รวมแอปพลิเคชันและศูนย์ช่วยเหลือออนไลน์ทางเลือกสำหรับติดตามและป้องกัน COVID-19 ในปัจจุบัน | Techsauce

รวมแอปพลิเคชันและศูนย์ช่วยเหลือออนไลน์ทางเลือกสำหรับติดตามและป้องกัน COVID-19 ในปัจจุบัน

นับว่าสร้างความตื่นตระหนกไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ล่าสุดที่เกิดขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดครั้งนี้มีทีท่าว่าจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจต้องใช้เวลานานกว่าเดิมในการควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาปกติอีกครั้ง แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายมากแค่ไหน ชีวิตของเรายังคงต้องดำเนินต่อไปด้วยความไม่ประมาท

ดังนั้น เพื่อให้เราทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างปกติที่สุด และปลอดภัยจากโรคร้ายที่เข้าใกล้เรามากขึ้นทุกที เราจึงขอแนะนำ ‘แอปพลิเคชันสำหรับติดตามและป้องกัน COVID-19’ ที่จะช่วยให้เราสามารถทราบสถานะของผู้ติดเชื้อ พื้นที่เสี่ยง ช่องทางการติดต่อแพทย์ และเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

1. AOT Airports 

‘AOT Airports’ เป็นแอปพลิเคชันสำหรับติดตามตำแหน่งของกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากต่างประเทศและมาใช้บริการภายในสนามบิน ซึ่งจะติดตามตำแหน่งของผู้ใช้งานด้วยระบบ GPS นอกจากนี้แอปพลิเคชั่นดังกล่าว ยังสามารถใช้กรอกแบบฟอร์ม ต.8 (ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ) ได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น สำหรับใครที่มีความจำเป็นจะต้องเดินทางและใช้บริการสนามบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ แอปพลิเคชันนี้ จะทำให้คุณสามารถเดินทางได้โดยสวัสดิภาพ

2. DDC-Care 

‘DDC-Care’ เป็นแอปพลิเคชั่นที่ถูกสร้างขึ้นโดยกรมควบคุมโรค (Department of Disease Control) ซึ่งจะช่วยในการติดตามตำแหน่งและประเมินสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในระหว่างการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ยิ่งกว่านั้น หากเราประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่า อยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับเชื้อ ระบบภายในแอปพลิเคชันสามารถแนะนำให้เราติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อความช่วยเหลือได้อีกด้วย

3. หมอชนะ

‘หมอชนะ’ แอปพลิเคชั่นฝีมือคนไทยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการติดตามและป้องกันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ โดยแอปพลิเคชั่นนี้จะติดตามตำแหน่งของผู้ใช้งานด้วยระบบ GPS และติดตามการอยู่ในตำแหน่งใกล้กันของผู้ใช้งานด้วยระบบ Bluetooth อีกทั้งยังสามารถติดตามการเดินทางของผู้ใช้งานผ่านการเช็คอินตามสถานที่ต่างๆ เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ แอปพลิเคชั่นหมอชนะ ยังมีระบบ Trace Back ที่ช่วยให้เราสามารถติดตามกลุ่มเสี่ยงที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อได้อีกด้วย

4. สบายดีบอต 

‘สบายดีบอต’ เป็นแอปพลิเคชั่นทาง LINE ที่สร้างขึ้นสำหรับบันทึกสุขภาพและกิจกรรมที่มีการติดต่อกับสังคมของผู้ใช้งาน เพื่อนำมาใช้ในการตรวจสอบและรักษาทางการแพทย์เมื่อเกิดจำเป็น สำหรับการใช้งานนั้น สามารถใช้งานได้ง่ายๆผ่าน LINE เหมาะสำหรับบุคคลทุกเพศทุกวัย ยิ่งกว่านั้น เรายังสามารถติดตามรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 จากกรมควบคุมโรคได้โดยตรงเลยทีเดียว

5. NIEMS-Care 

‘NIEMS-Care’ นับเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่สำคัญต่อการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชุมชน สำหรับหลักการทำงานของแอปพลิเคชันนี้ แต่ละครัวเรือนจะมีตัวแทนทำหน้าที่รายงานสถานะสุขภาพของสมาชิกในครัวเรือนเป็นประจำทุกวัน โดยมีผู้ใหญ่บ้านหรือผู้แทน และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เป็นผู้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์จากข้อมูลที่แรากฏบนแอปพลิเคชัน ซึ่งจะทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่เสี่ยงสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

6. Traffy Fondue 

‘Traffy Fondue’ แอปพลิเคชันทาง LINE ที่คอยแจ้งและรายงานการเดินทางเข้ามาในพื้นที่ของบุคคลกลุ่มเสี่ยงให้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไปได้รับทราบ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองไม่ให้เข้าใกล้บริเวณที่บุคคลกลุ่มเสี่ยงพักอาศัยโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังช่วยให้ผู้คนในชุมชนระมัดระวังในการติดต่อสัมผัสกับบุคคลกลุ่มเสี่ยงมากขึ้นอีกด้วย

7.Doctor A to Z 

Doctor A to Z เป็นเเอปพลิเคชันทางการเเพทย์ที่ช่วยป้องกันทั้งหมอและคนไข้เพื่อไม่ให้เสี่ยงเมื่อต้องออกไปพบเเพทย์ที่โรงพยาบาลผ่านการใช้ระบบออนไลน์ที่เรียกว่า teleconsult ที่ช่วยให้คนไข้หาหมอจากที่บ้านผ่านวิดีโอคอลแบบ online real time ปัจจุบันเป็นหนึ่งในช่องทางให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่มีอาการต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อเป็นทางเลือกในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่อยู่ห่างไกล หรือ มีข้อจำกัดในการเข้ารับคำปรึกษาจากสถานพยาบาลในพื้นที่

8. Card2U

แอปพลิเคชันฝีมือคนไทยที่ผลิตมาเพื่อคนไทย และเป็นตัวช่วยในการสอดส่องเรื่องการระบาดของ COVID-19 ก็คือ ‘Card2U’ ที่มีการพัฒนาต่อยอดมาจากเว็บไซต์ ThaiFightCOVID ซึ่งแอปฯ นี้จะมีการนำเสนอข่าวสาร ทั้งข่าวด่วนและข่าวประจำวันเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาด สถิติจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ พื้นที่เสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง มีช่องทางตรวจสอบข่าวปลอม และยังสามารถดูประกาศต่างๆ จากภาครัฐได้ รวมไปถึงเมนูสำหรับบันทึกอาการ และลำดับการเดินทางของผู้ใช้งานตามการเช็คอินในสถานที่ต่างๆ เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยง อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบสถานพยาบาลที่มีบริการตรวจเชื้อไวรัส และมีการแจกโปรโมชั่นจากร้านอาหาร ร้านค้า และบริการต่างๆ ในช่วงของการระบาดอีกด้วย

9. ใกล้มือหมอ 

แอปพลิเคชันที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ หรือ สสส. เป็นแอปฯ สำหรับใช้ตรวจคัดกรองเบื้องต้น โดยจะมีทั้งคลิปวิดีโอสั้นๆ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งผู้ใช้สามารถบันทึกลักษณะอาการลงไป และสามารถคอยติดตามผลย้อนหลังได้ และสำหรับบุคคลที่มีข้อสงสัยด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 สามารถไปพิมพ์คำถามทิ้งไว้ และหลังจากนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญมาตอบของท่าน นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถเช็คตำแหน่งสถานพยาบาลใกล้ตัวท่านที่สามารถไปตรวจหาเชื้อ COVID-19 ได้อีกเช่นกัน

10. Away COVID-19

มินิแอปฯ ที่เป็นตัวช่วยในช่วงของการระบาด คือ ‘Away COVID-19’ ซึ่งสามารถใช้งานง่ายๆ ได้ผ่าน LINE แอปพลิเคชัน พัฒนาโดยบริษัท MAPEDIA โดยในแอปฯ จะมีแผนที่แสดงสถานะของผู้ติดเชื้อในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ซึ่งผู้ใช้สามารถทราบได้ทันที่ว่าบริเวณนั้นๆ มีผู้ติดเชื้อจำนวนกี่คน พวกเขาเข้ารับการรักษา หรือกักตัวแล้วหรือยัง นอกจากนี้ยังสามารถใช้แอปฯ นี้ช่วยค้นหาเส้นทางไปสถานพยาบาลที่มีบริการตรวจเชื้อ COVID-19 มีข่าวสารสถิติของผู้ติดเชื้อในประเทศไทย และยังมีข้อมูลของสถานที่บริจาคสิ่งของ และตำแหน่งร้านเวชภัณฑ์ต่างๆ

11. Ooca x Covid-19 

แอปพลิเคชันบริการให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตผ่านวิดีโอคอล สามารถเลือกจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่และเลือกเวลาในการให้ปรึกษาได้ปัจจุบันทาง Ooca ได้เปิดบริการพิเศษที่ชื่อว่า Ooca x Covid-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อาจมีภาวะเครียดหรือตื่นตระหนก ซึ่งตอบโจทย์ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะผู้ที่ถูกกักตัว

ศูนย์ช่วยเหลือออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการเเพร่ระบาดของไวรัส Covid-19

นอกจากกลุ่มเเอปพลิเคชันที่สามารถเช็คสถานที่เสี่ยงและตรวจสอบความเสี่ยงที่เกี่ยวกับไวรัส Covid-19 แล้วยังมี Solution จากกลุ่ม Startup ที่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยสนับสนุนการป้องกันการเเพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ในด้านต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้คนได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม อาทิ

สายด่วนกรมการแพทย์ และ สบายดีบอต

อีกหนึ่งช่องทางสำหรับการค้นหาที่พักในโรงพยาบาล หรือ เตียงสนาม หากเป็นกลุ่มคนที่ตรวจหาเชื้อ Covid-19 เเล้วผลตรวจออกมาว่าติดเชื้อ สามารถโทรเบอร์สายด่วนเพื่อสอบถามในเรื่องของที่พักเพื่อให้ทางกรมการเเพทย์ดำเนินการหาและจัดพื้นที่หรือ เตียงนอนพักไว้ให้ท่านนอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อผ่านไลน์ที่ชื่อ สบายดีบอต ผ่านการสเเกน QR Code Code ซึ่งต้องแอดไลน์และให้ชื่อที่อยู่ สถานที่ติดต่อ และข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ

เบอร์สายด่วน 1669 หรือ 1668 สายด่วนกรมการแพทย์ (เฉพาะกิจ) รับสาย 08.00-22.00 น.ทุกวัน 1330 สายด่วนสปสช.รับสายตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน

อ้างอิง: www.nstda.or.th, fukuoka.thaiembassy.org, news.thaipbs.or.th

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Jensen Huang ตอบประเด็นอนาคต AI ยังไงต่อ ? ในงาน GTC 2024

บทความนี้ Techsauce ชวนมาฟังความเห็นของ CEO บริษัทชิปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เกี่ยวกับอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ในงาน GTC 2024...

Responsive image

SpaceVIP จัดทริปกินมื้อหรูระดับมิชลินบนอวกาศ สนนราคาต่อหัว 17.8 ล้านบาท

โอกาสสำหรับการทานอาหารสุดหรูบนอวกาศมาถึงแล้ว SpaceVIP เตรียมเปิดประสบการณ์การทานอาหารจากเชฟระดับ Michelin Star ที่ความสูงกว่า 100,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลในการผจญภัยบนขอบอวกาศ โอกา...

Responsive image

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? แหล่งข่าวชี้ Selena Gomez เตรียมขายแบรนด์

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? ข่าวจาก Bloomberg ออกมาว่าตอนนี้ Selena Gomez ได้เริ่มดำเนินการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนเพื่อประเมินมูลค่าแบรนด์แล้ว...