Bukalapak: เคล็ดลับความสำเร็จสู่การเป็น E-Commerce Unicorn แห่งอินโดนีเซีย | Techsauce

Bukalapak: เคล็ดลับความสำเร็จสู่การเป็น E-Commerce Unicorn แห่งอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าจับตามอง ในแง่ของคุณภาพและจำนวน startup ที่เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะด้าน E-Commerce ที่ผู้เล่นรายใหญ่มีส่วนผลักดันและสนับสนุนผู้เล่นรายเล็กเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น นอกจากนี้อินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่มี Unicorn (startup ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์) มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ภายในงาน Slush Singapore 2018 เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา Techsauce มีโอกาสพบกับ Muhamad Fajrin Rasyid ผู้ร่วมก่อตั้งและ president แห่ง Bukalapak แพลตฟอร์ม E-Commerce หนึ่งใน Unicorn แห่งอินโดนีเซีย จึงไม่พลาดทำความรู้จักและพูดคุยถึงเบื้องหลังความสำเร็จของ startup รายนี้ กับแผนการในอนาคตที่วางไว้เพื่อเสริมแกร่ง startup ecosystem ของอินโดนีเซีย

Bukalapak พัฒนาจากบริษัทเล็กๆ ที่มีพนักงานเพียง 5 คน หลังจากได้รับการระดมทุนจาก Emtek group และ 500 Startup ทำให้ปัจจุบัน Bukalapak มีพนักงานกว่า 2 พันคน โดยกว่าครึ่งเป็น Tech Expert โดยเฉพาะ

บทบาทของผู้เล่นรายใหญ่ต่อภาคเศรษฐกิจขนาดเล็กในอินโดนีเซีย

เศรษฐกิจของอินโดนีเซียถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจขนาดเล็กมากมายทั่วประเทศ โดยเฉพาะ SME และร้านขายของชำ ทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ไม่สามารถเพิกเฉยต่อตลาดที่มีศักยภาพนี้

แม้การเติบโตของตัวเลขการซื้อขายบนออนไลน์จะโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้บริโภคกว่า 90% ก็ยังไม่กล้าเสี่ยงซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ Bukalapak ในฐานะผู้เล่น E-Commerce แก้ปัญหาด้วยการพาร์ทเนอร์กับร้านค้าขนาดเล็กเพื่อเพิ่มช่องทางการจ่ายเงินและรับสินค้าให้แก่ผู้บริโภค

‘Warung’ คือคำเรียกร้านขายของชำในอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันมี Warung กว่า 4-5 ล้านแห่งทั่วประเทศ ทำให้ร้านค้าเหล่านี้กลายเป็นช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคที่สะดวกและน่าเชื่อถือที่สุด เมื่อผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ Bukalapak ก็เพียงไปสั่งและจ่ายเงินที่หน้าร้าน Warung เจ้าของร้านจะเป็นคนกดสั่งสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน เมื่อสินค้ามาส่ง ลูกค้าก็สามารถไปรับได้ที่หน้าร้านเช่นเดิม

การให้บริการลักษณะนี้ทำให้ Bukalapak เข้าถึงผู้บริโภคอีก 90% ที่ไม่กล้าสั่งของออนไลน์และยังช่วยผู้เล่นขนาดเล็กไม่ให้ถูกกลืนกินอีกด้วย

พัฒนาแพลตฟอร์ม FinTech

นอกจากบริการ E-Commerce แล้ว Bukalapak ก็มีแผนขยายบริการสู่ด้าน FinTech และ offline retail เพื่อสนับสนุน Financial Inclusion บริการทางการเงินเพื่อให้กลุ่มคน unbanked เข้าถึงบริการได้มากขึ้น

โดยข้อได้เปรียบของแพลตฟอร์ม Bukalapak คือการที่มี data หรือข้อมูลบนระบบเพื่อใช้สำหรับยืนยันตัวตนให้กับร้านค้า SME เมื่อต้องการกู้สินเชื่อกับธนาคาร ซึ่ง Bukalapak สามารถเช็คจากประวัติ transaction และวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือจากข้อมูลที่มีได้

ความท้าทายของการเป็น Tech Company

Fajrin แชร์ว่า ความท้าทายที่สุดของการเป็นบริษัทเทคโนโลยี คือการหา ‘talent’

“แน่นอนว่าบริษัทเทคโนโลยีก็ต้องมีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี แต่ด้วยความที่ ecosystem ในประเทศยังโตไม่เต็มที่ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยียังมีน้อยอยู่ เราจึงเห็นหลายบริษัทพยายามขยายและไปตั้งออฟฟิศในต่างประเทศ อย่างเช่น อินเดีย เพื่อตามหา talent รวมถึงวิศวกรที่นั่น

แต่สำหรับ Bukalapak  เราพยายามสร้างความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย รวมถึงเข้าไปเป็นอาจารย์พิเศษให้ความรู้ในชั้นเรียน ผลิตนักศึกษาให้มีพร้อมในการทำงานในอุตสาหกรรมนี้ออกมาให้มากที่สุด”

Secret sauce ของ Bukalapak สู่การเป็น Unicorn

“ต้องฟังลูกค้าให้มากขึ้น” หัวใจสำคัญที่ทำให้ Bukalapak เติบโต คือการที่นำ feedback ของลูกค้ามาปรับปรุงเสมอ

“เวลาที่มีลูกค้าให้คะแนนแอปแค่ 1 ดาว เราจะเข้าไปถามและพยายามแก้ไขปัญหาที่ลูกค้าเจอ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและทำให้ลูกค้ากลับมาใช้ซ้ำ”

คำแนะนำต่อ startup รุ่นใหม่

นอกจากนี้ Fajrin ยังได้ให้คำแนะนำตัว Startup รุ่นใหม่เอาไว้อย่างน่าสนใจ เขากล่าวว่า "บริษัทรุ่นใหม่มักได้รับแรงบันดาลใจจากธุรกิจในจีน หรือ Silicon Valley ที่อเมริกา แต่การพยายามเลียนแบบลักษณะธุรกิจในต่างประเทศ ไม่ทำให้เป็นทางลัดสู่ความสำเร็จเสมอไป เนื่องจากตลาดแต่ละที่มีความแตกต่างทั้งในด้านโครงสร้างและลักษณะพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งแปลว่า เราจะต้องมี solution ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า local”

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เช็คจุดน้ำท่วมเรียลไทม์ ผ่านแอปฯ BMA Traffic น้ำท่วม-รถติด-อุบัติเหตุ ดูได้หมด

BMA Traffic เป็นแอปพลิเคชันที่เราสามารถดูระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถสำรวจพื้นที่น้ำท่วมหรือรถติดผ่านแอปฯ ได้ทันที...

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

2024 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยต้องโฟกัสอะไร? รู้จักกลยุทธ์ 2C โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย เจาะปัจจัยหลักที่นักการตลาดดิจิทัลต้องรู้

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 2 กุญแจชิ้นสำคัญอย่าง Content & Convenience ที่กุมชะตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในยุคดิจิทัล...