ธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB ประกาศวิสัยทัศน์ มุ่งหน้าสู่การเป็น Digital Bank with Human Touch วางหมากขยายกลุ่มความมั่งคั่งด้วยโมเดล Digital Wealth เปิดตลาด Emerging Wealth เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพที่จะตั้งต้นสร้างความมั่งคั่งโดยนำดิจิทัลเข้ามาใช้แนะนำทางเลือกในการลงทุน พร้อมเผยไม่สนใจการยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank โดยให้ยานแม่ หรือ SCBX ตัดสินใจในเรื่องนี้แทน
คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงการเข้ามารับตำแหน่งในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ว่าได้เข้ามาทำความเข้าใจลูกค้า พนักงาน เพื่อนร่วมงานและพาร์ทเนอร์ ทำให้วันนี้มีความพร้อมในการประกาศยุทธศาสตร์ของ SCB ในก้าวต่อไปของธนาคารไทยพาณิชย์ กับการมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรให้เป็น “ธนาคารที่ดีขึ้น” อย่างต่อเนื่อง
1. ปรับองค์กรเป็นธนาคารดิจิทัล : โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัลสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลทางด้านบริการเพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า ในการนี้ ธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างบริหารงานเพื่อรวมงานทางด้าน ดิจิทัลแบงก์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และปฏิบัติการ เข้าไว้ด้วยกันภายใต้ความดูแลของ ผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Technology โดยทั้ง 3 ส่วนงานนี้เป็นส่วนสำคัญในการยกระดับธนาคารให้เป็นธนาคารดิจิทัลอย่างครบวงจร
2. เป็นเจ้าตลาดทางด้านบริหารความมั่งคั่ง : โดยไม่เน้นเฉพาะกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งที่มีอยู่แล้ว แต่มุ่งไปที่กลุ่ม Emerging Wealth ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและมีความต้องการที่จะสร้างความมั่งคั่งระยะแรกเริ่ม อาจยังมีสินทรัพย์ไม่มากนักแต่มีความต้องการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งในระยะยาว ซึ่งมักจะวางแผนการลงทุนด้วยตัวเองโดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ธนาคารจึงต้องการนำดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นตัวช่วยในการมอบทางเลือกทางการออมและการลงทุนที่เหมาะสมให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้ เพื่อสร้างข้อเสนอแบบรู้ใจเฉพาะบุคคล (Hyper-personalized offer) ที่จะกระตุ้นให้ลูกค้ามองเห็นโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งที่เป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบ
3. ยกระดับประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง ธนาคารเชื่อว่า สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจของ Digital Bank with Human Touch คือ ประสบการณ์ที่ดี ณ จุดให้บริการผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารที่มีอย่างหลากหลาย
พร้อมกันนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของพอร์ตสินเชื่อเพื่อการเติบโตยั่งยืน จากนี้ไปธุรกิจของธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยวางเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่ออย่างค่อยเป็นค่อยไปและการบริหารอัตราผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง และให้น้ำหนักกับลูกค้ากลุ่มที่มีคุณภาพสูง โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อรวมกันทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อบุคคล 9.8 แสนล้านบาท สินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 4.1 แสนล้านบาท และธุรกิจขนาดใหญ่ 9.2 แสนล้านบาท
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในปี 2566 ธนาคารมุ่งเน้นการสร้างสมดุลของการขยายพอร์ตสินเชื่อควบคู่กับการรักษาคุณภาพ โดยตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อประมาณไม่เกิน 5% และสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) มากกว่า 10% ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 40%
ในปี 2568 ธนาคารมีเป้าหมายจะลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ให้ต่ำกว่า 40% รวมถึงการเป็นอันดับ 1 wealth wallet share พร้อมผลักดันสินเชื่อสีเขียว (Green Finance) เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ตามเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืน (ESG)
ทั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ ยืนยันไม่ขอไลเซนส์ Virtual Bank ด้วยปัจจุบันมียุทธศาสตร์เดินหน้าสู่ Digital Bank อยู่แล้ว และฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มระดับกลางขึ้นบน และมองว่าเป็นคนละกลุ่ม นอกจากนี้ในส่วนด้านการแข่งขันนั้น คิดว่าลูกค้าให้ความเชื่อมั่นกับธนาคารที่มีอายุเป็น 100 ปีมากกว่าอยู่แล้ว หากเป็นธุรกิจอื่นมาทำธุรกิจธนาคาร คงไม่สามารถรู้มากไปกว่าธนาคารเอง ทั้งนี้หากยานแม่ SCBX สนใจอยากยื่นขอไลเซนส์ก็เป็นอีกเรื่องที่ทางนั้นต้องตัดสินใจเอง
Sign in to read unlimited free articles