วิธีรับมือหลังถูก Layoff รวมสิทธิ์ทางกฎหมาย พร้อมวิธีเตรียมตัวหางานใหม่ | Techsauce

วิธีรับมือหลังถูก Layoff รวมสิทธิ์ทางกฎหมาย พร้อมวิธีเตรียมตัวหางานใหม่

วิกฤต Layoff กำลังแพร่ขยายทั่วโลกและไม่มีวี่แววจะจบ บทความนี้ Techsauce มีคำแนะนำสำหรับใครก็ตามที่ถูกบริษัทเลิกจ้าง ด้วยวิธีรับมือสามขั้นตอนต่อไปนี้ 

ตรวจสอบสิทธิ์ทางกฎหมายที่ควรได้รับ

หลายคนอาจมองข้ามการตรวจสอบสิทธิทางกฎหมายที่เราควรจะได้รับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ถูกเลิกจ้างสามารถนำไปตั้งหลักในระยะสั้น ๆ ได้ มีดังต่อไปนี้

1. ค่าชดเชยแรงงาน

พนักงานประจำมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายหากเป็นการเลิกจ้างแบบไม่ได้ทำความผิดใด ๆ ตามระยะเวลาการทำงานดังต่อไปนี้ 

  • ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน 
  • ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน 
  • ทำงานครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน 
  • ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน 
  • ทำงานครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน 

2. ค่าตกใจกรณีไม่แจ้งล่วงหน้า

นายจ้างต้องบอกเลิกจ้างล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 30-60 วัน ตามกฎหมาย แต่หากไม่มีการกล่าวล่วงหน้า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 17 วรรคสอง ‘นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับ นับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผล’ โดยจะแบ่งออกเป็นสองกรณีให้เข้าใจง่าย ๆ

  • กรณีได้รับเงินเดือนทุกวันที่ 1 และนายจ้างบอกเลิกจ้างในวันที่ 1 มกราคม ให้มีผลทันที สัญญาการเลิกจ้างจะมีผลในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายจ้างต้องจ่ายค่าตกใจเป็นเวลาหนึ่งเดือน ตามอัตราค่าจ้างล่าสุด
  • กรณีได้รับเงินเดือนทุกวันที่ 1 แต่นายจ้างบอกเลิกจ้างเราในวันที่ 2 มกราคม ซึึ่งสัญญาการเลิกจ้างจะต้องสิ้นสุดในวันที่ 1 มีนาคม ดังนั้นลูกจ้างมีสิทธิ์ได้ค่าตกใจตามระยะเวลาจริง ไม่ใช่แค่หนึ่งเดือน 

3. เงินชดเชยว่างงาน

ผู้ประกันตนตามมาตรา 33,39 ที่ถูกเลิกจ้าง มีสิทธิ์รับเงินชดเชยว่างงาน หลังเลิกจ้างเพียง 8 วันก็สามารถไปลงทะเบียนคนว่างงานเพื่อรับสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย โดยกรณีถูกเลิกจ้าง

จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งคำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท

ฮีลใจตัวเองหลังโดน Layoff 

การถูกเลิกจ้างแบบกะทันหันอาจทำให้เกิดความสับสนได้ มีความรู้สึกหลายอย่างที่ถาโถม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราอาจจะตกใจ เสียใจ ใจหาย แต่ควรที่จะจัดการกับสภาพจิตใจและความรู้สึกของตัวเองให้ได้ เพื่อให้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งด้วยแนวทางดังต่อไปนี้

  1. ยอมรับความจริง: ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับความจริงว่าเราถูกเลิกจ้าง แต่ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากอะไรก็ตาม เราอาจจะใช้เวลาว่างในการพักชั่วคราว ทบทวนตัวเอง ปรับมุมมองใหม่ นอกจากนี้ อาจจะเป็นโอกาสในการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนต่อ หรือทำตามความฝันอื่น ๆ
  2. เขียนสรุปเรื่องราวที่ผ่านมา: บันทึกความสำเร็จในการทำงานด้วยเทคนิค CARL (บริบท การกระทำ ผลลัพธ์ การเรียนรู้) หรือ เทคนิค STAR(T) (สถานการณ์ หน้าที่ การกระทำ ผลลัพธ์ และ ประเด็นสำคัญ) จะช่วยทำให้มองเห็นความสามารถ เข้าใจทักษะของตัวเองอย่างเป็นระบบ และมองเห็นจุดบอดจุดด้อยที่เคยทำมา เสริมความมั่นใจในความสามารถของตัวเองและมีส่วนช่วยในการเตรียมตัวกับการสัมภาษณ์ครั้งต่อไป
  3. รักษาสุขภาพให้ดี: หลายคนอาจจะมองข้ามการดูแลสุขภาพตัวเองไปจากความเครียดของการว่างงาน แต่หากหันมารักษานิสัยที่ดีต่อสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่ดี นอนหลับให้เพียงพอ จะช่วยให้เราสดชื่น กระปรี้กระเปร่ามากขึ้น สมองปลอดโปร่ง ทำให้สามารถที่จะริเริ่มอะไรใหม่ ๆ ได้ดีกว่าเดิม
  4. เริ่มต้นกิจวัตรประจำวันใหม่ ๆ: ชีวิตประจำวันแบบเดิม ๆ ในฐานะมนุษย์เงินเดือนที่ต้องออกบ้านไปทำงานทุกวันจบลงไปแล้ว ซึ่งทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น แต่หลายคนก็ไม่ได้ใช้เวลานี้ให้เกิดประโยชน์ แต่เลือกที่จะจมไปกับความผิดหวัง ความเศร้าและความเครียด ลองเปลี่ยนมาใช้เวลานี้เพื่อทำงานอดิเรกที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เรียนรู้สกิลใหม่ ๆ เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมามีความสุขและพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง

ก้าวไปข้างหน้า: เตรียมตัวสมัครงานใหม่อีกครั้ง

ถึงแม้ว่าความมั่นใจของเราจะลดลงหลังจากถูกเลิกจ้าง แต่ภาระที่ต้องรับผิดชอบทำให้ไม่สามารถที่จะอยู่ด้วยเงินชดเชยจากการว่างงานได้นาน ๆ ดังนั้นหลังจากดูแลสภาพจิตใจของเราได้พร้อมแล้ว จึงควรเริ่มมองหางานใหม่ได้เลย 

ตามข้อมูลของ Revelio Labs พบว่าหลังถูก Layoff สามารถหางานใหม่ได้ภายในสามเดือนแรกถึง 70% ของทั้งหมด และยังได้เงินเดือนที่สูงกว่าที่เก่าถึง 52% หากเตรียมตัวอย่างดี จะช่วยให้ได้งานที่ตรงใจทั้งเนื้องานและรายได้ เพิ่มความสำเร็จของการหางานใหม่ได้ด้วยขั้นตอนต่อไปนี้

  1. หาขอบเขตงานที่สนใจ: มองหาขอบเขตงานที่สนใจ และอัปเดตเรซูเม่ให้มีเนื้อหาที่ตรงกับตำแหน่งงานนั้น ๆ ทำให้เรซูเม่เป็นปัจจุบันมากที่สุดและไม่ควรใส่อะไรนอกเหนือจากเนื้องาน ใส่คีย์เวิร์ดทักษะที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่ง เพื่อให้ HR มั่นใจถึงความสามารถที่ตรงกับตำแหน่ง ช่วยเพิ่มโอกาสได้งานมากยิ่งขึ้น
  2. เพิ่มช่องทางการหางาน: ในยุคสมัยนี้มีช่วงทางการมองหางานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, LinkedIn, TikTok และเว็บไซต์หางานอื่น ๆ โดยไม่ควรเลือกเพียงช่องทางเดียว นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์จาก connection ในการช่วยหางานในสายงานเดิม เป็นต้น
  3. ไม่หลุดความเป็นมืออาชีพ: การอัพเดทเรซูเม่ให้เป็นปัจจุบัน เพิ่มช่องทางการติดต่อที่ใช้ได้จริงและเป็นทางการ รวมถึงการตอบกลับอย่างรวดเร็ว จะเพิ่มโอกาสที่จะได้งานไวยิ่งขึ้น
  4. เพิ่มเติมทักษะใหม่: ในช่วงว่างงาน หากมีการเพิ่มเติมทักษะใหม่ ๆ จะทำให้ได้เปรียบผู้สมัครคนอื่น ๆ อย่างมาก เพราะถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และถ้าหากเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานแล้วจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้งานอย่างที่หวัง
  5. คว้าโอกาสที่เข้ามา: ในบางโอกาสอาจจะได้รับข้อเสนอที่ไม่ตรงกับทักษะที่เรามีหรืออาจจะเป็นงานชั่วคราว สัญญาจ้าง หากพิจารณาถึงบริษัท รายได้ การต่อยอดแล้วคุ้มค่า การรับโอกาสนี้ไม่ใช่เรื่องน่าเสียหาย นี่อาจจะเป็นโอกาสในการปรับเป็นพนักงานประจำหรือเป็นการเริ่มต้นบทบาทในสายงานใหม่ที่อาจจะเหมาะสมกับเราก็ได้
  6. เตรียมตัวสัมภาษณ์ให้พร้อม: เตรียมตัวให้พร้อมจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ค้นคว้าเกี่ยวกับบริษัท บทบาท และตำแหน่งให้พร้อม เตรียมคำตอบสำหรับคำถามทั่วไป พร้อมด้วยคำถามเพื่อแสดงความสนใจและความอยากรู้อยากเห็นของคุณ จะช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์มากขึ้น


อ้างอิง: prachachat, portal.info.go.th, bloomberg, hbr, linkedin, lb.mol.go.th, mol.go.th/unemployment, ramseysolutions

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำยังไง ถ้าไม่ได้เป็น ‘ลูกรัก’ เจ้านาย

‘ระบบลูกรัก’ ที่ฝังรากลึกในองค์กร เป็นอีกหนึ่งปัญหาช้างในห้อง (Elephant In The Room) ปัญหาใหญ่ที่คนส่วนใหญ่รับรู้ แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง หรือพูดไม่ได้ ทำยังไงดี...

Responsive image

รู้จักประโยชน์ Reverse Mentoring ที่ให้คนรุ่นใหม่มาสอนผู้ใหญ่ในองค์กร

เมื่อนึกถึงการทำงานในองค์กรแล้วส่วนใหญ่คนที่อายุมากกว่าหรืออาวุโสจะต้องให้คำแนะนำรุ่นน้อง แล้วถ้ากลับกันลองให้รุ่นน้องเป็นคนแนะนำผู้ใหญ่บ้างจะเป็นอย่างไร?...

Responsive image

พนักงาน 47% ไม่คิดอยากเลื่อนขั้น เพราะต้องทำงานหนักกว่าเดิม

จากสำรวจล่าสุดพบว่ามนุษย์เงินเดือนไม่ต้องการเลื่อนขั้น เพราะต้องการความสุขและพึงพอใจในบทบาทปัจจุบัน มากกว่าต้องก้าวหน้าไปรับผิดชอบงานที่มากขึ้น...