หากพูดถึงบริษัทในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ Microsoft คงอยู่ในลิสต์บริษัทต้นๆ ที่หลายคนรู้จักและอยากร่วมงานด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า Satya Nadella เป็นผู้ที่ทำให้ Microsoft กลับมาเฉิดฉายอีกครั้งจนถึงขั้นบริษัทมีมูลค่าพุ่งแซงคู่แข่งอย่าง Apple ในปี 2018 และเทียบเท่า Amazon แม้ว่าจะเข้าตลาดช้ากว่าหลายปี จนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Cloud Computing ระดับโลก ซึ่งเคล็ดลับความสำเร็จส่วนหนึ่งของ Microsoft นั้นมาจากการที่ Satya Nadella ปฏิวัติวัฒนธรรมองค์กรใหม่จนฟื้นกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง บทความนี้จะพาไปดูเคล็ดลับกลยุทธ์การสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ภายใต้การนำของ Satya Nadella
Microsoft ภายใต้ยุค Satya Nadella ได้เน้นย้ำถึงการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ พูดง่ายๆ ก็คือ การปลูกฝัง Growth mindset ให้กับพนักงาน โดย Nadella เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างภาวะผู้นำให้กับพนักงานทุกระดับ และทำให้พนักงานสามารถรับมือกับวิกฤติต่างๆ ได้ ซึ่งแนวคิดนี้สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านโปรแกรมต่างๆ ของ Microsoft ดังนี้
Hackathon – Microsoft เปิดโอกาสให้พนักงานก้าวออกมาจากการทำงานประจำ และพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำผ่านการจัด Hackathon ประจำปี โดยการให้พนักงานในฝ่ายต่างๆ ที่มีความสนใจเหมือนกันสมัครเข้ามาอยู่ทีมเดียวกัน เพื่อพัฒนาแผนธุรกิจ และนำเสนอให้กับบริษัท ทีมที่ชนะก็จะได้รับเงินทุนเพื่อพัฒนาโปรเจกต์นั้นให้สำเร็จ
High-risk project – Microsoft สนับสนุนพนักงานให้ทำโปรเจกต์ที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังให้รางวัลในการลองผิดลองถูกนี้ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เพียงแค่ต้องมีข้อมูลเชิงลึกที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ โปรเจกต์ Hololens เป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาผ่านการร่วมมือกับ NASA ซึ่งมีโอกาสล้มเหลวสูงมาก แต่สุดท้าย Microsoft ก็ได้เปิดตัว Hololens ออกมาจำหน่าย สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้พนักงานได้พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำได้ผ่านการกล้าเสี่ยงลองผิดลองถูก
Talent program – Microsoft สร้างโปรแกรมที่เรียกว่า Talent Talks โดยในแต่ละปีซีอีโอและทีมผู้บริหารจะเข้าไปพูดคุยกับหัวหน้าของแต่ละฝ่าย เพื่อหารือเกี่ยวกับการย้ายพนักงานหรือการทำงานข้ามทีม รวมถึงหาวิธีพัฒนาทักษะให้กับพนักงานด้วย
การให้พนักงานทุกระดับพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ ทำให้องค์กรสร้างผู้ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ อีกทั้งยังเป็นการดึงคนเก่งๆ ที่เห็นวัฒนธรรมองค์กรแล้วอยากเข้ามาทำงานได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นี่จึงเป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ทำให้ Microsoft เติบโตและผ่านอุปสรรคมาได้จนถึงทุกวันนี้
สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจสงสัยคือ เราจะสร้างสมดุลเรื่องความยืดหยุ่นได้อย่างไร เมื่อบางคนบางคนต้องการทำงานที่บ้าน แต่บางคนกลับต้องการเข้าออฟฟิศและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ Microsoft จึงสร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมา นั่นคือ การให้อำนาจเมเนเจอร์แต่ละทีมในการตัดสินใจ โดยการดูว่าคนในทีมมีเงื่อนไขในชีวิตแบบไหน และพิจารณาจากบริบทของสิ่งที่ทีมนั้นพยายามจะทำให้สำเร็จด้วย เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่สามารถใช้กับทีมนั้นได้จริงๆ เช่น ถ้าคนในทีมมีลูกเล็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็สามารถทำงานทางไกลได้
สังคมทุกวันนี้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความคาดหวัง นิสัย หรือความต้องการในที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เราสามารถออกแบบพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของทุกคนได้ เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพนักงานมีอำนาจมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง Great Resignation ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีโอกาสและมีทางเลือก ทำให้องค์กรต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของพนักงาน สิ่งที่จะทำให้รักษาพนักงานไว้ได้มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ
อย่างแรก เริ่มจากทางฝั่งเมเนเจอร์ มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครลาออกจากบริษัท พวกเขาลาออกจากเมเนเจอร์” พูดง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่ทำให้ผู้คนลาออกไม่ใช่บริษัท แต่เป็นเพราะคนที่ต้องทำงานด้วย ดังนั้น Microsoft จึงช่วยให้เมเนเจอร์สามารถสรรหาและรักษาคนเก่งๆ เอาไว้ผ่านกรอบการทำงานที่เรียกว่า “Model Coach Care” โดยเมเนเจอร์จะต้องสวมบทบาทเป็นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดใหญ่นี้
ต่อมาคือด้านพนักงาน Microsoft พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจองค์กรและเพื่อนร่วมงาน โดยการให้พัฒนาความสัมพันธ์ผ่านการทำงานร่วมกับทีมโดยตรง แม้ในช่วงการระบาดใหญ่ทางองค์กรก็นำเครื่องมือซอฟต์แวร์ต่างๆ เข้ามา ไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในที่ทำงานขาดหายไป
จากการวิเคราะห์ข้อมูลใน Microsoft 365 ก็พบว่า คนในองค์กรมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นประมาณ 26% ไม่ว่าจะผ่านอีเมล การประชุม Teams และการสื่อสารประเภทอื่นๆ กับคนในทีม และอีกหนึ่งในซอฟต์แวร์ที่ใช้รักษาความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานก็คือ Microsoft Viva เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้พนักงาน เช่น การสื่อสาร การอัปเดทข่าวสารต่างๆ ในองค์กร หรือรวบรวมแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ไว้
นอกจากนี้ Microsoft ยังเชื่อว่าการทำงานติดๆ กันเยอะเกินไปจะส่งผลต่อความสุขของพนักงาน ดังนั้นจึงไม่สนับสนุนการทำงานล่วงเวลาวันละหลายชั่วโมง อีกทั้งยังไม่สนับสนุนการประชุมหลายๆ ชั่วโมง โดยไม่ได้อะไรกลับมา เนื่องจากมีผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าการประชุม 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะทำให้ความสุขลดลง ทำให้ Microsoft ตัดสินใจไม่จัดประชุมขนาดใหญ่ที่มีคน 20-30 คน แต่มีคนพูดอยู่เพียงแค่ 2-3 คน ดังนั้นจึงให้พนักงานเข้าประชุมที่สำคัญๆ เท่านั้น เพื่อให้ทุกคนโฟกัสกับงานของตนเองได้อย่างเต็มที่
ในโลกปัจจุบันคำกล่าวที่ว่า “ทุกบริษัทเป็นบริษัทเทคโนโลยี” คงอยู่ไม่ไกลนัก เนื่องจากประสบการณ์ดิจิทัลที่ไร้รอยต่อของพนักงานในองค์กรสำคัญพอๆ กับประสบการณ์ในโลกจริงๆ ของพนักงาน เพราะการระบาดใหญ่ก่อให้เกิดความกดดันในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาวะความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และการฝึกอบรมต่างๆ
