หลายๆ คนอาจจะเคยตั้งคำถามกับความฝันของตัวเอง หรืออยากรู้ว่าเหล่าคนที่ประสบความสำเร็จเขามีเส้นทางในการทำงานและชีวิตแบบไหน Techsauce จะพาไปรับแรงบันดาลใจจากคุณ Jeep Kline ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนของ Translational Partners นอกจากนี้ยังมาแบ่งปันมุมมองในฐานะผู้ที่เคยเข้าศึกษาในระบบการเรียนการสอนทั้งแบบไทยและแบบอเมริกา พร้อมประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ World Bank สู่ Intel ไปจนถึงการเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนของตนเองใน Silicon Valley และการพัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จ โดยคุณ Jeep เน้นย้ำอย่างมากว่าความสำเร็จของเธอมากจากการกล้าที่จะเสี่ยงและให้คุณค่ากับความล้มเหลว
ไม่นะ ไม่ได้เป็นคนที่มีเป้าหมายชัดเจนตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะในตอนนั้นก็ไม่ได้คิดเอาไว้ว่าจะได้กลายเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ World Bank และก็ไม่ได้คิดไว้ด้วยว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นผู้ที่สร้างนวัตกรรมที่ขายได้ทั่วโลก ซึ่งมาจากการทำงานในด้านเทคโนโลยีให้กับ Intel และสำคัญที่สุดคือใครจะคิดว่าฉันจะกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนของกองทุนร่วมทุนชั้นนำ ที่ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้ามากมายใน Silicon Valley ทั้งหมดนี้มันเกินกว่าที่จะจินตนาการไว้ ถ้าจะให้พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีทางรู้เลยว่าจะมีโอกาสเหล่านี้เกิดขึ้นในภายหลัง ถ้ามีเป้าหมายที่ชัดเจนมาก่อนตั้งแต่แรก ก็อาจจะพลาดโอกาสใหญ่ๆ ในสายอาชีพของฉันไป
โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนให้ให้ความสนใจทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ เป็นคนที่มีความสนใจหลากหลาย เรียกว่ามีนิสัยที่มักสงสัยและชอบเรียนรู้สิ่งต่างๆ โดยธรรมชาติ สนุกกับการนั่งคิดแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ โดยเฉพาะในระดับโลกหรือระดับประเทศ และสนใจว่าผู้นำมีการตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ อย่างไร ดังนั้นปัญหาที่ท้าทายทั้งหลายจึงดึงดูดฉันเสมอ
การได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ทำให้รู้สึกว่านำหน้าใครไปมาก ในช่วงที่เข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ในอเมริกาก็พบปัญหามากมายโดยเฉพาะช่วงปีแรกที่ไปถึง เหตุผลที่มีปัญหาไม่ได้มาจากการมีผลการเรียนที่ไม่ดี แต่มาจากการอยากจะก้าวข้ามจุดอ่อนของตัวเอง ในช่วงนั้นฉันมีทักษะในวิชาคณิตศาสตร์และการวิเคราะห์เชิงปริมาณที่ดี แต่สิ่งที่อยากเรียนรู้เป็นเรื่องทักษะในการถกประเด็น การโน้มน้าวผู้คน และทักษะความเป็นผู้นำ ดังนั้นแทนที่จะเข้าเรียนในห้องเรียนที่จะสามารถได้ A มาง่ายๆ ก็เลือกที่จะเข้าเรียนในด้านดีเบตเพื่อธุรกิจและทำกิจกรรมต่างๆ ฉันนำเอาความสามารถเชิงการวิเคราะห์มาช่วยในการดีเบตและยังเริ่มเรียนรู้ถึงการเป็นผู้นำที่เก่งและโน้มน้าวผู้คนได้
หลังผ่านชีวิตการทำงานมานาน ตอนนี้ฉันใช้ Soft Skill มากกว่า Hard Skill เมื่อต้องทำงานร่วมกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสารและทักษะความเป็นผู้ประกอบการเป็นประโยชน์ในการทำงานทุกวันนี้มาก บางคนมองว่าฉันแปลก อาจเพราะโดยปกติแล้วคนที่โดดเด่นเรื่องการเรียนหรือมีความสามารถในด้านวิชาการมักไม่ค่อยมีทักษะการเข้าสังคมหรือความเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงทักษะอื่นๆ เป็นเรื่องยากที่จะมีทั้งสองด้านในคนเดียว
การได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าอย่างมหาวิทยาลัย Michigan และ UC Berkeley ซึ่งเต็มไปด้วยคนหัวกะทิของแต่ละประเทศ ทำให้ได้เห็นว่านักศึกษาที่เก่งระดับประเทศหลายคนไม่ชอบความเสี่ยง พวกเขาเข้าเรียนในวิชาที่พวกเขาถนัดอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องการที่จะล้มเหลว พวกเขาทั้งหมดต่างเคยเป็นนักเรียนที่เก่งที่สุดเพราะฉะนั้นไม่มีใครที่อยากจะเสียตำแหน่งนั้นไป นี่จึงทำให้ฉันอยากผลักดันให้คนรุ่นใหม่กล้าเผชิญหน้ากับการเรียนรู้ อย่ากลัว จงให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเอง
ฉันรู้สึกโชคดีที่ได้ตัดสินใจกล้าเสี่ยง เพราะทุกครั้งที่ตัดสินใจเลือกทำสิ่งใดก็จะมีผลลัพธ์ที่ดีตามมาเสมอ ฉันพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตและมีความสุขกับความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำระดับโลกไปจนถึงพนักงานที่คอยช่วยสนับสนุนงานของฉัน ฉันเริ่มย้ายเข้ามาอยู่ในอเมริกา และเมื่อใดก็ตามที่อยากจะสร้างความท้าทายใหม่ๆ ก็จะเริ่มเปลี่ยนสายงานและเข้าไปสู่ในสังคมใหม่ๆ ในตอนนี้ก็ได้เข้ามาอยู่ในวงการเทคโนโลยี กลุ่มทุน มหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของโลก และ Silicon Valley ซึ่งเป็นที่ที่ได้ทำงานและพัฒนาทักษะหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน
ด้วยความที่ค่อนข้างเป็นคนที่มีความสนใจหลากหลายตั้งแต่ยังเด็กๆ โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจและเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ในแง่ของการนำไปประกอบอาชีพ ตอนเด็กๆ ก็มักสงสัยว่าทำไมบางคนโชคดีน้อยกว่าคนอื่น และทำไมบางคนมีโอกาสที่คนอื่นไม่มี มันทำให้รู้สึกว่าต้องการช่วยผู้ที่ด้อยโอกาส และรู้สึกประทับใจผู้นำธุรกิจที่ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกในสังคม
จุดเปลี่ยนเริ่มต้นขึ้นในช่วงปีสุดท้ายของมัธยมปลาย ในจังหวะที่เศรษฐกิจไทยเริ่มมีปัญหา เป็นปีที่เกิดปัญหาฟองสบู่ช่วงปี 1997 มันคือวิกฤตหนักสำหรับประเทศไทยและลุกลามไปทั่วเอเชีย จำได้ว่า IMF ออกนโยบายเศรษฐกิจให้กับประเทศของเราซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ฉันเริ่มตั้งคำถามว่าองค์กรระหว่างประเทศเช่น IMF และ World Bank ออกนโยบายที่เหมาะสมและสามารถทำนายผลที่ตามมาของการทำงานได้อย่างไร ซึ่งในกรณีของประเทศไทยนั้นไม่ได้มีผลลัพธ์เชิงบวกแบบที่หลายคนคาดการณ์ไว้
ประเด็นนี้ทำให้เกิดความสนใจที่จะเข้าศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และก็คิดถูกกับการตัดสินใจนี้ จำได้ว่าวันแรกที่เข้าเรียนรู้สึกตื่นเต้นและสนใจมาก และตลอดเวลาที่เรียนก็นับว่ามีประสบการณ์ที่ดีมาก จนจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และมาทำงานที่ World Bank ตรงจุดนั้นมันเป็นมากกว่าความฝันที่เป็นจริง
ในช่วงที่อายุ 20 ปีกว่า ได้เดินทางไปยังตลาดเกิดใหม่หลายแห่งรวมถึงแอฟริกา, ยุโรปตะวันออก, ละตินอเมริกา และเอเชีย และได้พบกับนักเศรษฐศาสตร์และผู้นำที่มีชื่อเสียงจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเป็นประสบการณ์ในการทำงานด้านการเงินที่หาจากไหนไม่ได้ ตอนนั้นก็คิดว่าคงไม่มีวันที่จะออกจากงานนี้
เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจที่ได้สังเกตเห็นคือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ในช่วงที่ฉันอยู่ในแทนซาเนีย ไฟฟ้าจะหยุดใช้งานในช่วง 5 โมงเย็น รวมถึงในเมืองหลวงด้วย ได้เห็นคนจุดเทียนใช้ แต่พวกเขาใช้โทรศัพท์ธรรมดาๆ ที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟนในการโอนเงินให้กับผู้อื่น พวกเขาไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่พวกเขาใช้โทรศัพท์ธรรมดาเพื่อชำระเงิน สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นก่อนที่ iPhone จะเปิดตัวครั้งแรก และก่อนที่จะมี PayPal ที่ทุกคนรู้จักในวันนี้เสียอีก มันทำให้ฉันคิดกับตัวเองว่า “เทคโนโลยีจะเป็นทุกอย่างในอนาคตแน่นอน” และมันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตทุกคน
ฉันอยากมีส่วนร่วมในการปฏิวัติเทคโนโลยีในครั้งนี้ เลยเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ด้วยการย้ายไป Washington DC และต่อด้วย Silicon Valley, California หลังจากที่เรียนจบ MBA จาก UC Berkeley จึงเข้าทำงานใน Intel ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้ง Silicon Valley จนในที่สุดก็ได้สร้างและเปิดตัวแท็บเล็ตเครื่องแรกของ Google ซึ่งมันถูกขายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ นำมาซึ่งรายได้กว่าหลายร้อยล้านต่อปี
ผู้คนใน Silicon Valley ต่างพากันพูดว่า เมื่อคุณประสบความสำเร็จ คุณจะกระหายความสำเร็จนั้นมากกว่าเดิม และมันก็เป็นสิ่งที่ฉันเป็นในตอนนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นการก่อตั้ง Startup ก่อนเสนอขายหุ้น IPO และเริ่มมีส่วนร่วมในการลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น
ฉันยังสังเกตเห็นว่าประเทศอย่าง จีน อิสราเอล และประเทศในเอเชียอื่นๆ อีกมากมาย ได้รับประโยชน์จากการลงทุนของกลุ่มทุนใน Silicon Valley ซึ่งมันไม่ใช่แค่ประโยชน์ทางการเงิน แต่ยังรวมไปถึงประโยชน์ทางเทคโนโลยีที่ได้จากการลงทุนกับกลุ่มทุนใน Silicon Valley เลยกลับมาทำด้านการลงทุนอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มุ่งเน้นที่จะลงทุนให้ผู้ประกอบการและบริษัท Startup โดยเฉพาะ โดยส่วนตัวเชื่อว่าการลงทุนทางเทคโนโลยีมีความน่าสนใจ เพราะสามารถเห็นผลกระทบจากการลงทุนไปได้อย่างชัดเจน
เลยเป็นที่มาในการก่อตั้ง Translational Partners ซึ่งเป็นกองทุนร่วมลงทุนที่ตั้งอยู่ใน Silicon Valley กองทุนประกอบด้วยสมาชิกในทีม 6 คนที่มีทักษะความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป ได้แก่ ผู้บริหาร นักลงทุนด้านเทคโนโลยี คณบดีจากโรงเรียนชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ รวมถึงอดีตที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และรัฐบาล เรารู้ว่าในท้ายที่สุดทุกบริษัทและอุตสาหกรรมจะถูกแทรกแทรงด้วยเทคโนโลยี เราลงทุนในผู้ประกอบการระดับแนวหน้าที่มีแนวโน้มว่าจะเข้าแทนที่อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม เราต้องการให้นักลงทุนและผู้นำในเอเชียของเราได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ และเชื่อมต่อกับเครือข่ายของเรา เพื่อสร้างกลยุทธ์ที่จะเติบโตในระยะยาว มันคือความหวังของฉันว่ากองทุนร่วมลงทุนนี้จะแสดงให้เห็นถึงประเภทของการลงทุนที่สร้างผลกระทบระดับโลกเกินกว่าผลตอบแทนทางการเงิน และการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเป็นปัจจัยหลักในอาชีพของฉัน ไม่ว่าจะทำงานไหนก็ตาม
มันคือความหวังของฉันว่ากองทุนร่วมลงทุนนี้จะแสดงให้เห็นถึงประเภทของการลงทุนที่สร้างผลกระทบระดับโลกเกินกว่าผลตอบแทนทางการเงิน และการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเป็นปัจจัยหลักในอาชีพของฉัน ไม่ว่าจะทำงานไหนก็ตาม
ต้องกล้าเสี่ยงและยอมรับความล้มเหลว อย่างที่ได้พูดไปว่าที่ Silicon Valley ผู้คนพูดถึงความล้มเหลวตลอดเวลา มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอและพวกเขายังพร้อมที่จะรับข้อผิดพลาดเหล่านั้นเพราะมันเป็นสิ่งที่พวกเขารู้อยู่แล้วว่ามันต้องเกิดขึ้น หากคุณไม่เคยล้มเหลวนั่นหมายความว่าคุณไม่เคยลองทำอะไรยากๆ เลย
วัฒนธรรมที่ดีจะสร้างผู้ประกอบการที่ดี เช่น Steve Jobs ซึ่งเคยถูกบังคับให้ออกจาก Apple ก่อนที่เขาจะกลับมาอีกครั้ง อย่าง Travis Kalanick ก่อนที่จะมี Uber เขาได้ล้มเหลวกับสองบริษัทของเขาก่อนหน้านี้ และ Marc Benioff ซึ่งไม่เคยไม่ได้รับเงินทุนใดๆ เมื่อเขาก่อตั้ง Salesforce แต่ทุกวันนี้บริษัทของเขามีมูลค่ามากกว่า 140 พันล้านดอลลาร์ และก็ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายคนที่ประสบความสำเร็จจากความล้มเหลว มันคือการเผชิญหน้ากับการถูกปฏิเสธหลายครั้งก่อนที่จะประสบความสำเร็จ และเมื่อถึงวันที่เราไดชัยชนะเพียงครั้งเดียว การเคยถูกปฏิเสธนับล้านครั้งก่อนหน้านี้ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป
ฉันมักจะกระตุ้นให้ผู้คนสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว คิดการใหญ่ กล้าเสี่ยงและพยายามอย่างหนัก ยิ่งพวกเขาล้มเหลวมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดี เพราะในยุคปัจจุบัน ผู้คนเปลี่ยนงานตลอดเวลา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเภทของงานก็จะเปลี่ยนไปและงานที่คุณจะทำในอนาคตอาจไม่ได้มีอยู่ในปัจจุบันเลยก็ได้ อาชีพของทุกคนจะมีขึ้นและลงเสมอ
นิยามของความสำเร็จก็จะเปลี่ยนจาก ไปให้สูงที่สุด เป็น ไปยังที่ที่คุณต้องการ
เราอยู่ในโลกใบใหม่ โลกแห่งการเป็นผู้ประกอบการ คุณต้องเข้าใจสิ่งที่คุณต้องการแล้วมุ่งหน้าไปหามัน ยังไม่ประสบความสำเร็จใช่ไหม ลุกขึ้นแล้วทำอีกครั้ง สะสมประสบการณ์ให้มากขึ้น คุณต้องสร้างความคิดนี้ไว้ และทำมันไปตลอดชีวิตและนำไปใช้ในอาชีพของคุณด้วย
ต้องบอกก่อนว่าวิธีที่ฉันมองการทำงานนั้นแตกต่างจากคำถามที่ถามมา เพราะมันไม่ได้สำคัญว่าฉันได้ทำงานให้กับบริษัทไหน อาจจะพูดได้ว่าฉันเป็นคนที่มีเส้นทางการทำงานที่ฉันได้สร้างไว้เองแล้วก็ได้ ฉันจะเลือกองค์กรและผู้จัดการที่จะเข้ามาสนับสนุนเส้นทางของฉัน ดังนั้นมันจึงดูเหมือนฉันคือผู้คัดเลือกคนที่จะมาเป็นเจ้านายของตนเองอีกที
การที่ฉันเข้าร่วม Intel และสร้างธุรกิจแท็บเล็ตก็เนื่องมาจากการที่ฉันไม่อยากพลาดโอกาสของตลาดที่สำคัญนี้ ต่อให้ฉันเข้าทำงานใน Google ช่วงเวลานั้นฉันก็ยังจะพยายามทำสิ่งเดียวกันไม่ก็ใกล้เคียงที่สุด ตามเทรนด์ของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น จุดที่แตกต่างก็คือถ้าทำงานใน Google ก็จะเน้นด้าน software มากกว่า hardware แค่นั้นเอง อย่างไรแล้วท้ายที่สุด ผลลัพธ์การทำงานของฉันก็คงจบที่แบบเดียวกัน ฉันจะยังคงทำเรื่องเกี่ยวกับการสร้างธุรกิจแท็บเล็ตและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นบริษัทไหนตามเวลาโอกาสทางตลาดที่เหมาะสม
วิธีการนี้ทำให้ฉันและบริษัทสามารถคว้าโอกาสในตลาดที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ก่อนหน้านี้ไว้ได้ เพราะฉันมักนึกถึงโอกาสที่เกิดขึ้นในตลาด (ช่วงเวลาที่เหมาะสม) ความพร้อมของฉัน (อย่างความรู้และทักษะ) และเครือข่าย (ผู้คนและทีม) หากสภาพแวดล้อมปัจจุบันไม่สนับสนุนให้ฉันมีโอกาสเพิ่ม ฉันก็จะออกไปหาสภาพแวดล้อมใหม่
ฉันเชื่อว่า ความเป็นผู้ประกอบการ คือทักษะที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนควรมี ไม่ได้เกี่ยวว่าคุณทำงานในองค์กรใหญ่หรือเล็ก หรือแม้กระทั่งทำงานในบริษัทของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไหน ทักษะความเป็นผู้ประกอบการจะช่วยให้คุณปรับตัวรอดและเจริญเติบโตในสายอาชีพของคุณในระยะยาว
ถ้าคุณทำงานในองค์กรใหญ่ที่ก่อตั้งมานาน องค์กรเหล่านี้มักต้องการคนหนุ่มสาวที่มีไอเดียใหม่ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการทำงาน รวมถึงการหาทางเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายโดยไม่ต้องลงทุนเยอะ และการหาคำตอบใหม่ๆ มาแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าง่ายก็คงมีคนแก้ไขไปได้แล้ว รางวัลใหญ่เลยเป็นของคนที่แก้ปัญหานั้นได้ เป็นสาเหตุที่บรรดาองค์กรใหญ่ต้องการคนที่มีความเป็นผู้ประกอบการเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและสร้างการเติบโต
ถ้าคุณทำงานให้กับองค์กรขนาดเล็กหรือสร้างบริษัทด้วยตัวเอง ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีทักษะความเป็นผู้ประกอบการ คุณต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype) ภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากร และนำไปเสนอขายให้องค์กรใหญ่ คุณต้องดูแลจัดการพนักงานทั้งด้านการเงินและอื่นๆ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณต้องทำและคอยแก้ปัญหา ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ซึ่งทักษะการเป็นผู้ประกอบการจะช่วยคุณได้มาก
สิ่งที่สองคือ การกล้าที่จะเสี่ยงและให้คุณค่ากับความล้มเหลว Silicon Valley คือหนึ่งในไม่กี่ที่บนโลกนี้ที่อนุญาตให้คุณล้มเหลวหรือผิดพลาดได้ เป็นเรื่องที่พวกเขายินดีด้วยซ้ำ สิ่งที่พวกเขาสนใจคือคุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง มีกระบวนการคิดและทำงานเป็นแบบไหน นี่คือเหตุผลที่ทำไมเราได้เห็นผู้ประกอบการเก่งๆ จำนวนมากล้วนมาจาก Silicon Valley ทั้งหมดนี้คือการเรียนรู้ประสบการณ์ผ่านช่วงเวลา และเป็นแนวคิดที่ฉันอยากให้เกิดขึ้นในสังคมของเรา
นี่ดูเป็นคำถามเชิงเศรษฐศาสตร์มากๆ มีงานวิจัยจากหลายสำนักที่บ่งชี้ว่าการย้ายถิ่นฐานของคนในประเทศไปยังประเทศอื่นกลับส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศต้นทางเอง เนื่องจากจะมีหลากหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น
ที่สำคัญที่สุดคือเราอยู่ในช่วงของพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารที่คอยส่งเสริมให้ผู้คนเชื่อมต่อกันและเรียนรู้กันและกัน การเดินทางก็ง่ายขึ้นกว่าเดิม รวมถึงมีราคาที่ถูกลงมาก เพราะฉะนั้นฉันไม่ได้คิดว่ามีความจำเป็นในการที่คนเก่งๆ จะต้องย้ายกลับไปถิ่นฐานเดิม
สิ่งสำคัญที่สุดคือสิ่งที่พวกเขาต้องการมอบให้กับประเทศ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ฉันพยายามทำอยู่ จะเรียกว่าเป็นเป้าหมายของกลุ่มร่วมทุนที่ฉันก่อตั้งเลยก็ได้ ฉันและเพื่อนร่วมทีมของ Translational Partners เราตั้งใจจะทำงานเพื่อช่วยนักลงทุนในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้เห็นการเพิ่มขึ้นของเทคโนโลยี อีกทั้งข้อได้เปรียบจากการได้ร่วมมือกับ Silicon Valley
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีน อิสราเอล และอีกหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียได้ร่วมลงทุนในกลุ่มทุนและเข้ามามีส่วนอยู่ในเครือข่าย Silicon Valley สำหรับกลุ่มทุนของฉัน เรามุ่งเน้นไปที่การให้ประโยชน์กับนักลงทุนในเอเชียและผู้นำทางธุรกิจทั้งด้านการเงินและกลยุทธ์ ซึ่งความแตกต่างจากทุนอื่นๆ คือเราพยายามผลักดันให้เหล่านักลงทุนเข้าถึงเทคโนโลยีและเชื่อมต่อกับเครือข่ายของ Sillicon Valley เราต้องการให้พวกเขาได้เห็นเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามาในอนาคต
สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่รู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น นั่นคือบริษัทของคุณอาจถูก disrupt เสียความสามารถในการแข่งขันกระทั่งล้มหายไปในที่สุด ท่ามกลางความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทางเดียวที่ธุรกิจจะปกป้องตัวเองได้คือการเรียนรู้จากแหล่งผู้คิดค้นนวัตกรรม ซึ่งแหล่งนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดก็คือ Silicon Valley
สำหรับนักลงทุนของเรา พวกเขาสามารถเลือกที่จะปรับใช้เทคโนโลยีเข้ากับธุรกิจ เป็น partner กับ Startup ที่อยู่ใน portfolio ของเรา ใช้ประสบการณ์สร้างกลยุทธ์เพื่อการเติบโตในระยะยาว นี่คือวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการปกป้องบริษัทจากความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ถือเป็นการสร้างมูลค่าทางกลยุทธ์อย่างมหาศาล และยังมาพร้อมกับผลตอบแทนทางการเงินที่ดีอีกด้วย
ฟังเรื่องราวของเธอแล้วก็อาจจะสร้างความประทับใจเเละเเรงบันดาลใจให้กับหลายคนไม่มากก็น้อย เธอจะมาพูดเรื่องอะไรบนเวที Techsauce Global Summit นั้น มาฟังพร้อมกันได้ ในวันที่ 18-19 มิถุนายนนี้ ที่ Centara Grand At CentralWorld ซื้อบัตรได้ที่: http://bit.ly/38Jrr9z
Sign in to read unlimited free articles