ถอดบทเรียนจากความผิดพลาด วิธีรับมือโรคระบาด จนนำมาสู่ภัยคุกคามระดับโลก | Techsauce

ถอดบทเรียนจากความผิดพลาด วิธีรับมือโรคระบาด จนนำมาสู่ภัยคุกคามระดับโลก

เราแทบจะได้ยินเสียงถอนหายใจด้วยความโล่งอกเมื่อผู้คนทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทว่าในตอนนี้ดูเหมือนว่าจะมีการระบาดใหญ่ครั้งใหม่เข้ามาเป็นภัยคุกคามต่อชาวโลกอีกครั้ง

จากงานวิจัยของ Maureen Miller ผู้ช่วยรองศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ The Conversation ระบุว่า มีวิธีง่าย ๆ ในการลดการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นใหม่ นั่นคือ การเฝ้าระวังแบบเชิงรุกและแบบเรียลไทม์ในสภาพแวดล้อมที่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนมักเกิดขึ้นได้มากที่สุด

อีกนัยหนึ่งคือ อย่ารอให้ผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล แต่ให้เฝ้าสังเกตการณ์ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาดแทน

แผนยุทธศาสตร์การป้องกันโรคระบาดที่เกิดขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทั่วโลกทราบมานานแล้วว่า โรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนนั้นเป็นปัญหา ในปี 1947 องค์การอนามัยโลกได้จัดตั้งเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วโลกเพื่อตรวจหาภัยคุกคามจากโรคระบาดผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การเฝ้าระวังกลุ่มอาการ (Syndromic surveillance) โดยอาศัยรายการตรวจสอบอาการที่เข้าเกณฑ์เพื่อหาสัญญาณความเป็นไปได้ในการเกิดหรือการเกิดซ้ำของโรคระบาดในประชากรผู้ป่วยที่มีอาการที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ง่าย ๆ

ยุทธศาสตร์ทางคลินิกนี้อาศัยทั้งผู้ติดเชื้อที่มาโรงพยาบาลในกรณีอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ และหน่วยงานทางการแพทย์ที่มีอิทธิพลและยืนหยัดมากพอที่จะสร้างความเข้าใจและความตระหนักเรื่องโรคระบาดแก่ประชาชน

มีเพียงอุปสรรคเดียว คือ ในตอนที่ผู้ป่วยมาถึงที่โรงพยาบาล นั่นหมายความว่าการแพร่ระบาดได้เกิดขึ้นแล้ว ในกรณีของไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 นั้น มีแนวโน้มที่น่าจะแพร่ระบาดมานานแล้วก่อนที่จะถูกตรวจพบ ครั้งนี้จึงเป็นครั้งเดียวที่ยุทธศาสตร์ทางคลินิกทำให้เราพลาด

การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจบ

การใช้แนวทางเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้นกำลังได้รับความนิยมในโลกของการป้องกันโรคระบาด ซึ่งแนวทางดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าไวรัสที่เกิดจากสัตว์ได้กลายมาเป็นไวรัสอันตรายในมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนบ่อยครั้ง

การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจบ เนื่องจากสัตว์ที่เป็น “ตัวกลาง” เช่น ชะมด ลิ่น หรือหมู ไวรัสอาจต้องกลายพันธุ์ก่อนเพื่อให้ตัวไวรัสกระโดดเข้าหาผู้คนได้ในตอนแรก แต่ในตอนสุดท้าย สิ่งที่ทำให้ไวรัสสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบก็คือตัวมนุษย์เอง

ทฤษฎีวิวัฒนาการของไวรัสกำลังแสดงให้เห็นแบบเรียลไทม์ด้วยพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโควิด-19 ความเป็นจริงแล้ว ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้เสนอว่า การแพร่เชื้อจากคนสู่คนซึ่งเกิดหลังจากการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนที่ไม่สามารถตรวจพบได้นั้น มีแนวโน้มว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดของไวรัสซาร์ส-โควี-2

เมื่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน เช่น อีโบลา ได้รับความสนใจจากชาวโลกเป็นครั้งแรกในยุค 1970 การวิจัยด้านขอบเขตของการแพร่กระจายของโรค ก็ได้อาศัยการตรวจสอบแอนติบอดีและการตรวจเลือดเพื่อหาคนติดเชื้อ การเฝ้าระวังแอนติบอดี้ หรือที่เรียกว่า Serosurvey คือการทดสอบตัวอย่างเลือดจากกลุ่มประชากรเป้าหมายเพื่อระบุจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยจะช่วยตรวจสอบโรคต่าง ๆ เช่น อีโบลา ว่ากำลังแพร่ระบาดทั้งที่ปราศจากการตรวจพบหรือไม่

ผลปรากฏว่า พบแอนติบอดีรักษาอีโบลาในมากกว่า 5% ของผู้ที่ได้รับการทดสอบในไลบีเรียเมื่อปี 1982 หลายสิบปีก่อนการแพร่ระบาดในแอฟริกันตะวันตกในปี 2014 ผลลัพธ์ดังกล่าวนี้สนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการของไวรัส โดยไวรัสจากสัตว์นั้น บางครั้งอาจต้องใช้เวลานานในการที่จะแปรเปลี่ยนเป็นไวรัสอันตราย และแพร่ไปสู่มนุษย์ได้

นอกจากนี้ สิ่งนี้ยังหมายความว่านักวิทยาศาสตร์มีโอกาสที่จะเข้าไปแทรกแซงอีกด้วย

การวัดการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน

วิธีหนึ่งที่จะใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่ไวรัสในสัตว์กำลังปรับตัวให้เข้ากับร่างกายมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ คือการเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว การตั้งระบบเตือนภัยคุกคามจากการแพร่ระบาดโดยการตระหนักถึงยุทธศาสตร์นี้ จะสามารถช่วยตรวจหาไวรัสก่อนเกิดการแพร่ระบาด ก่อนที่ไวรัสเหล่านั้นจะกลายเป็นตัวอันตรายต่อมนุษย์ได้ และจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด ก็คือจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดโดยตรงนั่นเอง

ทีมของฉันทำงานร่วมกับสือ เจิ้งลี่ นักไวรัสวิทยาจากสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นในการพัฒนาการทดสอบแอนติบอดีของมนุษย์ เพื่อตรวจสอบหาไวรัสที่เป็นญาติห่าง ๆ กับไวรัสซาร์ส-โควี-2 ที่พบในค้างคาว เราได้สร้างหลักฐานการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนผ่านการทำ Serosurvey ขนาดเล็กในปี 2015 ที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน พบว่า 3% ของผู้เข้าร่วมวิจัยพักอาศัยอยู่บริเวณที่มีค้างคาว ซึ่งมีเชื้อไวรัสซาร์ส มีผลการตรวจแอนติบอดีไวรัสโคโรนาเป็นบวก ทว่ามีผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงอย่างหนึ่ง คือ ไม่มีผู้เข้าร่วมวิจัยที่ติดเชื้อคนใดให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเลย การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ อย่างการแพร่ระบาดของไวรัสซาร์สเมื่อปี 2003 และโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือเมอร์ส (MERS) เมื่อปี 2012 ทำให้อัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตอยู่ในระดับที่สูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นักวิจัยได้ทำการวิจัยขนาดใหญ่ระหว่างปี 2015-2017 ในภูมิภาคที่เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวอันเป็นที่รู้กันว่ามีเชื้อไวรัสซาร์สที่เป็นบ่อเกิดของไวรัสโคโรนา รวมไปถึงไวรัสที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2003 และไวรัสที่มีความเกี่ยวพันกับไวรัสซาร์ส-โควี-2 มากที่สุดด้วย

มีผู้เข้าร่วมวิจัยน้อยกว่า 1% ที่มีผลการทดสอบแอนติบอดีเป็นบวก ซึ่งหมายความว่าพวกเขาติดเชื้อไวรัสซาร์สที่ก่อให้เกิดไวรัสโคโรนามาก่อน และเป็นอีกครั้งที่ไม่มีผู้เข้าร่วมวิจัยคนใดให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบเชิงลบด้านสุขภาพเลย แต่การเฝ้าระวังกลุ่มอาการ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เดียวกับที่ใช้ในกรณีอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ในโรงพยาบาล ได้เผยให้เห็นสิ่งที่ไม่คาดคิดยิ่งกว่าเดิม กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมวิจัยอีก 5% ให้สัมภาษณ์ถึงอาการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับโรคซาร์สในปีที่ผ่านมา

งานวิจัยนี้ไม่เพียงแต่ให้หลักฐานทางชีววิทยาที่จำเป็นในการหาข้อพิสูจน์แนวคิดในการวัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนเท่านั้น แต่ระบบเตือนภัยคุกคามจากโรคระบาดยังจับสัญญาณที่มีลักษณะคล้ายกับเชื้อไวรัสซาร์สที่ยังไม่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด แล้วยังอาจตรวจพบเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 ในระยะแรกได้อีกด้วย

หากมีมาตรการเฝ้าระวังอยู่ในพื้นที่ ผลการวิจัยเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการค้นหาสมาชิกในสังคมที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดที่ไม่สามารถตรวจพบได้ แต่หากไม่มีการกำหนดแผนการ เราก็จะพลาดการรับรู้ถึงสัญญาณนั้นไป

จากการคาดการณ์สู่การเฝ้าระวัง ไปจนถึงการจัดลำดับพันธุกรรม

ความพยายามในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นไปที่การค้นพบเชื้อโรคในสัตว์ป่าและการคาดการณ์การแพร่ระบาดก่อนที่ไวรัสในสัตว์จะสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนได้ แต่ไม่ได้คาดการณ์ถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน รวมถึงไข้หวัดใหญ่ H1N1 เมื่อปี 2009 โรคเมอร์สเมื่อปี 2012 โรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกเมื่อปี 2014 หรือแม้แต่โรคโควิด-19 ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แบบจำลองการคาดการณ์ได้ทำแผนผังแสดงจุดที่เป็น “hot spots” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนมีแนวโน้มจะแพร่ระบาดมากที่สุดจากทั่วโลกการเฝ้าระวังระยะยาวที่จุด “hot spot” เหล่านี้ สามารถตรวจจับสัญญาณการแพร่ระบาด ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยของจำนวนคนที่มีแอนติบอดี ระดับการเจ็บป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ในหมู่ผู้ติดเชื้อ เช่นเดียวกับการเฝ้าระวังโรคในเชิงรุก หากตรวจพบสัญญาณ การแพร่ระบาดก็จะตามมา บุคคลที่มีอาการที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ง่าย จะใช้การตรวจคัดกรองด้วยการจัดลำดับพันธุกรรมเพื่อระบุเชื้อและลักษณะของไวรัสตัวใหม่

นี่คือสิ่งที่ เกร็ก เกรย์และทีมของเขาจากมหาวิทยาลัยดุ๊กทำในการวิจัยไวรัสโคโรนาที่ยังไม่ถูกพบในเขตชนบทของรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ซึ่งรู้กันว่าเป็นจุด “hot spot” ของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน จากการเก็บข้อมูล กลุ่มตัวอย่าง 8 คนจาก 301 คนซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคปอดบวมที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อปี 2017-2018 พบว่ามีเชื้อ Canine Coronavirus ที่มักพบในสุนัข และไม่เคยพบในมนุษย์มาก่อน นอกจากนี้ การจัดลำดับจีโนมของไวรัสที่สมบูรณ์ไม่เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าไวรัสกระโดดจากสัตว์สู่คนได้เท่านั้น แต่ยังมีการกลายพันธุ์ในรูปแบบเดียวกันซึ่งทำให้ทั้งเชื้อไวรัสซาร์สและซาร์ส-โควี-2 เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

อย่าพลาดสัญญาณเตือนโรคระบาดครั้งต่อไป

ข่าวดีก็คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการเฝ้าระวังโรคที่จุด “hot spot” ทั่วโลกนั้นมีอยู่แล้ว โครงการที่เชื่อมองค์กรต่าง ๆ เพื่อเฝ้าระวังโรคระดับภูมิภาค ได้เชื่อมโยงเครือข่ายเฝ้าระวังโรคระดับภูมิภาคจำนวน 6 เครือข่ายใน 28 ประเทศ พวกเขาเป็นผู้ริเริ่ม “การเฝ้าระวังโรคในผู้เข้าร่วมวิจัย” โดยร่วมมือกับชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงทั้งในด้านการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนในขั้นแรกเริ่ม และด้านการมีผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ร้ายแรงที่สุด เพื่อส่งเสริมการป้องกันโรค

ตัวอย่างเช่น กัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ได้จัดตั้งสายด่วนฟรีสำหรับสมาชิกในสังคมเพื่อรายงานการเจ็บป่วยของสัตว์โดยตรงกับกระทรวงสาธารณสุขแบบเรียลไทม์ แนวทางเช่นนี้ของหน่วยงานภาครัฐเป็นกุญแจสำคัญในการตอบสนองการประสานงานด้านสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงที เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดก่อนที่จะกลายเป็นโรคระบาด

เมื่อลำดับความสำคัญระดับโลกและระดับท้องถิ่นมีความไม่แน่นอน การพลาดสัญญาณเตือนก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดในแบบเดิมที่เคยเกิดขึ้นจะต้องไม่เกิดซ้ำอีก

ที่มา: The Conversation 

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เทียบสวัสดิการหญิง ไทยสู้ใครได้บ้าง?

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามาดูว่าการต่อสู้กว่า 1 ศตวรรษที่ผ่านมา ในปัจจุบัน ‘สิทธิสตรี’ และสวัสดิการหญิงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว...

Responsive image

Bridgit Mendler อดีตดาราเด็ก Disney ผันตัวมาเป็น CEO บริษัทเทคโนโลยีอวกาศ

Bridgit Mendler อดีตดาราเด็กและนักร้องชื่อดังจาก Disney Channel ล่าสุดเธอผันตัวมาทำ Startup สถานีอวกาศภาคพื้นดินแล้ว...

Responsive image

5 เทคนิคการเขียน Journal ที่ช่วยพัฒนาทักษะของผู้นำ

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 5 แนวทางเพื่อพัฒนาทักษะผู้นำผ่านการเขียน Journal...