E-Commerce Landscape 2017 : รวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย เอาไว้ในที่เดียว! (อัพเดทภาพปี 2018) | Techsauce

E-Commerce Landscape 2017 : รวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย เอาไว้ในที่เดียว! (อัพเดทภาพปี 2018)

ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของธุรกิจบน E-Commerce สูงขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ในปี 2017 ตลาด E-Commerce ไทย ทำเงินกว่า 2.9 พันล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 14.5% ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดมียอดขายอยู่ที่ 5.8 พันล้านเหรียญในปี 2022 และแตะ 11.1 พันล้านเหรียญในปี 2025 ได้ โดยกลุ่มธุรกิจ E-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดขณะนี้ คือ กลุ่มอิเลคทรอนิคส์และสื่อ ที่มีมูลค่ากว่า 1.2 พันล้านเหรียญ

Techsauce ได้รวบรวมธุรกิจ E-Commerce ของประเทศไทยทั้งหมดมาให้เห็นภาพกันว่าตอนนี้มีใครกันบ้าง และมีผู้เล่นไหนที่มาใหม่ มาแรง และเป็นที่พูดถึงในปีที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วปัจจุบันเส้นแบ่งระหว่างธุรกิจแบบ B2B หรือ B2C หรือ C2C มันจะไม่ได้ชัดเจนมาก เนื่องจากหลายธุรกิจก็ผันตัวเองเป็นแบบ B2B2C หรือ B2A (Business to All) กันบ้างแล้ว แต่เราได้พยายามจัดวางให้เห็นภาพกันชัดๆ และแยกตามหมวดหมู่ว่าตอนนี้มีใครกำลังทำอะไรกันอยู่บ้าง

หากใครสนใจอยากนำ Infographics นี้ไปแปะบนเว็บของท่าน สามารถคัดลอกโค้ดด้านล่างนี้ ไปแปะในเว็บของท่านได้เลย

C2C

เริ่มจากกลุ่ม C2C กันก่อน มีผู้เล่นใหม่น่าจับตามองในกลุ่มของ Marketplace ที่บุกตลาดไทยมาเมื่อปลายปี 2015 อย่าง Zilingo ที่เจาะกลุ่ม SME โดยโฟกัสที่สินค้าแฟชั่นโดยเฉพาะ / Shopee แอปพลิเคชันบนมือถือ ที่เปิดตัวไปเมื่อช่วงเวลาเดียวกัน โดยในปี 2016 Shopee เผยถึงยอดการโหลดแอปพลิเคชันเป็นจำนวนกว่า 5 ล้านครั้ง และมีคำสั่งซื้อกว่า 1 ล้านครั้งต่อเดือน ซึ่งตัวเลขได้สะท้อนเทรนด์การซื้อของบนมือถือในประเทศไทยที่เติบโตขึ้นมาก

สองสามปีที่ผ่านมา เป็นปีที่ผู้เล่นต่างชาติเข้ามามีบทบาทและครองตลาด E-Commerce เอาไว้ได้ โดยเฉพาะ Lazada ที่เติบโตจนเตะตายักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ของ แจ๊ค หม่า เข้าอย่างจัง ทำให้เกิดการซื้อกิจการและเพิ่มมูลค่าบริษัทขึ้นไปอยู่ที่ 1,500 ล้านเหรียญ / นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นเกาหลีใต้ 11 Street ที่ทุ่มงบมหาศาลเปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่เผยว่ากลุ่มสินค้าที่คนไทยนิยมซื้อมากที่สุดคือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาด้วย Kid & Baby และ Beauty & Health

กลุ่มเว็บไซต์ประกาศซื้อ-ขาย ก็ยังเต็มไปด้วยผู้เล่นที่เราคุ้นหูกันดี อย่าง Kaidee / Pantip Market รวมถึงเว็บประกาศขายบ้าน และ คอนโด อย่าง DDProperty ที่หันมาเปิดแอปพลิเคชันบนมือถือ / Hipflat / Prakard.com / Think of Living / ZmyHome และเว็บไซต์ซื้อขายรถยนต์มือสองหลายเจ้า

กลุ่มที่น่าสนใจของ C2C คือกลุ่ม Travel ที่มีผู้เล่นอย่าง Airbnb แพลตฟอร์มให้เช่าที่พัก โดยใครก็ตามที่มีห้องว่างสามารถเอามาปล่อยให้เช่าได้ ซึ่ง Airbnb เผยว่ามีนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการกว่า 774,000 คนในการจองที่พักในประเทศไทย รวมถึงมีคนไทยใช้บริการ Airbnb เมื่อไปพักในต่างประเทศกว่า 3 แสนคน / นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่ง Startup คนไทยอย่าง Favstay ที่เน้นการจองที่พักตากอากาศ โดยได้รับการลงทุนจากเครือโรงแรม Dusit International ไปเมื่อกลางปีนี้

B2C

ในปี 2017 ผู้เล่นใหญ่ในกลุ่ม Fashion อย่าง Zalora ถูกเซ็นทรัลกรุ๊ปซื้อกิจการและเปลี่ยนชื่อเป็น LOOKSI หวังสะท้อนภาพลักษณ์ให้มีความเป็นไทยและให้จำง่ายมากขึ้น / ผู้เล่นใหม่ไฟแรง Pomelo เปิดตัวไปเมื่อปี 2014 และเพิ่งได้รับเงินระดมทุนรอบใหม่จากเซ็นทรัล และ JD.com ไปหมาดๆ ซึ่งทำให้ Pomelo กลายเป็นผู้เล่นที่น่าจับตามองมากๆ ในปีนี้

ในกลุ่ม Beauty ก็มีผู้นำด้านความงามอย่าง Sephora ที่เปิดตัวเว็บออนไลน์ไปเมื่อกลางปี 2016 โดยเป็นการรวมกิจการกับ Luxola เว็บไซต์จำหน่ายเครื่องสำอางอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ / ขณะเดียวกัน Orami สตาร์ทอัพจากอินโดนีเซีย ที่เกิดจากการรวมกิจการระหว่างสองเจ้าใหญ่ Moxy กับ Bilna ก็บุกตลาดออนไลน์ด้วยเช่นกัน โดยล่าสุด Orami ได้รับเงินลงทุนจาก Eduardo Saverin ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ในรอบการระดมทุนถึง 535 ล้านบาทไปเมื่อปีที่แล้วด้วย

ตลาดที่กำลังคึกคักในช่วง 2-3 ปีมานี้ คือตลาด Food Delivery ซึ่งเต็มไปด้วยคู่แข่งรายใหญ่ เริ่มด้วย Food Panda ที่เมื่อปลายปี 2016 ได้ประกาศร่วมมือกับ Grab เพื่อเพิ่มกำลังการจัดส่งอาหาร ลดเวลาการจัดส่งให้เร็วยิ่งขึ้น / LINE MAN ที่ร่วมมือกับ Lalamove และ Wongnai ชูความโดดเด่นจากการร่วมมือกันของ 3 กลุ่มธุรกิจ โดยเน้นเจาะกลุ่มร้านอาหารทั่วไปที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด/ ต้นปี 2017 ก็มีผู้เล่นใหม่อย่าง UberEATS ที่แตกไลน์แยกออกมาจากแอปพลิเคชันบริการรถร่วมเดินทาง ชูจุดเด่นด้วยการคัดเลือกพันธมิตรร้านอาหารในเกรดพรีเมี่ยมทั้งไทยและนานาชาติ นอกจากนั้น ก็มีผู้เล่นอื่นๆ อีกอย่าง Zab Delivery / honestbee และ Happy Fresh

มามองในกลุ่ม Travel นอกเหนือจากผู้เล่นใหญ่ๆ อย่าง Agoda/ Booking.com/ Expedia และ Tripadvisor ที่คุ้นหูกันดีอยู่แล้ว ก็มีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่ Traveloka สตาร์ทอัพจากอินโดนีเซีย ที่เน้นทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในไทย โดยได้รับเงินลงทุนมาเพิ่ม 350 ล้านดอลลาร์จาก Expedia ทำให้มูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ กลายเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายล่าสุดในภูมิภาค / นอกจากนี้ยังมี Trivago บริการค้นหาโรงแรมที่พักแบบเปรียบเทียบราคา ที่มี Expedia เป็นผู้ถือรายใหญ่อยู่เช่นเดียวกัน

มีสตาร์ทอัพหลายรายที่เห็นช่องทางบุกตลาด Ticket ในเมืองไทย เริ่มด้วย Event Pop ที่เพิ่งได้รับการลงทุนรอบใหม่จากสอง CVC เจ้าใหญ่อย่าง Invent และ Beacon VC เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มจัดการงานอีเว้นท์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีการจัดการที่ครบวงจรตั้งแต่การขายบัตรออนไลน์ การดูแลบริหารการตลาด การลงทะเบียนเข้างาน รวมถึงระบบการบริหารลูกค้าสัมพันธ์  / สตาร์ทอัพอีกรายที่น่าจับตามองคือ ZipEvent ที่ตั้งแต่ปี 2016 ได้ขยายโฟกัสการทำธุรกิจในรูปแบบ B2B เพิ่มเติม โดยขยายบริการเป็นอีเว้นท์แพลตฟอร์มที่ครบวงจรตั้งแต่การโปรโมต ลงทะเบียน In-event engagement รวมถึงสร้าง Registration Kiosk สำหรับการลงทะเบียนด้วย / Ticketmelon ถือเป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพมาแรงสำหรับปีนี้ มีจุดเด่นที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการปฎิบัติการให้แก่ผู้จัดงานอีเว้นท์ด้วยเทคโนโลยี RFID บัตรชนิดหนึ่งที่มีคลื่นวิทยุเฉพาะตัว สามารถนำไปใช้จ่ายเงินในรูปแบบของ wristband ที่เติมเงินได้ ซึ่งทำให้ร่วมกิจกรรมในงานง่ายมากขึ้น

สตาร์ทอัพรายอื่นที่ไม่เข้าพวก แต่มีความโดดเด่นน่าจับตามอง อาทิ Freshket ตลาดสดออนไลน์สำหรับร้านอาหาร / BUILK.com ธุรกิจด้านซอฟท์แวร์บริการธุรกิจก่อสร้างและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างออนไลน์ / OneStockHome ขายวัสดุก่อสร้างออนไลน์ และ Wazzadu.com แพลตฟอร์มที่รวมผู้ประกอบการด้านวัสดุและตกแต่งบ้านทุกร้านทั่วประเทศมารวมอยู่ที่เดียวกัน

กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ไม่ปล่อยให้ตลาด E-Commerce หลุดมือ Central Group ได้เปิดเว็บไซต์ออนไลน์ของตัวเองด้วยเช่นกัน Central.co.th / Tops และ Robinson ขณะที่ CP Group เปิดเว็บออนไลน์ของ Tesco Lotus / 7-11/ 24Catalog และ ThaiBev ซื้อ BigC กับ Cmart ไป

Payment & E-Wallet

มาถึงกลุ่มที่แข่งขันกันดุเดือดที่สุดเลยก็ว่าได้ กับกลุ่มของ Fintech ด้าน Payment และ E-Wallet ที่มีผู้เล่นจากทั้งธนาคารและบริษัทเอกชนมากมายเดินหน้าออกแอปพลิเคชันให้บริการด้านการเงินกันอย่างคับคั่ง เล่ายังไงก็คงจะไม่หมดครบถ้วน ขอพูดถึงในส่วนของสตาร์ทอัพเด่นๆ อย่าง Omise ที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่าน ICO โดยเหรียญที่พวกเขาสร้างออกมานั้นมีชื่อว่า OmiseGO (OMG) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหรียญดิจิทัลที่มีความนิยมมากและจัดอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลกในขณะนี้ อีกทั้งเมื่อกลางปีที่ผ่านมาก็ได้เข้าซื้อกิจการของ Paysbuy ไป / 2C2P ล่าสุดได้เปิดตัว Social Commerce ภายใต้ชื่อ Qwik ที่ให้บริการชำระเงินผ่าน Facebook โดยร้านค้าออนไลน์ที่มีหน้า Facebook Page สามารถให้ลูกค้าชำระเงินผ่านทาง Facebook Messenger ได้ / นอกจากผู้เล่นไทยแล้ว ก็ยังมี Alipay ของจีนที่ร่วมกับ True money บุกตลาดไทยด้วยการรับการชำระเงินใน 7-11 และตั้งเป้าหมายให้ไปถึง 1 แสนจุดรับชำระภายในสิ้นปีนี้

มีธุรกิจรองรับการช้อป ก็ต้องมีธุรกิจคืนเงินให้นักช้อป โดยสตาร์ทอัพที่เพิ่งเปิดให้บริการในไทยเมื่อกลางปีที่ผ่านมาและเพิ่งได้รับเงินลงทุนจาก Invent ไปหมาดๆ ก็คือ Shopback บริการ Cashback ให้กับลูกค้า โดยเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าจากร้านที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Shopback ก็จะได้รับเงินคืนโดยอัตโนมัติเข้าสู่ E-Wallet และสะสมยอดไว้จนกว่าจะถึงยอดที่สามารถแลกคืนเป็นเงินสดได้

Logistics

อีกกลุ่มธุรกิจที่ดุเดือดไม่แพ้กันคือ กลุ่ม Logistics ที่ Techsauce เคยทำเปรียบเทียบข้อมูลให้บริการเอาไว้ ทั้งในกลุ่ม 3PL อย่าง ไปรษณีย์ไทย / Kerry Express/ Ninja Van / Nim express และกลุ่ม On-demand ที่เน้นให้แมสเซนเจอร์ส่งของภายในเวลา 1 ชั่วโมง อย่าง Alpha/ Grab/ Line Man/ Lalamove / SCG Express / Send it / Skootar / Deliveree  นอกจากสองกลุ่มข้างต้น ยังมีแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลการขนส่ง และเป็นตัวกลางระหว่างผู้ประกอบการและลูกค้า อย่าง Giztix / Shippop / Smartship และ SME Shipping

Social Commerce

Social Commerce ในประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์มโซเชียลหลักๆ อย่าง Facebook / Instagram /  Line และ Twitter โดยมีร้านค้าออนไลน์มากมายที่อาศัยเปิดหน้าร้านบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ ด้วยการโพสต์รูปภาพและรายละเอียดสินค้า พร้อมให้สั่งผ่าน inbox ซึ่งประเทศไทยถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Social Commerce ที่กว่า 50% ของลูกค้าที่ซื้อของออนไลน์ต่างซื้อผ่าน social networks

E-commerce Enabler

นอกจากกลุ่มที่แบ่งไปข้างต้นทั้งหมดแล้ว ขาดไม่ได้กับผู้เล่นที่ให้บริการโซลูชันด้าน Digital Infrastructure แก่ธุรกิจ E-Commerce ทั้งด้าน marketing แพลตฟอร์มออนไลน์พร้อมใช้ อย่าง Efratructure / ReadyPlanet และ Ascend บริษัทลูกของ True Corporation / นอกจากนี้ก็ยังมี aCommerce ผู้ให้บริการแบบครบวงจรแก่ธุรกิจ E-commerce แบบ End-to-End โดยใช้โมเดล B2A (Business-2-All) และเพิ่งได้รับเงินระดมทุนรอบล่าสุด นำโดยเอ็มเมอรัล มีเดีย ไปกว่า 2.14 พันล้านบาท

หวังว่าผู้อ่านจะได้มองเห็นภาพรวมของตลาด E-Commerce ของประเทศไทยที่กำลังเติบโตและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราไปแล้วทั้งในปัจจุบันและอนาคต เชื่อว่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ และสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นอีกมากในปีหน้า และปีถัดๆ ไป

เราพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรวบรวมทุกเจ้าเอาไว้ในภาพนี้ ถ้าหากขาดตกใครไป หรือต้องการอัพเดตข้อมูล สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่ [email protected] และทางเราจะอัพเดทข้อมูลให้ค่ะ

Update : ภาพ Thailand E-Commerce Landscape 2018

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกผลวิจัย 'อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576' เตรียมรับ 'การระเบิดของความหวาดกลัว' กับ 'ความโดดเดี่ยว'

รวมประเด็นน่ารู้ (แบบไม่ต้องอ่านทั้งเล่ม) จากผลวิจัย 'อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (FUTURES OF MENTAL HEALTH IN THAILAND 2033)' ทั้งสถานการณ์ปัจจุบัน เมกะเทรนด์ ฉากทัศน์แห่งอนา...

Responsive image

Techsauce Startup Year-in Review 2021 เผยภาพรวมสถานการณ์ Startup ไทยรายอุตสาหกรรม (Part 2)

สรุปภาพรวมสถานการณ์ของ Tech Startup Ecosystem ในประเทศไทย ปี 2021 วิเคราะห์ภาพรวม เผยความเคลื่อนไหว Startup ไทยรายอุตสาหกรรม...

Responsive image

Techsauce Startup Year-in Review 2021 เผยภาพรวมสถานการณ์ Startup ไทย (Part 1)

สรุปภาพรวมสถานการณ์ของ Tech Startup Ecosystem ในประเทศไทย ปี 2021 วิเคราะห์ภาพรวม เผยความเคลื่อนไหว จำนวนการลงทุนใน Startup ไทย รวมทั้งการควบรวมกิจการ...