คำถามสำคัญที่ผู้นำขององค์กรต่างๆ ต้องเผชิญคือ เราจะสื่อสารและทำงานร่วมกันอย่างไรในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริดหรือระยะไกล ความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงผลักดันให้เกิดการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานให้กับทุกคน
หลายคนคงทราบกันดีว่าในปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ Great reshuffle เกิดขึ้น ทำให้อัตราการลาออกและการเปลี่ยนงานสูงขึ้น หลายบริษัทจึงต้องหาวิธีใหม่ๆ เพื่อแย่งชิงผู้ที่มีความสามารถกับบริษัทอื่นๆ ซึ่งการสร้างสถานที่ทำงานที่มีสุขภาวะและวัฒนธรรมที่ดีก็เป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ และหนึ่งในสิ่งที่จะทำให้องค์กรสามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้ก็คือ เทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่กำหนดประสบการณ์ของพนักงานในช่วงการทำงานที่ห่างไกลและไฮบริด
จากดัชนีแนวโน้มการทำงานในปี 2021 ของ Microsoft พบว่า 46% ของพนักงานกำลังย้ายที่อยู่ เพราะตอนนี้สามารถทำงานทางไกลได้ และจากการวิจัยโดย Qualtrics ก็ชี้ให้เห็นว่า พนักงาน 35% มีแนวโน้มที่จะหางานใหม่หากต้องกลับไปทำงานในออฟฟิศ ทำให้นายจ้างหลายๆ คนต้องปรับตัวตามความต้องการนี้ด้วย เมื่อแนวโน้มนี้ยังคงอยู่ เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมในที่ทำงานและสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน อีกทั้งยังสามารถรักษาคนเก่งๆ ขององค์กรเอาไว้ได้ จากงานวิจัยของ Qualtrics ก็พบว่า 85% มีแนวโน้มที่จะทำงานต่อเกิน 3 ปี หากรู้สึกว่ามีเทคโนโลยีที่สนับสนุนในที่ทำงาน
เมื่อพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีแล้ว Microsoft เองก็มีเทคโนโลยีที่สนับสนุนการทำงานของพนักงานหลายอย่าง ซึ่งอย่างแรกที่กล่าวไปแล้วคือ Microsoft Viva และอีกอย่างหนึ่งคือ ในปีที่ผ่านมา Microsoft ได้จับมือ Meta เดินหน้าสู่ Metaverse เพื่อสร้าง Digital Workplace การสร้างความร่วมมือนี้ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างฟีเจอร์ต่างๆ ของทั้งสองแอป ซึ่งจะทำให้พนักงานมีประสบการณ์ในการเชื่อมต่อสังคม ผู้คน และบริการการทำงานต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีล้ำสมัยได้ดียิ่งขึ้นต่อไปแน่นอน
Comparably ได้มีการจัดอันดับพนักงานที่มีความสุขที่สุดในแต่ละปี ซึ่งมีการพิจารณาถึง 70,000 บริษัทในสหรัฐอเมริกา และหาว่าบริษัทใดที่พนักงานมีความพึงพอใจกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ และเป้าหมายของบริษัทมากที่สุด
การจัดอันดับนี้ขึ้นอยู่กับการให้คะแนนของพนักงานในเรื่องของการสร้างความสุขโดยรวมในที่ทำงาน เป็นเวลาถึงหนึ่งปี ตัวอย่างคำถามที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเช่น
สภาพแวดล้อมการทำงานดีหรือไม่ดี?
คิดว่าได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่?
พอใจกับสวัสดิการหรือไม่?
รู้สึกหมดไฟในการทำงานหรือไม่?
เป้าหมายของบริษัทชัดเจนหรือไม่ แล้วคุณเอาด้วยกับเป้าหมายนั้นหรือไม่?
รู้สึกตื่นเต้นในการไปทำงานแต่ละวันหรือไม่?
มีความคิดที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือไม่?
รู้สึกภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทหรือไม่?
จากคะแนน 1-10 มีแนวโน้มที่จะแนะนำบริษัทให้กับเพื่อนเท่าไหร่?
จากข้อมูลทั้งในปี 2020 และปี 2021 พบว่า Microsoft ติดอันดับบริษัทที่พนักงานมีความสุขที่สุดทั้งสองปี โดยในปี 2020 อยู่อันดับที่ 3 และในปี 2021 อยู่อันดับที่ 5 นอกจากนี้ นิตยสาร Forbes ก็ได้จัดอันดับนายจ้างที่ดีที่สุด 750 บริษัท ผ่านการสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน ซึ่งรวมทั้งพนักงานประจำและพนักงานพาร์ทไทม์ โดยคำถามก็คล้ายๆ กับคำถามของ Comparably เช่น จะแนะนำบริษัทให้กับเพื่อนเพื่อให้เข้ามาทำงานที่เดียวกันหรือไม่ และ Microsoft ก็ติดอันดับ 3 จากทั้งหมด 750 บริษัท ตัวเลขอันดับเหล่านี้ก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่า Microsoft ให้ความสำคัญกับ ‘ผู้คน’ อย่างที่พูดไว้จริงๆ เพราะคะแนนทั้งหมดมาจากการประเมินโดยพนักงานขององค์กรเอง
แล้วความสุขของพนักงานเกี่ยวอะไรกับความสำเร็จขององค์กร? งานวิจัยโดย Christian Krekel, George Ward และ Jan-Emmanuel ชี้ให้เห็นว่า ความพึงพอใจของพนักงานมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับ Customer loyalty และมีความเชื่อมโยงเชิงลบกับการลาออกของพนักงานเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ความพึงพอใจของพนักงานยังมีความสัมพันธ์กับการมีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้นและผลกำไรที่สูงขึ้นด้วย
โดยงานวิจัยดังกล่าวอิงข้อมูลตาม Gallup ที่รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานเกือบ 1.9 ล้านคน 230 องค์กร ใน 73 ประเทศ และถึงแม้ว่าการวัดว่าบริษัทไหนเป็นนายจ้างที่ดีอาจเป็นเรื่องที่กำหนดได้ยาก แต่เราก็สามารถรับรู้ได้เมื่อเราอยู่ในบริษัทนั้นๆ เช่น แม้ว่าจะทำงานหนัก แต่บริษัทก็ให้เวลาพักฟื้นที่เพียงพอ หรือห้ามกลั่นแกล้งและล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน พูดง่ายๆ ก็คือ พนักงานได้รับการปฏิบัติเป็นเหมือนคนคนหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งของที่ใช้เท่าไหร่ก็ได้โดยไม่เหลียวแล
A Happier Company is a Healthier Company.
การสร้างวัฒนธรรมแห่งความสุข จะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า พนักงานที่มีจุดมุ่งหมายและรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กรถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่มากๆ สำหรับอนาคตขององค์กร เพราะความสุขจะนำไปสู่การมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น ขาดงานน้อยลง ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพลดลง และสามารถรักษาพนักงานเก่งๆ ไว้ได้มากขึ้น ซึ่งหลักฐานก็มีให้เห็นแล้วว่าการที่ Microsoft ปฏิวัติวัฒนธรรมองค์กรใหม่โดยหันมาให้ความสำคัญกับผู้คน จนกลับมาแข็งแกร่งและเฉิดฉายได้อีกครั้ง และทุกวันนี้ Microsoft ก็มีมูลค่าบริษัทเป็นแค่ที่สองรองจาก Apple เท่านั้น
อ้างอิง CNBC (1) (2), Forbes, Inc., Economist, HBR (1) (2) (3)
ถึงเป็นธุรกิจเล็ก วัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ
เริ่มเปลี่ยนวันนี้ก่อนสาย
.
หากองค์กรของคุณกำลังเจอปัญหา … พนักงานหมดไฟ…ทุกการตัดสินใจล่าช้าเพราะต้องรอ CEO … พนักงานลาออกเยอะ แต่ไม่รู้สาเหตุ และอีกมากมายปัญหาในองค์กรที่คุณแก้ไม่ตก
.
Peoplesauce ช่วยธุรกิจ SMEs /Startups ที่กำลัง Scale up สร้าง “คน” และ“Culture” เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับเราได้ตั้งแต่วันนี้ที่
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด