Metaverse ศัพท์ที่มาแรงตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งผู้ใช้งานทั่วไปและบรรดาธุรกิจต่างหันมาสนใจพื้นที่นี้มากขึ้น ซึ่งเราจะเห็นข่าวบริษัทชั้นนำสร้างสำนักงานหรือสร้างความร่วมมือเพื่อจัดกิจกรรมในโลกเสมือนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การจะนำ Metaverse มาใช้เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจนั้นมีอะไรที่ควรรู้บ้าง จะมีวิธีพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจให้ลูกค้าและพนักงานมีประสบการณ์ที่สมจริงยิ่งขึ้นได้อย่างไร เพื่อสร้างมูลค่าที่ในพื้นที่ Metaverse ที่มีโอกาสอย่างไม่จำกัด วันนี้ Techsauce ได้สรุปคำตอบมาให้แล้วจากการบรรยายในหัวข้อ Metaverse Checklist: A Quick Guide to Metaverse for Business ในงาน Techsauce Global Summit 2022 โดยคุณปฐมา จันทรักษ์, Country Managing Director at Accenture Thailand ผู้มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมไอทีกว่า 30 ปี ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บริหารธุรกิจชั้นแนวหน้า และมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องของ Digital Transformation
Metaverse เป็นสถานที่ที่ทำให้คนพบปะพูดคุยและโต้ตอบกันได้ แม้จะอยู่กันคนละซีกโลก ซึ่งทุกอย่างในนั้นอย่างที่ดิน (land) สิ่งปลูกสร้าง สิ่งของ รูปประจำตัว และแม้กระทั่งชื่อ ก็ถือเป็น Digital Asset ซึ่งสามารถสร้างสรรค์เองและนำไปซื้อขายได้
Metaverse เป็นการผสานโลกกายภาพและโลกดิจิทัลเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ทำให้มีโอกาสในการใช้งานที่หลากหลายและไม่มีขีดจำกัด ธุรกิจจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากโลกเสมือนนี้ได้ ไม่ใช่แค่เพียงอุตสาหกรรมเกม แฟชั่น หรือการเงิน การธนาคารเท่านั้น โดย Accenture ได้จัดทำ Consumer Pulse Survey ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งมีผู้บริโภคมากกว่า 11,000 คนใน 16 ประเทศเข้าร่วมในการทำแบบสอบถามนี้ พบว่า 64% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเคยซื้อสินค้าเสมือนจริงและมีประสบการณ์ในโลกเสมือนแล้ว ส่วน 56% ของผู้ที่เคยซื้อสินค้าและบริการเสมือนแล้วมีแนวโน้มที่จะซื้ออีกครั้ง และ 83% แสดงความสนใจในการซื้อสินค้าใน Metaverse
นอกจากนี้จากข้อมูลของ Statista และ Accenture’s Tech Vision 2022 พบว่า 71% ของผู้บริหารทั่วโลกมองว่า Metaverse จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อกิจการของพวกเขา และภายในปี 2024 ทั่วโลกจะมีการนำ VR headsets กว่า 34 ล้านชิ้นมาใช้ โดย Gartner มีการประมาณการณ์ว่าในปี 2026 คนกว่า 25% จะใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อวันใน Metaverse สำหรับการทำงาน ช้อปปิ้ง เรียนรู้ เข้าสังคม หรือเพื่อความบันเทิง และ 30% ขององค์กรต่างๆ จะมีความพร้อมในการมอบสินค้าและบริการให้กับลูกค้าใน Metaverse
ข้อดีอย่างหนึ่งของสินค้าและบริการในโลกเสมือนคือสามารถใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของเทคโนโลยีของ NFT ในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ เพื่มความ Rare ของสินค้า และใช้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในโอกาสหรือเทศกาลต่างๆ ให้คนได้เข้ามาสะสมและสร้าง royalty ทั้งนี้ตัวองค์กรเองก็สามารถสร้างพันธมิตรไปพร้อมกันได้ด้วย อย่างเช่น Gucci กระเป๋าระดับ Luxury ที่ร่วมมือกับแพลตฟอร์มเกมอย่าง Roblox ขายกระเป๋าในเกม (Virtual Bag) โดยราคาสูงกว่ากระเป๋า Gucci ที่สามารถใส่ของถือได้ในชีวิตประจำวัน (Physical Bag) ถึง 1 พันเหรียญสหรัฐ หรืออย่าง Coca-Cola ที่ทำการประมูล NFT ของแพคเกจเวอร์ชั่นแรกบน Opensea โดยจบที่ราคาสูงถึง 5.75 แสนเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21 ล้านบาท)
กล่าวคือตอนนี้ Metaverse กำลังเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผสมผสานของพื้นที่ทางกายภาพและดิจิทัล ทั้งในการทำงาน การเข้าสังคม และการสื่อสาร ซึ่งผู้บบริโภคเริ่มมีความคาดหสังและจับตามองในพื้นที่นี้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจจะต้องเข้ามาใน Metaverse แบรนด์จำเป็นต้องสำรวจทั้งโลกดิจิทัลและ Physical World เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ สร้างประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น และสะดวกสบาย
แน่นอนว่าจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการสำรวจว่าพื้นที่ Metaverse คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง และวิธีที่ธุรกิจคิดใหม่เกี่ยวกับการดำเนินงานของตนด้วย เนื่องจาก Metaverse มีขอบเขตที่กว้าง และจะส่งผลกระทบต่อทุกส่วนของ Value Chain เพราะ Metaverse สามารถเข้ากับโครงสร้างของธุรกิจทุกรูปแบบ ตั้งแต่การจัดการ การปฏิบัติการ ไปจนถึงประสบการณ์ของพนักงาน โดยหลักๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น การชำระเงิน ประสบการณ์ของลูกค้า ประสบการณ์พนักงาน ผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ ซัพพลายเชน และ การจัดการองค์กร
เมื่อทำการสำรวจแนวทางแล้วก็เริ่มลงมือเพื่อพัฒนาจุดแข็ง และสร้างแนวทางให้ทุกคนร่วมเดินทางไปกับ metaverse ของธุรกิจ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการดำเนินการที่ดีก็คือการตั้งคำถามเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมในมิติต่างๆ ผ่านเลนส์ของฟังก์ชันทางธุรกิจเพื่อช่วยจุดประกายความคิดใหม่ๆ
ตัวอย่างคำถามเช่น
จะตอบสนองความต้องการของกลุ่มตลาดใด?
แผนธุรกิจระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวที่บริษัทต้องการบรรลุคืออะไร?
บริษัทควรเข้าสู่ Metaverse เมื่อใด และตั้งหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์แบบใด
เข้าร่วมแพลตฟอร์มที่กำลังจะออกหรือพัฒนาพื้นที่ที่แบรนด์เป็นเจ้าของ?
ฟังก์ชันใน Metaverse จะสามารถร่วมมือและชี้นำข้อมูลประจำตัวของบริษัทที่มีอยู่ได้อย่างไร?
การจะสร้างโลกเสมือนขึ้นมานั้นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ “ความรับผิดชอบ” เพื่อปลอดภัยและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 มิติ คือ มิติด้านความน่าเชื่อถือ และมิติด้านมนุษยธรรม ซึ่งสามารถแบ่งประเด็นได้อีกดังนี้
มิติด้านความน่าเชื่อถือ
ความเป็นส่วนตัว - ลดการรวบรวมข้อมูลผู้ใช้ให้น้อยที่สุด มีการรับรองความโปร่งใสในการควบคุมผู้ใช้และการเคลื่อนย้ายข้อมูล
ความยืดหยุ่น - สร้างและปรับแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันเพื่อให้แน่ใจว่ามีความซ้ำซ้อนน้อยที่สุด และมีความสามารถในการปรับขนาด เพื่อรองรับข้อมูลและผู้ใช้งานที่มากขึ้น
ความปลอดภัย - ใช้การรักษาความปลอดภัยโดยการออกแบบใน XR, web3 และเทคโนโลยี metaverse อื่นๆ
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา - ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของทรัพย์สินดิจิทัลและป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์
มิติด้านมนุษยธรรม
ความปลอดภัย - กีดกันพฤติกรรมและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม จำกัดการแพร่กระจายข้อมูลเท็จ การบิดเบือนข้อมูล และการปลอมแปลง
ความยั่งยืน - วัดและจัดการการใช้พลังงานจากประสบการณ์และเทคโนโลยี metaverse เช่น การใช้พลังงานทดแทน ควบคุมพลังงานในการขุด crypto
ความเป็นอยู่ที่ดี - สร้างประสบการณ์ผู้ใช้ที่ส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจและเป็นส่วนเสริมของประสบการณ์ทางกายภาพ
ความเสมอภาค - ประสบการณ์การออกแบบที่มีความหลากหลาย ครอบคลุม และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย
สุดท้ายนี้แม้ว่า Metaverse จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา หรือเรียกว่า metaverse continuum แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะให้ธุรกิจได้ลองสำรวจสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง ใช้เวลาในการเรียนรู้ และเตรียมความพร้อม
THINK BIG
START small
SCALE Fast
โดยหัวใจสำคัญของการจะ Transformation สำหรับคุณปฐมาคือ “คิดให้ใหญ่ เริ่มต้นจากเล็ก และขยายอย่างรวดเร็ว ”เพราะเศรษฐกิจแบบ metaverse คืออนาคตของการมีส่วนร่วม ความบันเทิง โซเชียลมีเดีย การช็อปปิ้ง คืออนาคตที่ “ประสบการณ์คือราชา” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเติบโตของมูลค่าธุรกิจที่ยืนยาว
Sign in to read unlimited free articles