ธนาคารไทยพาณิชย์ เดินสายนำผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม เผยกลยุทธ์การปรับตัวธุรกิจโรงแรม ผ่านสัมมนา Andaman The Sustainability Green Hospitality ให้ลูกค้าธุรกิจโรงแรมเลียบฝั่งอันดามัน เน้นการเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
ด้วยการเปลี่ยนแนวคิดหันมาใช้ประโยชน์จากกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพื่อสร้างจุดแข็งให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง แนะโรงแรมควรปรับสู่การออกแบบอาคารอัจฉริยะ เพื่อลดต้นทุนและลดการใช้พลังงานตามเทรนด์ของโลก พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการบรรลุแผนความยั่งยืนด้วยองค์ความรู้และสินเชื่อสีเขียว สนับสนุนไทยแลนด์ดินแดนท่องเที่ยวยั่งยืน
นายรังสรรค์ องค์สรณะคม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Corporate Banking 3 ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภายใต้การดำเนินธุรกิจธนาคารบนความยั่งยืน ธนาคารมุ่งสนับสนุนลูกค้าและสังคม สร้างการเติบโตทางธุรกิจและเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งธุรกิจโรงแรมเป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยมีสัดส่วนต่อจีดีพีร้อยละ 4.9 และในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมและบริการเป็นเพียงไม่กี่ธุรกิจที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของบริการท่องเที่ยว โดย SCB EIC ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในไทยมีมากถึง 29 ล้านคนในปี 2566 และคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเติบโตเร่งขึ้นได้ตามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งหลีกไม่พ้นที่จะต้องเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ช่วยส่งเสริมผลักดันการจัดการ สภาวะโลกร้อน และรวมถึงพฤติกรรมของนักท่องเทียวที่เปลี่ยนแปลงไปโดยให้ความสำคัญต่อการดูแลสภาวะโลกร้อนมากขึ้น ธนาคารไทยพาณิชย์จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจโรงแรมคว้าโอกาสจากการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว รวมถึงปิดจุดอ่อนจากความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำไปสู่การปรับตัวครั้งใหญ่สู่เส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านสัมมนา “Andaman The Sustainability Green Hospitality” พร้อมระดมกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการโรงแรมภาคใต้
“ธนาคารพร้อมสนับสนุนธุรกิจโรงแรมรับมือความท้าทายจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโอกาสในการดำเนินธุรกิจผ่านสัมมนาและแบ่งปันความรู้ผ่านหลักสูตรต่างๆ และการเสริมสร้างองค์ความรู้ และแนวทางปฏิบัติที่ดีกับลูกค้าพันธมิตรที่มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงนำเสนอการเงินที่ยั่งยืน รวมถึงการให้คำปรึกษาทางการเงินเพื่อสนับสนุนลูกค้าให้บรรลุแผนงานความยั่งยืน” นายรังสรรค์ กล่าว
นางสาวณิชาภัทร รัตนประภาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท โล-คาร์บ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วย Business Solution เชิงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน กล่าวว่า โรงแรมเป็นธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกรวน ในขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ธุรกิจโรงแรมต้องปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งปัญหาโลกร้อนนั้นกำลังสร้างความเสี่ยงหลายๆ ด้านให้แก่ภาคธุรกิจ อาทิ ด้านการลงทุนและการเงิน รวมถึงผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment :ROI) และความเสี่ยงทางการเงินที่ติดอยู่กับสินทรัพย์ (Stranded Asset) ได้แก่ กฎระเบียบและนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาการของประเทศ
“ธุรกิจโรงแรมสามารถจัดการกับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซและนำเสนอในรูปแบบของการส่งเสริมการตลาดต่างๆ เพื่อให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่เปลี่ยนไป อาทิ การจองห้องพัก ที่แจ้งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดขึ้นภายในห้องพัก ซึ่งเพียงแค่การเผยแพร่ปริมาณก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นสู่เส้นทางความยั่งยืน หรือการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ภายในโรงแรมที่คำนึงถึงความยั่งยืนในธุรกิจ การแปรรูปน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นสบู่ก้อนใช้ในโรงแรม ซึ่งในอนาคตโรงแรมยังสามารถขยายผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย รวมถึงการดึงพันธมิตรยานพาหนะรถไฟฟ้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจการจองที่พัก เพื่อให้ผู้เข้าพักมีประสบการณ์กับการประหยัดพลังงาน”
นางสาวณิชาภัทร ชี้ถึง 3 ประโยชน์หลักที่ธุรกิจโรงแรมไทยจะได้รับเมื่อทรานสฟอร์มสู่ความยั่งยืน คือ 1) การลดต้นทุน เพราะแหล่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลักๆ มาจากภาคพลังงานทั้งสิ้น ดังนั้นการที่โรงแรมสามารถลดการใช้พลังงานได้ จึงเป็นการลดต้นทุนด้านพลังงานได้ทันที รวมถึง ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ และยังสามารถเพิ่มรายได้จากกิจกรรมเหล่านั้น หากธุรกิจต่อยอดขายผลิตภัณฑ์ recycle และ upcycle 2) โอกาสเข้าถึงสินเชื่อประเภท Green ธุรกิจมีทางเลือกในการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้นจากหลายสถาบันการเงินที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ทำเรื่องความยั่งยืน อีกทั้งการที่สถาบันการเงินทำเรื่อง ESG Score ในการพิจารณาสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ ก็เป็นอีกโอกาสสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมด้วยเช่นกัน และ 3) การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์โรงแรม ปัจจุบันมีหลายแบรนด์พยายามทำการตลาดภายใต้คอนเซปต์ความยั่งยืน เพื่อตอบสนองเทรนด์ของลูกค้าที่สนใจการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น ตอกย้ำด้วยผลวิจัยของ Expedia ที่สำรวจนักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวน 11,000 คน พบว่า 37% ของลูกค้าให้คุณค่าต่อโรงแรมที่สามารถชดเชยการปล่อยคาร์บอน ประมาณ 74% เห็นพ้องว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมีต้นทุนสูง และประมาณ 51% ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อที่พักอย่างยั่งยืน
นางสาวนิษฐา ภูษาชีวะ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี บิลดิ้ง แอนด์ ลีฟวิ่งแคร์คอนซัลติ้ง จำกัด (SCG Building & Living Care Consulting) ผู้ให้บริการคำปรึกษาด้านสิ่งปลูกสร้างเพื่อความยั่งยืนและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี กล่าวว่า เทรนด์การสร้างอาคารอัจฉริยะ (Smart Building) ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1) ต่างประเทศให้ความสำคัญอย่างเคร่งครัดในการเพิ่มประสิทธิภาพของอาคาร และการพัฒนาอาคารอย่างยั่งยืน หรืออาคารเขียว (Green Building) 2) รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ผู้อยู่อาศัยให้ความสำคัญกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น จึงทำให้เกิดมาตรฐานใหม่ ที่นำเอาเทคโนโลยีมาช่วยดูแลเรื่องสุขภาวะที่ดีหรือ Well-Being มากยิ่งขึ้น และ 3) การปรับตัวขององค์กรต่างๆ ที่ร่วมมือกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission)
ด้วยเทรนด์ดังกล่าวทำให้การก่อสร้างโรงแรมต้องคำนึงถึงการออกแบบอาคารที่สามารถลดการใช้พลังงานด้วย อีกทั้งในปี 2566 นี้ การก่อสร้างอาคารใหม่มีข้อบังคับให้ดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน หรือ BEC ก่อนจะเริ่มก่อสร้างได้ เช่น การออกแบบเปลือกอาคารให้สามารถกันความร้อนได้ดี ระบบไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์ผลิตน้ำร้อนประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบปรับอากาศระบายอากาศที่สามารถประหยัดพลังงานได้อย่างน้อยตามเกณฑ์ เพราะเป็นระบบที่ใช้พลังงานเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในอาคาร เมื่อกลุ่มธุรกิจโรงแรมเป็นรูปแบบอาคารใช้พลังงานงานเยอะมาก จึงนับว่าเป็นความท้าทายของธุรกิจโรงแรม เนื่องจากโรงแรมมีระบบปรับอากาศขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่ใช้มีความซับซ้อน อย่างไรก็ดีสิ่งที่จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการโรงแรมมีเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนเพื่อการปรับปรุงธุรกิจ ภาคสถาบันการเงินก็มีสินเชื่อกรีนไฟแนนซ์ และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (ESG) สำหรับการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อช่วยโลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์
Sign in to read unlimited free articles