่ถูกปล่อยออกมาในพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากนี้ Google ยังพยายามสร้างแผนที่ที่สามารถระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซมีเทนจากทั่วโลก ด้วยเทคโนโลยีตัวเดียวกับที่ใช้ใน Google Maps ซึ่งตอนนี้เริ่มฝึกฝน AI ให้เรียนรู้การตรวจจับอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ

เพื่อที่ AI จะสามารถรวบรวมข้อมูลที่ได้จากดาวเทียม MethaneSAT มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่ตรวจจับได้เอง และประมวลผลออกมาเป็นแผนที่ที่ระบุว่า ก๊าซมีเทนเหล่านี้ถูกปล่อยออกมาจากที่ไหน และสามารถดำเนินการเพื่อหยุดยั้งมลพิษได้

เพราะในปัจจุบันหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกาวัดปริมาณก๊าซมีเทนที่ปล่อยออกมาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก Yael Maguire รองประธานและผู้จัดการทั่วไปของทีม Geo Sustainability บริษัท Google กล่าวว่า “บริษัทเชื่อว่าการที่โลกเรามีข้อมูลประเภทนี้จะเป็นประโยชน์มากสำหรับบริษัทพลังงาน นักวิจัย และรัฐบาล ในการร่วมมือกันลดปริมาณก๊าซมีเทนที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม” 

อ้างอิง: theverge

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ปัญหาสภาพอากาศภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง AI จะช่วยโลกได้อย่างไร?

ผลกระทบมากกับความท้าทายใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิธีที่เราผลิตและใช้พลังงานและ AI มีศักยภาพในการช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปล...

Responsive image

อินเดียเลี้ยงคนทั้งโลกได้ ทำไมคนในชาติยังอดอยาก?

อินเดียเลี้ยงปากท้องคนทั้งโลกได้และกำลังจะกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ กลับติดอันดับต้น ๆ ประเทศที่ประชากรหิวโหยและขาดแคลนอาหารมากที่สุดในโลก เป็นเพราะอะไรกัน ?...

Responsive image

Climate quitting เทรนด์การลาออกแบบใหม่ที่ฮิตในกลุ่ม Gen Z และ Millennials

ถ้าไม่รักษ์โลก ไม่ขอทำงานด้วย รู้จัก ‘Climate Quitting’ เทรนด์ใหม่คนทำงานที่ยอมลาออกถ้าบริษัทไม่มีนโยบายช่วยสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ...