ประเทศ 4.0 ของจริงเป็นอย่างไร ? ตามไปดูเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม รัฐบาลทำอย่างไรถึงโตวันโตคืน | Techsauce

ประเทศ 4.0 ของจริงเป็นอย่างไร ? ตามไปดูเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม รัฐบาลทำอย่างไรถึงโตวันโตคืน

จากแผนยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับประเทศจากอุตสาหกรรม 4.0 ของเวียดนาม สู่การเป็น ประเทศ 4.0 ส่งผลให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก จากการที่ในระยะหลังจะเห็นได้ว่าเวียดนามได้ลงทุนทรัพยากรต่าง ๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างพื้นฐาน หรือการเตรียมพร้อมของแรงงานก็ตาม  ในบทความนี้เราได้มีการสรุปความน่าสนใจและปัจจัยที่ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดด และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ เพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวมด้วยเช่นกัน

ประเทศ 4.0ภาพจาก unsplash

โอกาสที่ต้องรีบคว้า เวียดนามเร่งนำดิจิทัลมาใช้ หนุนการเติบโต

จากการที่เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ จึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และแม้จะเติบโตไม่เร็วเท่าประเทศอย่างสิงคโปร์และอินโดนีเซียที่ถูกมองว่าเป็นมหาอำนาจในอาเซียนรายหนึ่งเลยทีเดียว 

แนวโน้มการพัฒนาที่น่าจับตามอง จะเห็นได้ว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มีการปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีบรรยากาศทางการเมืองที่มั่นคง พร้อมนโยบายเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า และยังมีการเติบโตที่ยั่งยืน ดังนั้นจึงทำให้เป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับทั้งประชาชนในประเทศและนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาแสวงหาโอกาสทางการค้าจากศักยภาพของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งการที่เศรษฐกิจของเวียดนามมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็มาจากการดึงดิจิทัลมาใช้ในการปรับปรุงการทำงานของทั้งระบบ 

ประเทศ 4.0

จากรายงานของ e-Conomy SEA ซึ่งจัดทำโดย Google, Temasek, Bain & Company ได้คาดการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามว่าจะเติบโตไปจนถึง 52,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2025 ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 6 ของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่ารวม 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยเศรษฐกิจดิจิทัลในเวียดนามมีการดำเนินงาน 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ระบบ E-commerce, ระบบสนับสนุนการท่องเที่ยวออนไลน์, ระบบการสื่อสารแบบดิจิทัล และเทคโนโลยีลอจิสติกส์ ซึ่งในส่วนของระบบ E-commerce ก็เรียกได้ว่าได้รับความนิยมอย่างอย่างล้นหลามจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 

ในปี 2020 ที่ผ่านมาเวียดนามมีรายได้จาก E-commerce สูงถึง 11,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปี 2019 และคิดเป็น 5.5% ของยอดค้าปลีกทั้งหมดในประเทศ จึงนับว่าเป็นทางเลือกที่ดีในการเดินเกมเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และยังมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงบริการทางการเงินเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มตัว เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในเวียดนามยังคงมีการใช้บริการทางธนาคารกันมาก 

นอกจากนี้ เวียดนามยังเดินหน้าพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ AI ในแผนพัฒนามาร่วม 10 ปี ทำให้เห็นการขยายตัวของระบบดิจิทัลที่มีการใช้บริการผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อย่างระบบ Cloud, Big Data และ IoT (Internet of Things) และยังมีศักยภาพในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ในการดำเนินงานในระบบอีกด้วย

ประเทศ 4.0ภาพจาก unsplash

ทุนต่างชาติไหลเข้าเวียดนาม พร้อมเกื้อหนุนทั้งเทคโนโลยี เงินทุน และพัฒนาศักยภาพของแรงงาน

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศ จะมีรัฐบาลเป็นแกนนำหลักในการกระตุ้นให้ธุรกิจต่างๆ ก้าวขึ้นมาผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และกิจกรรมทางธุรกิจของเวียดนาม 96% มาจาก ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย  (MSMEs) 

แต่อันที่จริงแล้วผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเป็นรายแรก ๆ นั้นกลับเป็นบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ เพราะบริษัทเหล่านี้พร้อมด้วยความสามารถในด้านเทคโนโลยี และเงินทุน  

Tanguy Le Barber ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ Roadenn กล่าวในงาน SEA Digital Week ปี 2021 ว่า ผลกระทบจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ได้ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆในประเทศ ซึ่งผลดีก็คือเมื่อบริษัทต่างชาติเข้ามา ก็จะลงทุนจ้างบุคลากรที่มีความสามารถในเวียดนาม แทนที่จะเป็นพนักงานจากบริษัทต่างประเทศ 

ยกตัวอย่างเช่น Samsung ที่ได้เปิดตัวโครงการ Samsung Talent ในปี 2560 เพื่อมอบทุนการศึกษาจำนวน 8.5 พันล้านดอง (ประมาณ 369,350 เหรียญสหรัฐฯ ) เพื่อเพิ่มโอกาสในการวิจัยและสร้างอาชีพสำหรับผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมของเวียดนามโดยเฉพาะ 

นอกจากนี้ Samsung ยังได้เริ่มสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) แห่งใหม่มูลค่า 220 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 โดยมุ่งที่จะเพิ่มกำลังคนในการวิจัยจาก 2,200 เป็น 3,000 คนภายในปี 2565

จากสถานการณ์ดังกล่าว Bran Carroll CEO ของ TNEX ธนาคารดิจิทัลของเวียดนาม จึงมองว่า การเข้ามาของบริษัทข้ามชาติในเวียดนาม ไม่เพียงแต่จะกระตุ้น GDP ของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนในประเทศอีกด้วย 

จากรายงานของ Foreign Investment Agency (FIA) พบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูงถึง 1.51 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี บริษัทเหล่านี้จึงเป็นตัวแปรหลักๆที่กำหนดทิศทางของเศรษฐกิจประเทศให้เข้าสู่ความเป็นดิจิทัลได้อย่างเต็มตัว

ขณะที่ธุรกิจ SMEs ที่มีสัดส่วนมหาศาลใน GDP ของประเทศ กลับมีความยากลำบากในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล จากอุปสรรคที่มาจากความรู้ความสามารถของคนในบริษัทขนาดเล็ก 

Robert Tran หัวหน้าการจัดการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเสี่ยงทางเทคโนโลยีของบริษัท Ernst มองว่า ปัจจุบันธุรกิจเหล่านี้เริ่มเห็นช่องทางที่จะปรับตัวจากการใช้ระบบ  Cloud  ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในระยะยาว และเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจขนาดเล็กของประเทศ 

Anthony Lim ผู้จัดการภูมิภาคของ Fortinet ยังกล่าวอีกว่า การใช้ระบบ Cloud อาจช่วยธุรกิจเล็กๆในประเทศเติบโตได้ทันธุรกิจใหญ่เลยทีเดียว

ประเทศ 4.0ภาพจาก vietnamtimes

เวียดนามกับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่ไม่ไกลเกินเอื้อม 

ปัจจุบัน เวียดนามตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลใน GDP ของประเทศเป็น 30% และเพิ่มผลผลิตโดยเฉลี่ย 7.5% ต่อปี และเป้าหมายอื่นๆคือการสร้างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ออปติก (FTTx) และบริการเทคโนโลยีเครือข่ายความเร็วสูง 5G อย่างทั่วถึงของประชาชนในประเทศ

อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้เสร็จสมบูรณ์ และการจัดตั้ง Smart City ในเขตเศรษฐกิจสำคัญๆ ทั่วทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายระดับภูมิภาคและระดับโลกของ Smart City 

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะสร้าง Startup ที่ขึ้นเป็นยูนิคอร์นให้ถึง 10 ราย ภายในปี 2030

โดยเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมาเวียดนามได้เริ่มต้นโปรแกรมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลระดับชาติ โดยปรับปรุงกิจกรรมการจัดการและการบริหารของรัฐบาล กิจกรรมการผลิตและธุรกิจขององค์กร ตลอดจนวิถีชีวิตและการทำงานโดยรวม โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลและเศรษฐกิจ และการจัดตั้งธุรกิจดิจิทัลของเวียดนามที่มีความสามารถระดับโลก 

ด้านนายกรัฐมนตรี Pham Minh Chinh ของเวียดนาม ได้เรียกร้องให้กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร (MIC) จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลภายในเดือนสิงหาคมปี 2021 เพื่อเพิ่มโอกาสจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (Industry 4.0)

ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่รวดเร็วของประเทศ มีส่วนมาจากการพัฒนาของมูลนิธิโทรคมนาคมและไอที ทำให้เกิดความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตในระดับสูง และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก 

โดยเป้าหมายในตอนนี้จึงเป็นการมุ่งให้เกิดการใช้ดิจิทัลอย่างน้อย 10% ในทุกภาคส่วน และการใช้อินเทอร์เน็ต 80% สำหรับทุกครัวเรือน 

Bran Carroll CEO ของ TNEX ธนาคารดิจิทัลของเวียดนาม กล่าวว่า บริษัทต่างๆจะต้องเริ่มดำเนินการตามทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมองว่าการเข้าสู่ดิจิทัลไม่ได้เป็นเรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องการเรียนรู้ของผู้คน

อย่างไรก็ตาม เวียดนามก็กำลังเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ ที่รวมถึงการต่อสู้เพื่อให้ได้ข้อกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลยุทธ์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมดิจิทัล ซึ่งมุ่งที่จะสร้างความร่วมมือในการเข้าสู่ดิจิทัลของทุกๆภาคส่วน ที่รวมไปถึงภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคน


อ้างอิง : techwireasia , vietnamtimes , w.media , opengovasia


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

2024 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยต้องโฟกัสอะไร? รู้จักกลยุทธ์ 2C โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย เจาะปัจจัยหลักที่นักการตลาดดิจิทัลต้องรู้

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 2 กุญแจชิ้นสำคัญอย่าง Content & Convenience ที่กุมชะตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในยุคดิจิทัล...

Responsive image

AirAsia MOVE ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ สู่ผู้นำแพลตฟอร์มเดินทาง OTA แบบคุ้มครบจบในแอปเดียว พร้อมแพ็กเกจบินทั่วอาเซียนแบบไม่จำกัด

airasia Superapp ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ในชื่อ AirAsia MOVE พร้อมปรับโฉมแอปพลิเคชันใหม่ และเสริมกลยุทธ์ด้านธุรกิจเพื่อผลักดันให้ AirAsia Move เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์ม OTA (ตัวแทนด้านก...