ปฏิเสธไม่ได้ที่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เป็นกระแสความนิยมเกินต้านทาน รถ EV เปรียบเป็นตัวแทนของนวัตกรรมที่ผสมกระแสการรักโลก ในยุคที่เม็ดเงินการลงทุนกำลังไหลไปในทิศทางที่ต้องตอบโจทย์เรื่อง ESG & Sustainability มากขึ้น
ถึงแม้หลายฝ่ายจะกังวลว่าไทยเคลื่อนไหวสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าช้าไป และอาจไม่ทันการณ์จากความเคยชินแต่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปแบบดั้งเดิมในตอนแรก แต่ช่วงนี้นับเป็นจังหวะและการพัฒนาที่ดีที่ไทยได้รับความสนใจจากหลากหลายแบรนด์ในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้กับภูมิภาค และอาจจะรวมถึงระดับโลก และล่าสุดสำหรับการเข้า Tesla เจ้าตลาด EV โลกที่ก้าวขาสู่ประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว
ปัจจัยแรกคือ การที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV กำหนดนโยบาย 30@30 ตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็น EV Hub
และสำหรับผู้บริโภค ที่ประชุมครม. ไฟเขียว ลดอัตราภาษีประจำปี สำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว หรือ รถยนต์ EV ที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2568 ลง 80% ของอัตราที่กำหนดตามกฎหมายเป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน รวมทั้งยังประกาศทุ่มงบลงทุนราว 4 หมื่นล้านบาทในอุตสาหกรรมนี้สำหรับปี 2023 ถึง 2025 อีกด้วย เพื่อดึงดูดค่ายรถยนต์ที่จะนำการผลิต EV มาสู่ไทยในที่สุด
ความเนื้อหอมของไทยถูกตอกย้ำยิ่งขึ้น หลังจากเมื่อต้นเดือน BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่สุดของจีน สร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ปิดดีลซื้อขายที่ดินกับ WHA Group เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV ของแบรนด์แห่งแรกในอาเซียน โดย Liu Xueliang ผู้จัดการภาค Asia-Pacific ของ BYD ประจำ Auto Sales Division ชี้แจงเป้าการผลิตที่ปีละ 150,000 คัน นับว่าเป็นการประกาศศักยภาพการผลิตเต็มกำลัง และกำลังท้าทายแบรนด์จีนคู่แข่งที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย อย่าง GWM และ MG ของค่าย SAIC ด้วย ซึ่งสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลเป็นตัวดึงดูดหลักอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ปัจจัยที่สอง ในมุมมองของค่ายรถยนต์ ยังคงมองว่า อย่างไรก็ตาม ไทยก็ยังมี Know-how ในการผลิตรถยนต์ที่เมื่อเพิ่มเทคโนโลยี+ต้นทุนเข้าไป ก็สามารถต่อยอดได้ไกล พร้อมมีระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งได้มาตรฐานสากลอยู่แล้ว พร้อมปัจจัยที่สามคือ การมีตลาดรองรับทั้งในประเทศและการส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดรถพวงมาลัยขวาทั่วโลก ไม่นับอีกปัจจัยคือ ไทยมีตำแหน่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ สามารถขนส่งให้กับประเทศอื่นในภูมิภาคได้อย่างสะดวกและคุ้มต้นทุนที่สุด ถึงแม้จะเจอคู่ค้าคู่แข่งตลอดกาลอย่างเวียดนามก็ตาม
สำหรับการลงทุนด้าน EV ไทยในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้รายงานความคืบหน้าการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ตั้งแต่ปี 2017 จนถึง 17 ส.ค. 2022 มีโครงการที่ได้รับส่งเสริมในกิจการด้านนี้แล้ว รวม 26 โครงการ จาก 17 บริษัท ได้แก่
1. โครงการผลิต Hybrid Electric Vehicle (HEV) จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ GWM, Honda, Mazda, MG, Mitsubishi, Nissan, Toyota
2. โครงการผลิต Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ BMW, BYD, GWM, Mercedes Benz, Mazda, MG, Mitsubishi, Toyota
3. โครงการผลิต Battery Electric Vehicle (BEV) จำนวน 15 โครงการ ได้แก่ BYD, FOMM, GWM, Honda, Horizon, Mazda, Mercedes Benz, MG, Mine Mobility (2 โครงการ), Mitsubishi, Nissan Skywell, Takano, Toyota
