ฟัง Linda Liukas ผู้สอน Coding และเล่าเรื่องเทคโนโลยีผ่าน Storytelling

ฟัง Linda Liukas ผู้สอน Coding และเล่าเรื่องเทคโนโลยีผ่าน Storytelling

ในอนาคตอันใกล้ หากหลายบริษัทเริ่มกลายเป็นบริษัททางด้านซอฟต์แวร์มากขึ้น เราจะทำการเตรียมคนรุ่นต่อไปให้พร้อมสู่โลกที่นับวันปัญหารอบตัวได้กลายเป็นปัญหาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร?

หนึ่งในเซสชั่นที่ได้รับความสนใจไม่น้อย ในงาน Techsauce Global Summit 2019 ที่ผ่านมา คือการเล่าประสบการณ์สอนเขียนโปรแกรมผ่านหนังสือภาพ โดย ลินดา ลิวคัส (Linda Liukas) ในหัวข้อ ‘One Hundred Languages’ ว่าด้วยเรื่องความท้าทายของการก้าวไปสู่ยุคที่เทคโนโลยีจะมีมนุษยธรรมมากขึ้น และการทำให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่คนเจเนอเรชั่นในอนาคตสามารถเข้าถึงได้ผ่านการเล่าเรื่อง

Linda เป็นผู้เขียน ‘Hello Ruby’ หนังสือภาพที่สอนการเขียนโปรแกรมให้กับเด็กวัย 4-10 ปี ผ่านนิทานและแบบฝึกหัด ช่วยเด็กๆ พัฒนาทักษะการคิดเชิงคำนวณและทักษะการแก้ปัญหา ปัจจุบันได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศแล้วกว่า 29 ภาษา รวมถึงภาษาไทยที่จะทำการเปิดตัวเร็วๆ นี้

“เราไม่เพียงแต่สอนเด็กๆ เขียนโค้ดเท่านั้น แต่ยังเตรียมเด็กๆ ให้พร้อมสำหรับโลกที่ปัญหารอบตัวมีปัญหาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ และเราต้องการกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมากขึ้น ที่จะตื่นเต้นไปกับเรื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมันเป็นเครื่องมือในการแสดงออก และเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาต่างๆ บนโลกใบนี้”

“วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์หรือ Computer Science นั้นไม่ได้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว เหมือนกับเรื่องดาราศาสตร์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับกล้องโทรทรรศน์เท่านั้น วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่ผู้คนใช้ในการแก้ปัญหา”

Linda อธิบายวิชาเทคโนโลยีศึกษาของเธอผ่านตัวอักษร A B C ให้ผู้ฟังได้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้

A - อัลกอริทึม (Algorithm)

เราจะทำการสอนคำว่าอัลกอริทึมให้เด็กๆ เข้าใจได้อย่างไร?

Linda ยกตัวอย่างหนังสือภาพที่เธอเขียน ในหนังสือมีการให้คำแนะนำเป็นขั้นตอนและชัดเจน โดยกำหนดให้เด็กคนหนึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ อีกคนเป็นโปรแกรมเมอร์ และบทบาทของคอมพิวเตอร์ก็คือการสอนคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับวิธีการแปรงฟัน ระหว่างนั้นพวกเขาจะพบปัญหาหลายประเภทเช่น แปรงสีฟันมีลักษณะอย่างไร? ยาสีฟันมีลักษณะอย่างไร? ไปจนถึงการให้นิยามคำว่า ‘สะอาด’

ซึ่งนี่จะทำให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องการนำ ‘Pair Programming’ มาใช้ ซึ่งก็คือการเขียนโปรแกรมเป็นคู่ หรือการเขียนโค้ดพร้อมกัน บนคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกัน โดยให้คนหนึ่งเป็นหนึ่งเป็นคนนำ ส่วนอีกคนคอยให้คำแนะนำ

วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์คือศาสตร์ของการแก้ปัญหา และความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้น หรือเรียกว่า Debug เพราะไม่มีใครหรอกที่จะเขียนโค้ดได้สมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก

B - ตรรกะบูลีน (Boolean Logic)

ในหนังสือ Hello Ruby เล่มที่ 2: Journey Inside the Computer จะเป็นการพารูบี้เข้าไปโลกคอมพิวเตอร์

ภาพจาก Facebook.com/hellorubyworld

เธอต้องการให้เด็กๆ เข้าใจตรรกะคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานว่ามันทำงานอย่างไร? ตรรกะเปลี่ยนเป็นฮาร์ดแวร์ได้อย่างไร? ฮาร์ดแวร์กลายเป็นซอฟต์แวร์ได้อย่างไร? ซอฟต์แวร์กลายมาเป็นเกมและแอปพลิเคชั่นที่เราใช้ทุกวันนี้ได้อย่างไร?

เพราะแม้ว่าคอมพิวเตอร์จะน่าอัศจรรย์เพียงใดก็ตาม มันไม่ได้ถูกสร้างด้วยเวทย์มนต์คาถา แต่มันถูกสร้างด้วยลอจิก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องทำการปรับสิ่งที่เราใช้พูดเปรียบเทียบเรื่องคอมพิวเตอร์ให้ทันสมัย

สิ่งที่เธอเน้นย้ำไม่ใช่การสอนคนรุ่นต่อไปว่าต้องเรียนเขียนโค้ด หรือต้องเข้าใจภาษาโปรแกรมหลายภาษา แต่ผู้ปกครองต้องทำการสอนบุตรหลานให้เข้าใจ ว่าอะไรที่คอมพิวเตอร์สามารถทำได้ดีบ้าง และอะไรที่มนุษย์สามารถทำได้ดีบ้าง

เมื่อเด็กๆ เข้าใจว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องของจินตนาการ รวมทั้งมองเห็นความเป็นไปได้ต่างๆ ในขณะที่คนอื่นมองไม่เห็น เช่นนี้เองก็จะทำให้เด็กๆ ไม่รู้สึกหวาดกลัวอีกต่อไป เมื่อพวกเขาต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง

C - ความคิดสร้างสรรค์และคอมพิวเตอร์ (Creativity & Computer)

เมื่อเราได้ยินคำว่า Artificial intelligence (AI) และ Machine learning (ML) ก็มักจะมีภาพของความโหดร้ายโผล่ขึ้นมา หลายคนอาจจะนึกถึงกายเน็ท (Skynet) และหุ่นยนต์สังหาร (Terminator) นี่หมายความว่าเรากำลังส่งผ่านอคติและความกลัวของเราไปยังคนรุ่นต่อไป ซึ่ง Linda คิดว่าไม่ยุติธรรม เพราะเรื่องความสามารถในการคิดและเรียนรู้มันเป็นอะไรที่มากกว่านั้น

เพราะ AI ไม่ใช่หุ่นยนต์ แต่มันเป็นผลจากข้อมูลที่มนุษย์ผลิตและนำไปป้อนระบบต่างหาก ดังนั้นเราไม่ควรสร้างภาพหุ่นยนต์ที่น่ากลัว เราควรจะพูดถึงชุดข้อมูลที่เราจะนำไปป้อน AI มากกว่า

AI มันไม่เพียงแต่ให้คำตอบเราเท่านั้น แต่ยังคาดคะเนความน่าจะเป็นอีกด้วย เมื่อเราต้องการสอนคอมพิวเตอร์ให้ขับรถ มนุษย์ก็จะทำการใส่ตัวอย่างของสภาพแวดล้อมการขับขี่เข้าไป เมื่อเราต้องการให้คอมพิวเตอร์แสดงฟีดของวิดีโอที่เราชอบ มนุษย์เราก็เพียงแค่กดไลก์สิ่งนั้นบ่อยๆ เช่นเดียวกันในอดีต หากเราจะสอนคอมพิวเตอร์ให้รู้จักแมว เราจะต้องเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับแมวอย่างชัดเจน สิ่งที่เราต้องระมัดระวังก็คือเรื่องของข้อมูลที่เราป้อนเจ้าแมชชีน ว่าจะไม่เกิดอคติที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการพัฒนา AI 

ยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายๆ ถ้าหากเราใส่รายละเอียดของแมววิเชียรมาศเข้าไป คอมพิวเตอร์ก็จะเห็นว่าแมววิเชียรมาศเท่านั้นที่เป็นแมว มันไม่สามารถระบุว่าแมวเปอร์เซียก็คือแมวเช่นกัน นี่จึงเป็นหน้าที่สำคัญของมนุษย์ มนุษย์ยังคงต้องทำการตัดสินว่าปัญหาแบบใดที่เราต้องการให้คอมพิวเตอร์ทำการแก้ปัญหา ในตอนนี้เรายังไม่ต้องการให้คอมพิวเตอร์ทำการตัดสินใจเลือกทุกอย่างแทนเรา

Linda Liukas

Linda เน้นย้ำว่า เราควรให้ความใส่ใจในเรื่องการสอนคนรุ่นต่อไป ว่าสิ่งไหนที่มนุษย์ทำได้ดี สิ่งไหนที่ AI ทำได้ดี อีกทั้งมีเรื่องอะไรที่เราทั้งคู่ต่างทำไม่ได้ เพราะทั้งมนุษย์และ AI มีทักษะที่ต่างกัน อีกทั้งในอนาคตจะยิ่งยากและซับซ้อนเข้าไปอีก จะมีทักษะใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย เนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ท่ามกลาง Buzzword อย่าง Algorithm, Bitcoin และ Blockchain การที่จะอธิบายให้ผู้ใหญ่เข้าใจเรื่องพวกนี้ก็นับว่าเป็นเรื่องยากแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราไม่มีคำศัพท์มากพอเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ให้เด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าสามารถเข้าใจได้

นี่คือความท้าทายของการสอนเรื่องเทคโนโลยี เพราะมันไม่ใช่แค่ฮาร์ดแวร์ มันไม่ใช่แค่ซอฟต์แวร์ และมันไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสังคมที่เราอาศัยอยู่เท่านั้น จึงเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องทำการปรับหลักสูตรในโรงเรียนเพื่อทำการสอนเด็กๆ ให้เข้าใจทั้งสามด้านในเวลาเดียวกัน

           ชมวิดีโอการบรรยายของเธอแบบเต็มๆ ได้ที่นี่:

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เช็คจุดน้ำท่วมเรียลไทม์ ผ่านแอปฯ BMA Traffic น้ำท่วม-รถติด-อุบัติเหตุ ดูได้หมด

BMA Traffic เป็นแอปพลิเคชันที่เราสามารถดูระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถสำรวจพื้นที่น้ำท่วมหรือรถติดผ่านแอปฯ ได้ทันที...

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

2024 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยต้องโฟกัสอะไร? รู้จักกลยุทธ์ 2C โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย เจาะปัจจัยหลักที่นักการตลาดดิจิทัลต้องรู้

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 2 กุญแจชิ้นสำคัญอย่าง Content & Convenience ที่กุมชะตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในยุคดิจิทัล...