'Lean Startup' กำลังจะตายจริงหรือ? เผยหลักการแท้จริงที่ถูกมองข้าม | Techsauce

'Lean Startup' กำลังจะตายจริงหรือ? เผยหลักการแท้จริงที่ถูกมองข้าม

Techsauce เคยนำเสนอเรื่องหลักการ Lean Startup ว่าคือการสร้าง startup โดยให้ความสำคัญกับคุณค่าที่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้จะได้รับและมุ่งเน้นการลดขั้นตอนที่ไม่สำคัญหรือสูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ออกไป การสร้างผลิตภัณฑ์ในแบบของ Lean Startup นั้นจะเริ่มจากการทำความเข้าใจ insight ของผู้บริโภคก่อน เพื่อลดเวลาและทุนในการออกแบบฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็น ซึ่งวิธีการออกแบบในลักษณะนี้จะช่วยลดปัญหาที่ startup จำนวนมากมักพบ คือ ลงทุนลงเวลากับผลิตภัณฑ์ไปเสียมากมายแต่ท้ายที่สุดแล้วกลับไม่มีคนใช้ สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด

ในช่วงไม่นานมานี้ Forbes ออกบทความแสดงความเห็นเรื่อง Lean Startup ว่าจริงๆแล้ว บริษัทใหญ่ๆ ต่างหากที่จะสามารถได้รับประโยชน์สูงสุดจากทฤษฎีนี้ได้ ถ้าหากนำไปปรับใช้อย่างถูกต้อง เพราะว่าโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ต้องใช้ทรัพยากรในการพัฒนาเทคโนโลยีค่อนข้างมากและบริษัทใหญ่ๆ ก็ได้เปรียบในเรื่องนี้ โดยยุคดิจิทัลใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ถูกเรียกว่า 'The Third Wave' ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงหรือเกี่ยวข้องกับภาครัฐ อย่างด้านสาธารณสุขและการศึกษา ปัจจัยเหล่านี้เหมาะกับบริษัทใหญ่ๆ ที่มีงบประมาณในการหาทรัพยากร สามารถร่วมมือกับบริษัทอื่นได้ รวมถึงมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาล

มีคำกล่าวว่า Lean Startup กำลังจะถึงจุดจบ

มีนักวิเคราะห์บางคนที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับหลักการนี้ โดยกล่าวว่า The Third Wave หรือเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเข้ามานั้นจะทำให้ทฤษฎี Lean Startup มาถึงจุดจบ เพราะว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะต้องการเงินลงทุนขนาดใหญ่และจะใช้เวลานานในการพัฒนา เช่นเทคโนโลยีด้านสุขภาพ แปลว่าหลักการของ Lean Startup จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี Forbes ได้แย้งว่าการให้ความเห็นในลักษณะนี้ทำให้ทราบว่ามีการตีความหลักการของ Lean Startup ผิดไป โดยได้ยกตัวอย่างความเข้าใจผิดใน concept นี้ไว้ว่า :

  • Lean startup ใช้กับการลงทุนใน product ที่ถูกและใช้เงินลงทุนน้อยอย่างพวกแอปพลิเคชันและเว็บไซต์เท่านั้น
  • Lean startup เหมาะกับผลิตภัณฑ์ดิจิทัลเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Physical ที่ใช้เวลาในการพัฒนานานและใช้เงินเยอะจะไม่สามารถนำหลักการไปปรับใช้ได้
  • Lean startup เหมาะกับบริษัทขนาดเล็กเท่านั้น ถ้าบริษัทใหญ่ที่มี vision ยิ่งใหญ่จะไม่สามารถใช้หลักการนี้ได้
  • Lean startup เกี่ยวกับการทดลองและสร้างผลิตภัณฑ์ขั้นต่ำสุดเท่านั้น
  • Lean startup คือการเตรียมรับการล้มเหลวอย่างรวดเร็ว หรืออาจจะล้มเหลวภายในอาทิตย์หน้านี้เลย

ความเข้าใจผิดเหล่านี้มีมาตั้งแต่เริ่มมีการพูดถึง Lean Startup ในช่วงแรกๆ แต่เริ่มมาหนักหน่วงเอาในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ยุค The Third Wave และถ้าหากบริษัทใหญ่ๆ มีความเชื่อที่ผิดๆ ก็เท่ากับว่าพวกเขาจะไม่ได้รับประโยชน์จากหลักการนี้เลย เพราะฉะนั้นทุกคนควรจะเรียนรู้ด้านที่ถูกต้องของหลักการ Lean Startup นี้

ทำสิ่งที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม

สาเหตุแรกที่ทำให้เหล่า startup ต่างล้มเหลว คือการพยายามขยายธุรกิจก่อนเวลาอันเหมาะสม ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยเมื่อมีการปล่อยสินค้าใหม่ออกมาสู่ตลาดก่อนที่จะแน่ใจว่าจะมีคนต้องการใช้มัน เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ควรเรียนรู้ก็คือการทำสิ่งที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสมนั้นเอง

หลักการนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับจำนวนเม็ดเงินที่ต้องลงทุนหรือทรัพยากรที่บริษัทมี ไม่ว่าบริษัทจะผลิตอะไรออกมา แค่ต้องแน่ใจว่ามันเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ และมีคุณค่าต่อลูกค้าจริงๆ

หลักการของ Lean Startup ที่สำคัญ คือการเริ่มจากการค้นคว้า วิจัย ทดลอง แล้วค่อยผลิตออกมา ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถใช้ได้กับทั้งผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและผลิตภัณฑ์ physical ทั่วไป หลายๆ คนอาจจะลืมไปว่า Lean Startup นั้น เริ่มมาจากแรงบันดาลใจของบริษัทที่ทำผลิตภัณฑ์ physical อย่าง Toyota และ Zara รวมถึง IDEO ผู้นำ design thinking และใช้ lean principles ในการผลิตผลิตภัณฑ์ physical อย่างเมาส์ของ Macintosh เป็นต้น โดย Design thinking คือการนำลูกค้ามาเป็นศูนย์กลางของการพัฒนานวัตกรรม ไม่ว่าจะผลิตอะไรออกมาก็ตาม

Business Models เป็นสิ่งที่สำคัญ

ถึงแม้บริษัทของคุณจะมีทีม R&D ที่เก่งมากๆ แต่ยังไงก็ยังหนีเรื่อง business model ไม่พ้น เพราะที่จริงแล้วผลของการสำรวจแสดงให้เห็นว่า R&D ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับรายรับหรือกำไรของบริษัทเลย เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในหลักการของ Lean Startup ก็คือการใส่ใจกับ business model

นอกเหนือไปจากการสร้างผลิตภัณฑ์ที่คนต้องการใช้แล้ว บริษัทต่างๆ ควรจะทำให้แน่ใจว่าจะยังได้กำไรจากสิ่งนั้น แปลว่าจะต้องมีการทดลอง business model ในตลาดจริงก่อนที่จะมีการขยาย ในช่วงที่มีการทดลองผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เราสามารถลองคำนวณต้นทุนในการผลิต กำหนดราคา และหาหนทางที่มีศักยภาพเพื่อเข้าสู่ตลาด

Lean Startup ไม่ใช่แค่การย่ำอยู่กับแค่การทดลองและออกสินค้าแค่จำนวนน้อยๆ แต่การทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สามารถมี business model ที่เหมาะสมและช่วยให้ขยายต่อไปได้อย่างมั่นคง

จงถามคำถามในเวลาที่เหมาะสม

Lean Startup ใช้หลักการ incremental investing หรือการค่อยๆ เพิ่มเงินลงทุน เพราะถึงแม้ว่าการลงทุนในนวัตกรรมอาจจะใช้เงินถึง 20 ล้านดอลลาร์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการลงทุนในทีเดียวทั้งหมด

มันไม่สำคัญเลยว่าทีมจะผลิตสินค้าออกมาได้ตรงเวลาและอยู่ในงบประมาณหรือไม่ ถ้าหากผลิตออกมาแล้วไม่มีใครอยากใช้มัน Incremental investing จะช่วยให้สามารถลงทุนในระดับที่เหมาะสมกับขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรมของทีม

เราต้องถามคำถามไปทีละขั้นตอน สิ่งแรกที่ควรถามคือ ‘มีความต้องการใช้สินค้านี้จริงหรือไม่’ แล้วจึงลงทุนเพื่อหาคำตอบนี้ คำถามต่อมาคือ ‘ทีมจะสามารถพัฒนา solution ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้หรือไม่’ แล้วก็ค่อยลงทุนในส่วนนี้เพิ่มเติม ในท้ายที่สุดเราจะต้องดูว่าผลิตภัณฑ์นั้น ‘มี business model ที่มีประสิทธิภาพหรือไม่’ ดังนั้นเราจึงต้องลงทุนให้มากที่สุดเพื่อพิสูจน์ตลาดรองรับ และดูว่าสินค้าตอบโจทย์ตลาดนั้นหรือไม่ ถ้าทีมประสบความสำเร็จ จากนั้นค่อยลงทุนเพิ่มเป็นสองเท่าเพื่อพัฒนาตัวสินค้าต่อไป

ความฝันที่ยิ่งใหญ่สามารถเป็นจริงได้ด้วยหลักการนี้

ในช่วงยุค The Third Wave จะเป็นช่วงที่ทุกอย่างๆ ถูกสร้างบน internet ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และต้องการผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล แต่ความฝันที่ยิ่งใหญ่นั้น ไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับแนวคิด Lean Startup เพราะที่จริงแล้ว การมีวิสัยทัศน์คือหัวใจของหลักการนี้เลย

นั้นก็คือ การให้ innovator ลองทำตามความฝัน และในขณะเดียวกันก็ใช้หลักการ lean เพื่อทดสอบไประหว่างทาง ว่าสิ่งที่คิดนี้เป็นไปได้ในโลกแห่งความจริงแค่ไหน ส่วนเรื่องเวลาการทดลองจะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของสิ่งนั้น เป้าหมายคือการเรียนรู้และการตัดสินใจว่าควรจะทำอะไรต่อไป เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณกำลังพยายามจะทำอะไร จงฝันให้ใหญ่เข้าไว้และอย่าลืมทดสอบสมมติฐานนั้นด้วย!

Forbes ย้ำว่า Lean startup ไม่ได้ใกล้เคียงจุดจบเลยแม้แต่น้อย และบริษัทใหญ่ๆ จะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจาก Lean startup อย่างแน่นอน แต่ในเงื่อนไขที่ว่าต้องนำข้อคิดที่ถูกต้องจากหลักการไปใช้ โดยเน้นย้ำว่าการเข้าใจหลักการพื้นฐานของ lean นั้นสำคัญที่สุดและ Lean startup ไม่ใช่แค่เรื่องของการประหยัด แต่คือการลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการทำสิ่งที่ไม่จำเป็นในเวลาที่ผิด

ที่มาของเนื้อหา Forbes

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เช็คจุดน้ำท่วมเรียลไทม์ ผ่านแอปฯ BMA Traffic น้ำท่วม-รถติด-อุบัติเหตุ ดูได้หมด

BMA Traffic เป็นแอปพลิเคชันที่เราสามารถดูระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถสำรวจพื้นที่น้ำท่วมหรือรถติดผ่านแอปฯ ได้ทันที...

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

2024 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยต้องโฟกัสอะไร? รู้จักกลยุทธ์ 2C โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย เจาะปัจจัยหลักที่นักการตลาดดิจิทัลต้องรู้

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 2 กุญแจชิ้นสำคัญอย่าง Content & Convenience ที่กุมชะตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในยุคดิจิทัล...