ดร.เอริก้า กิ๊บสัน รองประธานฝ่ายการจัดการผลิตภัณฑ์และการค้นคว้าวิจัยด้านผู้ใช้งาน เทเลนอร์กรุ๊ป (Telenor Group) กล่าวว่า “โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงกล่าวว่าโทรศัพท์มือถือเป็นหนี่งในเครื่องมือที่ช่วยพวกเธอออกแบบการใช้ชีวิตที่มีความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว แต่เราพบว่าโทรศัพท์มือถือมีอิทธิพลต่อการทำงานของพวกเธอน้อยกว่าที่เราคาดไว้ เนื่องจากกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานที่มีการศึกษาสูงมักใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อความบันเทิง การติดต่อสื่อสารในชีวิตส่วนตัว เพื่อหยุดพักจากชีวิตการทำงานอันวุ่นวาย”
“จากการสำรวจครั้งนี้ เราได้ข้อมูลเชิงลึกที่ชัดเจนและมีประโยชน์อย่างมากเกี่ยวกับอุปนิสัยและความต้องการต่อบริการดิจิทัลของผู้ใช้งานหญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการทำความเข้าใจ เนื่องจากเรารู้ดีว่าผู้หญิงเป็นผู้ใช้งานกลุ่มใหญ่ในบริการดิจิทัลและข้อมูลข่าวสาร” ดร.กิ๊บสัน กล่าว
การสำรวจครั้งนี้ถูกจัดขึ้นกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิงวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียและเอเชีย (มาเลเซีย เมียนมาร์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ สวีเดน และไทย) เพื่อความหลากหลายของระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ระดับของการพัฒนาอุตสาหกรรม และอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ
โดยประมาณ 50-80% ของกลุ่มตัวอย่างหญิงทั้ง 6 ประเทศพบว่าพวกเธอใช้งานโซเชียลมีเดียมากที่สุด แอปพลิเคชันรับส่งข้อความตามมาเป็นอันดับสองในประเทศส่วนใหญ่ ยกเว้นในสิงคโปร์ ที่แอปพลิเคชันรับส่งข้อความถูกใช้มากที่สุดเป็นอันดับแรก การอ่านข่าวเป็นคำตอบอันดับต้น ๆ ในนอร์เวย์และเมียนมาร์ ส่วนการฟังเพลงถูกจัดเป็นอันดับสามในสวีเดนและสิงคโปร์ ส่วน WiFi Calling ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน กลับถูกผู้หญิงชาวมาเลเซียและเมียนมาร์ละเลย เพราะพวกเธอยังคงนิยมการโทรแบบปกติ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามอันดับแรกของการใช้งานหลักของพวกเธอ
เป็นที่น่าสนใจว่าอัตราการใช้งานโทรศัพท์มือถือสำหรับงานและชีวิตส่วนตัว แตกต่างกันระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ผู้หญิงชาวนอร์เวย์และสวีเดนระบุว่าการใช้โทรศัพท์มือถือในการทำงานเป็นกิจกรรมอันดับท้ายๆ และพวกเธอพยายามตัดขาดจากการทำงานในเวลากลางคืน ในขณะที่ผู้หญิงในประเทศอาเซียนส่วนมากยอมให้งานเข้ามาแย่งเวลาส่วนตัวของพวกเธอ
ส่วนผู้หญิงชาวไทยและเมียนมาร์ยกให้แอปพลิเคชันรับส่งข้อความที่เกี่ยวข้องกับงานและการโทรเป็นการใช้งานที่สูงเป็นอันดับที่สี่และหกตามลำดับ
ผู้หญิงในทั้ง 6 ประเทศให้ความเห็นตรงกันว่า “ความบันเทิง” และ “การเชื่อมต่อกับโลก” เป็นความรู้สึกอันดับแรกๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้งานโทรศัพท์มือถือ และเป็นที่น่าสนใจว่า ผู้หญิงชาวสวีเดนระบุว่าพวกเขารู้สึก “เสพติด” ผู้หญิงเมียนมาร์รู้สึก “มองโลกในแง่ดี” ส่วนผู้หญิงมาเลเซีย นอร์เวย์ สิงคโปร์ และไทยต่างมีความรู้สึก “ผ่อนคลาย”
ส่วนความรู้สึก “ซึมเศร้า” “เครียด” “ถูกถาโถม” และ “อ้างว้าง” ปรากฎเป็นคำตอบลำดับท้าย ๆ ของผู้หญิงในทุกประเทศ
“โซเชียลมีเดีย” เป็นคำตอบอันดับหนึ่งของผู้หญิงในทุกประเทศ ซึ่งคำตอบลำดับรองลงไปจะแตกต่างกันในแต่ละประเทศ
10% ของกลุ่มตัวอย่างจากสวีเดนระบุถึงการซื้อของออนไลน์ช่วงมิดไนท์เซล ผู้หญิงชาวนอร์เวย์และเมียนมาร์นิยมอ่านข่าวเป็นกิจกรรมหลักก่อนเข้านอน โดย 1 ใน 5 ของผู้หญิงชาวนอร์เวย์ยอมรับว่าเปลี่ยนจากการอ่าน “ข่าว” มาเป็น “ข่าวซุบซิบตามแท็บลอยด์” เมื่อเวลายิ่งดึก ส่วน “การใช้งานเพื่อการทำงาน” เป็นเป็นคำตอบอันดับสุดท้ายของผู้หญิงในทุกประเทศ
การใช้โทรศัพท์มือถือของผู้หญิงวัยทำงานถือเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน แต่ในบางสถานการณ์ที่พวกเธอก็จะหลีกเลี่ยงที่จะงดใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะด้วยมารยาท หรือความจำเป็น โดยผู้หญิงใน 6 ประเทศต่างกล่าวว่าพวกเธอจะปิดโทรศัพท์ระหว่างการสัมภาษณ์งาน และ 90% ของผู้หญิงในสแกนดิเนเวียเห็นว่าการใช้โทรศัพท์ในงานศพเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แตกต่างจากผู้หญิงเอเชียที่มีเพียงแค่ 25% เห็นว่าไม่เหมาะสม
และสิ่งน่าสนใจกว่านั้นคือ ระดับความดังของเสียงโทรศัพท์ที่ผู้หญิงเปิดต่างกันในแต่ละสถานการณ์ เนื่องจากในอดีตการสนทนาโทรศัพท์มือถือถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ผู้หญิงในทุกประเทศกล้าที่จะใช้โทรศัพท์ในเวลาโรแมนติกมากกว่าในระหว่างการสัมภาษณ์งานหรืออยู่บนเครื่องบิน ผู้หญิงไทยและเมียนมาร์เป็นกลุ่มที่มีความกล้าในการใช้โทรศัพท์ในช่วงเวลาโรแมนติกมากที่สุด (มีเพียง 13% และ 3% ที่ “ปิดเครื่อง”) ในขณะที่ผู้หญิงสวีเดน 39% ไม่เห็นด้วยกับการใช้โทรศัพท์ในเวลาโรแมนติก สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือขณะใช้ห้องสุขา ผู้หญิงสแกนดิเนเวียไม่มีปัญหาที่จะใช้โทรศัพท์ แต่ผู้หญิงเอเชียเลือกที่จะปิดมัน
เนื่องจากเทเลนอร์กรุ๊ปมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ จึงสำรวจความคิดเห็นของผู้หญิงเกี่ยวกับบทบาทของโทรศัพท์มือถือในการช่วยแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งกว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่างในนอร์เวย์ มาเลเซีย สิงคโปร์ สวีเดนและไทย และ 80% ในเมียนมาร์ ระบุว่า “การแชร์ข้อมูลข่าวสาร” ก่อให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด นอกจากนี้ 7 ใน 10 ของผู้หญิงสวีเดน 6 ใน 10 ของผู้หญิงนอร์เวย์ และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้หญิงไทย สิงคโปร์และมาเลเซีย ระบุว่าแอปพลิเคชันอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งเป็นเทคโนโลยีมือถือที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสังคมได้
“เราพบคำตอบที่น่าสนใจและแตกต่างกันออกไป” ดร.กิ๊บสันกล่าว “1 ใน 4 ของผู้หญิงไทยและสวีเดนระบุว่า ‘ความเหงา’ เป็นสิ่งที่โทรศัพท์มือถือช่วยบรรเทาได้ ในขณะที่ผู้หญิงสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นที่มีชื่อเสียงในเรื่องความปลอดภัย กล่าวว่าโทรศัพท์มือถือมีส่วนช่วยในเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคล”
หนึ่งในคำถามที่ก่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ “คุณสนับสนุนให้มีอินเทอร์เน็ตเฉพาะสำหรับผู้หญิงหรือไม่?” กว่า 65% ของผู้หญิงไทยสนับสนุนให้มีอินเทอร์เน็ตเฉพาะสำหรับผู้หญิง เนื่องจากพวกเธอเชื่อว่ามันจะช่วยลดการล่วงละเมิดและส่งเสริมให้เกิดเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงชาวสิงคโปร์และสแกนดิเนเวียส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ โดยมีผู้หญิงเพียง 17% ในสิงคโปร์ 10% ในสวีเดน และ 3% ในนอร์เวย์ที่สนับสนุนอินเทอร์เน็ตเฉพาะสำหรับผู้หญิง
โดยพวกเธอกล่าวว่า อินเทอร์เน็ตเฉพาะสำหรับผู้หญิงเป็นการเลือกปฏิบัติและไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยและการล่วงละเมิดได้ ส่วนผู้ที่สนับสนุนความคิดนี้ให้เหตุผลว่าอินเทอร์เน็ตเฉพาะผู้หญิงน่าจะมีความปลอดภัยสำหรับเด็กมากกว่า
“ถึงแม้ ‘อินเทอร์เน็ตเฉพาะสำหรับผู้หญิง’ จะยังเป็นเพียงแนวความคิด แต่เราคิดว่าคำตอบที่หลากหลายเหล่านี้จะช่วยจุดประเด็นให้เกิดการแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศที่ผู้หญิงไทย เมียนมาร์และมาเลเซียกำลังเผชิญอยู่บนโลกออกไลน์” ดร.กิ๊บสันกล่าว
ผู้หญิงทั้ง 6 ประเทศต่างบอกตรงกันว่า แอปพลิเคชันที่มีผลในการเปลี่ยนชีวิตของพวกเธอมากที่สุด คือแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย ซึ่งรวมถึง แอปพลิเคชันรับส่งข้อมูล และอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งตามมาเป็นอันดับที่สองในสำหรับผู้หญิงในแถบสแกนดิเนเวีย ผู้หญิงสิงคโปร์ให้ความเห็นว่าแอปพลิเคชันรับส่งข้อมูลเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนอนาคต ส่วนผู้หญิงมาเลเซียมองว่าแอปโซเชียลมีเดีย แอปรับส่งข้อมูล แอปเพื่อความบันเทิง และเครื่องมือค้นหา ต่างมีความสำคัญใกล้เคียงกัน
ผู้หญิงสวีเดนและนอร์เวย์ส่วนใหญ่เห็นว่าโทรศัพท์มือถือ “ไม่มีผล” ต่อความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว แตกต่างจากผู้หญิงไทย สิงคโปร์และมาเลเซียที่เห็นตรงกันว่าโทรศัพท์มือถือช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานได้ โดยผู้หญิงสิงคโปร์และมาเลเซียยังคงมีความเห็นว่าโทรศัพท์มือถือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว
“แม้ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกว่าโทรศัพท์มือถือช่วยให้พวกเธอสามารถจัดการความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ดีขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความสมดุลและบทบาทของโทรศัพท์มือถือขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเธอเอง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว ผลสำรวจแสดงให้เราเห็นว่าโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญและจะยังคงความสำคัญต่อไป ทั้งในด้านการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว” ดร.กิ๊บสันกล่าว
Sign in to read unlimited free articles