4. โครงการผลิตรถบัสไฟฟ้า (E-bus) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Absolute Assembly และสกุลฎ์ซี
(ทั้งนี้บางโครงการได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1 ประเภทในโครงการเดียวกัน ทำให้จำนวนโครงการเมื่อแยกตามรายประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว จะสูงกว่าจำนวนโครงการรวม)
เมื่อรวมทั้งหมดแล้ว ทำให้ไทยมีมูลค่าการลงทุนรวม 80,208.6 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) รวมกำลังการผลิตจำนวน 838,775 คัน แยกเป็น HEV 38,623.9 ล้านบาท 440,955 คัน, PHEV 11,665.6 ล้านบาท 137,600 คัน, BEV 27,745.2 ล้านบาท 256,220 คัน และ Battery Electric Bus 2,173.8 ล้านบาท 4,000 คัน โดยบริษัทที่เริ่มการผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว ได้แก่ Absolute Assembly, BMW, FOMM, GWM, Honda, Mercedes Benz, MG, Mitsubishi, Nissan, Takano, Toyota และยังมีอีกหลายโครงการที่มีแผนที่จะผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ
จากการที่ไทยมีมาตรการส่งเสริมทั้งผู้ผลิตและผู้ขับขี่ ทำให้ในอนาคตมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเตรียมวางแผนการผลิตที่ไทยอีกคือ Chery, Dongfeng, Geely และ Changan ไม่เว้นแม้กระทั่งสำหรับแบรนด์ฝั่งยุโรปและอเมริกาก็ไม่น้อยหน้า ต่างดาหน้าเข้ามาตั้งฐาน EV ที่ไทย อย่างเช่น Ford ประกาศให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ของบริษัท และ Tesla ที่เปิดตัวด้วยราคาตลาดที่สร้างความฮือฮาถ้วนทั่วกัน ในราคาเริ่มต้น 1.759 ลบ.
John Lawler ประธานฝ่ายการเงินของ Ford Motor กล่าวเมื่อ 15 ก.ย. ว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของ Ford นอกสหรัฐอเมริกา รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่นี้จะมีต้นแบบจาก 'Ford Ranger' และ 'Everest' ที่ไทยเป็นฐานผลิตหลักในภูมิภาคอยู่แล้ว และตั้งเป้าจะผลิตรุ่นไฟฟ้าของ Ranger ออกมาให้ได้ภายในปี 2024 แล้วค่อยพัฒนารุ่นไฟฟ้าของ Everest ต่อไป ซึ่งทั้งสองรุ่นนี้จะมีความสำคัญมากในแผนยุทธศาสตร์ของบริษัท เพื่อขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าออกไปทั่วโลกหลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากแล้วที่สหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน Ford มีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับที่ 2 รองจาก Tesla
การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุม เป็นรูปธรรม และเห็นผลครบวงจรพอที่คนจะกล้าใช้จริงมากขึ้น ย่อมจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อผู้คนเห็นความสะดวกสบายและสาธารณูปโภคที่เพียบพร้อมอย่างแท้จริง
เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยเริ่มติดตั้งและตื่นตัวในโครงสร้างสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นห่วงโซ่อุปทาน นโยบายสนับสนุนของรัฐบาล และความต้องการที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้จากมาตรการและแนวโน้มทั้งหมด ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากสรุปยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 ซึ่งมีรวม 1,770 คัน เพิ่มขึ้น 43.2% จากไตรมาสแรก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเสมอมา จากนโยบายจูงใจให้เกิดผู้ซื้อที่มากพอที่จะสร้างตลาดเศรษฐกิจด้านนี้ และจะเกิดการกระตุ้นการลงทุนในภาคส่วนนี้ได้อย่างแน่นอน
อ้างอิงจาก
BYD to build 150,000 cars a year in Thailand
Thailand, Indonesia, Malaysia, Vietnam race to become Southeast Asia’s electric car center
EppoThailand
Ford Ranger EV looking more likely for Australia
รายงานความคืบหน้าการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน
Ford EV sales soar 307% in August as automaker clinches second place in US market
Sign in to read unlimited free articles