สิงคโปร์ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความโดดเด่นด้าน Startup Ecosystem กระทั่งติดอันดับหนึ่งใน 10 ของโลกจากการจัดอันดับของ Compass โดยมีจุดเด่นในแง่ของแหล่งเงินทุนมหาศาลซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาล จนกลายเป็นศูนย์รวมธุรกิจสตาร์ทอัพแห่งภูมิภาคเอเชีย
ปัจจุบันมีหลายบริษัทสตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ที่ตอนนี้กลายเป็น ยูนิคอร์น หรือมีมูลค่าบริษัทเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ เช่น Lazada ผู้นำด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซหรือ Grab แอปพลิเคชันยอดนิยมสำหรับการบริการด้านขนส่งและคมนาคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Roy Teo ผู้อำนวยการและหัวหน้ากลุ่มฟินเทคและนวัตกรรม (FTIG) แห่งธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ซึ่ง FTIG นั้นเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการออกนโยบายรวมถึงพัฒนากลยุทธ์ต่างๆสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อควบคุมดูแล ลดความเสี่ยง เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงินและการลงทุน ซึ่งในงาน Techsauce Global Summit 2017 ที่ผ่านมา Roy ได้มาอัปเดตให้ชาว Techsauce ทราบความคืบหน้า ทิศทางการยกระดับฟินเทคด้วยการเชื่อมโยง Global Fintech Ecosystems ด้วยโครงการต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง Roy เสนอแนะว่า การยกระดับฟินเทคในปัจจุบันนั้นไม่ใช่เรื่องของสตาร์ทอัพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัทสตาร์ทอัพและสถาบันการเงินต่างๆ ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งลูกค้าของสถาบันการเงินและธุรกิจสตาร์ทอัพเอง ซึ่งการเชื่อมโยงที่เอื้อประโยชน์ของกันและกันนี้ทำให้เกิดระบบ Ecosystem ที่แข็งแรง สถาบันการเงินจะมีโอกาสได้ใช้นวัตกรรมล่าสุดที่ผ่านการคิดค้นและพัฒนาโดยบริษัทสตาร์ทอัพ ในขณะที่บริษัทสตาร์ทอัพสามารถที่จะเติบโตได้ไกลมากขึ้นทั้งในและนอกประเทศผ่านการสนับสนุนของสถาบันการเงิน
MAS ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพฟินเทคโดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาสำหรับทั้งรายบุคคล ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงสถาบันทางการเงินของรัฐบาล ซึ่งโครงการอันหลากหลายของ MAS มีส่วนช่วยผลักดันให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ล้ำสมัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด และกลายเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมฟินเทคแห่งภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย ซึ่งแนวทางการดำเนินงานของ MAS สามารถสรุปได้ดังนี้
MAS จัดทำคู่มือ API ซึ่งมีเนื้อหาชัดเจนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์และนโยบายการดำเนินงานด้านการเชื่อมต่อระหว่างระบบในสิงคโปร์ ทำให้ความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพและสถาบันการเงิน รวมถึงการจัดการความเสี่ยงสามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้น
MAS ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนธุรกิจฟินเทค ด้วยการทำให้ขั้นตอนต่างๆ สะดวกรวดเร็วสำหรับบริษัทเงินร่วมลงทุน (VC) ในการลงทุนกับบริษัทฟินเทคในสิงคโปร์ MAS ได้จัดอีเวนต์เชื่อมโยงให้เหล่าธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพได้พบปะกับนักลงทุน เช่น Fintech Investor Summit หรือ Singapore Fintech Festival ที่จะจัดขึ้นปลายปีนี้ Roy กล่าวว่า งาน Singapore Fintech Festival จะทำให้บริษัทฟินเทคในภูมิภาคอาเซียนเป็นที่รู้จักในวงการฟินเทคระดับโลกมากขึ้นอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ MAS ยังให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการสรรหาและพัฒนาบุคคลในประเทศให้มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี เช่น ส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนการเขียนโปรแกรมในโรงเรียน หรือสนับสนุนให้บุคลากรในหลายภาคส่วนพัฒนาทักษะด้านดังกล่าวมากขึ้น สำหรับด้านการวิจัย Roy เสริมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวิจัยในโครงการที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ MAS จึงได้ร่วมมือกับ 100 สถาบันการเงินชั้นนำในการจัดทำหนังสือที่รวบรวมปัญหาต่างๆ ของสถาบันการเงิน เพื่อให้วงการฟินเทคสตาร์ทอัพนำปัญหาดังกล่าวมาพัฒนาเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาได้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งหนังสือดังกล่าวให้ความสำคัญกับ 3 หัวข้อหลักคือ 1. การบริการลูกค้า 2. การผนวกทางการเงิน 3. Regulator Technology หรือ Reg Tech การใช้เทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือรายงานต่างๆ ของสถาบันทางการเงิน
Roy กล่าวว่า การเร่งอัตราการเติบโตด้านนวัตกรรมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิด (Mindset) ของบุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพ นักลงทุนและภาคประชาชน MAS สามารถทำให้วงการฟินเทคเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัดจาก 70 บริษัทสู่ 300 บริษัทในปัจจุบัน ซึ่ง Roy ยังย้ำว่า 300 บริษัทนี้คือบริษัทฟินเทคทั้งหมด และกว่า 13% ของบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่พัฒนาด้าน Blockchain หรือเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องอาศัยคนกลางในการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งเทคโนโลยี Blockchain กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในวงการฟินเทค จนได้รับขนานนามว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะมาผลิกโฉมการทำธุรกรรมออนไลน์อย่างไม่ต้องสงสัย
นอกเหนือจากการดำเนินงานต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น MAS ยังให้ความสำคัญในการแสดงความขอบคุณและสร้างคุณค่าให้กับวงการฟินเทคด้วยการจัดงาน Fintech Awards ซึ่งนับว่าเป็นงานมอบรางวัลเพียงหนึ่งเดียวที่เกิดขึ้นเพื่อการสร้างสรรค์ผลงานของชาวฟินเทคโดยเฉพาะอีกด้วย และด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้อาเซียนเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมฟินเทค MAS ยังร่วมมือกับ 12 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU กับธนาคารแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาวงการฟินเทคแห่งภูมิภาคอาเซียนให้ก้าวไกลไปสู่สากล จึงสามารถกล่าวได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้เห็นชื่อของบริษัทฟินเทคจากอาเซียนไปอยู่ในวงการฟินเทคระดับโลกอย่างแน่นอน
Sign in to read unlimited free articles