การสร้างนวัตกรรมเพื่อเข้าถึง ‘Financial Inclusion’ ด้วย FinTech และ Big Data | Techsauce

การสร้างนวัตกรรมเพื่อเข้าถึง ‘Financial Inclusion’ ด้วย FinTech และ Big Data

หากธนาคารที่คุณใช้บริการส่งอีเมลมาขอให้กรอกแบบสำรวจเพื่อให้คะแนนการบริการของธนาคาร คุณจะทำอย่างไร?

คุณจะให้คะแนนธนาคารตามความเป็นจริงแค่ไหน?

คุณจะให้คะแนนธนาคาร 10/10 สำหรับการบริการลูกค้าเลยไหม?

คุณจะบอกว่าพึงพอใจชั่วโมงทำงานของพวกเขาหรือเปล่า?

หากคุณเป็นเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพและต้องการการระดมทุนในช่วง Seed ตัวเลือกแรกคือจะไปที่ธนาคารในพื้นที่ของคุณและขอกู้เงิน โดยรอ 3-6 เดือน และยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงๆ เมื่อได้รับการอนุมัติหรือไม่?

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ธนาคารไม่จำเป็นต้องติดต่อลูกค้าเพื่อขอคะแนนการให้บริการ เพราะธนาคารผูกขาดบริการทางการเงินทั้งหมด รวมทั้งมีการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยมีเพียงสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นจึงจะให้บริการทางการเงินได้ นอกเหนือจากนั้นไม่ได้

คนมีทางเลือกมากขึ้นในยุคนี้

เทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน พลิกโฉมชีวิตและธุรกิจทั่วโลกในวิธีการบริหารเงินต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาอย่างเมียนมาหรือประเทศที่มีรายได้สูงอย่างอังกฤษ และยิ่งผู้บริโภคทั่วโลกมีสมาร์ทโฟน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากเท่าไร ก็ยิ่งสามารถใช้ธนาคารบนมือถือในการฝากเงินเดือน เข้าถึงเงินกู้สำหรับรายย่อยเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ และโอนเงินให้เพื่อนหรือครอบครัวที่อยู่ต่างประเทศได้

สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีในปัจจุบันเองก็มีทางเลือกที่จะระดมทุนมากขึ้น ทั้งยังสามารถเผยแพร่บริการของตัวเองบนแพลตฟอร์ม Crowdfunding เช่น Kickstarter ตลอดจนเข้าถึงนักลงทุนและ VCs (ตัวเชื่อมนักลงทุนกับบริษัท) ทั้งในแบบออฟไลน์และออนไลน์ได้ นำไปสู่คอมมูนิตี โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ เวที Pitching การฝึกฝนพัฒนา และทำให้ธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก: การพลิกโฉมธนาคารด้วย FinTech

ผู้นำของความการเปลี่ยนแปลงในโลกการเงินนั้นกลับไม่ใช่ธนาคาร แต่เป็น FinTech ที่สร้างเส้นทางใหม่ๆ ให้แก่บริษัทด้านเทคโนโลยีในการเข้าถึงภาคการเงินและเข้ากับยุคสมัย ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคจัดการด้านการเงินและการลงทุนในกองทุนเองได้ โดยธนาคารไม่เพียงแต่ต้องแข่งขันเพื่อพัฒนาบริการที่ส่งมอบให้แก่ลูกค้า แต่ยังต้องเปลี่ยนตัวเองจากโมเดลธุรกิจแบบเดิมๆ และเทคโนโลยีที่ล้าสมัย เพื่อที่จะเข้ามาแข่งขันด้วยการใช้ทรัพยากรที่น้อยที่สุด ใช้งานง่าย และเข้าใจเกี่ยวกับบริษัท FinTech อย่างแท้จริง

ในงาน Techsauce Global Summit 2017 มีวงเสวนาในหัวข้อ ‘Innovating for Access: Financial Inclusion Supported by FinTech and Big Data’ (การสร้างนวัตกรรมเพื่อเข้าถึง ‘Financial Inclusion’ ด้วย FinTech และ Big Data) ที่ 3 หนุ่มสาวมาส่งต่อความรู้และแนวคิดซึ่งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ภาครัฐและเอกชนก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้ ได้แก่ Saeid Kian, ผู้จัดการฝ่ายสร้างผลิตภัณฑ์ของ Wave Money ณหทัย ‘เกี้ยว’ ภูพิชญ์พงษ์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ระหว่างประเทศของ Ascend Money ซึ่งอยู่ภายใต้ TrueMoney (มีฐานลูกค้าหลักอยู่ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีลูกค้าในอีก 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) และ Angus Sanders หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และดำเนินธุรกิจที่ Funding Circle UK สตาร์ทอัพที่เปิดพื้นที่กลางให้ผู้ขอกู้และนักลงทุนมาเจอกันโดยตรง

‘Financial Inclusion’ หมายถึงอะไร และคุณวัดความสำเร็จจากการดำเนินงานไว้อย่างไร?

เกี้ยว: ‘Financial Inclusion’ หมายถึง การที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานได้เพื่อช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น  เช่น การออมเงิน การขอสินเชื่อ การทำประกัน ซึ่งทรูมันนี่ในกัมพูชาดำเนินธุรกิจมา 2 ปีแล้ว เรามีลูกค้าประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งก่อนหน้านี้ หลายคนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ และ 1.5 ล้านคนนี้คิดเป็น 10% ของจำนวนประชากรกัมพูชา และนี่คือจำนวนของคนที่เรารวมพวกเขาเข้ามาใช้บริการทางการเงินได้

ธนาคารโลกให้ข้อมูลไว้ว่า มีประมาณ 2 พันล้านคนที่ไม่ได้ใช้บริการของสถาบันการเงินอย่างเป็นทางการ และมากกว่า 50% ของผู้ใหญ่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ‘ไม่สามารถเข้าถึงธนาคารได้’ Financial Inclusion จึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดความยากจนและส่งเสริมความมั่งคั่ง ซึ่งความมั่งคั่งนี้มีรากฐานมาจากเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟนที่ช่วยให้ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาสามารถสร้างบัญชีธนาคารบนมือถือและเข้าถึงสินเชื่อเพื่อรายย่อยได้ และสำหรับ Ascend เรามีบางวิธีที่เป็นรูปธรรมซึ่งใช้วัดความสำเร็จของ Financial Inclusion อาทิ

  • มีผู้บริโภคมากแค่ไหนที่ใช้บริการบัญชีธนาคารบนมือถือ?
  • จำนวนลูกค้าที่ใช้สมาร์ทโฟนติดต่อขอใช้บริการธนาคาร
  • จำนวนของการทำธุรกรรม
  • ประเภทของการทำธุรกรรม
  • จำนวนเงินโดยประมาณจากการใช้งานของลูกค้า

Angus: อย่างที่คนส่วนมากรู้ ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นกระดูกสันหลังของเกือบทุกภาคเศรษฐกิจในโลก โดยทำให้เกิดธุรกิจมากกว่า 95% และเกิดการจ้างงานราว 60% ดังนั้น เอสเอ็มอีจึงสำคัญอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ และเพื่อที่จะทำให้ธุรกิจเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น พวกเขาจึงต้องขอสินเชื่อเพิ่ม ซึ่งในมุมของ Funding Circle เราเชื่อว่า Financial Inclusion หมายถึงการรับรองการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี

Angus อธิบายว่า สิ่งนี้เป็นการให้สินเชื่ออย่างคุ้มค่าแก่เอสเอ็มอี ซึ่ง Financial Inclusion นั้นสามารถวัดได้จากการจัดหาบริการที่ดีให้เหล่าเอสเอ็มอีได้ โดยจำนวนเงินที่ส่งตรงถึงเอสเอ็มอีรายใดรายหนึ่งและการให้กู้ยืมสุทธิ ก็เป็นอีกมาตรวัดหนึ่งว่ามีเงินมากเพียงใดที่ไปถึงเอสเอ็มอี ซึ่งใช้เป็นมาตรวัดที่ดีในการวัดผล Financial Inclusion ได้ อย่างกรณีของธนาคารขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักรจะไม่ให้มีการกู้ยืมใดๆ ในขณะที่ Funding Circle ให้บริการกู้ยืมเป็นหลัก เช่น ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2017 Funding Circle ให้จำนวนเงินกู้ยืมมากกว่า 22 ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรรวมกัน

Angus: ธนาคารพาณิชย์ดึงการกู้ยืมออกไป และประมาณ 20% ของเอสเอ็มอีจะก็หันหนีจากธนาคารมาที่ Funding Circle สำหรับอีก 80% ของธุรกิจจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการกู้เงินจากธนาคาร เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเอสเอ็มอี พวกเขาไม่สามารถหยุดกำลังการผลิตและเวลาไว้ได้ ดังนั้นพวกเขาจึงมาที่ Funding Circle

FinTech กระตือรือร้นในเรื่อง Financial Inclusion เหตุใดจึงเริ่มมีการทลายกำแพงเหล่านั้น ค่าใช้จ่ายหรือความสามารถในการขยายตัวหรือการรวมกันของทั้งสองอย่าง? อะไรใน FinTech ที่ช่วยให้อุปสรรคเหล่านี้ถูกทำลายลงได้?

Angus: ในสหราชอาณาจักร ธนาคารมีโครงสร้างแบบเดิมที่มีขนาดใหญ่ซึ่งยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ พวกเขามีฐานข้อมูลขนาดใหญ่และลูกค้าจำนวนมาก คนไปที่ Funding Circle จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากธนาคารอาจจะปฏิเสธพวกเขาหรือใช้เวลานานในการอนุมัติเงินกู้

เกี้ยว: ธนาคารทั้งหลายนั้นเป็นสถาบันการเงินที่เป็นผู้เชี่ยวชาญดั้งเดิมเกี่ยวกับเรื่องการเงินมากที่สุด อย่างไรก็ตาม FinTech ก็มีข้อได้เปรียบที่เติบได้ง่าย เช่น ในเมียนมา ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดจะมีสาขาไม่เกิน 100 สาขาทั่วประเทศ แต่เพื่อเปิดบริการธนาคารทางมือถือ Ascend สามารถจ้างตัวแทน 5,000 คนและตั้งร้านค้าปลีกใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยซึ่งใครๆ ก็สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย

มีการใช้ Big Data ในภาคบริการของ FinTech อย่างไรบ้าง

เกี้ยว: ลูกค้าจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เนื่องจากไม่มีประวัติทางการเงินที่น่าเชื่อถือ ดังนั้น  FinTech จึงมีวิธีการใหม่ในการวัดคะแนนความน่าเชื่อถือของคนทั่วไป

ตัวอย่างหนึ่งของการวัดคะแนนความน่าเชื่อถือที่เป็นนวัตกรรมคือ Ant Financial ของ Alipay ซึ่งเป็นผู้ลงทุนเชิงกลยุทธ์สำหรับ Ascend Money และเป็นผู้สร้าง 'Sesame Credit' เพื่อวัดคะแนนความน่าเชื่อถือของผู้คนโดยอิงจากธุรกรรมในบัญชี Alipay, การซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ Taobao และข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งใช้ตัวแปรนับพันในการประมวลผลออกมาเป็นคะแนนเดียวที่บอกเป็นรายบุคคลได้ว่า "พวกเขามีมูลค่าในมือเท่าไหร่" และลูกค้าสามารถใช้คะแนนนี้เพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินและแหล่งอื่นๆ ได้

Angus: ข้อมูลด้านความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่ท้าทายอันดับหนึ่งสำหรับ Funding Circle ซึ่งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เราต้องพึ่งพาตัวชี้วัดทางการเงินมาตรฐานจากสำนักงานและธนาคาร เพื่อให้เราขยายธุรกิจไปนอกยุโรปและสหรัฐอเมริกา เราจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลและประวัติความน่าเชื่อถือ ความท้าทายคือ ขั้นตอนก่อนการให้กู้ยืม: การเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน จนถึงขณะนี้รัฐบาลของสหราชอาณาจักร ‘บังคับ’ ให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลให้แก่บุคคล เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ แต่สำหรับบริษัท FinTech ที่เน้นการให้กู้ยืมแบบ peer-to-peer นอกยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลให้ได้เพราะกฎหมายไม่อนุญาต

ธุรกิจ FinTech สามารถประเมินดอกเบี้ยอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร? พวกเขาควรใช้อัตราดอกเบี้ยจากที่ไหน? และอะไรคือความแตกต่างระหว่างสิ่งที่บริษัทแบบดั้งเดิมทำกับสิ่งที่บริษัท FinTech เช่น Funding Circle ทำ?

ธนาคารพิจารณาที่บัตรเครดิตและบัญชีธนาคารเพื่อวิเคราะห์ว่า ลูกค้าใช้จ่ายเท่าไร ในขณะที่ FinTech ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวหรือมาตรวัดสำคัญอื่นๆ ได้ ดังนั้น ขั้นตอนแรกคือการวิเคราะห์ผ่านมาตรวัดอื่น  เช่น ผู้ใช้บริการกรอกแบบฟอร์มอย่างไร พวกเขาใช้เวลานานแค่ไหนในการกรอกแบบฟอร์มและตอบคำถามดีแค่ไหน

Angus ชี้ให้เห็นว่าธนาคารควรให้ FinTech ต่างๆ เข้าถึงมาตรวัดประเภทนี้เพื่อให้สามารถพัฒนาคะแนนความน่าเชื่อ ซึ่งทำให้ FinTech สามารถประเมินหนี้เสียและกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้แม่นยำยิ่งขึ้นด้วย

แล้วบริษัทต่างๆ ทำอะไรให้ลูกค้าซึ่งใช้บริการธนาคารบนมือถือบ้าง?

เครือข่ายโทรศัพท์มือถือก็เป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทประกันเพื่อแบ่งปันและขายผลิตภัณฑ์ระหว่างกันได้ โดยทางเครือข่ายวิเคราะห์ว่าลูกค้าเติมเงินในโทรศัพท์มือถือบ่อยแค่ไหน เว็บไซต์อะไรที่ลูกค้าใช้เสิร์ชข้อมูล บริษัทประกันก็จะได้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและขายประกันให้แก่ลูกค้ารายย่อยได้

อะไรเป็นความท้าทายเบื้องต้นและเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันและการขยาย Financial Inclusion?

ในประเด็นนี้ผู้ร่วมเสวนาลงความเห็นร่วมกันว่า

  1. กฎหมาย
  2. รัฐให้ความสำคัญกับสถาบันการเงินประเภทธนาคารมากกว่า โดยมีแนวโน้มจะ ‘รอพิจารณาว่า FinTech จะแสดงบทบาทอย่างไร’ ร่วมกับการระแวดระวังว่าธนาคารจะตอบโต้การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอย่างไร
  3. การกู้ยืมทางตรงยังไม่ถูกกฎหมาย
  4. การเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของผู้บริโภค
  5. การกระจายตัวและการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะไม่มีบริการรูปแบบใดที่จะสามารถรองรับทุกความต้องการในตลาดอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากทุกประเทศมีความแตกต่างกัน

ถ้าให้ขอได้หนึ่งข้อเพื่อแก้ปัญหาหลักเกี่ยวกับ Financial Inclusion สิ่งที่คุณต้องการจะแก้ไขภายใน 10 ปีข้างหน้าคืออะไร?

เกี้ยว: ดิฉันหวังว่าจะมีผู้ประกอบการจำนวนมากและสตาร์ทอัพให้ความสำคัญกับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยผู้เป็นฐานของปิรามิด ซึ่งถูกละเลยมาเป็นเวลานาน เนื่องจาก FinTech ส่วนใหญ่เน้นทำธุรกิจกับกลุ่มไฮเอนด์หรือคนที่อยู่บนสุดของปิรามิด ทั้งๆ ที่ผู้คนหลายล้านในโลกสามารถใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการของ FinTech ได้ ซึ่งจะสามารถทำเงินได้อีกมาก

Angus: อยากให้ตระหนักถึงการจัดหาทางเลือกของแหล่งทุนในสหราชอาณาจักร เอสเอ็มอีจะได้ไม่ต้องไปที่ธนาคารโดยตรงตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่และเปลี่ยนประสบการณ์ของเอสเอ็มอี และอีกข้อก็คงจะขอให้เข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เช็คจุดน้ำท่วมเรียลไทม์ ผ่านแอปฯ BMA Traffic น้ำท่วม-รถติด-อุบัติเหตุ ดูได้หมด

BMA Traffic เป็นแอปพลิเคชันที่เราสามารถดูระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถสำรวจพื้นที่น้ำท่วมหรือรถติดผ่านแอปฯ ได้ทันที...

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

2024 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยต้องโฟกัสอะไร? รู้จักกลยุทธ์ 2C โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย เจาะปัจจัยหลักที่นักการตลาดดิจิทัลต้องรู้

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 2 กุญแจชิ้นสำคัญอย่าง Content & Convenience ที่กุมชะตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในยุคดิจิทัล...