ในช่วงที่คำสองคำนี้ "Startup" และ "FinTech" กำลังเป็นคำยอดฮิตในตลาด ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีผู้เล่นนอกวงการกระโดดเข้ามาจับกระแสกันเต็มไปหมด หนึ่งในเคสที่เริ่มพบเห็นมากขึ้น คือการนำมาใช้ในธุรกิจกลุ่ม MLM หรือขายตรง
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่าทางทีมงานไม่ได้มีอคติหรือต่อต้านธุรกิจกลุ่มนี้แต่อย่างใด แค่ต้องการนำเสนอข้อมูลให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันของสังคมไทย
เหตุการณ์ของเพย์ออล (Payall พูดเร็วๆ ว่า Payall นะ ไม่ใช่ Paypal) ที่มีดาราชื่อดังฟิล์ม รัฐภูมิเป็นทั้งผู้บริหารและแบรนด์แอมบาสเดอร์ในตัว ทำการโปรโมตแอปพลิเคชั่นด้วยการเกาะกระแสการทำธุรกิจโมบายแอปพลิเคชั่นมาตั้งแต่ปีก่อน พอมาถึงช่วงที่ Startup กำลังฮอตสิ่งเกิดขึ้นคือ การชูว่าธุรกิจเป็นรูปแบบของ Startup ที่มีการเติบโตสูง ทั้งข่าว PR ที่ออกมาเองแล้วส่งให้สื่อต่างๆ รวมถึงคนที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนี้
และช่วงที่กระแส FinTech ในครึ่งปีหลังกำลังร้อนแรง และการชำระเงินของ Payall ก็ดูเหมือนเข้าข่าย FinTech ได้ ... ประชาสัมพันธ์ก็ส่งข่าวเรื่องนี้ออกมาเสริมต่อช่วงต้นเดือนกันยาที่ผ่านมา
อ้างอิงจากข่าว Nakkhai มีเหตุให้คนเข้าร้องเรียน สคบ. ให้จับตาการประกอบธุรกิจรูปแบบดังกล่าว เป็นการขายตรงผ่านแอปฯ หรือไม่ โดยทางสคบ.เอง ได้รับเรื่องร้องเรียนไว้แล้ว และเมื่อตรวจสอบกลับไปนั้นก็พบว่าเดิมนั้นเป็นบริษัทขายตรงหนึ่งชื่อ “นาน่า คอร์ปอเรชั่น” โดยบริษัทนี้เดิมจดแจ้งกับนายทะเบียนในการประกอบธุรกิจขายตรง จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในการดำเนินธุรกิจ และตอนนี้ทางสคบ.อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าดำเนินธุรกิจตามที่จดแจ้งไว้หรือไม่
ร.ต. ไพโรจน์ คนึงทรัพย์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า “ Payall เคยมาขอยื่นจดแจ้งกับทางสคบ. ในเรื่องการขออนุญาตดำเนินธุรกิจขายตรงผ่านแอป Payall แต่เนื่องจากแผนเละผลิตภัณฑ์ที่ทำผ่านแอปฯ นั้น ไม่สามารถที่จะทำได้ ทางสคบ.เองเลยไม่ได้อนุญาตให้ดำเนินธุรกิจผ่านแอปฯ เมื่อผู้ดำเนินธุรกิจยังดึงดันไปทำธุรกิจผ่านแอปฯ ทางหน่วยงานภาครัฐเองก็กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ถ้ามีการกระทำผิดจริงก็จะลงโทษตามกฎหมายต่อไป”
ส่วนผลลัพธ์จากนี้จะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามดูกันต่อไป
นอกจากเหตุการณ์ Payall เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นดังกล่าว ยังไม่นับงานสัมมนาอีกมากมายที่ชูประเด็นการทำธุรกิจ Startup แต่จริงๆ แล้ว เป็นการแฝงไปด้วยการทำธุรกิจรูปแบบอื่น จริงอยู่เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย จะเอาไปผูกกับเทรนด์อะไรในแต่ละช่วงก็ได้ แรกๆ ก็มาแนวธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจซุปเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ ถ้าเมื่อ 10 ปีก่อน ก็เอาคำว่า ecommerce ซึ่งยังถือว่าค่อนข้างใหม่ในตอนนั้นมาพูด, 2-3 ปีก่อนก็เรื่อง social media marketing บ้าง digital marketing บ้างก็เอามาผูกกันเป็นวิธีการดึงความสนใจ ซึ่งก็คงไม่มีใครสามารถไปห้ามได้ว่าอย่าสื่อสารแบบนี้ ดังนั้นอยู่ที่ผู้รับสารแล้ว ต้องใช้วิจารณญาณและคัดกรองเอาเอง
พอมายุคนี้ก็ Startup และ FinTech อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น เราไม่ได้มีเจตนาในการต่อต้านธุรกิจรูปแบบดังกล่าว แต่ในฐานะคนในวงการนี้ เราก็มีความกังวลถึงสังคมของกลุ่มนักศึกษา หรือบุคคลภายนอกที่ไม่มีความเข้าใจเพียงพอ จะตีความ เหมารวมไปอีกแบบ จึงเป็นที่มาของการอยากบอกเล่าไว้ในบทความนี้ เผื่อหน้าใหม่ที่ได้แวะเวียนเข้ามาได้รับรู้ว่า "มันไม่เหมือนกันนะ" ก็เท่านั้นเอง......
Sign in to read unlimited free articles