สรุปสาระสำคัญจากงาน ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน (Collaborative Partnership for Sustainability) ในหัวข้อ “ความยั่งยืน: กุญแจสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและการสร้างคุณค่ารูปแบบใหม่” บรรยายโดยดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา
ปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยตื่นตัวเป็นอย่างยิ่งกับปัญหาเรื่องความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกิดคำถามขึ้นว่าหลังภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เศรษฐกิจไทยควรที่จะเจริญเติบโตด้วยกรรมวิธีและกลยุทธ์แบบใด จึงจะสอดคล้องกับภาพแห่งความยั่งยืนในระดับสากลโลก และในขณะเดียวกันก็ยังต้องเป็นการเสริมสร้างก้าวถัดไปของการพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมไทย
จากมุมมองเศรษฐกิจมหภาค การก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงนั้นเป็นสิ่งที่ไทยเราต้องการแก้ไขมาตลอดหลายทศวรรษ และที่ผ่านมา ผลกระทบต่อความยั่งยืน เช่นในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และแรงงาน มักถูกมองว่าเป็น “ปลายน้ำ” ของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่นำมาสู่การมองและตั้งคำถาม ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตอย่างไรให้ไม่กระทบคนรุ่นหลังและโลกของพวกเขา
แต่ทว่า มุมมองที่มักถูกมองข้าม และน่าสนใจกว่า คือแท้จริงแล้ว ผลกระทบต่อความยั่งยืนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาวะแรงงาน ความเท่าเทียมทางเพศ ทรัพยากรธรรมชาติ หรือ ความหลากหลายทางชีวิภาพ หากมองมุมกลับสิ่งเหล่านี้เองคือหัวใจสำคัญของเส้นทางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์ ความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ และกรรมวิธีการผลิตที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนในใจของผู้บริโภคทั่วโลก
แปลว่าปัจจัยความยั่งยืน ไม่ได้เป็นเพียง output จากการผลิตเพียงอย่างเดียว มันควรถูกมองให้เป็น input ของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจยุคใหม่ด้วย
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการจัดการทรัพยากรสองประเภทหลัก คือ “ทุน” และ “คน”
ในมุมมองของ “ทุน” ซึ่งนิยามรวมตั้งแต่เงินทุนไปจนถึงวัตถุดิบ ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทางด้านกฎหมาย และความร่วมมือระดับนานาชาติ เริ่มส่งผลกระทบต่อการบริหารทุนเหล่านี้แล้ว หากไม่ปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบและมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่เข้มข้นขึ้นก็จะทำให้ธุรกิจหรือแม้กระทั่งในระดับประเทศทั้งประเทศ ไม่สามารถดึงดูดเงินทุนมาขับเคลื่อนกันไปข้างหน้าได้ดีเท่าที่ควร ทั้งในเชิงการส่งออกและในด้านการระดมทุนจากกองทุนทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น การผลิตด้วยทุนชีวภาพทางเลือก ที่ดีกว่าในอดีตก็เป็นสิ่งที่จะตอบสนองกับความต้องการใหม่ของผู้บริโภคทั่วโลกอีกด้วย
ในมิติของ “คน” หรือ “แรงงาน” นั้นรวมไปถึงหลักธรรมาภิบาล ต่อพนักงาน ความเท่าเทียมทางเพศ และการสนันสนุนความหลากหลายในองค์กร ซึ่งบางครั้งแม้อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่ายนัก แต่หากลองไปสังเกตธุรกิจที่โตมาก ๆ ในต่างประเทศโดยเฉพาะในสายเทคโนโลยีหรือสายที่ต้องการใช้วัดนวัตกรรมในการคิดค้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ให้ธุรกิจเติบโตและสร้างตลาดใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจ
ดังนั้นการเติบโตอย่างยั่งยืนจึงไม่ใช่ภาระที่จำต้องทำ แต่ถือเป็นกลยุทธ์หลักเพื่อการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งต้องมีกระบวนการเปลี่ยนในตลอดห่วงโซ่อุปทาน และใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับภายในองค์กร ออกสู่ภายนอก และควรเป็นส่วนสำคัญของโมเดลธุรกิจ
การจะทำสิ่งเหล่านี้ให้สัมฤทธิผลในทางปฎิบัติจริงนั้นจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยสำคัญสองสิ่ง นั่นก็คือ เทคโนโลยี และนโยบายสาธารณะ การใช้เทคโนโลยีจะช่วยลดความเสี่ยงและต้นทุนใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ และควรจะต้องมีการสนับสนุนหรือมีการตั้งกฎกติกา และการให้รางวัลและลงโทษที่ชัดเจนโดยภาครัฐ
ตัวอย่างเช่น ในเรื่องการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นโจทย์ที่แต่ละบริษัทต้องหาคำตอบว่าควรจะทำอย่างไรในแต่ละกระบวนการผลิตเพื่อลดของเสีย การมีเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเก็บหลักฐานอย่างมีมาตรฐาน จะทำให้ภาครัฐสามารถกำกับและสนับสนุนแนวทางที่ดีต่อความยั่งยืนได้อย่างมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ทุกภาคส่วนหันมาใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลงในสิ่งรอบตัวมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังถือเป็นพันธกิจที่ทุกองค์กรต้องทำเพื่ออนาคตและการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป
Sign in to read unlimited free articles