สงครามเทคโนโลยีได้เริ่มขึ้นแล้ว? วิเคราะห์กรณีสหรัฐแบน TikTok ยูนิคอร์นจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก | Techsauce

สงครามเทคโนโลยีได้เริ่มขึ้นแล้ว? วิเคราะห์กรณีสหรัฐแบน TikTok ยูนิคอร์นจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นับว่าเป็นประเด็นฮอตไม่น้อยเลยทีเดียว กับ กรณีของ TikTok ซึ่งเป็นแอปวิดีโอสั้น แพลตฟอร์ม Social Network มาแรงจากบริษัทเทคโนโลยีของจีน อย่าง ByteDance Ltd. ซึ่งถือเป็น Startup ระดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจากการขยายตลาดของ TikTok ไปในหลากหลายประเทศ  ทำให้เกิดข้อสงสัยด้านความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ทั่วโลก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่ามหาศาลในยุค Digital Economy 

tiktok

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของบริษัทเทคโนโลยีจากจีนนั้นได้สร้างความกังวลด้านความปลอดภัยของข้อมูลให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ได้ก่อให้เกิดข้อพิพาทที่เป็นประเด็นใหญ่ระดับโลกขึ้นอีกครั้ง เมื่อทรัมป์ ประกาศแบน TikTok ในสหรัฐอเมริกา ที่ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นก็ได้มีข้อพิพาทด้านการค้ากับจีนอยู่ก่อนแล้ว ด้วยเหตุผลหลากหลายปัจจัย  แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสที่ส่งผลให้ต้องมีการ Lockdown ขาดการติดต่อ ขาดการเดินทาง แต่สิ่งที่กลับมามีบทบาทในการเชื่อมต่อกันมาขึ้น คือ เทคโนโลยี ซึ่งก็ทำให้ Tech Company ทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด 

แต่ในการเติบโตนั้น หนึ่งในความกังวลที่เป็นช่องว่างที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงด้านอื่น ๆ  ของหลายประเทศ คือ Cyber security โดยเฉพาะความไว้วางใจในเทคโนโลยีจากจีน ก่อนหน้านี้ต้องบอกไม่ใช่เพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่กังวลในเรื่องดังกล่าว เพราะอินเดียก็ไม่ไว้วางใจจีนเช่นกัน ด้วยการที่รัฐบาลอินเดียได้สั่งแบนแอพพลิเคชั่นจากจีนเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็ คือ TikTok จากการที่ได้รับการร้องเรียนว่ามีการแอบเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต และส่งกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ของจีน  ถือเป็นภัยต่อความมั่นคง และความเสี่ยงของพลเมือง 

tiktok

สรุปเหตุการณ์ความวุ่นวายของ TikTok ในสหรัฐฯ

เริ่มต้นจากความไม่ไว้วางใจการดำเนินงานของ   Tech Company ยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook , Google , Apple  และ Amazon ที่กำลังถูกสอบสวนเรื่องการผูกขาดธุรกิจออนไลน์จากสภาสหรัฐ และความต้องการกำจัด TikTok ที่เติบโตเกินไปในสหรัฐ ได้สร้างช่องว่างทางธุรกิจ Social Media ให้ Microsoft มองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ เพราะในการสอบสวนบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่นั้น Microsoft กลับไม่ถูกตั้งข้อสงสัยด้วย ดังนั้นจึงถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการประกาศว่า เตรียมจะเข้าซื้อ TikTok ในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด เพราะตัวของทรัมป์เองก็ไม่ได้ไว้วางใจในเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล หากจีนยังเป็นเจ้าของและมีอำนาจในธุรกิจ จึงได้ต้องการที่จะแบนการใช้งาน แต่ถ้าหากเปลี่ยนเจ้าของและผู้ควบคุมมาเป็นบริษัทของสหรัฐอเมริกาเสียเองก็คงจะดีกว่า อีกทั้ง จางอีหมิง ผู้ก่อตั้ง ByteDance ก็เคยทำงานให้กับ Microsoft มาก่อนด้วยเช่นกัน 

แต่แล้วเมื่อมีข่าวเจตจำนงที่จะซื้อ TikTok ของ Microsoft ออกไป ด้าน TikTok ก็ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว พร้อมกับบอกว่าไม่ได้ต้องการที่จะขายแต่อย่างใด ...

