Cultural Technology เทคโนโลยีที่ SM Entertainment สร้างขึ้นเพื่อปฏิวัติวงการ K-Pop | Techsauce

Cultural Technology เทคโนโลยีที่ SM Entertainment สร้างขึ้นเพื่อปฏิวัติวงการ K-Pop

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท SM Entertainment ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ได้ร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงของเกาหลี  (Korea Advanced Institute of Science and Technology: KAIST) เพื่อหยิบเอาเทคโนโลยีมาผลิตคอนเทนต์บันเทิงรูปแบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา AI และหุ่นยนต์, การทำวิจัยเกี่ยวกับการสร้าง Digital Avatar รวมไปถึงเทคโนโลยีเชิงวัฒนธรรม หรือ Cultural Technology  ด้วย

Cultural Technology SM

Cultural Technology คือระบบที่คิดค้นและพัฒนาโดย ‘อี ซูมาน’ ประธานบริษัท SM ซึ่งเป็นการนำเอานวัตกรรมใหม่ ๆ มาผนวกเข้ากับทุกขั้นตอนของการปลุกปั้นไอดอลอย่างเป็นระบบ โดยระบบดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะกลายมาเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้เลยทีเดียว

อี ซูมาน กล่าวว่า “SM ใส่ใจถึงความสำคัญในการนำเสนอคอนเทนต์ใหม่ ๆ โดยพยายามที่จะหลอมรวมวัฒนธรรมและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่อง” 

เมื่อปี 2020  SM ได้เปิดตัวเกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่อย่างวง ‘aespa’ ที่ใช้คอนเซปต์ Cultural Technology ในการโปรโมตวง โดยวงดังกล่าวประกอบไปด้วยสมาชิก 4 คน และสมาชิกแต่ละคนก็จะมี Avatar เป็นของตัวเองคนละ 1 ตัว ซึ่งตัว Avatar นี้จะมีชื่อว่า ‘ae’ สามารถสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับตัวสมาชิกในชีวิตจริงได้ ปรากฏการณ์แปลกใหม่ของวงการ K-pop นี้สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้กับเหล่าแฟนเพลงเป็นอย่างมาก

นอกจากนั้น ในก่อนหน้านี้ SM ก็ยังมีความพยายามในการใช้ระบบ Cultural Technology กับวงที่เดบิวต์มาก่อนในปี 2016 ได้แก่วง NCT (Neo Culture Technology) ที่มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 20 คน และอาจเปลี่ยนแปลงได้เรื่อย ๆ โดยภายในจักรวาล NCT จะมียูนิตแยกย่อยออกมาอีก 4 ยูนิต ได้แก่ NCT U, NCT 127, NCT Dream และ WayV ซึ่ง อี ซูมาน พยายามใช้ระบบนี้ในการทำวงศิลปินเพื่อเชื่อมเนื้อหาของแต่ละยูนิตรวมเข้าให้เป็นจักรวาลเดียวกัน

เราอาจเห็นได้ว่า ในเนื้อเพลงของทั้งวง NCT และวงน้องใหม่อย่าง aespa นั้น จะมีการพูดถึงเมือง ‘Kwangya (กวังยา)’ ซึ่งเป็นเมืองสมมติหรือจักรวาลเสมือนที่คาดเดาว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงเนื้อหาของศิลปินแต่ละวงเข้าด้วยกันภายใต้ระบบ Cultural Technology 

นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ใน Music Video ของแต่ละวงด้วยเช่นกัน เช่น ใน Music Video เพลง One (Monster & Infinity) ของ SuperM ได้เผยให้เห็นฉากสั้น ๆ ของ ‘แทมิน’ ที่กำลังเปิดสมาร์ตโฟนแล้วปรากฏโลโก้ของวง aespa ก่อนที่พวกเธอจะเดบิวต์ และฉากช่วงท้ายใน Music Video เพลง Make A Wish (Birthday Song) ของ NCT U ก็มีการเผยฉากสวนดอกไม้ในรถไฟใต้ดิน ซึ่งต่อมาก็ได้เฉลยว่าฉากนั้นคือฉากใน Music Video เพลง Black Mamba หรือเพลงเปิดตัวของ aespa ที่เดบิวต์ในเวลาถัดมานั่นเอง

สำหรับการใช้โมเดล Cultural Technology ของ SM นั้น สร้างทั้งความแปลกใหม่และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในกลุ่มแฟนเพลง K-Pop เป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดี นี่อาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของระบบนี้เท่านั้น ดังที่ อี ซูมาน ได้กล่าวไว้ว่า SM จะพยายามสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ มาสู่วงการ K-pop อยู่เสมอ จึงไม่แน่ว่าจักรวาลนี้จะมีการขยับขยายเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตต่อไป

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เช็คจุดน้ำท่วมเรียลไทม์ ผ่านแอปฯ BMA Traffic น้ำท่วม-รถติด-อุบัติเหตุ ดูได้หมด

BMA Traffic เป็นแอปพลิเคชันที่เราสามารถดูระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถสำรวจพื้นที่น้ำท่วมหรือรถติดผ่านแอปฯ ได้ทันที...

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

2024 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยต้องโฟกัสอะไร? รู้จักกลยุทธ์ 2C โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย เจาะปัจจัยหลักที่นักการตลาดดิจิทัลต้องรู้

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 2 กุญแจชิ้นสำคัญอย่าง Content & Convenience ที่กุมชะตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในยุคดิจิทัล...