เสริมเกราะผู้นำมือใหม่ให้พร้อมรับทุกความท้าทาย กุญแจสู่ความสำเร็จขององค์กร | Techsauce

เสริมเกราะผู้นำมือใหม่ให้พร้อมรับทุกความท้าทาย กุญแจสู่ความสำเร็จขององค์กร

การเปลี่ยนแปลงผู้นำเป็นเรื่องปกติที่หลาย ๆ องค์กรต้องพบเจอ ไม่ว่าจะจากการลาออกของผู้นำคนก่อน หรือการเกษียณก็ตาม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถสร้างผลกระทบได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบ 

ถ้ามันราบรื่น องค์กรก็จะเดินหน้าต่อแบบไม่สะดุด แต่ถ้าผู้นำใหม่ต้องพบเจอกับปัญหา อย่างการเมืองในองค์กร  หรือวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มความสามารถ ก็จะส่งผลเสียต่อองค์กรของคุณแน่นอน

หากองค์กรของคุณมีผู้นำคนใหม่หรือตัวคุณเองเป็นผู้นำมือใหม่ก็อย่าพึ่งกังวลไป ในบทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปรู้จักกับปัญหาและความท้าทายที่ผู้นำคนใหม่ต้องเจอ รวมถึงวิธีเตรียมตัวรับมือกับปัญหา พร้อมทั้งเสนอแนวทางที่องค์กรจะช่วยสนับสนุนพวกเขา

ปัญหาและความท้าทายที่ผู้นำคนใหม่ต้องเจอ

ผลสำรวจจาก McKinsey เผยว่าไม่ว่าจะเป็นผู้นำที่มาจากภายนอกองค์กรหรือผู้นำที่เลื่อนตำแหน่งจากภายในองค์กร ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จกับงานในตำแหน่งใหม่ เพราะเจอปัญหาในช่วงการเลื่อนตำแหน่ง เช่น 

การเมืองในองค์กร: 

ผู้นำใหม่กว่า 68% บอกว่าการเมืองในองค์กรคือปัญหาใหญ่ ทั้งการแข่งขัน ความไม่ลงรอยกัน ซึ่งการทำความเข้าใจและหาทางทำงานร่วมกับผู้คนที่มีความคิดแตกต่างกัน เป็นสิ่งพวกเขาเองก็ต้องพยายามปรับตัวและประสานรอยร้าวนี้ให้ได้

วัฒนธรรมองค์กร:

ทุก ๆ องค์กรย่อมมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง รวมถึงค่านิยม และความเชื่อ เช่น บางบริษัทให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม บางบริษัทนิยมทำงานแบบอิสระและตัดสินใจด้วยตัวเอง อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ การที่ผู้นำใหม่ยังปรับตัวไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการทำงาน และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ยากขึ้น

ความคาดหวังขององค์กรไม่ชัดเจน:

เมื่อผู้นำใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง อาจจะไม่มีใครเคยบอกหรือแนะนำพวกเขาถึงสิ่งที่ควรทำ หรือสิ่งที่องค์กรต้องการให้ทำ ซึ่งมันทำให้เกิดการสับสนและสงสัยว่าสิ่งที่ทำดีพอหรือยัง ต้องปรับปรุงด้านไหนหรือไม่ ส่งผลให้ผู้นำใหม่ไม่สามารถทำงานได้ตรงตามความคาดหวังขององค์กร

การทำงานร่วมกับทีมของตนเอง:

ผู้นำใหม่มักประสบปัญหาในการสร้าง Teamwork เพราะการเปลี่ยนแปลงผู้นำทีมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานภายในทีมด้วยเช่นกัน ทำให้อาจมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน หรือเกิดการต่อต้านบางอย่าง การทำงานร่วมกันจึงเป็นเรื่องยาก ส่งผลไม่สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำไมถึงต้องใส่ใจผู้นำใหม่

แน่นอนว่าการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ องค์กรย่อมคาดหวังว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนเก่ง แต่ความคาดหวังเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรมักจะมองข้ามปัญหา ความกดดัน และความท้าทายที่ผู้นำคนใหม่ต้องเจอ จนอาจลืมยื่นมือเข้ามาช่วย หรือหาแนวทางสนับสนุนพวกเขา

ซึ่งการที่ผู้นำองค์กรไม่สามารถทำงานได้เต็มความสามารถ จะส่งผลเสียต่อองค์กร 2 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

  1. ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงผู้นำองค์กร จะมาพร้อมกับ ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ทั้งการลงประชาสัมพันธ์หรือการเพิ่มฐานเงินเดือนเพื่อดึงดูดผู้สมัคร แต่ต้นทุนที่สำคัญที่สุดคือ ต้นทุนเวลาที่เสียไป เพราะองค์กรของคุณต้องใช้เวลามากขึ้น เพื่อให้ผู้นำใหม่ปรับตัวได้ ซึ่งอาจใช้เวลา 6-12 เดือนเลย 

และหากผู้นำใหม่ยังคงล้มเหลว องค์กรก็อาจต้องอยู่ในช่วงขาดผู้นำและไม่สามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ได้ ซึ่งความล่าช้านี้อาจทำให้องค์กรของคุณเติบโตตามคู่แข่งไม่ทัน

  2. การเติบโตหยุดชะงัก

ผู้นำมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาองค์กร พวกเขามีอำนาจและมีอิทธิพลในการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่ดี วางแนวทางการทำงานที่เหมาะสม และกำหนดเป้าหมายขององค์กร หากผู้นำต้องใช้เวลามากในการปรับตัวและไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เต็มที่ 

ก็มีโอกาสสูงที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของทีมลดลง หรือการตัดสินใจผิดพลาดเพราะยังไม่เข้าใจองค์กรใหม่ดี ส่งผลให้การเติบโตขององค์กรหยุดชะงัก และอาจทำให้ผลกำไรขององค์กรลดลงตามไปด้วย

ดังนั้น ยิ่งผู้นำใหม่สามารถปรับตัวได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อองค์กรมากเท่านั้น เพราะทุก ๆ การกระทำและการตัดสินใจของผู้นำล้วนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของทีมและความสำเร็จขององค์กร

สำหรับองค์กร : คุณจะช่วยสนับสนุนผู้นำใหม่อย่างไร

องค์กรเองก็สามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้นำใหม่ได้ เพราะพวกเขาเหมือนกับพนักงานใหม่คนหนึ่ง ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องจึงควรมีแผนเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้นำ อย่าลืมว่า “Well begun is half done หรือเริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” ซึ่งมี 2 แนวทางหลัก ดังนี้

  1. ละลายพฤติกรรมและวางแผนการทำงานร่วมกัน

จัด Onboarding Program หรือโปรแกรมดูแลบุคลากรใหม่ เป็นกิจกรรมที่เตรียมขึ้นเพื่อให้พนักงานใหม่ทำความรู้จักองค์กรและช่วยสนับสนุนพนักงานที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสามารถเข้ากับคนในองค์กรได้ เข้าใจวัฒนธรรมองค์กร และเข้าใจงานของตนเองมากขึ้น 

เช่น การจัดกิจกรรมให้พนักงานใหม่ได้ทำความรู้จักคนในองค์กร แนะนำรูปแบบการทำงาน และอธิบายถึงเป้าหมายหลักของงาน เป็นต้น

ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ดูแลในระยะยาว ดูแลจนพวกเขาสามารถปรับตัวเข้ากับที่ทำงานได้ ดังนั้นในการจัดโปรแกรมนี้จึงต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน โปรแกรมนี้สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งพนักงานใหม่และผู้บริหารใหม่

  2. พัฒนาทักษะเพื่อเตรียมพร้อมกับงานใหม่

ลงทุนจัดหา Executive Coaching ให้แก่ผู้นำใหม่ MCkinsey สำรวจว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้นำคนใหม่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง แต่มีองค์กรเพียงแค่ 32% ที่ใช้วิธีนี้ 

Executive Coaching เป็นการจัดหา Coach ส่วนตัวในการทำงานให้กับผู้นำ Coach จะคอยให้ข้อเสนอแนะ และช่วยพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เป็นการลงทุนระยะยาวที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้นำคนใหม่ได้เป็นอย่างดี ซึ่ง Coach อาจจะเป็นผู้มีประสบการณ์ขององค์กรก็ได้

สำหรับผู้นำหน้าใหม่ : วิธีเตรียมตัวรับมือกับปัญหา

หากคุณกำลังก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ในฐานะผู้นำองค์กร หน้าที่และความรับผิดชอบที่เปลี่ยนแปลงไปอาจสร้างความกังวลใจให้กับคุณ แต่ยังมีวิธีเตรียมตัวเพื่อรับมือกับปัญหาและความท้าทายในตำแหน่งใหม่ได้ด้วย 4 วิธีนี้

  1. ศึกษาหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง

เมื่อได้รับบทบาทใหม่และความรับผิดชอบใหม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเริ่มต้น คือ การศึกษาหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง ทำความเข้าใจถึงสิ่งที่คุณต้องทำ ขอบเขตงานของคุณ แผนกของคุณรับผิดชอบในเรื่องอะไร เป้าหมายของงานคืออะไร เป็นต้น 

วิธีที่ช่วยให้คุณเข้าใจงานของคุณได้ง่ายและดีที่สุด คือ การพูดคุยและปรึกษาคนภายในบริษัท อาจเริ่มต้นด้วยการปรึกษากับผู้นำคนก่อนหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในบริษัท การเข้าไปพูดคุยและมีส่วนร่วมเพื่อนร่วมงานและพนักงานภายในบริษัท นอกจากจะทำให้คุณเข้าใจในเนื้อหางานมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เข้าใจวิธีการทำงานของบริษัทอีกด้วย

  2. ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมองค์กร

วัฒนธรรมองค์กรก็เหมือนบุคลิกขององค์กร เช่น วิธีการดำเนินงานในองค์กร หรือวิธีที่ผู้คนในองค์กรปฏิบัติต่อกัน การที่คุณทำความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอยู่ อาจทำให้คุณพบจุดที่บกพร่อง และสามารถปรับปรุงแก้ไขได้

เริ่มต้นจากการ พูดคุยกับคนในทีมถึงปัญหาที่พวกเขาพบเจอหรือสอบถามหากคนในทีมต้องการความช่วยเหลือ การวางตัวเป็นผู้นำที่รับฟังและพร้อมสนับสนุนทีม จะช่วยให้คุณเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร มองเห็นปัญหาที่มีอยู่ และสามารถลงมือปรับปรุงแก้ได้ รวมถึงได้รับความไว้วางใจและการยอมรับจากทีม

  3. ศึกษาศักยภาพของลูกทีมและสร้าง Teamwork

หัวใจหลักของการทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพ คือ การรู้จักลูกทีมเป็นอย่างดี ว่าลูกทีมคนไหนมีความถนัดในเรื่องอะไร  รวมถึงการกำหนดแบบแผนการทำงานภายในทีม เพื่อสร้าง Teamwork

คุณอาจเริ่มต้นด้วยการประชุมทีม พูดถึงเป้าหมายของงาน และให้ลูกทีมของคุณเสนอวิธีการทำงานเพื่อประเมินความรู้และความถนัดของแต่ละคน การทำความรู้จักลูกทีมของคุณอาจจะต้องใช้เวลาสักพัก แต่จะช่วยให้คุณรู้ว่าเมื่อมีงานเข้ามา ใครในทีมควรรับผิดชอบส่วนไหนและช่วยให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  4. สร้าง Connection ในองค์กร

คนแค่คนเดียวเปลี่ยนโลกไม่ได้ ประโยคนี้ใช้ได้ดีกับการทำงาน ต่อให้คุณจะเป็นคนที่เก่งมากขนาดไหน แต่การสนับสนุนจากคนในที่ทำงานก็เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะการทำงานในองค์กรยึดโยงกันเป็นระบบ 

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแผนกอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันและสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ 

คงเห็นแล้วว่าการที่จะประสบความสำเร็จในฐานะของผู้นำ ไม่ได้พึ่งเพียงแค่ทักษะความสามารถในการทำงานเท่านั้น แต่ยังอาศัยความยืดหยุ่น (Resilience) เพื่อที่จะปรับตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรใหม่ และทำงานร่วมกับคนในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากองค์กรยื่นมือมาให้ความช่วยเหลือ ผู้นำใหม่ก็จะสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และพัฒนาองค์กรได้เร็วขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

อ้างอิง: avenueleadership, mckinsey

ถึงเป็นธุรกิจเล็ก วัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ
เริ่มเปลี่ยนวันนี้ก่อนสาย

.
หากองค์กรของคุณกำลังเจอปัญหา … พนักงานหมดไฟ…ทุกการตัดสินใจล่าช้าเพราะต้องรอ CEO … พนักงานลาออกเยอะ แต่ไม่รู้สาเหตุ และอีกมากมายปัญหาในองค์กรที่คุณแก้ไม่ตก
.
Peoplesauce ช่วยธุรกิจ SMEs /Startups ที่กำลัง Scale up สร้าง “คน” และ“Culture” เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับเราได้ตั้งแต่วันนี้ที่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำยังไง ถ้าไม่ได้เป็น ‘ลูกรัก’ เจ้านาย

‘ระบบลูกรัก’ ที่ฝังรากลึกในองค์กร เป็นอีกหนึ่งปัญหาช้างในห้อง (Elephant In The Room) ปัญหาใหญ่ที่คนส่วนใหญ่รับรู้ แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง หรือพูดไม่ได้ ทำยังไงดี...

Responsive image

รู้จักประโยชน์ Reverse Mentoring ที่ให้คนรุ่นใหม่มาสอนผู้ใหญ่ในองค์กร

เมื่อนึกถึงการทำงานในองค์กรแล้วส่วนใหญ่คนที่อายุมากกว่าหรืออาวุโสจะต้องให้คำแนะนำรุ่นน้อง แล้วถ้ากลับกันลองให้รุ่นน้องเป็นคนแนะนำผู้ใหญ่บ้างจะเป็นอย่างไร?...

Responsive image

พนักงาน 47% ไม่คิดอยากเลื่อนขั้น เพราะต้องทำงานหนักกว่าเดิม

จากสำรวจล่าสุดพบว่ามนุษย์เงินเดือนไม่ต้องการเลื่อนขั้น เพราะต้องการความสุขและพึงพอใจในบทบาทปัจจุบัน มากกว่าต้องก้าวหน้าไปรับผิดชอบงานที่มากขึ้น...