ความโกลาหลยังไม่จบเพียงแค่นั้นเมื่อทรัมป์ได้ใช้อำนาจของการเป็นรัฐบาลผู้ดูแลประเทศในการประกาศที่จะแบน TikTok ในสหรัฐทั้งหมด ซึ่งความกดดันนี้ก็ทำให้ TikTok ต้องยอมจำนนยอมที่จะขายกิจการให้กับบริษัทในสหรัฐอเมริกา 

ต่อมาด้วยความกังวลด้านภาพลักษณ์ที่อาจจะส่งผลเสียต่อการเลือกตั้งครั้งถัดไปของทรัมป์ในสายตาของประชาชนชาวอเมริกันนั้น ก็ทำให้ทรัมป์มีท่าทีอ่อนลง และยอมที่จะไม่แบน แต่ก็ได้สร้างเงื่อนไขให้กับ Microsoft ว่าจะต้องปิดดีลการซื้อกิจการดังกล่าวให้เสร็จภายใน 45 วัน หรือต้องให้สำเร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2563

แต่การทำดีลขอซื้อ TikTok ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังขาขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องนั้น นักวิเคราะห์ต่างมองกันว่า TikTok ได้ตั้งราคาของกิจการในสหรัฐไว้สูงกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งด้วยปัจจัยด้านราคาอาจจะทำให้ Microsoft ไม่สามารถปิดดีลได้ภายในระยะเวลาอันสั้นขนาดนั้น 

การตัดสินใจของทั้งทางทรัมป์ Microsoft และ TikTok เอง ได้สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนชาวจีนเป็นอย่างมาก และขณะนั้นเองรัฐบาลจีนก็ได้ออกมาประกาศว่าจะไม่ให้ TikTok ขายกิจการในสหรัฐเด็ดขาด โดยทางรัฐบาลจีนได้แสดงความไม่พอใจอย่างสูงกับการกระทำของสหรัฐอเมริกา และพร้อมที่จะตอบโต้กลับหากสหรัฐต้องการที่จะขโมยบริษัทเทคโนโลยีของจีนไป 

ในเวลาต่อมาขณะที่สถานการณ์ยังคงมีความตึงเครียดอยู่ ทาง Apple ที่ยังคงต้องจัดการปัญหาในการชี้แจงต่อสภาสหรัฐในประเด็นผูกขาด ก็ได้แสดงความสนใจในการเข้าซื้อ TikTok ผลที่ตามมาจากการแค่แสดงความสนใจของ Apple นั้นดันราคาหุ้นให้บวกอย่างต่อเนื่องในคืนเดียวกัน แม้ว่าที่ผ่านมา Apple เองได้กลางเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกไปแล้ว แต่ด้วยกระแสที่สร้าง Impact เป็นอย่างมาก ทำให้ Apple ต้องออกมาปฎิเสธข่าวดังกล่าว 

และแล้วเมื่อคืนวันที่ 7 สิงหาคมตามเวลาประเทศไทย ทรัมป์ได้ตัดสินใจลงนามในคำสั่งให้แบน TikTok เป็นที่เรียบร้อย และแถม Wechat ไปด้วย โดยบังคับให้มีผลภายใน 45 วัน อีกทั้งทรัมป์ได้ห้ามชาวอเมริกันไม่ให้ทำธุรกิจ และห้ามประชาชนไม่ให้ใช้ TikTok และ WeChat ถ้าหากบริษัทจีนยังเป็นเจ้าของอยู่  ในขณะที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง ทาง Microsoft ยังรุกโดยมีเป้าหมายจะซื้อกิจการของ TikTok ทั่วโลก 

การกระทำของสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ได้ทำให้เรื่องราวความตึงเครียดของทั้ง 2 มหาอำนาจสิ้นสุดเพียงเท่านี้ แต่จะเป็นการยิ่งเพิ่มความรุนแรงเข้าไปอีก เพราะจีนได้บอกเมื่อก่อนหน้านี้แล้วว่าพร้อมตอบโต้...

tiktok
ทรัมป์แบน TikTok จุดชนวน Tech War จีน-สหรัฐฯ ?

หนึ่งในความกังวลที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องของข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจของโลก อย่างสหรัฐอเมริกา และจีน โดยเป็นการต่อสู้กันในแง่ของการค้าระหว่างประเทศด้วยการตั้งกำแพงภาษีต่าง ๆ  มากมาย รวมถึงการแบนสินค้าที่นำเข้าส่งออกซึ่งกันและกัน ส่งผลกระทบต่ธุรกิจที่มีฐานการผลิต และมีคู่ค้าอยู่ระหว่างสองดินแดนดังกล่าว

โดย ทรัมป์ มองว่าสหรัฐอเมริกาเสียเปรียบ เพราะมีการบริโภคมากที่สุดในโลก แถมเงินดอลลาร์สหรัฐยังเป็นสกุลเงินที่มีการทำธุรกรรมมากที่สุดในโลก โดยจีนได้เข้ามาทำธุรกิจในสหรัฐ และธุรกิจของจีน เติบโตในสหรัฐมากเกินไป ประกอบกับนโยบาย American First ที่ทรัมป์ต้องทำทุกอย่างเพื่ออ้างถึงผลประโยชน์ของพลเมืองอเมริกันให้ได้มากที่สุด ในกรณีของ TikTok ก็เช่นเดียวกัน  ที่ทรัมป์ได้อ้างความปลอดภัยทาง Cyber และความเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐจากการถูกล้วงข้อมูลจากจีน

