‘กสิกร อินเวสเจอร์’ บริษัทใหม่ของเคแบงก์ ดันเป็น Game Changer พลิกเกมบริการการเงินเจาะลูกค้ารายย่อย | Techsauce

‘กสิกร อินเวสเจอร์’ บริษัทใหม่ของเคแบงก์ ดันเป็น Game Changer พลิกเกมบริการการเงินเจาะลูกค้ารายย่อย

ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันมีคนไทยเป็นจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เจ้าของร้านค้าขนาดเล็ก กลุ่มอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์  ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่อง จึงน่าจับตาว่า กสิกร อินเวสเจอร์ (KIV) บริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย ที่เพิ่งแยกตัวออกมานั้น จะช่วยแก้ปมให้กลุ่มคนที่เป็นฐานใหญ่ของประเทศให้สามารถใช้บริการการเงินในระบบได้มากขึ้นด้วยวิธีใด

ให้ข้อมูลก่อนว่า บริษัทที่แยกมานี้ คุณพัชร สมะลาภา ถอดหมวกใบใหญ่ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย มาสวมหมวก Group Chairman ของ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด  หรือ เคไอวี (KASIKORN INVESTURE: KIV) โดยเปิดเผยในงานแถลงข่าวว่า ที่แยกบริษัทก็เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการรุกธุรกิจให้บริการการเงินแก่ลูกค้ารายย่อยในกลุ่มที่ยังไม่เคยได้ใช้บริการการเงินในระบบ หรือกลุ่ม Unbanked, Underserved ร่วมกับการใช้ศักยภาพของพันธมิตร และการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของธนาคารในด้านโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มาเป็นเครื่องมือในการลดต้นทุนธุรกิจและลดต้นทุนความเสี่ยงด้านเครดิตไปพร้อมๆ กัน

ลดต้นทุนธุรกิจ - จับมือพันธมิตร - ใช้ศักยภาพของเคแบงก์ 3 แกนหลักของ ‘กสิกร อินเวสเจอร์’

กลุ่มลูกค้า Unbanked, Underserved ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกสิกร อินเวสเจอร์ หมายถึง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ไม่มีบัญชีธนาคาร, ผู้ที่มีบัญชีธนาคารแต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารได้ ยกตัวอย่าง คนตัวเล็กตัวน้อยที่ทำธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งไม่ได้มีเงินเดือนเข้าทุกเดือนแบบชาวออฟฟิศ และความเคลื่อนไหวของตัวเลขในบัญชีธนาคารก็มากบ้าง น้อยบ้าง รายรับก็ไม่ใช่ตัวเลขที่เข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีโอกาสน้อยในการใช้บริการการเงินขั้นพื้นฐานกับธนาคาร โดยเฉพาะในรายที่ต้องการขอสินเชื่อจากธนาคารมาขยายธุรกิจ เพราะธนาคารจะขอดูบันทึกความเคลื่อนไหวของบัญชีธนาคาร (Statement) ประกอบการพิจารณาการให้สินเชื่อและการพิจารณาวงเงิน แต่เมื่อตัวเลขขาเข้าไม่สม่ำเสมอก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า ลูกค้ารายย่อยที่ได้รับสินเชื่อไปแล้วจะสามารถชำระเงินคืนได้ตามนัด 

ธนาคารกสิกรไทยจึงวางยุทธศาสตร์เรียกลูกค้า - ลดต้นทุน โดยแยก กสิกร อินเวสเจอร์ ออกมา ‘ลงทุนในบริษัทร่วมกับพันธมิตร’ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งทั้งของธนาคารและพันธมิตรด้วยการสร้างรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า จากต้นทุนที่เหมาะสม โดยการทำธุรกิจการเงินรูปแบบใหม่ที่ผสมผสาน การใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งด้าน IT & Data ขององค์กร เช่น Big Data, AI, Machine Learning, Data Analytics มาเป็นเครื่องมือในการพิจารณา การให้บริการลูกค้า สร้างรายได้และลดต้นทุนธุรกิจในด้านการดำเนินงาน (Operating Cost) และความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) ผ่านบริษัทในโครงสร้าง 14 แห่ง โดยเมื่อพิจารณาจากรายชื่อบริษัท เชื่อว่าผู้อ่านจะเห็นภาพชัดขึ้น ว่ากสิกรเปิดดีลกับพันธมิตรที่มีฐานลูกค้าจำนวนมากอยู่แล้ว เช่น LINE และ Grab ซูเปอร์แอปใกล้ตัวที่มีผู้ใช้งานคนไทยจำนวนมาก และทุกๆ การใช้งาน การใช้จ่าย ก็จะมีการบันทึกข้อมูลจากความยินยอมจากลูกค้าอัตโนมัติ 

พันธมิตร 14 บริษัทที่อยู่ภายใต้โครงสร้างของกสิกร อินเวสเจอร์

ปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของกสิกร อินเวสเจอร์ มีอยู่ 14 แห่ง รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท มีดังนี้

  • บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด (KASIKORN LINE CO., LTD.) 

ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพในแอปพลิเคชัน LINE ชื่อ LINE BK

บริษัท กสิกร ไลน์ อินชัวร์รันส์ โบรกเกอร์ จำกัด (KASIKORN LINE INSURANCE BROKER CO., LTD.)

ธุรกิจนายหน้าประกันที่บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด เข้าไปลงทุน 100%

  • บริษัท ทีทูพี โฮลดิ้ง จำกัด (T2P HOLDINGS COMPANY LIMITED)

ธุรกิจให้บริการ e-Wallet เพื่อเป็นโซลูชันธุรกรรมการเงิน และบริการสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย 

  • บริษัท ธิงเกอร์ฟินท์ จำกัด (THINKERFINT CO., LTD.)

ธุรกิจให้บริการพัฒนาระบบช่วยตัดสินใจในการอนุมัติสินเชื่อ

  • บริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด (KASIKORN CARABAO CO., LTD.)

ธุรกิจบริการสินเชื่อและบริการทางการเงิน แก่กลุ่มลูกค้าถูกดี และบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว  

  • บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด (TD TAWANDANG COMPANY LIMITED)

ธุรกิจบริหารจัดการร้านค้าปลีก ภายใต้ชื่อร้านถูกดี มีมาตรฐาน

  • บริษัท แคปเชอร์วัน จำกัด (KAPTURE ONE CO,. LTD.)

ธุรกิจที่กสิกร อินเวสเจอร์ ร่วมจัดตั้งกับ บัซซี่บีส์ เพื่อต่อยอดพัฒนาระบบ Loyalty Management ครอบคลุมถึงการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์ม CRM

  • บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด (BUZZEBEES CO., LTD.) 

ธุรกิจที่ให้บริการแพลตฟอร์ม CRM, Loyalty Platform & Privileges เพื่อเชื่อมและบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า 

  • บริษัท กสิกร โกลบอล เพย์เมนต์ จำกัด (KASIKORN GLOBAL PAYMENT COMPANY LIMITED)

ธุรกิจให้บริการระบบรับชำระเงินดิจิทัล

  • บริษัท เงินให้ใจ จำกัด (NGERN HAI JAI Company Limited)

ธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถยนต์

  • บริษัท คาร์ ฮีโร่ จำกัด (CAR HERO CO., LTD.)

ธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถยนต์ 

  • บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด (JAM: J ASSET MANAGEMENT COMPANY LIMITED)

ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือหนี้เสีย และติดตามหนี้

  • บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC: JK ASSET MANAGEMENT COMPANY LIMITED)

ธุรกิจที่ธนาคารกสิกรไทยและเจเอ็มทีร่วมกันลงทุนจัดตั้งขึ้น เพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Loan) 

  • Grab Holdings Limited

ธุรกิจบริการในรูปแบบของซูเปอร์แอปที่ใช้ในการเรียกรถ ส่งอาหาร ส่งของ และสั่งซื้อสินค้า 

และอยู่ระหว่างเตรียมการสำหรับบริการธุรกิจออนไลน์แพลตฟอร์ม Travel Ecosystem Platform 

‘Data Analytics’ หนึ่งในเครื่องมือเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการการเงิน และลดความเสี่ยงให้ธนาคาร

โดยทั่วไป การเก็บข้อมูลบุคคลโดยบริษัทหรือแพลตฟอร์มใดๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้า/ผู้ใช้งานก่อน จึงจะบันทึกข้อมูลลูกค้าเอาไว้ได้  และเนื่องจากแต่ละบริษัทมีการจัดเก็บข้อมูลลูกค้าแตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับพิจารณาการให้สินเชื่อรายบุคคล กสิกรไทยจึงเดินหน้านำเทคโนโลยี Data Analytics และ AI ขององค์กรมาพัฒนาเพื่อการเชื่อมต่อข้อมูลจากธนาคารและพันธมิตร มาประมวลผลข้อมูลเป็นเครือข่าย เช่น ข้อมูลลูกค้ากว่า 20 ล้านรายที่ใช้บริการ K PLUS, ข้อมูลการเข้าใช้บริการในสาขาต่างๆ, ข้อมูลจาก 14 บริษัทในโครงสร้างของกสิกร อินเวสเจอร์ 

ข้อมูลที่ลิงก์ถึงกันนี้จะทำให้เห็นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ประวัติการชำระบิล ชำระหนี้ของผู้ใช้งาน และการมีข้อมูลที่มากพอก็สามารถนำมาวิเคราะห์รูปแบบการใช้จ่ายรายบุคคลได้ เพื่อนำเสนอบริการทางการเงินให้แก่ลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น ในทุก Ecosystem ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดทางให้ฟรีแลนซ์ เอสเอ็มอี พ่อค้าแม่ค้า ที่มีการบริหารจัดการเงินได้ดีและมีความรับผิดชอบ ได้รับการพิจารณาสินเชื่อผ่านระบบอย่างรวดเร็ว รู้ผลไว โดยไม่ต้องยื่น Statement และไม่ต้องรอผลการพิจารณาเป็นวันๆ หรือเป็นสัปดาห์อีกต่อไป 

“อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็ยังต้องการดู Statement แต่เนื่องจากผู้ใช้งานอาจปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขให้ตัวเลขผ่านเกณฑ์ได้ ดังนั้น เราจึงหาทางเพื่อจะได้ข้อมูลที่แม่นยำขึ้นผ่านช่องทางอื่นโดยใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อ Underbank คนคุณภาพที่อยากได้สินเชื่อเพื่อไปทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นและพร้อมจ่าย” คุณพัชรกล่าว 

คุณพัชรเผยตัวเลขคาดการณ์ว่า มูลค่าการลงทุนใน 14 บริษัทจะเพิ่มเป็น 70,000 ล้านบาท ในปี 2568 และการให้สินเชื่อในระดับที่แมสขึ้นก็จะทำให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มตาม จาก 40.000 - 45,000 ล้านบาทในปีนี้ อาจขยับไปเป็น 75,000 - 80,000 ล้านบาทในปี 2568 ทั้งนี้ สิ่งที่ธนาคารได้จากลูกค้าก็คือ ‘ดอกเบี้ย’ ที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้นนั่นเอง

แต่ความคืบหน้าด้านเทคโนโลยี ณ ปัจจุบัน ธนาคารยังอยู่ระหว่างการนำความสามารถในการหยิบฟีเจอร์มาเชื่อมต่อเพื่อนำข้อมูลจากแต่ละแห่งมาใช้ในการวิเคราะห์ พิจารณาข้อมูลบุคคล ไปจนถึงการประมวลผลเพื่อให้การปล่อยสินเชื่อทำได้อย่างรวดเร็ว ไร้รอยต่อ  

และแม้งานนี้จะยาก แต่คุณพัชรกล่าวย้ำว่า “เราจะทำเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นจริง” เพราะธนาคารเองก็ต้องการความมั่นใจว่า ผู้ขอสินเชื่อจะนำเงินไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามวัตถุประสงค์ เช่น หากผู้ขอสินเชื่อกู้เงินไปทำธุรกิจ รายจ่ายหรือบัญชีปลายทางก็ควรจะเป็นซัพพลายเออร์ ไม่ใช่ไหลไปที่การช็อปปิง 

ในด้านเทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการพัฒนานี้ คุณพัชรบอกเพิ่มว่า ใช้เทคโนโลยีที่ธนาคารกสิกรไทยลงทุนและพัฒนาขึ้นเอง เพื่อให้ปรับฟีเจอร์การใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ และเชื่อมั่นว่า จะเข้ามาลดขั้นตอนการทำงานและลดต้นทุนด้านการดำเนินงานได้ในคราวเดียว ตลอดจนสามารถเพิ่มมูลค่าองค์กรและรายได้ให้แก่ธนาคารต่อไป เพราะเมื่อจำนวนผู้ขอสินเชื่อที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น วงเงินขยายตัวออกไป เป็นการสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ธนาคาร ทำให้ธนาคารมีกำไรทางธุรกิจที่สูงกว่าธนาคารบริหารจัดการเอง รวมทั้งทำให้ธนาคารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

บทความนี้เป็น Advertorial 

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Jensen Huang ตอบประเด็นอนาคต AI ยังไงต่อ ? ในงาน GTC 2024

บทความนี้ Techsauce ชวนมาฟังความเห็นของ CEO บริษัทชิปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เกี่ยวกับอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ในงาน GTC 2024...

Responsive image

SpaceVIP จัดทริปกินมื้อหรูระดับมิชลินบนอวกาศ สนนราคาต่อหัว 17.8 ล้านบาท

โอกาสสำหรับการทานอาหารสุดหรูบนอวกาศมาถึงแล้ว SpaceVIP เตรียมเปิดประสบการณ์การทานอาหารจากเชฟระดับ Michelin Star ที่ความสูงกว่า 100,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลในการผจญภัยบนขอบอวกาศ โอกา...

Responsive image

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? แหล่งข่าวชี้ Selena Gomez เตรียมขายแบรนด์

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? ข่าวจาก Bloomberg ออกมาว่าตอนนี้ Selena Gomez ได้เริ่มดำเนินการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนเพื่อประเมินมูลค่าแบรนด์แล้ว...