นับถึงตอนนี้ก็ครบรอบขวบปีแรกของการจดใบอนุญาตจัดตั้งบริษัท KBTG Vietnam Company Limited (28 มิถุนายน 2565) หรือ KBTG Vietnam ที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานทัพด้านเทคโนโลยีของ KBank สาขาที่ 3 ในทวีปเอเชีย ต่อจาก KBTG ในไทย และ K-Tech ในเซินเจิ้น ประเทศจีน
จากจุดเริ่มต้นที่ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ส่ง 2 คนไทย คือ คุณอั้น - ธนุสศักดิ์ ธัญญสิริ Managing Director, KBTG Vietnam และ คุณพอร์ช - ภควัฒก์ มณีแจ่มใส Head of IT Strategy & Operations, KBTG Vietnam เข้าไปบุกเบิก ศึกษาและวิจัยตลาดเวียดนามในมิติต่างๆ พร้อมกับเสาะหาคน (Scout) จนกระทั่งได้ Tech Talents มาเสริมแกร่งให้ทีมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังจัดหาพื้นที่ทำสำนักงาน จนกระทั่งมีออฟฟิศอย่างเป็นทางการ ณ ชั้น 21 อาคาร Friendship Tower นครโฮจิมินห์ ถือว่าเป็นช่วง 12 เดือนที่ KBTG Vietnam ตะลุยเส้นทางใหม่ด้วยตัวเองและเติบโตแบบติดสปีด จนปัจจุบัน KBTG Vietnam สาขาโฮจิมินห์ มีทีมงานรวมทั้งสิ้น 100 คน แบ่งเป็นชาวเวียดนาม 97 คน และชาวไทย 3 คน
อันที่จริง พันธกิจหลักของ KBTG Vietnam คือ การพัฒนาซอฟต์แวร์ สร้างนวัตกรรมด้านการเงิน และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาตอบโจทย์ธุรกิจธนาคาร แต่การจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ได้ต้องเริ่มจาก 'มีคนทำงานที่เป็น Tech Talents ก่อน'
ขณะที่เมืองไทยขาดแคลน Tech Talents อย่างหนัก สถาบันการศึกษาในเวียดนามสามารถผลิตบุคลากรคุณภาพด้าน STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ออกสู่ตลาดแรงงานปีละประมาณ 10,000 คน KBTG Vietnam ซึ่งจะเป็น Tech Hub สำคัญของภูมิภาค จึงต้องเฟ้นหาบุคลากรคุณภาพสายไอทีหรือคนที่รู้ด้าน STEM ในเวียดนามเข้ามาร่วมงาน เพื่อรองรับการขยายบริการดิจิทัลของธนาคารกสิกรไทยในประเทศเวียดนาม เตรียมความพร้อมสู่การบุกตลาดระดับ SEA
สำหรับเป้าหมายต่อไปของ KBTG Vietnam ภายในปี 2568 คือ การเพิ่มบุคลากรในทีมเป็น 500 คน และคนจะเป็นกำลังสำคัญในการนำพาบริษัทเทคให้เติบโตไปเป็น องค์กรเบอร์หนึ่งด้านเทคฯ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Top SEA Tech Company) ขณะที่ KBank จะขยับขึ้นเป็น 1 ใน Top 20 ธนาคารดิจิทัลของภูมิภาค (Regional Digital Bank)
หนึ่งในเรื่องที่ช็อตฟีลจากการรับฟังสิ่งที่ คุณกระทิง - เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG เล่าตอนที่ไปเยือนออฟฟิศ KBTG Vietnam ที่ตึก Friendship Tower คือ แบรนด์ KBTG นั้นไม่เป็นที่รู้จัก เรียกว่า No Name ถึงขนาดที่มีคนเข้าใจผิด คือ มาสมัครงานที่ KBTG โดยบอกว่า “อยากทำงานกับ KPMG” ทั้งๆ ที่ KPMG เป็นผู้ให้บริการด้านบัญชีที่ขึ้นแท่น Big Four ระดับโลก และประเภทธุรกิจก็ต่างกับ KBTG โดยสิ้นเชิง
ภารกิจเสาะหา Tech Talents ทำให้คนรู้จักแบรนด์ KBTG Vietnam และขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีหรือบริการทางการเงินของบริษัทสู่ระดับภูมิภาค จึงอยู่ในมือของ คุณธนุสศักดิ์ ธัญญสิริ Managing Director, KBTG Vietnam และ คุณจรุง เกียรติสุภาพงศ์ Vice Chairman, KBTG
คนที่นี่เขาชอบสังคม เขาไม่อยาก Work From Home เขาอยากทำงานด้วยกัน ต้องบอกว่า น้องๆ เด็กๆ อยากทำงานด้วยกันเป็นกลุ่ม เราจึงสร้างคนเยอะๆ ให้ทำงานแบบ Hybrid เมื่อสร้างงานแล้ว Transfer ทำให้คนที่นี่สเกลมา Synergy กับ K-Tech ในจีนซึ่งมี know how ด้าน AI, Blockchain เยอะๆ ได้ เขาก็จะได้เรียนรู้
คุณธนุสศักดิ์กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีจากฝั่งที่พัฒนาจนรุดหน้ามาให้ Tech Talents ในเวียดนามได้ใช้งานด้วย และบอกถึงผลงานที่เป็น Flagship Product ของ KBTG Vietnam นั่นคือ การร่วมสร้างและพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘K PLUS Vietnam’ บริการเรือธงของธนาคารกสิกรไทยที่พัฒนาจาก K PLUS ของไทย ซึ่งมีผู้ดาวน์โหลดใช้งานในเวียดนามแล้วกว่า 600,000 คน และสำหรับหมุดหมายต่อไปนั้น บริษัทตั้งเป้าที่จะมีผู้ใช้งานกว่า 1.3 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้
ในภาพรวม ผู้บริหารทั้งฝั่ง KBank และ KBTG ต่างก็เชื่อมั่นว่า ‘การพัฒนาคน’ จะนำพาธุรกิจไปสู่ ความยั่งยืน (Sustain) ซึ่งโดยหลักการนั้น KBTG Vietnam เดินหน้าด้วยยุทธศาสตร์ 3S คือ รวดเร็ว (Speed) เพิ่มขนาด (Scale) และยั่งยืน (Sustain) กอปรกับใช้ Playbook ที่คุณกระทิงใช้ในไทยเพื่อเร่งการเติบโตทางธุรกิจซึ่งทำแล้วได้ผล นั่นคือ การเสาะหา Tech Talents แล้วเปิดคลาสสอน สร้างหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเพิ่มทักษะให้แก่ Tech Talents ในประเทศนั้นๆ ซึ่งนอกจากจะได้บุคลากรที่มีความสามารถตรงตามความต้องการแล้ว การได้คนเก่งในพื้นที่ต่างๆ มาร่วมงานยังช่วยให้บริษัทเข้าใจความต้องการของคนท้องถิ่นมากขึ้น ขณะที่การส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้คนในทีมทำงานและเติบโตในระดับภูมิภาค ยิ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้พนักงานอยู่กับองค์กรไปนานๆ
ในมุม Sustain คุณธนุสศักดิ์อธิบายว่า ต้องทำให้เรื่อง 'คน' มีความยั่งยืนก่อน องค์กรจึงจะมีความยั่งยืนได้ โดยทาง KBTG ใช้ยุทธศาสตร์ 4 ข้อ ได้แก่ ข้อแรก ให้ออกแบบกลยุทธ์การทำงานของตัวเองได้ ข้อสอง เปิดโอกาสให้ทำงานและเรียนรู้ในระดับภูมิภาค ข้อสาม ใช้วัฒนธรรม ONE KBTG ในการทำงานร่วมกัน และข้อสี่ เปิดให้ทีมงานรุ่นใหม่เข้าร่วมคอมมูนิตี้ด้านการศึกษาและโปรแกรมเสริมทักษะต่างๆ ได้
จากนั้น คุณธนุสศักดิ์ขยายความเรื่อง Sustain ตามแนวปฏิบัติของ KBTG ซึ่งนอกจากการพัฒนาคนเป็นสิ่งสำคัญแล้ว การถ่ายทอดความรู้หรือ Practice ที่เคยทำมา ก็สำคัญไม่แพ้กัน
เนื่องจากธุรกิจต้องโตไป Regional แล้วค่อยโตไป Global เพราะฉะนั้นเรื่องอื่นๆ ก็ต้องโตตามด้วย ซึ่งในมุมไอที เราอยากจะทำให้ Sustain อย่างที่หนึ่ง คือ เราต้องสร้างคนเยอะๆ เพื่อให้สร้างงานได้ อย่างที่สอง Banking Knowledge อยู่ที่เมืองไทยเยอะ เราก็พยายาม Transfer มาที่นี่ เพื่อทำให้คนที่นี่มีศักยภาพเหมือนคนไทยแบบ Scale มา และอยากจะ Secure ทั้งคนและความรู้ เราจึงนำ Practice ที่มีในเมืองไทยมาใช้
ทั้งนี้ ทีม KBTG Vietnam ในโฮจิมินห์ใช้ Playbook ของคุณกระทิงในการดึง Tech Talents และที่ฮานอย บริษัทก็จะใช้ Playbook นี้เช่นเดียวกัน
“ฮานอยเป็นแหล่งรวมธนาคารชั้นนำของเวียดนาม คนที่มีความรู้เรื่อง Banking เขาอยู่กัน ที่นั่นมีคนที่รู้ธุรกิจ รู้ไอทีเยอะ ซึ่งคนกลุ่มนี้หายาก และนอกจากฮานอยมี Banking เยอะ ยังมี Developer เยอะ และมี Top University อยู่ที่โน่นด้วย เราจึงไปเปิดสาขาที่นั่นเพื่อดึง Tech Talents มาทำงานกับเรา เพราะคนเวียดนามที่อยู่เหนือก็อยู่เหนือ อยู่ใต้ก็อยู่ใต้ เขาไม่ค่อยย้ายถิ่นฐาน” คุณจรุงกล่าว
คุณธนุสศักดิ์กล่าวเสริมว่า "เนื่องจาก Top 20 แบงก์ของรัฐอยู่ที่โน่นหมด เราจึงต้องมีออฟฟิศก่อน และออฟฟิศที่ฮานอยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เราเพิ่งมา ไม่มีใครรู้จัก เราต้องทำให้เขาเข้าถึงได้ ทรีตเขาให้ดี แล้วเขาจะบอกปากต่อปาก ด้วย Playbook สเต็ปเดียวกับที่ใช้ในโฮจิมินห์"
ทีมเทคซอสมองว่า การที่ KBTG Vietnam เปิดสาขาเพิ่มที่กรุงฮานอย มีข้อสังเกต ดังนี้
เนื่องจากเวียดนามมีธุรกิจธนาคารอยู่ก่อนแล้วมากกว่า 100 แบรนด์ ส่วน KBTG เพิ่งเข้าไปบุกตลาดเพียง 1 ปี และยังไม่เป็นที่รู้จัก การตั้งออฟฟิศอีกแห่งที่ฮานอย นอกจากจะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง Tech Talents ในโซนใหม่ๆ แล้ว ฮานอยยังเป็นแหล่งรวมแบรนด์ธนาคารชั้นนำในระดับนานาชาติ KBTG Vietnam จึงใช้ฮานอยเป็นอีกช่องทางในการหาคน สร้างการรับรู้ผ่านแบรนด์ KBTG และผลิตภัณฑ์ของ KBank ให้ชาวเวียดนามได้รู้จักและใกล้ชิดแบรนด์จากประเทศไทยอีกทางหนึ่ง
จากที่ได้ศึกษาพฤติกรรมและคลุกคลีกับคนทำงานรุ่นใหม่ชาวเวียดนาม ทาง KBTG พบว่า ชาวเวียดนามมักจะทำงานอยู่ในเมืองหรือพื้นที่ของตัวเอง ไม่นิยมย้ายถิ่นฐานเหมือนคนไทย การตั้งออฟฟิศในโฮจิมินห์และฮานอยจึงเปิดโอการให้ทำงานแบบ Hybrid เพื่อรองรับพนักงานที่อยู่กันคนละเมือง ต่างจาก KBTG ในไทยที่ได้ทำงานแบบ Work From Home 100%
ขณะที่ KBTG ในไทย ให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งเป็นจุดที่ลงตัวกับเทรนด์การทำงานของคนรุ่นใหม่ แต่ชาวเวียดนามรุ่นใหม่นั้น ชอบที่จะได้พบปะพูดคุยแบบเจอหน้าค่าตา ระดมสมองร่วมกันในออฟฟิศ การมีออฟฟิศเป็นพื้นที่กลางให้ทีม KBTG Vietnam ใช้งานจึงมีความสำคัญและสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาด้านวัฒนธรรมองค์กรที่มีทั้งความเหมือนและต่างจากองค์กรในไทย
...........................................
บทความนี้เป็น Advertorial
Sign in to read unlimited free articles