ใต้พรม 20 ปีแห่งความสำเร็จ Facebook แอบซ่อนอะไรไว้ข้างหลัง | Techsauce

ใต้พรม 20 ปีแห่งความสำเร็จ Facebook แอบซ่อนอะไรไว้ข้างหลัง

ย้อนรอย 20 ปีแห่งความสำเร็จของ Facebook มี ‘ความลับดำมืด’ อะไรแอบซ่อนไว้ใต้งานวันเกิดครั้งนี้บ้าง ?

เมื่อไม่นานมานี้หุ้น Meta บริษัทแม่ของ Facebook พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรั้งอันดับ 7 ของโลก จากแอปที่ Mark Zuckerberg สร้างขึ้นมาใช้คุยกับเพื่อนในมหาลัยสู่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียระดับโลก แต่กว่าจะเติบโตได้ขนาดนี้ รู้หรือไม่ว่าความหละหลวมของแพลตฟอร์มได้สร้างบาดแผลให้ผู้ใช้งานมาไม่น้อย

จุดเริ่มต้น Facebook สู่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียระดับโลก

Facebook ถือกำเนิดขึ้นในปี 2004 โดยมีผู้สร้างคือ Mark Zuckerberg ในวัย 19 ปี ตอนแรก Facebook ถูกใช้เป็นพื้นที่พูดคุยสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย Harvard เท่านั้น และต่อมาได้เปิดให้นักศึกษาในวิทยาลัยอื่นได้ใช้งาน เช่น Boston, Ivy League และค่อย ๆ ขยายไปยังมหาวิทยาลัยในแคนาดา รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อว่า thefacebook.com

เมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้น  Mark Zuckerberg ก็เริ่มเล็งเห็นโอกาส จึงได้พัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ จนภายในปี 2006  ทุกคนสามารถใช้งาน Facebook ได้ และในเวลาต่อมา Facebook ก็แพร่หลายไปในคนหมู่มากและกลายเป็นหนึ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Meta ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 43.2 ล้านล้านบาทพร้อมผลกำไรนับพันล้าน

2024 เป็นปีที่ Facebook ครบรอบ 20 ปีแห่งความสำเร็จ แต่ทว่าทำไมกลับไม่มีงานหรืออีเวนท์เพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบนี้ ?

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ Meta ยังคงนิ่งเฉยในวันครบรอบ นั้นมาจากการที่ Facebook กำลังเผชิญกับศึกหนักจากการพิจารณาคดีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 

ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ถูกกล่าวหาแบบนี้ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา Facebook เกิดข้อพิพาทมากกว่า 10 ครั้งและมีเหยื่อหลายรายที่ไม่ใช่แค่เด็กต้องมารับผลจากการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบของแพลตฟอร์ม

สรุปเหตุการณ์สำคัญ ‘ความลับดำมืด’ ที่ Facebook ซุกไว้ใต้พรม 

นับตั้งแต่ก่อนก่อตั้ง Facebook ก็มีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เว็บไซต์ต้นแบบอย่าง facemash.com ซึ่งในเว็บไซต์นี้นักศึกษาที่ Harvard สามารถจัดอันดับเพื่อนร่วมชั้นจากความน่าดึงดูดของพวกเขาได้ แต่มันส่งเสียต่อผู้ใช้งานในแง่ของการละเมิดความเป็นส่วนตัว ส่งผลต่อความมั่นใจ ผู้ใช้งานอาจรู้สึกแย่กับตัวเอง รวมถึงข้อกังวลด้านจริยธรรม (การพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้ใช้) ประเด็นเหล่านี้ทำให้ผลงานการสร้างสรรค์ของ Zuckerberg ถูกจับตามองเป็นพิเศษ

ในปี 2012 หลังจากก่อตั้ง Facebook มา 8 ปี ก็ไม่วายละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บนแพลตฟอร์ม (อีกแล้ว) ด้วยการอนุญาตให้นักวิจัยทำการทดลองทางจิตวิทยากับผู้ใช้ของตน เนื่องจากนักวิจัยต้องการสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เมื่อดูคอนเทนต์แง่บวกและแง่ลบในฟีดข่าว ว่าจะส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ใช้งานอย่างไร 

การทดสอบนี้ซุ่มทำกับผู้ใช้งานแพลตฟอร์มถึง 689,003 คน หลังมีการเผยแพร่ผลการศึกษาในปี 2014 ผู้ใช้ Facebook จำนวนมากไม่พอใจ จน Sheryl Sandberg ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Facebook ในขณะนั้น ต้องออกมาขอโทษและยอมรับว่าบริษัทสื่อสารผิดพลาดไป

ในปี 2018 ก็เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวไปทั่วโลก จากเหตุการณ์ที่องค์การสหประชาชาติ (U.N.) และ Amnesty International รายงานว่า Facebook มีส่วนร่วมในการเผยแพร่คำพูดแสดงความเกลียดชังที่ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในพม่า ทาง Facebook ยอมรับว่าไม่สามารถยับยั้งความรุนแรงบนแพลตฟอร์มได้ 

แต่บริษัทได้ลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อป้องกันการใช้ Facebook ในทางที่ผิดและได้จัดตั้งทีมเพื่อพยายามหยุดยั้งเหตุการณ์ความรุนแรงที่คล้ายคลึงกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ในปี 2022 ท่ามกลางการแข่งขันฟุตบอลโลก Facebook ก็ยังคงถูกตั้งคำถามถึงมาตรการควบคุมและสกัดกั้นเนื้อหาเชิงลบ ที่ไม่ปกป้องนักเตะผิวดำของทีมชาติอังกฤษจากการถูกโจมตีทางโลกออนไลน์ (ทั้งที่ปี 2018 เพิ่งเกิดเหตุการณ์นี้ในพม่า) เหตุการณ์ครั้งนั้นสะเทือนไปทั้งเกาะอังกฤษ อดีตนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน และเจ้าชายวิลเลียม เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาประณามการกระทำดังกล่าว 

ด้านทีมกีฬาชั้นนำและนักกีฬาทั่วทั้งประเทศออกมาคว่ำบาตรและโจมตีการทำงานของแพลตฟอร์ม เพื่อประท้วงความล้มเหลวของบริษัทในการจัดการโพสต์เหยียดผิวและเหยียดเพศ จนสุดท้าย Meta ได้วางกฎเกณฑ์และบทลงโทษที่ชัดเจนเพื่อจัดการข้อความกลั่นแกล้ง การคุกคาม และข้อความแสดงความเกลียดชัง

ในปี 2024 เจ้าของ Facebook อย่าง Mark Zuckerberg กลับมานั่งฟังพิจารณาคดีอีกครั้ง ในข้อกล่าวหาว่าเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก โดยวุฒิสภาชี้ว่าบริษัทล้มเหลวในการปกป้องผู้ใช้งานอายุน้อย 

Josh Hawley วุฒิสมาชิกอีกท่านหนึ่ง เรียกร้องให้ Zuckerberg กล่าวขอโทษต่อหน้าครอบครัวของเหยื่อที่ได้รับอันตรายจากแพลตฟอร์มของเขา และเรียกร้องให้ผู้นำของ Meta ต้องชดเชยความสูญเสียที่ครอบครัวเหยื่อต้องเผชิญ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Zuckerberg ได้ให้การเป็นพยานต่อหน้าสภาคองเกรสกว่า 8 ครั้งภายในเวลากว่า 10 ปี แต่ Meta ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาเดิม ๆ ด้านการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และการสกัดกั้นเนื้อหาเชิงลบไม่ว่าจะเป็นด้านสีผิว เชื้อชาติ หรืออายุ จนเกิดคำถามว่าทุกคำสัญญาที่  Zuckerberg และ Meta พูดกับเหยื่อเคยถูกนำมาปฏิบัติจริง ๆ หรือเปล่า ?

อ้างอิง: edition.cnn, nbcnews

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Jensen Huang ตอบประเด็นอนาคต AI ยังไงต่อ ? ในงาน GTC 2024

บทความนี้ Techsauce ชวนมาฟังความเห็นของ CEO บริษัทชิปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เกี่ยวกับอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ในงาน GTC 2024...

Responsive image

SpaceVIP จัดทริปกินมื้อหรูระดับมิชลินบนอวกาศ สนนราคาต่อหัว 17.8 ล้านบาท

โอกาสสำหรับการทานอาหารสุดหรูบนอวกาศมาถึงแล้ว SpaceVIP เตรียมเปิดประสบการณ์การทานอาหารจากเชฟระดับ Michelin Star ที่ความสูงกว่า 100,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลในการผจญภัยบนขอบอวกาศ โอกา...

Responsive image

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? แหล่งข่าวชี้ Selena Gomez เตรียมขายแบรนด์

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? ข่าวจาก Bloomberg ออกมาว่าตอนนี้ Selena Gomez ได้เริ่มดำเนินการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนเพื่อประเมินมูลค่าแบรนด์แล้ว...