คุยกับ KakaoPage เจาะกลยุทธ์ยืนหยัดเป็นแพลตฟอร์ม content หลักของเกาหลี | Techsauce

คุยกับ KakaoPage เจาะกลยุทธ์ยืนหยัดเป็นแพลตฟอร์ม content หลักของเกาหลี

ถ้าพูดถึงบริษัท Tech ของเกาหลีก็ต้องมีชื่อ Kakao Corp เป็นหนึ่งในนั้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะแอปแชท KakaoTalk ที่ยังคงยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งในเกาหลีใต้ ขณะที่คู่แข่งอย่าง Naver บริษัทแม่ของ LINE ได้ขยายออกไปตลาดต่างประเทศมากกว่า ปัจจุบัน KakaoTalk มี active users ต่อเดือนอยู่กว่า 50 ล้านคน 

Kakao มี Ecosystem ของตัวเองที่ครอบคลุมไม่แพ้บริษัท Tech เจ้าอื่น โดยมี service แตกแขนงเพื่อบริการแทบจะทุกอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น KakaoStory, KakaoPage, KakaoTV, KakaoMusic, Kakao Friends, KakaoPay, KakaoGames, E-Commerce, Kakao Map/Metro/Bus และอื่นๆ ในชื่อของ Daum ซึ่งล้วนพัฒนามาบนแพลตฟอร์ม mobile ล้วนๆ 

ซึ่งหนึ่งในบริการที่แข็งแรงที่สุดภายใต้ร่ม Kakao ก็คือ KakaoPage แพลตฟอร์ม content บนมือถือยักษ์ใหญ่ของเกาหลี โดยล่าสุดที่งาน K-Startup Week Comeup 2019 เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Techsauce ได้พบกับ JH Ryu, Chief Marketing Officer ผู้บริหารหญิงของ KakaoPage จึงไม่พลาดชวนมาพูดคุยถึงเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัลและความพิเศษของแพลตฟอร์มนี้กัน





 

JH Ryu, Chief Marketing Officer, KakaoPage


Kakao มีแพลตฟอร์ม content หลักๆ อยู่สองอัน คือ KakaoPage และ Daum Webtoon โดยมี content หลักคือ Webtoon หนังสือ E-Book นิยาย ภาพยนตร์ ละคร และรายการทีวี ทำให้ทั้งสองแพลตฟอร์มเป็นผู้ให้บริการด้าน Story Business อันดับ 1 ของเกาหลีใต้ ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านคนต่อเดือน และกว่า 50% เข้ามาใช้ service ทุกวัน 

คู่แข่งที่ใหญ่ที่สุดของเราอย่าง Naver ยิ่งใหญ่มาตั้งแต่ยุคที่คอมพิวเตอร์เข้ามาแรกๆ ทำให้ service ส่วนใหญ่ของ Naver เหมาะกับการใช้บน PC มากกว่า ขณะที่ Kakao มีข้อได้เปรียบบน Mobile Platform ซึ่งในช่วงแรก ๆ เราได้รับการสนับสนุนจาก KakaoTalk ค่อนข้างมาก แต่ตอนนี้เราได้สร้าง Ecosystem ของตัวเองขึ้นมาแล้ว 

เทรนด์การบริโภค content บนมือถือ 

พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอด เมื่อก่อนเราต้องไปร้านหนังสือหรือห้องสมุดเพื่อหานิยายเล่มใหม่มาอ่าน มันมีข้อจำกัดหลายอย่างทั้งเรื่องของเวลาและสถานที่อยู่ แต่ในยุคดิจิทัล ผู้คนสามารถบริโภคเนื้อหาได้ทุกที่ ทุกเวลา มันกลายเป็นชีวิตประจำวัน

สำหรับ KakaoPage เราถูกมาพัฒนามาบนแพลตฟอร์มมือถือตั้งแต่เริ่มแรก ดังนั้น traffic เกือบทั้งหมด ประมาณ 98% จึงมาจาก mobile ซึ่งเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับ target user ของเรา ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงคนช่วงอายุ 40 กว่าๆ ที่นิยมบริโภค content ผ่านมือถือ

แม้ว่าเกาหลีอาจจะยังมีจำนวนคนอ่าน E-book ไม่มากเท่าในอเมริกา แต่เรามีวิธีทำให้คนติดตามอ่านหนังสือ นิยาย หรือ webtoon ออนไลน์ได้ เช่น หมวดที่ได้รับความนิยมมาก อย่างนิยายเกาหลี จะถูกปรับรูปแบบ content ให้เหมาะกับ mobile platform โดยผู้อ่านสามารถอ่านนิยายหนึ่งตอนให้จบได้ภายใน 5 นาที หากนิยายเรื่องหนึ่งมี 80 ตอน ก็จะเทียบเท่ากับการอ่านหนังสือยาวๆ 2 เล่ม ซึ่งมันตอบโจทย์คนที่อาจมีเวลาสั้นๆ ระหว่างนั่งบนรถไฟใต้ดินหรือช่วงเวลาพักระหว่างวัน 

โอกาสสำหรับ Creator รุ่นใหม่

สำหรับเทรนด์ของนักเขียนก็ต่างออกไปด้วย ปัจจุบันมีโมเดลที่เป็นที่นิยมก็คือ การปล่อย Content หรือ E-book บนแพลตฟอร์มก่อน แล้วถ้าเรื่องนั้นมีกระแสตอบรับดี ก็จะถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือออกมา ซึ่งปัจจุบันมันกลายเป็นโมเดลหลักของ Story Business ไปแล้ว เนื่องจากมันลดต้นทุนได้ ไม่สิ้นเปลืองกระดาษและต้นทุนในการตีพิมพ์ตั้งแต่ต้น 

อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับ Creator รุ่นใหม่ โดยเฉพาะการสร้างฐานแฟนคลับของตัวเอง สร้าง community ให้เกิดขึ้นบนออนไลน์ ส่วนเราในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มก็ช่วยทำ Marketing โปรโมทหนังสือ หรือทำโปรโมชัน ออกคูปองให้กับ user เพื่อใช้สำหรับลดราคาในการอ่านเรื่องนั้นๆ ได้ด้วย

ปัจจุบันมี Webtoon และนิยายหลายเรื่องที่ได้รับความนิยมบนโลกออนไลน์ถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ เช่น What's wrong with secretary Kim? 

Kakao พัฒนาเนื้อหาเองด้วยหรือไม่? 

สำหรับนิยายและ Webtoon เรามี Ecosystem ที่ค่อนข้างใหญ่มาก เราทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์และ Agency ใหญ่ๆ ในวงการเพื่อร่วมกันพัฒนาเนื้อหาและเผยแพร่ และเราก็มี Studio ของตัวเองที่ทำงานร่วมกับ creator ด้วยเช่นกัน 

แต่สำหรับภาพยนตร์และละคร เรายังไม่ได้ผลิตเอง แต่ว่าตอนนี้เราก็กำลังศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้าง Original Content ขึ้นมาด้วย 

แผนขยายสู่ต่างประเทศ

ในการจะต่อกรกับคู่แข่ง เราให้ความสำคัญกับการขยายไปตลาดต่างประเทศมาก ตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วและในปีนี้ เราได้ส่งออก Content ของเราไปที่ จีน ยุโรป อเมริกา และตลาดเอเชียบ้างแล้ว ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ขยายตัวแพลตฟอร์มออกไปด้วย แต่เราก็ได้เห็นศักยภาพของตลาดต่างประเทศ

สำหรับตัวแพลตฟอร์มเราได้ทดลองขยายไปที่ญี่ปุ่นก่อนแล้ว และค่อนข้างประสบความสำเร็จ ทำให้เห็นว่าตลาดยังคงเปิดกว้างสำหรับเราอยู่ 

ตั้งแต่ปีหน้า เรามีแผนขยายแพลตฟอร์มสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยเป้าหมายหลักของเรา คือ ประเทศไทยและไต้หวัน 

ผู้นำหญิงในธุรกิจ Content 

เป็นเรื่องจริงที่แม้กระทั่งตอนนี้ เรายังไม่ค่อยเห็นผู้บริหารหรือคนในตำแหน่งสูงๆ เป็นผู้หญิงมากนักในเกาหลีใต้ แต่เทรนด์ในตอนนี้ก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในธุรกิจด้าน Content ที่มีผู้บริหารหญิงค่อนข้างเยอะและมีพนักงานหญิงเป็นส่วนใหญ่

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่า การผลิตเนื้อหาที่มีผู้บริโภคเป็นผู้หญิงค่อนข้างเยอะ ทั้งในละคร ภาพยนตร์ Webtoon ละครเพลง หรือ นิยาย จำเป็นที่จะต้องมีผู้นำหญิงที่มีความเข้าใจผู้บริโภคได้ดีกว่า ดังนั้นในอนาคตคุณจะได้เห็นผู้หญิงเป็นผู้บริหารในแวดวง Content และธุรกิจด้าน Entertainment มากขึ้นอย่างแน่นอน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

2024 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยต้องโฟกัสอะไร? รู้จักกลยุทธ์ 2C โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย เจาะปัจจัยหลักที่นักการตลาดดิจิทัลต้องรู้

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 2 กุญแจชิ้นสำคัญอย่าง Content & Convenience ที่กุมชะตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในยุคดิจิทัล...

Responsive image

AirAsia MOVE ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ สู่ผู้นำแพลตฟอร์มเดินทาง OTA แบบคุ้มครบจบในแอปเดียว พร้อมแพ็กเกจบินทั่วอาเซียนแบบไม่จำกัด

airasia Superapp ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ในชื่อ AirAsia MOVE พร้อมปรับโฉมแอปพลิเคชันใหม่ และเสริมกลยุทธ์ด้านธุรกิจเพื่อผลักดันให้ AirAsia Move เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์ม OTA (ตัวแทนด้านก...