KKP Research ประเมินตลาด E-commerce ในไทย หลังโควิด-19 ขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปีตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า | Techsauce

KKP Research ประเมินตลาด E-commerce ในไทย หลังโควิด-19 ขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปีตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า

KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทรประเมินว่าตลาดค้าปลีกออนไลน์หรือ E-commerce ในไทยหลังโควิด-19 จะขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปีตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน เป็น 7.5 แสนล้านบาทในปี 2025 หรือคิดเป็น 16% ของตลาดค้าปลีกรวม ซึ่งเฉพาะในปี 2020 ที่ผ่านมา E-commerce ไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดดถึง 80% สะท้อนการเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคไปสู่ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จากข้อจำกัดด้านการเดินทางจากมาตรการล็อกดาวน์ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และหมวดอาหารและสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวดี ขณะที่การใช้จ่ายด้านการจองโรงแรมและการเดินทางหดตัวอย่างรุนแรง 

ทิศทางของตลาด E-commerce ไทยในปัจจุบัน

ปัจจุบันตลาด E-commerce ไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย แต่ในแง่มูลค่าใช้จ่ายต่อผู้ใช้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งสะท้อนระยะเริ่มต้นของการเติบโต ในระยะต่อไป ตลาด E-commerce ไทยและอาเซียนมีโอกาสเติบโตสูงต่อเนื่องจาก 3 ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 

(1) การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปัจจุบันที่เฉลี่ยราว 80% ของประชากร 

(2) การใช้โทรศัพท์มือถือและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z โดยกลุ่มประเทศในอาเซียนมีจำนวนบัญชี Facebook ต่อประชากรสูงที่สุดในโลกและเป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญ 

(3) บริการชำระเงินออนไลน์ที่แพร่หลายในอาเซียน ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีการใช้บริการธนาคารผ่านมือถือ (mobile banking) และการชำระเงินผ่านมือถือ (mobile payments) สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก โดยมีบริการพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่สะดวกและมีต้นทุนต่อผู้ใช้ต่ำ 

รูปแบบค้าปลีกออนไลน์ในไทยเปลี่ยนไปเป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์หรือ E-marketplace มากขึ้น คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาด E-commerce รวมของไทย โดยเป็นการแข่งขันระหว่างสองแพลตฟอร์มข้ามชาติหลัก ได้แก่ Shopee และ Lazada ทิ้งห่างแพลตฟอร์มรายอื่น แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจแพลตฟอร์มที่เข้มข้นเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดและเป็นฐานต่อยอดไปสู่โอกาสธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้โดยรวมแล้วแม้รายได้ของธุรกิจแพลตฟอร์มจะขยายตัวขึ้นอย่างมาก แต่ยังคงมีแนวโน้มขาดทุนต่อเนื่องจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการร่วมอุดหนุนการขาย KKP Research ประเมินว่า ท้ายที่สุดจะเหลือธุรกิจแพลตฟอร์มที่สามารถทำกำไรได้เพียงไม่กี่ราย และอาจมีผู้ชนะเพียงรายเดียว เช่นเดียวกับตลาด E-commerce ในจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีกลุ่ม Alibaba และ Amazon เป็นเจ้าตลาดทิ้งห่างคู่แข่งที่เหลือ 

ธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้านสามารถปรับกลยุทธ์ไปสู่ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 และขยายโอกาสการเติบโตในคราวเดียวกัน ในภาวะที่สูตรสำเร็จของธุรกิจค้าปลีกเปลี่ยนจากการมีทำเลที่ตั้งที่ใกล้แหล่งผู้บริโภค (localization) ความน่าเชื่อถือของผู้ขาย (trust) และประสบการณ์หน้าร้าน (human touch) และถูกแทนที่ด้วย (1) การส่งสินค้าถึงบ้าน (home delivery) (2) คะแนนรีวิวและยอดขาย (online reputation) และ (3) การสอบถามและบริการผ่านการสนทนาออนไลน์ (online support) บน E-commerce ธุรกิจค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีหน้าร้านควรเริ่มสร้างรอยเท้าดิจิทัล (Digital footprint) บนช่องทางและแพลตฟอร์มที่หลากหลายเพื่อเพิ่มการมองเห็น (visibility) และเพื่อกระจายความเสี่ยงหากบางแพลตฟอร์มต้องปิดตัวลง  

ขณะที่ KKP Research มองว่าธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่นห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าประเภทที่มีผู้ให้คำแนะนำ (Specialist Shops) มีข้อได้เปรียบในด้านความน่าเชื่อถือของผู้ขายเป็นทุนเดิมและมีบริการหลังการขายที่ดี สามารถนำช่องทางออนไลน์มาหลอมรวมกับหน้าร้านเพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภค (omnichannel experience) หรืออาจสร้างช่องทางออนไลน์แยกจากช่องทางหน้าร้าน (multichannel) และเน้นการส่งสินค้าอย่างรวดเร็วถึงบ้าน เช่น การส่งสินค้าถึงบ้านใน 3 ชั่วโมงในเขตกรุงเทพฯ ทั้งนี้ แม้ฐานลูกค้า E-commerce ของธุรกิจค้าปลีกเดิมจะมีไม่สูงนักเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มรายใหญ่ แต่จำนวนผู้เข้าใช้บริการสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหน้าร้านยังคงมีข้อเสียเปรียบในด้านโครงสร้างต้นทุน โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่และค่าจ้างพนักงาน จึงจำเป็นต้องปิดจุดอ่อนผ่านการบริหารต้นทุนของช่องทางหน้าร้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรักษาอัตรากำไรในระยะต่อไป 

การขยายตัวธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ยังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับประโยชน์ไปด้วย ได้แก่ ธุรกิจคลังสินค้า (Warehouse) บรรจุภัณฑ์ (Packaging) และขนส่ง (Logistics) รวมถึงโฆษณาออนไลน์ ขณะที่มีบางธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นธุรกิจค้าปลีกที่อาศัยหน้าร้าน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการขายหรือให้เช่าพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ หรือร้านอาหารขนาดใหญ่ที่ถูกแย่งส่วนแบ่งจากบริการส่งอาหาร (Food Delivery) อย่างไรก็ดี กลยุทธ์การปรับตัวไปสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal) จะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจที่จะอยู่รอดต่อไป และเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตใหม่ของธุรกิจได้ 

KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่าภาครัฐสามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ เพื่อยกระดับผลิตภาพในภาคบริการ สร้างงานในภาคธุรกิจใหม่ และสร้างการเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมแก่ธุรกิจรายย่อย ผ่านการส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานและลดขั้นตอนและกฎระเบียบใน 3 ด้านจากทางภาครัฐ ได้แก่ 

(1) ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโลจิสติกส์ในประเทศ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนการจัดตั้งคลังสินค้าสมัยใหม่แบบครบวงจร (Fulfillment center)  

(2) สนับสนุนการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์และการจัดเก็บภาษีบนธุรกิจออนไลน์อย่างโปร่งใสและเป็นระบบ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกรรมค้าปลีกออนไลน์ในอนาคต 

(3) ขยายตลาดค้าปลีกออนไลน์ให้ไปไกลกว่าตลาดในประเทศผ่านการลดขั้นตอนและกฎระเบียบระหว่างแดน เพื่อให้ธุรกิจ E-commerce ของไทยสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต 470 ล้านคนในอาเซียนได้ 

 

สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://advicecenter.kkpfg.com/th/money-lifestyle/money/economic-trend/e-commerce-situation-in-thailand

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Jensen Huang ตอบประเด็นอนาคต AI ยังไงต่อ ? ในงาน GTC 2024

บทความนี้ Techsauce ชวนมาฟังความเห็นของ CEO บริษัทชิปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เกี่ยวกับอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ในงาน GTC 2024...

Responsive image

SpaceVIP จัดทริปกินมื้อหรูระดับมิชลินบนอวกาศ สนนราคาต่อหัว 17.8 ล้านบาท

โอกาสสำหรับการทานอาหารสุดหรูบนอวกาศมาถึงแล้ว SpaceVIP เตรียมเปิดประสบการณ์การทานอาหารจากเชฟระดับ Michelin Star ที่ความสูงกว่า 100,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลในการผจญภัยบนขอบอวกาศ โอกา...

Responsive image

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? แหล่งข่าวชี้ Selena Gomez เตรียมขายแบรนด์

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? ข่าวจาก Bloomberg ออกมาว่าตอนนี้ Selena Gomez ได้เริ่มดำเนินการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนเพื่อประเมินมูลค่าแบรนด์แล้ว...