วิจัยกรุงศรี ชี้ Omicron สร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออาจเร่งขึ้นชั่วคราวในช่วงปลายปี | Techsauce

วิจัยกรุงศรี ชี้ Omicron สร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออาจเร่งขึ้นชั่วคราวในช่วงปลายปี

วิจัยกรุงศรีให้มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยว่า การบริโภคและการส่งออกหนุนเศรษฐกิจเดือนตุลาคมฟื้นตัว การระบาดของไวรัสโอมิครอนเพิ่มความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนตุลาคมปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน (+1.6% MoM sa) ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม และแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ขณะเดียวกันการส่งออกยังคงเติบโตดีตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า กอปรกับปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิตคลี่คลายลงบ้าง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถผลิตและส่งออกได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ผลจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศหนุนให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมเติบโตต่อเนื่องจากเดือนก่อน (+2.9%) สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนแม้จะปรับลดลง (-1.2%) หลังจากเร่งขึ้นในเดือนกันยายนก็ตาม แต่ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนพฤศจิกายนที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ที่ 48.4 จากเดือนก่อน 47.0 

เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัว ปัจจัยหนุนจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่บรรเทาลง การฉีดวัคซีนมีมากขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุม ประกอบกับผลเชิงบวกจากการเปิดประเทศ ล่าสุดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพฤศจิกายนรวมทั้งสิ้น 133,061 คน เร่งขึ้นจากเดือนตุลาคม 20,272 คน นอกจากนี้ ความต่อเนื่องของมาตรการรัฐยังช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น หลังจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนเกิดขึ้นในประเทศทางแอฟริกา และเริ่มตรวจพบในหลายประเทศมากขึ้นรวมถึงไทยด้วย ขณะที่ปัจจุบันยังต้องติดตามรายละเอียดที่ชัดเจนถึงความรุนแรงของสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพราะอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงสร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวในระยะข้างหน้าได้

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน คาดกนง.คงดอกเบี้ยอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 2.71% YoY จาก 2.38% เดือนตุลาคม   สาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ (+37.2%) ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหาร โดยเฉพาะผักสด (+12.7%) ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจากช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการปรับขึ้นของราคาเครื่องประกอบอาหาร (+6.2%) เนื่องจากความต้องการและต้นทุนขนส่งที่ปรับเพิ่ม ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.29% เพิ่มขึ้นจาก 0.21% เดือนตุลาคม สำหรับในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.15% และ 0.23% ตามลำดับ

แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะเร่งขึ้นในช่วงปลายปีนี้และมีแนวโน้มอาจแตะระดับสูงใกล้ 3% ในช่วงไตรมาส 1/2565 เนื่องจากผลของฐานที่ต่ำและการส่งผ่านของต้นทุน แต่คาดว่าจะชะลอลงและกลับมาแตะระดับใกล้ขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการที่ 1% ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงเอื้อให้กนง.ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางและเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ

สำหรับเศรษฐกิจโลก วิจัยกรุงศรีระบุว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจโลกเดือนพฤศจิกายนปรับตัวดีขึ้น แต่ไวรัสโอมิครอนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในระยะต่อไป ในเดือนพฤศจิกายนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการของโลกแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ที่ 54.8 โดยดัชนีของกลุ่มประเทศแกนหลัก อาทิ ยูโรโซน ญี่ปุ่น ปรับดีขึ้นสู่ระดับ 55.8 และ 53.3 ตามลำดับ สะท้อนการขยายตัวต่อเนื่อง (ค่าดัชนี > 50) ของกิจกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ โดยองค์ประกอบของดัชนี PMI ของโลกปรับตัวดีขึ้นทั้งด้านผลผลิต ยอดสั่งซื้อใหม่ ยอดสั่งซื้อเพื่อการส่งออก และการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบทางด้านราคาบ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อยังเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันที่พุ่งขึ้น 

