ในช่วง 5 - 6 ปีมานี้ เรียกได้ว่าไม่มีแอปพลิเคชั่นไหนที่มาแรงเกินกว่า TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอแบบ Short-form ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว TikTok เจอเหตุการณ์สะกัดดาวรุ่ง เมื่อ Brendan Carr หนึ่งในกรรมาธิการ FCC (Federal Communication Commission) หรือเทียบได้กับ กสทช.ของสหรัฐฯ เขียนจดหมายเปิดผนึกส่งตรงให้ Tim Cook ซีอีโอ Apple และ Sundar Pichai ซีอีโอ Google ผ่านทาง Twitter ให้ถอดแอป TikTok ออกจาก App store เหตุการณ์ทั้งหมดนั้นเกิดอะไรขึ้น ปูมหลังจริงๆ แล้วมาจากเหตุใด
TikTok เผชิญข้อหาเรื่องการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวอย่างรุนแรง ตั้งแต่การเก็บ “ประวัติการค้นหา การดู จนถึงรูปแบบการกดแป้นพิมพ์ และการระบุตัวตน Biometrics” นอกจากนี้ยังมี “คลิปเสียงหลุด” ที่ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่จากฝั่งจีน สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ของสหรัฐฯ ได้หลายครั้ง
สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่มีนักการเมืองอเมริกันตั้งสงสัยว่า TikTok มักจะเซ็นเซอร์คอนเทนต์ที่อาจขัดผลประโยชน์ของทางรัฐบาลจีนอีกด้วย
แต่ทั้งนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เรื่องนี้อาจมีเหตุผลคาบเกี่ยวกับชนวนความขัดแย้งระหว่างจีน - สหรัฐฯ ไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นเกมชิงอำนาจความได้เปรียบมาตลอดตั้งแต่ปี 2018 ที่สหรัฐฯ ยกเพดานภาษีเพราะสินค้าจีนตีตลาดไปทั่วโลกจนทำให้หลายประเทศเสียดุลการค้าให้จีนอย่างน่าเจ็บใจ แต่การสั่งแบนโดยตรง ย่อมขัดกับนโยบายความเป็นตลาดเสรีของเหล่าชาติตะวันตก และจะเป็นที่ครหา นี่จึงอาจเป็นที่มาอีกหนึ่งประเด็นของการให้เหตุผลในคำสั่งบีบ TikTok ออกจาก App Store ในครั้งนี้
หากลองย้อนไปตั้งแต่สงครามเศรษฐกิจระหว่างจีน-สหรัฐฯ เริ่มขึ้นใหม่ๆ มีบริษัทข้ามชาติที่เสียหายจากกำแพงภาษีที่ทั้งสองชาติโต้ตอบกันไปมา รวมถึงแบรนด์ยักษ์ใหญ่มือถือที่กำลังมาแรงในช่วงนั้นอย่าง Huawei ซึ่งขึ้นชื่อในเทคโนโลยีชิปประมวลผลที่ผลิตเอง และกล้องที่โดดเด่นกว่าใคร ที่ต้องตกเป็นจำเลยที่สำคัญในหัวข้อความมั่นคงของชาติมาแล้ว และบานปลายไปสู่การคุมตัว Meng Wanzhou CFO ของ Huawei และเจอคำสั่งจากสหรัฐฯ ที่ไม่ให้ Google สนับสนุนโทรศัพท์ของ Huawei อีกต่อไป จน Huawei เสื่อมความนิยมทั่วโลกไปบ้างในปัจจุบัน
ส่วน Binance ที่เป็นกระดานเทรดอันดับหนึ่งของโลกในด้าน Volume ผู้ใช้ ก็เป็นผลงานของเจ้าของชาวจีนอย่าง Changpeng Zhao (CZ) ที่โดดเด่นท่ามกลางกระแสฮิตเทรดคริปโตฯ ความนิยมของ Binance นั้นทิ้งห่าง กระดานเทรดอันดับ 2 อย่าง FTX เป็นเกือบสิบเท่าตัว สิ่งนี้จึงอาจเป็นหนามยอกให้กับรัฐบาลในชาติตะวันตก จนสหรัฐฯ เองก็ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่ง Binance ก็เป็นอีกรายที่มีความเสี่ยงที่จะโดนแบน แม้ว่าที่ผ่านมายังไม่ถึงขั้นถอนรากถอนโคน แต่การตรวจสอบย้อนหลังต่างๆ ก็นับว่าเป็นการส่งสัญญาณในประเด็นนี้เช่นกัน
อันที่จริงแล้ว TikTok เคยโดนแบน และ ”จ่อจะโดนแบน” มาหลายครั้ง อย่างเช่นเมื่อปี 2020 อินเดียได้สั่งแบน TikTok ทันทีเพื่อตอบโต้กรณีพิพาทที่พรมแดนจีน-อินเดีย ซึ่งทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิตไป 20 นาย จากการแบนครั้งนั้น TikTok สูญเสีย ผู้ใช้ไปราว 610 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 18% จาก User ทั้งหมดในตอนนั้น นับเป็นผลกระทบต่อรายได้ของ TikTok เป็นอย่างมาก
ส่วนสหรัฐฯ ก็เคยมีคำสั่งแบนในสมัย Donald Trump เป็นประธานาธิบดี จนทำให้ ByteDance เจ้าของ Tiktok ต้องวิ่งเต้นหาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคฯ ในสหรัฐฯ อย่าง Microsoft, Oracle และ Netflix มาซื้อหุ้นส่วนให้ได้ จนมีข่าวการดีล M&A กิจการ TikTok อยู่บ่อยครั้ง พร้อมทั้งยังเอาใจชาวสหรัฐฯ ว่าจะจ้างงานผู้คนอย่างน้อย 10,000 ตำแหน่งอีกด้วย เพราะ Tiktok เองจะไม่ยอมสูญเสียตลาดในสหรัฐฯ ที่มีผู้ใช้งานเกือบ 200 ล้านคนอย่างที่เสียให้กับอินเดียไปอย่างแน่นอน
พอไม่กี่สัปดาห์ถัดมา รัฐบาลออสเตรเลียในตอนนั้นก็ได้ข่มขู่จะแบนตามจีนและอเมริกา พร้อมตั้งทีมสืบสวน Tiktok โดยใช้เหตุผลเรื่องความมั่นคงเช่นเดียวกัน
แต่หลังจากที่ Joe Biden ได้สั่งยกเลิกการแบน TikTok ในคราวขึ้นรับดำรงตำแหน่ง ทำให้ TikTok มีเวลาพักฟื้นการดำเนินกิจการอยู่ครู่ใหญ่ๆ ก่อนที่จะมีหลักฐานเป็นข้อมูลและคลิปเสียง ให้กสทช. สหรัฐฯ บีบ Apple และ Android ถอดออกจาก App Store ในครั้งนี้นั่นเอง
TikTok ได้ออกมาชี้แจง ถึงการให้ความสำคัญการตรวจสอบด้านความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อขจัดข้อสงสัยในมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกา ส่วนเจ้าหน้าที่ในจีนที่เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้สหรัฐฯ นั้นก็จำกัดไว้เพียงแค่ผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ ตามหลัก Data Privacy
ที่สำคัญ CEO คนปัจจุบัน Shou Zi Chew เป็นชาวสิงคโปร์ ได้ยืนยันว่า TikTok "ไม่เคยมีการล้วงข้อมูลผู้ใช้งานไปให้รัฐบาลจีน ทั้งยังร่วมมือกับองค์กรอิสระจากภายนอกที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการทดสอบการใช้งานด้วย" อีกทั้งยังประกาศว่ากำลังปรับเปลี่ยนระบบ Cloud Infrastructure และย้ายข้อมูลผู้ใช้ในสหรัฐฯ ทั้งหมดไปสู่ระบบที่ดูแลโดย Oracle ในสหรัฐฯ ซึ่งข้อมูลผู้ใช้ในสหรัฐฯ จะถูกจัดเก็บในสหรัฐอเมริกาแทนที่จะเป็นจีน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Statement on TikTok's content moderation and data security practices
ขณะเดียวกัน มีผู้คาดการณ์ว่านี่เป็นการบีบบังคับทางอ้อมอีกครั้งให้ TikTok ขายกิจการให้กลุ่มนักลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นทางเดียวที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะมั่นใจว่าข้อมูลจะไม่หลุดไปถึงรัฐบาลจีน
นอกจากนี้ด้วยความที่ TikTok เป็นของกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีผู้นิยมใช้มากที่สุดในโลก ย่อมสร้างผลตอบแทนให้กลุ่มทุนสหรัฐฯ ได้มาก และยังมีผู้ที่จะรับประโยชน์อีกทาง นั้นก็คือ Facebook ที่โดน TikTok แย่งฐานผู้ใช้ไปมาก อาจได้โอกาสพลิกตีตื้นเรียกผู้ใช้กลับคืนมา รวมถึงเป็นการแก้เผ็ดจีนอีกทางหนึ่งด้วย แต่ทั้งนี้เป็นสมมติฐานที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้วิเคราะห์เท่านั้น
Brendan Carr ตัวแทน FCC ผู้ยื่นเรื่องนี้ เป็นผู้ออกคำขอแกมบังคับให้ทั้ง Apple และ Google ให้คำตอบในการถอด TikTok ออกจาก App Store ให้ได้ภายในวันที่ 8 กรกฎาคม ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการในเรื่องนี้จากทั้งสองยักษ์ใหญ่แต่อย่างใด
สำหรับกระแสที่เกิดขึ้น ผู้คนส่วนใหญ่ มองว่า TikTok เป็นแอปฯ ความบันเทิงที่ไม่มีพิษภัยจนถึงขั้นเป็นภัยความมั่นคง ในมุมกลับกัน TikTok มีบริการด้านความปลอดภัย และยังรับเรื่องร้องเรียนเมื่อผู้ใช้แจ้ง Spam หรือความรุนแรงใดๆ ในแพลตฟอร์มอย่างตรงจุด ผู้ใช้หลายคนให้ความรู้สึกว่า TikTok ดูแลคอนเทนต์ที่นำเสนอได้ดีกว่าที่ทาง Facebook, Google และยักษ์ใหญ่ด้านเทคฯ กำลังเผชิญข้อกล่าวหาในเรื่อง Data Privacy และ Antitrust Law ในยุโรป
แต่อีกฝั่งได้ออกมาสนับสนุนท่าทีของ FCC สหรัฐฯ เพราะเห็นว่าเหมาะสมแล้วกับที่จีนเคยแบนแอปฯ จากโลกฝั่งตะวันตกมานาน แต่ถึงแม้จะมีการแบนเกิดขึ้นจริง ผู้คนในสหรัฐฯ เองก็ยากที่จะหวนกลับไปใช้ SnapChat เพราะ TikTok นั้นทำผลงานอัลกอริทึมที่อิงตามผู้ใช้ไว้ได้ดีมาก
ทั้งนี้ TikTok มีประวัติเริ่มต้นในปี 2016 ตั้งแต่สมัยที่ Vine ยังเป็นที่นิยม ก่อนที่ TikTok จะมารวมตัวกับ Musical.ly แอปลิปซิงค์ที่ดังมากในสมัยก่อน เมื่อรวมตัวภายใต้บริษัทแม่เดียวกันคือ ByteDance แล้ว TikTok ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ก้าวไปไกลกว่าผู้ใช้ในตลาดเอเชียมาก โดยเมื่อปี 2020 ที่ COVID-19 เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนเล่นและรับชม TikTok เพื่อแก้เบื่อนั้น ทำให้มียอดดาวน์โหลดทั้งหมดกว่า 2 พันล้านครั้ง ภายในช่วงเวลาเพียง 3 ปีกว่า ซึ่งเป็นสถิติที่เร็วเกินกว่า Facebook และ YouTube จะทำได้
พบกับงาน Tech Conference ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
'Techsauce Global Summit 2022' ขนทัพความรู้จาก Speaker ระดับโลก
พร้อมหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ
อ่านรายละเอียดได้ที่ https://techsauce.co/news/techsauce-global-summit-2022
ซื้อบัตรได้ที่ : https://summit.techsauce.co/