ฟัง ​ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผอ. NIA คนใหม่ เผยยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนวัตกรรม ขยับอันดับดัชนี GII แบบจัดเต็ม | Techsauce

ฟัง ​ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผอ. NIA คนใหม่ เผยยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนวัตกรรม ขยับอันดับดัชนี GII แบบจัดเต็ม

หลังจาก ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เข้ามารับตำแหน่งต่อจาก ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ เมื่อไม่นานมานี้ ก็ถึงเวลาออกมาเผยยุทธศาสตร์ผลักดันนวัตกรรมในระดับประเทศ อาทิ แนวทาง 'ลด 2 เพิ่ม 3' เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยเลื่อนขั้นเป็น ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBEs) เป้าหมายขับเคลื่อน ดัชนีนวัตกรรมประเทศไทย สู่อันดับที่ 30 ในปี พ.ศ. 2573 และอีกมากมายที่ NIA กำลังดำเนินงานในบทบาทของ ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)

NIA

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง เปิดเผยว่า ในปี 2566 นโยบายการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ถูกพูดถึงและกำหนดบทบาทอย่างชัดเจนที่จะนำประเทศไปสู่การแข่งขันระดับมหภาคได้อีกครั้ง โดยการขับเคลื่อนดังกล่าว NIA เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาททั้งในเชิงผู้กำหนดนโยบาย การอำนวยความสะดวกให้ระบบนิเวศนวัตกรรมเอื้อต่อศักยภาพการทำงาน การสร้างมูลค่าทางธุรกิจ รวมทั้งการรังสรรค์นวัตกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายสำคัญที่จะเร่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ 1 ใน 30 ของประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมโลกภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับ 43 ของดัชนีนวัตกรรมโลก หรือ The Global Innovation Index (GII) 

“เพื่อยกระดับทิศทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทยให้สอดรับกับบริบทโลก NIA จึงได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ ภายใต้แนวคิด Create the Dot - Connect the Dot - Value Creation ผ่านกลไก Groom Grant Growth และแนวทาง '2 ลด 3 เพิ่ม' ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการมุ่งเน้นนวัตกรรมแบบเปิดผ่านการเปิดรับแนวคิดใหม่จากสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี เพื่อเติมเต็มจุดอ่อนหรือปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจให้มากขึ้น ลดอุปสรรคการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมให้กับทุกภาคส่วน และแก้ไขกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพิ่มจำนวนนวัตกรและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการจ้างงาน การเพิ่มขึ้นของ GDP และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ 'ชาตินวัตกรรม' รวมถึง เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ให้มีโอกาสขยายตลาด และสร้างแบรนด์นวัตกรรมสัญชาติไทยที่พร้อมแข่งขันกับนวัตกรรมจากต่างประเทศ”

สำหรับปี 2567 – 2571 หรือ 4 ปี หลังจากนี้ ผู้อำนวยการคนใหม่กล่าวถึงการเปลี่ยนบทบาท NIA จากสะพานเชื่อมสู่การเป็น ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor) ที่เชื่อมการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในทุกมิติ อันจะนำไปสู่การสร้างผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทบาทใหม่ที่จะดำเนินงานภายใต้ 7 กลยุทธ์ ดังนี้ 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA

1) สร้างและยกระดับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBEs) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน

โดยมุ่งพัฒนาและขยายผลโครงการสำคัญร่วมกับการส่งเสริม IBEs ให้มีการคุ้มครองและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้าและบริการนวัตกรรมร่วมด้วย ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 

  • 1) FoodTech & AgTech 
  • 2) TravelTech 
  • 3) MedTech 
  • 4) Climate Tech
  • 5) Soft Power 

รวมทั้งใช้ NIA Academy เป็นกลไกหลักในการพัฒนา IBEs ผ่านหลักสูตรที่เข้มข้น และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น 

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานด้าน IBEs ภายใน 4 ปี คือ เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม 10,000 ราย บุคลากรและกำลังคนด้านนวัตกรรม 15,000 ราย และทำให้เกิดมูลค่าผลกระทบในอุตสาหกรรมเป้าหมายและพื้นที่รวม 20,000 ล้านบาท

2) ส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิดและทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเปิดกว้างมากขึ้น

โดยเน้นการให้ทุนที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุนอื่นๆ การให้ทุนรายสาขาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับภูมิภาค การเสริมสร้างสมรรถนะการขอทุนและการจัดทำข้อเสนอโครงการร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรม เช่น มหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนในภูมิภาค การลดกระบวนการและเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินในโครงการให้ทุน การใช้คูปองนวัตกรรมเพื่อให้ทุนได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนไม่ว่าจากธนาคารของรัฐหรือแหล่งทุนอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

เป้าหมายการดำเนินงานด้านเงินทุนใน 4 ปี คือ เงินทุนและกองทุนสนับสนุนนวัตกรรมที่ NIA บริหารจัดการ 2,000 ล้านบาท โครงการและธุรกิจนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุน 1,500 โครงการ มูลค่าการลงทุนที่เกิดขึ้นในธุรกิจนวัตกรรม 2,000 ล้านบาท ความคุ้มค่าและผลกระทบของเงินทุนสนับสนุนนวัตกรรม 5 เท่า และสร้างกลไกสนับสนุนรูปแบบใหม่ 3 กลไก

3) ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค

การพัฒนาย่านนวัตกรรม เมืองนวัตกรรม และระเบียงนวัตกรรมในภูมิภาค โดยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการด้านนวัตกรรมเหมือนที่ดำเนินการสำเร็จแล้วในจังหวัดพัทลุงและเชียงใหม่ และการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมในพื้นที่ชายแดนโดยร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวง อว. เช่น กรมการพัฒนาชุมชน หน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัย รวมทั้ง DEPA, CEA เพื่อเพิ่มพื้นที่จังหวัดนวัตกรรมให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อการสร้างผลลัพธ์และผลกระทบในแต่ละภูมิภาค 

สำหรับเป้าหมายของ NIA ใน 4 ปี คือ IBEs เข้ามามีส่วนร่วมกว่า 3,000 ราย มีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมใน 40 มหาวิทยาลัย และ 16 อุทยานฯ เกิดการลงทุนนวัตกรรมในภูมิภาค 20,000 ล้านบาท อันดับดัชนีนวัตกรรมเมืองปรับขึ้น 5 อันดับ จังหวัดศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรม 12 จังหวัด ย่านนวัตกรรม 12 ย่าน และสำนักงานภูมิภาค 3 แห่ง

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง NIA

4) เป็นศูนย์กลางการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ด้วยการเชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุน IBEs ทั้งทางด้านการเงินและมิติอื่น โดยเน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเครือข่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การสร้างพื้นที่สนับสนุนสตาร์ทอัพเหมือนกับ Station F ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับระบบนวัตกรรมไทย การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริมระบบนวัตกรรมไทยให้เข้มแข็ง เช่น นโยบายด้านการเงินและภาษีที่สนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม IP Tax Redeem หรือนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขยายสิทธิประโยชน์ในย่านนวัตกรรมร่วมกับ BOI ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น การสร้างระบบ Certified IBEs ฯลฯ 

รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการติดตาม เชื่อมโยง และประสานงานทั้งในประเทศและต่างประเทศในการยกระดับนวัตกรรมของประเทศไทย โดยอาศัยกลไก การทูตนวัตกรรม (Innovation Diplomacy) ที่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน การยกอันดับประเทศไทยในดัชนีนวัตกรรมโลก GII ของ WIPO จากอันดับที่ 43 ในปี 2565 เป็นอันดับที่ 30 ในปี 2573 โดยมีเป้าหมายใน 4 ปี คือ เครือข่ายข้อมูลนวัตกรรมที่เชื่อมโยงสู่ระบบ 15 เครือข่าย จำนวนผู้ใช้บริการ 50,000 ราย ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 ข้อ และนวัตกรรมเชิงนโยบาย/ภาครัฐ 30 นวัตกรรม

5) ส่งเสริมการตลาดนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ข้อนี้เป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในลักษณะของ Business Brotherhood คือ ให้บริษัทขนาดใหญ่มาสนับสนุนการขยายธุรกิจของ IBEs เช่น การส่งเสริมการตลาดของสินค้านวัตกรรมร่วมกับซีพีออลล์ แม็คโคร สยามพิวรรธน์ และกลุ่มบริษัทในเครือเซ็นทรัล รวมทั้งการส่งเสริม IBEs ให้รู้จักการสร้างแบรนด์ การตลาดผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยขยายความร่วมมือในลักษณะที่มีกับ Shopee ในโครงการ InnoMall กับแพลตฟอร์มอย่าง TikTok และ Line รวมถึงจัดทำแคตตาล็อกสินค้านวัตกรรมในรูปแบบภาษาไทยและอังกฤษ การขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายใน 4 ปี คือ มีจำนวน IBEs ที่เข้าร่วมโครงการ 1,000 ราย และมูลค่าเติบโตจากตลาดในประเทศและต่างประเทศรวม 1,000 ล้านบาท

6) สร้างความตระหนักและการรับรู้ความสำคัญของนวัตกรรมในทุกภาคส่วน ผ่านโครงการ Innovation Thailand

รวมถึงการจัดประกวดรางวัลนวัตกรรม งาน SITE งาน Ubon Art Fest เพื่อสร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมไทย โดยมีเป้าหมายใน 4 ปี คือ จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง online และ onsite ไม่น้อยกว่า 50,000 ราย จำนวนผู้เข้าชม Content Online ไม่น้อยกว่า 2,000,000 ครั้ง

7) พัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างยั่งยืน

NIA มุ่งเน้นทำงานแบบ Cross Functional ซึ่งจะลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยากซับซ้อน สนับสนุนการปรับหมุนเวียนงาน (Job Rotation) ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยมีการใช้ Project-based Management และกำหนดเป้าหมายเพื่อวัดผลสำเร็จ (OKR) ที่ชัดเจนและสอดคล้องกันทั้งองค์กร ทำให้การบริหารงานบุคลากรเป็นระบบมากขึ้น มีความโปร่งใส และเป็นธรรม ร่วมกับการเน้นการทำงานเป็นทีมเพื่อมุ่งสู่พันธกิจขององค์กร พร้อมทั้งน้อมนำแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงและหลัก ESG มาใช้ในการดำเนินงาน

“ภายในระยะ 1 ปี NIA ตั้งเป้าหมายสร้างความก้าวหน้าทางนวัตกรรมไทยทั้งในเชิงมูลค่าและเชิงภาพลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ให้สำเร็จ การสร้างพื้นที่สนับสนุนสตาร์ทอัพโดยมีโมเดล Station F ของสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีการรวมตัวของสตาร์ทอัพและนักลงทุน ครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก บริษัทที่ปรึกษาการทำธุรกิจ สำนักงานของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก โปรแกรมการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน 

"นอกจากนี้ NIA จะสร้างเครือข่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวง อว. การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริมระบบนวัตกรรมไทยให้เข้มแข็ง เช่น นโยบายด้านการเงินและภาษีที่สนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม IP Tax Redeem หรือนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขยายสิทธิประโยชน์ในย่านนวัตกรรมร่วมกับ BOI การเชื่อมโยงฐานข้อมูลนวัตกรรมและสร้างแพลตฟอร์มสำหรับ Innovation Thailand” ดร.กริชผกากล่าวสรุป

มุมมองเพิ่มเติมของ ดร.กริชผกา ในด้านสถานการณ์ปัจจุบันกับแผนพัฒนานวัตกรรมของประเทศ

การเมือง - ระหว่างที่การเมืองไทยยังไม่นิ่ง การเลือกพรรคมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลละยังไม่รู้ว่า ใครจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ดร.กริชผกาแสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า แต่ละพรรคมีแผนงานด้านการพัฒนานวัตกรรม และไม่ว่าพรรคที่เป็นแกนนำหรือร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นฝ่ายใด งานขับเคลื่อนนวัตกรรมก็จะยังดำเนินต่อไป เแต่อาจล่าช้าในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ระหว่างที่รอก็จำต้องเลือกใช้งบในด้านสำคัญๆ ก่อน

เศรษฐกิจ/การลงทุน - แม้สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่สู้ดีนัก ทั้งยังคาดการณ์กันว่า อาจเกิด Recession ในไม่ช้า แต่สำหรับการลงทุนด้านนวัตกรรม ดร.กริชผการะบุว่า เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ที่องค์กรเอกชน ขณะเดียวกัน VC และ CVC ทั้งในไทยและต่างประเทศก็มีความต้องการที่จะลงทุนอีกมาก NIA จึงเชื่อมเส้นทางให้ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่ต้องการเงินทุนกับทาง VC หรือ CVC ได้พบปะและแมตช์กัน นอกจากนี้ NIA ยังกระจายการลงทุนไปยังส่วนภูมิภาคมากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพราะที่ผ่านมาการเน้นลงทุนตามเซกเมนต์ของอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 

EEC - สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมี เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งใหม่ของประเทศ ทาง NIA ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพ จึงเข้าไปสนับสนุนการสร้างสตาร์ทอัพเพื่อให้บริการแก่อุตสาหกรรมในพื้นที่ EECi พร้อมทั้งช่วยยกระดับนวัตกรรม ดึงดูดการลงทุน และสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพในพื้นที่ดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ในพื้นที่ EEC มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามามาก แต่ก็มีหลายรายที่เปลี่ยนเป้าหมายไปลงทุนในประเทศอื่นๆ แทน ดังนั้น หากจะดึงการลงทุนเข้ามาในพื้นที่ที่เป็น Flagship ของประเทศ ดร.กริชผกาเผยว่า เมื่อไรที่มีรัฐบาลชุดใหม่ต้องระบุให้ชัดเจนขึ้น ว่าจะสานต่อการพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างไร ทั้งในมิติของนโยบาย มิติของอุตสาหกรรม มิติของนวัตกรรม แล้วความชัดเจนเหล่านี้จะดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ภาวะโลกรวน - เนื่องจากภัยพิบัติที่เกิดถี่ขึ้น รุนแรงขึ้นจากภาวะโลกรวน และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องตั้งรับสถานการณ์เอลนีโญ่ NIA ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมและความยั่งยืน จึงกำหนดกลยุทธ์ในการส่งเสริม Climate Tech ปีนี้เป็นปีแรก

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SpaceVIP จัดทริปกินมื้อหรูระดับมิชลินบนอวกาศ สนนราคาต่อหัว 17.8 ล้านบาท

โอกาสสำหรับการทานอาหารสุดหรูบนอวกาศมาถึงแล้ว SpaceVIP เตรียมเปิดประสบการณ์การทานอาหารจากเชฟระดับ Michelin Star ที่ความสูงกว่า 100,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลในการผจญภัยบนขอบอวกาศ โอกา...

Responsive image

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? แหล่งข่าวชี้ Selena Gomez เตรียมขายแบรนด์

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? ข่าวจาก Bloomberg ออกมาว่าตอนนี้ Selena Gomez ได้เริ่มดำเนินการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนเพื่อประเมินมูลค่าแบรนด์แล้ว...

Responsive image

ลุยตลาด EV ปตท.ตั้งบริษัทลูก ‘X Mobility Plus’ เป็นดีลเลอร์ขายรถไฟฟ้าจีน XPENG

PTT ตั้งบริษัทลูก ‘X Mobility Plus’ เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า XPENG...