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ประเมินว่าภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอาจยาวนานกว่าที่คาดและถือเป็นความเสี่ยงสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศแกนหลักปรับนโยบายการเงินเร็วและแรงกว่าคาดการณ์เดิม จนสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ OECD ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP โลกในปีนี้ลงเล็กน้อยสู่ 5.6% จากเดิมคาด 5.7% ส่วนในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.5% นอกจากนี้ OECD ยังระบุถึงความเสี่ยงจากไวรัสกลายพันธุ์ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งเตือนว่าไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและคาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุเตรียมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกจากปัญหาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนถือเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอาจส่งผลกระทบต่อการเดินทาง การขนส่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและอาจซ้ำเติมภาวะชะงักงันด้านอุปทาน ส่วนความกังวลด้านเงินเฟ้อแม้อาจเผชิญแรงกดดันจากข้อจำกัดด้านอุปทานและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่ราคาพลังงานที่ปรับลดลงอาจช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไป

เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง คาดเฟดอาจเร่งปรับลด QE ให้เสร็จก่อนกลางปีหน้าเพื่อปูทางปรับขึ้นดอกเบี้ยช่วงครึ่งปีหลัง ในเดือนพฤศจิกายนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ปรับตัวดีขึ้นทั้งภาคการผลิตที่เพิ่มสู่ระดับ 61.1 สูงกว่าตลาดคาด และนอกภาคการผลิตซึ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มจัดทำข้อมูลในปี 2540 ที่ 69.1 ด้านการจ้างงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 5.34 แสนตำแหน่ง สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่อัตราการว่างงานแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ 4.2% ส่วนจำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พฤศจิกายน ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือนที่ 1.95 ล้านคน 

ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ มีแนวโน้มทยอยปรับตัวดีขึ้น ล่าสุดอัตราการว่างงานแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาด สอดคล้องกับรายงาน Beige Book ของเฟดที่ระบุถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับปานกลางในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ล่าสุดประธานเฟดส่งสัญญาณเร่งการปรับลดแรงกระตุ้นทางการเงิน โดยกล่าวต่อสภาคองเกรสว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความแข็งแกร่งมากขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังประเมินว่าความเสี่ยงจากปัญหาไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนอาจเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อจากปัญหาการชะงักงันด้านอุปทานและการขาดแคลนแรงงานจากความวิตกกังวลต่อการระบาด จากปัจจัยดังกล่าวเฟดจึงเห็นควรว่าจะหารือเรื่องการยุติโครงการเข้าซื้อพันธบัตรให้เร็วขึ้นกว่าเดิมในการประชุมวันที่ 14-15 ธันวาคมนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าเฟดจะประกาศเร่งปรับลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE ให้เสร็จสิ้นก่อนกลางปีหน้าเพื่อปูทางให้สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างน้อย 25 bps ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

ข้อมูลเพิ่มเติม                                                                                    


Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

One Bangkok พัฒนากรุงเทพฯ ชูแนวคิด “The Heart of Bangkok” เมืองที่ใช้ใจสร้าง

วัน แบงค็อก พลิกโฉมวงการอสังหาฯไทย ด้วยการสร้างปรากฎการณ์ใหม่ ปักหมุด “เมืองกลางใจ” หรือ The Heart of Bangkok เมืองที่ใช้ใจสร้าง พร้อมเผยประสบการณ์ชอปปิ้งและไลฟ์สไตล์ระดับโลก เตรีย...

Responsive image

Indorama Ventures ออกหุ้นกู้ 1 หมื่นล้าน ตอกย้ำผู้นำธุรกิจยั่งยืน

Indorama Ventures ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ประกาศความสำเร็จในการระดมทุน 1 หมื่นล้านบาท ผ่านการออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนร...

Responsive image

Jitta ก้าวสู่ปีที่ 12 เดินหน้าแก้วิกฤตการเงิน หนุนคนไทยออมและลงทุนอัตโนมัติ

Jitta เข้าสู่ปีที่ 12 เติบโตอย่างแข็งแกร่งบนเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนที่ง่ายและสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า...