สำหรับปัญหาความไม่ไว้วางใจ TikTok นั้นมาจากความสงสัยของการเก็บข้อมูลที่แอปดังกล่าวได้เก็บข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่รายละเอียดส่วนตัว เช่น สถานที่ตั้ง และอีเมล ไปจนถึงข้อมูลที่ซับซ้อน เช่น โปรไฟล์ส่วนตัว และพฤติกรรมออนไลน์ ดังนั้นจึงสามารถกังวลได้ว่า TikTok อาจเป็นช่องทางที่รุกล้ำฐานข้อมูลพลเมือง เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การทำลายความมั่นคงของชาติได้ นั่นคือสิ่งที่สหรัฐอเมริกา  และอินเดียคิด ที่นำไปสู่การตัดสินใจแบนบริษัทเทคโนโลยีจากจีน ที่ไม่ใช่แค่ Tiktok เท่านั้น... 

สำหรับ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok นั้น ถือเป็น Startup ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าถึง 140 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เข้าถึงผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่สามารถเติบโตตาม Alibaba และ Tencent ได้ รวมถึง TikTok ยังถือเป็นสัญลักษณ์ของความสามารถของ บริษัท เทคโนโลยีจีนในด้าน AI และสามารถขยายการเติบโต รวมถึงทำกำไรได้ในระยะเวลาอันสั้น 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ TikTok ในต่างแดนนั้น อาจจะชวนย้อนคิดไปถึงการกระทำเพื่อปกป้องอธิปไตยทาง Cyber ของจีนก่อนหน้านี้ที่ สี จิ้น ผิง ได้บล็อกการใช้งานของ Social media นอกอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็น กรณีของ FACEBOOK ,IG ,TWITTER และ YOUTUBE การบังคับให้บริษัทต่างชาติรักษาความปลอดภัยคู่ค้าและตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ตั้งแต่เกมมือถือไปจนถึงบริการคลาวด์ หรือ แม้แต่การลดการลงทุนในด้านต่างๆ รวมถึงการเซ็นเซอร์เนื้อหาของ search engine และ social network ของบริษัทที่ได้รับการอนุญาตให้ดำเนินงานในจีนได้ 

โดย สี จิ้น ผิง ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เราควรเคารพแนวทางการพัฒนารูปแบบการจัดการนโยบายสาธารณะทางอินเทอร์เน็ตและสิทธิในการมีส่วนร่วมในการจัดการไซเบอร์สเปซของประเทศทุกประเทศ และไม่ควรมี ความเป็นเจ้าโลกในโลกไซเบอร์ไม่แทรกแซงกิจการภายในของผู้อื่นไม่มีส่วนร่วมสนับสนุนหรือยุยงกิจกรรมทางไซเบอร์ที่จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติของประเทศอื่น ๆ” 

แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นว่าตอนนี้จีนเองที่ต้องการให้โลกยอมรับ Tech Company ของตนและหลีกเลี่ยงเรื่องของความกังวลด้านความความมั่นคงของชาติที่มีมากเกินไป จากการที่ต้องการเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง ยุติธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ สำหรับธุรกิจของทุกประเทศ

การเติบโตของ Tech Company ของจีนในต่างแดนนั้น ตลาดสหรัฐอเมริกาถือว่ามีความสำคัญสูง แต่ความกังวลด้าน Cyber Security ที่หลายประเทศไม่ไว้วางใจจีนนั้นก็ถือเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดต่อการขยายธุรกิจของจีนในเวทีโลก และแน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ที่มีการต่อต้านอย่างรุนแรงของรัฐบาลแต่ละประเทศ อาจจะส่งผลต่ออีกหลายๆ ธุรกิจของจีนที่ต้องการเติบโต ดังนั้นสิ่งที่น่ากังวลหลังจากนี้คือ การที่มหาอำนาจของโลกอาจจะต้องการทำทุกวิถีทางพื่อปราบคู่แข่งทางภูมิรัฐศาสตร์และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สำคัญ 


รวบรวมข้อมูลจาก Bloomberg , Forbes , Nytimes



Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เช็คจุดน้ำท่วมเรียลไทม์ ผ่านแอปฯ BMA Traffic น้ำท่วม-รถติด-อุบัติเหตุ ดูได้หมด

BMA Traffic เป็นแอปพลิเคชันที่เราสามารถดูระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถสำรวจพื้นที่น้ำท่วมหรือรถติดผ่านแอปฯ ได้ทันที...

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

2024 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยต้องโฟกัสอะไร? รู้จักกลยุทธ์ 2C โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย เจาะปัจจัยหลักที่นักการตลาดดิจิทัลต้องรู้

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 2 กุญแจชิ้นสำคัญอย่าง Content & Convenience ที่กุมชะตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในยุคดิจิทัล...