KKP ประเมิน ข้อจำกัด 3 ด้านที่ทำให้ Cryptocurrencies ไม่อาจเข้ามาทดแทนระบบเงินในปัจจุบันได้ | Techsauce

KKP ประเมิน ข้อจำกัด 3 ด้านที่ทำให้ Cryptocurrencies ไม่อาจเข้ามาทดแทนระบบเงินในปัจจุบันได้

KKP ประเมิน ข้อจำกัด 3 ด้านที่ทำให้คริปโตเคอร์เรนซี ไม่อาจเข้ามาทดแทนระบบเงินในปัจจุบันที่ควบคุมโดยธนาคารกลางได้ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrencies) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิตคอยน์ (Bitcoin) เป็นสินทรัพย์ที่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิดเป็นต้นมา โดยคนส่วนหนึ่งลงทุนด้วยความเชื่อว่าคริปโตเคอร์เรนซีเป็นเงินในโลกอนาคตที่สามารถมาทดแทนเงินของธนาคารกลางที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ผ่านเทคโนโลยีที่ไม่ต้องพึ่งตัวกลาง โปร่งใส และเป็นเครื่องรักษามูลค่าของตัวเองได้ด้วยปริมาณอุปทานที่มีอยู่อย่างจำกัด  

KKP ประเมินข้อจำกัด 3 ด้านของคริปโตเคอเรนซี

อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่าบทบาทของคริปโตเคอร์เรนซีในการเข้ามาทดแทนระบบเงินปัจจุบันที่ควบคุมโดยธนาคารกลางเป็นไปได้ยากจากข้อจำกัด 3 ด้าน คือ 

1) บิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ยังขาดคุณสมบัติของเงิน

ข้อมูลในปัจจุบันชี้ชัดว่าคริปโตเคอร์เรนซี ยังไม่สามารถทำหน้าที่ 3 ข้อหลักของเงินได้ คือ 

  • คริปโตเคอร์เรนซี ไม่สามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) โดยระยะเวลาในการทำธุรกรรมยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะมีความขัดแย้งกันระหว่างความสามารถในการกระจายอำนาจของระบบ (Decentralization) และ ความปลอดภัยของระบบ (Security) ทำให้ความสามารถในการทำธุรกรรม (Scalability) ลดลง 
  • คริปโตเคอร์เรนซี ไม่สามารถเป็นมาตรฐานในการใช้วัดมูลค่า (Unit of Account) จากความผันผวนเทียบกับเงินสกุลอื่นสูงทำให้ผู้ขายจำเป็นต้องปรับราคาถี่ขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนต่อเศรษฐกิจจากทั้งผู้ขายและผู้บริโภค ปัจจุบันจึงมีกลุ่มคนที่ใช้คริปโตเคอเรนซี หรือ บิตคอยน์มาเป็นฐานเปรียบเทียบมูลค่าของสินค้าและบริการน้อยมาก 
  • คริปโตเคอร์เรนซี ไม่สามารถเป็นเครื่องรักษามูลค่า (Store of Value) โดยแม้ปริมาณที่จำกัดสามารถรับประกันได้ระดับหนึ่งว่าคริปโตเคอร์เรนซีจะไม่ถูกด้อยค่าด้วยการเพิ่มอุปทาน แต่มูลค่าพื้นฐานยังขึ้นอยู่กับความต้องการใช้และประโยชน์ที่ได้จากการถือเงินสกุลนั้น ๆ ด้วย ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าผู้คนจะเชื่อมั่นในบิตคอยน์ได้ตลอดไปโดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยที่สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการชำระภาระภาษีได้ และยังถูกยอมรับทั่วโลกเนื่องมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังเกิดกับผู้ที่ต้องชำระภาษีสหรัฐฯในปริมาณสูง

2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินที่หายไป

การเปลี่ยนระบบการเงินจากยุคปัจจุบันไปสู่คริปโตเคอร์เรนซีแม้เป็นความตั้งใจที่ดีและมีการใช้เทคโนโลยีที่อาจเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเงิน แต่การให้เอกชนเป็นคนออกสกุลเงินและจำกัดปริมาณเงินให้คงที่เพื่อรักษามูลค่าเป็นระบบที่มีความไม่มั่นคงสูงและขาดกลไกในการรองรับความเสี่ยงหากเศรษฐกิจเจอกับปัจจัยภายนอกที่ไม่ได้คาดคิด ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงหลายประการ คือ 

  • ปริมาณเงินที่ถูกกำหนดไว้อย่างจำกัด จะสร้างความเสี่ยงให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) หากปริมาณเงินเพิ่มขึ้นไม่ทันการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจ 
  • การกำหนดให้ปริมาณเงินมีปริมาณคงที่ ทำให้ไม่สามารถปรับปริมาณเงินให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจได้ ทำให้เศรษฐกิจอาจมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น
  • ระบบที่ไม่มีผู้ดูแลเสถียรภาพทางการเงินจะไม่สามารถสร้างความมั่นใจในระบบการเงินในยามวิกฤตได้ เช่น หากเกิดวิกฤติแบบโควิด -19 การขาดบทบาทของนโยบายการเงินอาจทำให้ปัญหาลุกลามไปสู่เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศได้

3) ทำไมการยอมรับของบิตคอยน์อาจเกิดขึ้นได้ยาก 

ในทางทฤษฎี หากทุกคนยอมรับให้บิตคอยน์ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ย่อมเป็นไปได้ที่บิตคอยน์จะผันผวนลดลงและทำหน้าที่เป็นเครื่องรักษามูลค่าได้ ซึ่งอาจทำให้บิตคอยน์สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินในปัจจุบันไปสู่ดุลยภาพใหม่ที่มีบิตคอยน์เป็นสื่อกลางยังจะต้องเจอกับอุปสรรคอีกมาก คือ

  • ต้นทุนธุรกรรมที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อขนาดของระบบใหญ่ขึ้น หากความต้องการในการทำธุรกรรมเพิ่มสูงขึ้นในระบบบิตคอยน์จะทำให้ network มีความแออัดและค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นซึ่งจะดึงดูดให้จำนวนนักขุดเข้ามาในระบบมากขึ้นแต่จะทำให้ความล่าช้าในระบบเพิ่มขึ้นแทน ซึ่งจะทำให้อัตราการใช้บิตคอยน์ (adoption rate) ลดลง
  • ต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินใหม่ การเปลี่ยนไปใช้สกุลใหม่ยังมีต้นทุนที่สำคัญ คือ network effect ของสกุลเงินที่ถูกใช้อยู่เป็นประจำ หากสกุลเงินปัจจุบันไม่ได้เสียกำลังการซื้ออย่างรุนแรงจะทำให้แรงจูงใจในการเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินใหม่มีน้อย
  • แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มูลค่าของบิตคอยน์ลดลง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นตามแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้และสภาพคล่องที่ถูกดูดออกมากขึ้นโดยเฉพาะนโยบาย QT ในสหรัฐ ฯ จะทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการครอบครองสินทรัพย์ที่ไม่ผลิตกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นและจะสร้างแรงกดดันที่มากขึ้นกับราคาของบิตคอยน์ และความผันผวนของบิตคอยน์ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้การยอมรับในการใช้บิตคอยน์ลดลงได้
  • การแข่งขันในตลาดของสกุลเงินอาจไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การแข่งขันของสกุลเงินเอกชนอาจไม่ก่อให้เกิดเสถียรภาพทางด้านราคา หรือเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงเงินเฟ้ออยู่ เนื่องจากผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการสร้างสกุลเงินเพิ่มเติมเพื่อกำไรจากการสร้างเหรียญ
  • รัฐบาลในหลายประเทศยังไม่ยอมรับให้คริปโตเคอร์เรนซีเป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย การไม่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ และความเสี่ยงในอนาคตที่ภาครัฐต้องมีการกำกับดูแลคริปโตเคอร์เรนซีจะทำให้ต้นทุนและอุปสรรคในการใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีเพิ่มขึ้น รวมถึงจะจำกัดความสามารถในการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือชำระหนี้ได้

ความเสี่ยงของคริปโตเคอร์เรนซีกับการลงทุนระยะยาว

การคาดเดาทิศทางของราคาบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซียังคงทำได้ยาก โดยแม้ว่าเหรียญดิจิทัลเหล่านี้อาจถูกมองว่าไม่มีมูลค่าพื้นฐานแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีมูลค่าเป็นศูนย์เสมอไป และความผันผวนในราคาของสินทรัพย์เหล่านี้น่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตในช่วงที่ความไม่แน่นอนเรื่องอัตราเงินเฟ้อและทิศทางของนโยบายการเงินเพิ่มสูงขึ้นมาก และมีความเสี่ยงสูงที่ราคาจะปรับตัวลงได้

KKP Research ประเมินว่าปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการยอมรับในบิตคอยน์หรือคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆให้เป็นสกุลเงินหลักในอนาคต อย่างไรก็ตามบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีอาจยังคงอยู่เป็นสินทรัพย์ทดแทนที่มีการซื้อขายต่อไปแม้ว่าจะไม่ใช่สกุลเงินก็ตาม และหากคริปโตเคอร์เรนซีสามารถทำหน้าที่ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับตัวเองได้ (เช่น ลดต้นทุนการทำธุรกรรม หรือสร้างโมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ที่ระบบปัจจุบันทำไม่ได้) ก็อาจจะสามารถมีมูลค่าในตัวมันเองได้

นอกจากนี้ การมีอยู่ของคริปโตเคอร์เรนซีแม้ว่าจะเป็นในรูปของสินทรัพย์ทดแทนจะช่วยเตือนให้ภาครัฐและธนาคารกลางคำนึงถึงคุณลักษณะที่ดีของเงินสาธารณะ (public money) และนำไปสู่การทำนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น การไม่ทำนโยบายประชานิยมหรือพิมพ์เงินมากเกินไปจนทำให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อรุนแรง (hyperinflation) และสภาวะทางสังคมล่มสลายซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในประวัติศาสตร์

สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ คริปโตเคอร์เรนซีนำมาใช้แทนเงินได้จริงหรือ?


-------------------------

เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร 

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เกิดขึ้นจากการร่วมกิจการระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการโดย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และธุรกิจตลาดทุนที่ดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด โดยกลุ่มธุรกิจฯ มุ่งนำทรัพยากรสู่ลูกค้าอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเปี่ยมประสิทธิภาพด้วยบริการที่เหนือความคาดหมาย

ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมสินเชื่อบรรษัท สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย เช่นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนธุรกิจ

ด้านตลาดทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking) ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ธุรกิจการลงทุน (Direct Investment) ตลอดจนธุรกิจจัดการกองทุน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kkpfg.com  

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Jensen Huang ตอบประเด็นอนาคต AI ยังไงต่อ ? ในงาน GTC 2024

บทความนี้ Techsauce ชวนมาฟังความเห็นของ CEO บริษัทชิปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เกี่ยวกับอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ในงาน GTC 2024...

Responsive image

SpaceVIP จัดทริปกินมื้อหรูระดับมิชลินบนอวกาศ สนนราคาต่อหัว 17.8 ล้านบาท

โอกาสสำหรับการทานอาหารสุดหรูบนอวกาศมาถึงแล้ว SpaceVIP เตรียมเปิดประสบการณ์การทานอาหารจากเชฟระดับ Michelin Star ที่ความสูงกว่า 100,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลในการผจญภัยบนขอบอวกาศ โอกา...

Responsive image

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? แหล่งข่าวชี้ Selena Gomez เตรียมขายแบรนด์

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? ข่าวจาก Bloomberg ออกมาว่าตอนนี้ Selena Gomez ได้เริ่มดำเนินการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนเพื่อประเมินมูลค่าแบรนด์แล้ว...