เปิดหน้าต่างบานใหม่ของการส่งออกไทย ในยามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว | Techsauce

เปิดหน้าต่างบานใหม่ของการส่งออกไทย ในยามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

การส่งออกสินค้าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มหดตัวตามอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ในระยะต่อไปการส่งออกไทยดูไม่สดใสนัก สะท้อนจากดัชนี Global Manufacturing PMI ในเดือนมกราคมที่ยังหดตัว กอปรกับยอดคำสั่งซื้อใหม่และยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ 

นอกจากนี้ การส่งออกไทยจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลก เช่น การเริ่มใช้ภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป รวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยของอินเดียที่จะส่งผลต่อสินค้าส่งออกไทยหลายชนิด โดย SCB EIC คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.2% ในปี 2023 (ตัวเลขในระบบดุลการชำระเงิน) 

ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดตะวันออกกลาง CLMV และลาตินอเมริกา

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวชะลอลงเป็น 1.7% ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลกที่กำลังเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย ภาคเอกชนและภาครัฐจึงจำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่ SCB EIC ประเมินว่า มีตลาดสามแห่งที่มีศักยภาพน่าจับตา ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลางที่อาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ตลาด CLMV ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตดีและได้รับการผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐ และตลาดลาตินอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกเป้าหมายใหม่ในเชิงนโยบายของไทย 

ตลาดตะวันออกกลาง

SCB EIC ประเมินการส่งออกจากไทยไปตะวันออกกลางอาจขยายตัวได้มากถึง 7-10% ในปี 2023 เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะหากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียดำเนินต่อไปด้วยดี อีกทั้ง เศรษฐกิจกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสินค้า เครื่องปรับอากาศ ข้าว ยานยนต์ ทำให้ตลาดตะวันออกกลางจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยและมีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนการส่งออกของไทยในระยะปานกลาง 

ตลาด CLMV

SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกจากไทยไป CLMV จะขยายตัวได้ในช่วง 6-8% ในปี 2023 โดยมีแนวโน้มที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางตามเศรษฐกิจ CLMV ที่จะเติบโตได้สูงกว่าเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงตลาดนี้ยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐต่อเนื่อง

การส่งออกสินค้าของไทยในระยะต่อไป 

การส่งออกสินค้าของไทยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในช่วงปี 2021 และครึ่งแรกของปี 2022 โดยขยายตัวถึง 17.4% ในปี 2021 และ 12.6% ในครึ่งปีแรกของปี 2022 (ตัวเลขในระบบศุลกากร) จากอุปสงค์สินค้าส่งออกไทยที่มีมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้าหลักทั่วโลก อีกทั้ง สถานการณ์การระบาดที่มีความรุนแรงลดลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในไทยทำให้การผลิตสินค้าภายในประเทศดำเนินไปได้อย่างปกติ อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยเริ่มชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปี 2022 และหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 และหดตัวมากถึง -14.6% ในเดือนธันวาคม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอลงมาก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ยุโรปและสหรัฐฯ 

มูลค่าการส่งออกไทยชะลอลงในครึ่งหลังของปี 2022 ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงมาก (รูปที่ 1)

แนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะถัดไปไม่ค่อยสดใสนัก โดยอุปสงค์ในตลาดโลกยังคงซบเซาสะท้อนจาก 

(1) ตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2023 ต่ำลงมาก โดยธนาคารโลกคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.7% ในปี 2023 ชะลอตัวจาก 2.9% ในปี 2022 

(2) ดัชนี Global Manufacturing PMI ยังอยู่ในระดับต่ำที่  49.1 ในเดือนมกราคม 2023 ลดจากระดับสูงสุดหลังวิกฤติโควิดที่ 56.0 ในเดือนพฤษภาคม 2021 นอกจากนี้องค์ประกอบของดัชนี ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อใหม่ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และระดับงานคงค้างยังคงหดตัว บ่งชี้ถึงความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่สดใสนักในระยะข้างหน้า 

(3) ข้อมูลเร็วการส่งออกของเกาหลีใต้แย่ลงต่อเนื่อง ข้อมูล 20 วันแรกของเดือนมกราคม 2023 หดตัว -2.7% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งเป็นสัญญาณเร็วสะท้อนสถานการณ์ด้านการค้าโลกในเดือนมกราคม 

และ (4) การส่งออกและนำเข้าของจีนหดตัวแรงเช่นกัน โดยเริ่มหดตัวตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 และหดตัวมากถึง -20.8% ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้การยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ของจีน อาจมีส่วนช่วยให้แนวโน้มความต้องการสินค้าจากจีนเพิ่มสูงขึ้น แต่การฟื้นตัวจะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูง อีกทั้ง เศรษฐกิจและอุปสงค์ในจีนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ข้อมูลข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นอุปสงค์ของตลาดโลกที่ลดลงและสะท้อนให้เห็นอุปสงค์สินค้าส่งออกไทยที่จะลดลงเช่นเดียวกัน 

รูปที่ 2 : เครื่องชี้อุปสงค์ในตลาดโลกยังซบเซา แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยไม่สดใสนัก

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของศุลกากรจีนและเกาหลีใต้, JP Morgan และ CEIC

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกไทยอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนแปลงด้านกฎเกณฑ์ทางการค้าโลก เช่น การจัดเก็บภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป รวมถึงภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยของอินเดีย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ Flash : ส่งออกไทยหดตัวแรงส่งท้ายปีเสือ แต่ทั้งปียังโตได้ 5.5% ส่งออกในระยะต่อไปอาจได้อานิสงส์จากจีนเปิดประเทศ) อีกทั้ง ภาคการส่งออกสินค้าของไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน สงครามในยูเครน และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยุโรป ก่อให้เกิดแนวโน้มการสวนกระแสโลกภิวัตน์ (Deglobalization) และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ที่จะส่งผลต่อการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.2% ในปี 2023

อ่านต่อได้ที่ SCB EIC

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

One Bangkok พัฒนากรุงเทพฯ ชูแนวคิด “The Heart of Bangkok” เมืองที่ใช้ใจสร้าง

วัน แบงค็อก พลิกโฉมวงการอสังหาฯไทย ด้วยการสร้างปรากฎการณ์ใหม่ ปักหมุด “เมืองกลางใจ” หรือ The Heart of Bangkok เมืองที่ใช้ใจสร้าง พร้อมเผยประสบการณ์ชอปปิ้งและไลฟ์สไตล์ระดับโลก เตรีย...

Responsive image

Indorama Ventures ออกหุ้นกู้ 1 หมื่นล้าน ตอกย้ำผู้นำธุรกิจยั่งยืน

Indorama Ventures ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ประกาศความสำเร็จในการระดมทุน 1 หมื่นล้านบาท ผ่านการออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนร...

Responsive image

Jitta ก้าวสู่ปีที่ 12 เดินหน้าแก้วิกฤตการเงิน หนุนคนไทยออมและลงทุนอัตโนมัติ

Jitta เข้าสู่ปีที่ 12 เติบโตอย่างแข็งแกร่งบนเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนที่ง่ายและสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า...