นอกเหนือจากขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่าง แล็ปท็อป สมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยแล้ว ยังมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มองไม่เห็นหรือ Invisible e-waste ที่กำลังสร้างผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
จากการศึกษาครั้งใหม่ของสถาบันฝึกอบรมและการวิจัยแห่งสหประชาชาติ (UNITAR) พบว่า Invisible e-waste มีจำนวนสูงถึง 9 พันล้านกิโลกรัมต่อปี หรือเป็น 1 ใน 6 ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็น สายไฟที่ไม่ได้ใช้ แปรงสีฟันไฟฟ้า เสื้อผ้าที่ตกแต่งด้วย LED บุหรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ รวมถึงชุดรถแข่งของเล่น ของเล่นที่มีเสียง โดรน และอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนถือเป็น Invisible e-waste ทั้งสิ้น ซึ่งเกิดเป็นขยะถึง 7.3 พันล้านชิ้นต่อปี ซึ่งสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มักถูกมองข้ามเหล่านี้ก่อให้เกิดความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างมาก
ปัญหาในการกำจัด Invisible e-waste อยู่ตรงส่วนประกอบที่เป็นวัสดุอันตรายซึ่งส่งผลกระทบกัยสิ่งแวดล้อม เช่น ตะกั่วหรือปรอทที่สามารถปนเปื้อนลงนํ้าและดินหากกำจัดด้วยการฝังกลบ รวมถึงแบตเตอรี่ลิเทียม ที่มาจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง มีความเสี่ยงเกิดไฟไหม้หากกำจัดผิดวิธี อีกทั้งแบตเตอรี่ลิเทียม ยังเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงยุโรปไปสู่ยุคพลังงานสะอาด
รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ โลกสูญเสียกว่า 9.5 พันล้านดอลลาร์ จากการไม่รีไซเคิล Invisible e-waste ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหล็ก ทองแดง และทองคำ ที่สามารถนำกลับมาใช้ซํ้าได้ จากรายงานของ WEEE Forum สมาคมนานาชาติที่รวบรวมข้อมูลด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ในปี 2019 สายเคเบิลทองแดงที่ถูกทิ้งสามารถรีไซเคิลได้ถึง 950 กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่พันรอบโลกได้มากถึง 107 ครั้ง
ความพยายามในการต่อสู้กับวิกฤตนี้เกิดขึ้นในยุโรปกว่าสองทศวรรษผ่านกฎหมาย Extended Producer Responsibility หรือ EPR ระบบที่การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบ การใช้ซํ้า จนไปถึงการบำบัด เพื่อให้ผู้ผลิตตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร
แต่อัตราการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีเพียง 17% เท่านั้น จากการที่หลาย ๆ ประเทศยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย EPR จึงมีการเรียกร้องให้เพิ่มความตระหนักรู้ เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญกับมลพิษจากพลาสติก เพื่อแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
International E-Waste ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้และสามารถจัดการกับ Invisible e-waste ด้วยความรับผิดชอบ เป็นส่วนสำคัญต่ออนาคตที่ยั่งยืน รักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรอันมีค่าเพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ไป
อ้างอิง: interestingengineering, theverge, thaiplastics
Sign in to read unlimited free articles