ไขข้อสงสัย Startup การคิด Valuation นั้นเขาทำกันอย่างไร โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Invent | Techsauce

ไขข้อสงสัย Startup การคิด Valuation นั้นเขาทำกันอย่างไร โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Invent

Invent_Thanapong

ก่อนจะไปขอระดมทุน Startup หลายคนมักสงสัยว่ากระบวนการคิดมูลค่าบริษัท หรือที่เรียกกันว่า Valuation ก่อนไปหานักลงทุน เขาคิดคำนวณกันอย่างไร วันนี้เรามีบทความสัมภาษณ์พิเศษ ที่เรียกว่าพิเศษจริงๆ เพราะเผยข้อข้องใจให้กับ Startup โดยผู้เชี่ยวชาญ คุณธนพงษ์ ณ ระนอง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าโครงการ Invent ซึ่งเป็น Venture Capital (VC) รายใหญ่ของไทย

ปกติการคิดมูลค่าบริษัท (Valuation) นั้นคิดกันอย่างไร

ก่อนอื่นขอแยกเป็น 2 กรณีนะครับ ในกรณีที่หนึ่งบริษัทที่เปิดมาระยะหนึ่งแล้ว และเริ่มมีรายได้บ้างแล้ว และ กรณีที่สองคือบริษัทเพิ่งจะจัดตั้งใหม่หรือเปิดมาระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่มีรายได้

กรณีที่ 1: หนึ่งบริษัทที่เปิดมาระยะหนึ่งแล้ว และเริ่มมีมีรายได้บ้างแล้ว การทำ Valuation จะทำตามทฤษฎีการเงินทั่วไป เพราะมีข้อมูลตัวเลขทางการเงินที่สนับสนุน วิธีหนึ่งที่เรานำมาใช้ คือ Discount Cash Flow (DCF) เป็นการหา NPV (Net Present Value) จาก Cash flow analysis โดยที่มีการใส่ discount factor เข้าไป เวลาทำ Valuation ของบริษัทเหล่านี้ เราต้องดูว่าพวกเขามีรายได้และรายจ่ายเท่าไหร่ และมีแผนในอนาคตว่าจะมีการเติบโตเป็นที่เท่าไหร่ในอีก 5ปีข้างหน้า (Business Growth Projection) มีความเป็นไปได้หรือไม่เมื่อเทียบกับ ตลาดหรือภาพของธุรกิจ (Industry)ในปัจจุบัน และบริษัทนี้มีความสามารถที่จะเติบโตได้ตามแผนที่ตั้งไว้หรือไม่

แต่จุดหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ คือเรื่อง Discount factor ที่นำมาใช้ในการคำนวณ ขอเริ่มจากเบสิคก่อนคือ มูลค่าของเงินเปลี่ยนไปตามเวลา คือ เงินวันนี้จะมีค่าสูงขึ้นในอนาคต อย่างเช่น เอาเงินฝากธนาคารไว้ก็จะมีมูลค่าสูงขึ้นจากดอกเบี้ย ในทางกลับกันเงินในอนาคต ถ้านำมาคิดมูลค่าในวันนี้ก็จะมีค่าลดลง ซึ่งตัวแปรที่นำมาใช้ปรับลดนี้ เรียกว่า Discount Factor นั่นเอง จะมีค่าแตกต่างกันไปตาม สภาพธุรกิจและความเสี่ยง นักลงทุนจึงปรับเปลี่ยนค่า discount ให้เหมาะสม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุน ซึ่งผมคิดว่า Startups เข้าใจอยู่แล้วว่า การลงทุนในลักษณะ VC ใน Tech Industry นั้นมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นนักลงทุนมักจะใช้ค่า Discount Factor ที่สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ

ส่วนอีกวิธีหนึ่งที่เราใช้ก็คือการใช้ค่า multiple ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีรายได้ในปีที่ผ่านมาเท่านี้ มีกำไรหรือเปล่า ถ้ามีกำไรก็เอาค่า Price-To-Earnings Ratio (P/E) มาคูณ ถามว่าค่า P/E ratio มาจากไหน เราก็เอามาจากค่าในตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ว่าธุรกิจที่คล้ายๆ กันนี้มีค่า P/E ratio เท่าไหร่ แต่ถ้าไม่มีกำไร เราก็จะใช้เป็น Price-To-Sales (Revenue) Ratio (P/S) มาใช้เทียบเคียงแทน ซึ่งปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้มีหลายบริษัทที่เก็บข้อมูลกรณีศึกษาของ Startups ที่ระดมทุนได้สำเร็จไว้ค่อนข้างเยอะ เช่น Bloomberg, CB Insights เป็นต้น ซึ่งสามารถหาได้ในเว็บไซต์

ตามที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง DCF และ Multiple เป็นวิธีที่ใช้หา Valuation สำหรับบริษัทที่เปิดมาระยะหนึ่งแล้วและเริ่มมีรายได้แล้ว ซึ่งเห็นได้ว่าตรงไปตรงมาไม่ยากเท่าไหร่ครับ ซึ่ง InVent จะใช้อย่างน้อยสองวิธีนี้แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน ว่าอันไหนเหมาะสมแล้วค่อยมาคุยกัน

กรณีที่ 2: สำหรับบริษัทที่ยังไม่มีรายได้ การหา Valuationจะไม่ค่อยมีวิธีการที่ตายตัว หลักการสากลที่นิยมใช้กันทั่วไปจะมี 2 วิธี วิธีแรกคือ Comparable Method คือการเปรียบเทียบกับเคสที่คล้ายๆกันที่ได้รับการลงทุนไปก่อนหน้านี้ เช่น อยู่ในธุรกิจเดียวกัน เปิดบริการมาใกล้เคียงกัน มีจำนวนของผู้ใช้งานที่ใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบ โดยการหา valuation จะเทียบเป็น Value Per Subscriber ก็ได้ และอาจจะมีการลดทอนตามขนาดของตลาด(Market size) หรือ อัตราการเติบโตของธุรกิจ (Growth Rate) เป็นต้น วิธีที่สอง เราเรียกกันว่า VC method คือ นักลงทุนจะประมาณเองว่า ธุรกิจแบบนี้จะมีมูลค่าเท่าไรในอนาคต โดยอาจใช้วิธี Comparable Method ข้างต้น แล้วก็ คำนวนว่าถ้าต้องการผลตอบแทนเท่านี้ จะต้องซื้อที่ราคาเท่าไรในวันนี้ แล้วค่อยแปลงจำนวนเงินที่บริษัทต้องการเป็นจำนวนหุ้น

ขอคำแนะนำเพื่อเตรียมตัวก่อนทำ Business Due Diligence กับนักลงทุน

อย่างแรกต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ ต้องพยายามตั้งสมมุตติฐานของตัวเลขและข้อมูลที่สมเหตุสมผล แต่จากประสบการณ์ที่ทำมาเราพอเข้าใจว่าหลายๆธุรกิจเป็นธุรกิจใหม่ อาจจะหาตัวเลขที่จะมาใช้เป็นตัวอ้างอิงได้ยาก แต่อย่างน้อยก็ ต้องมี Common Sense และ Business Model ที่ชัดเจน คุณต้องรู้จักตลาดและโดเมนธุรกิจของคุณอย่างถ่องแท้ ว่าลูกค้าคือใคร รายได้จะมาจากไหน ช่องทางในการขายมีกี่แบบ มีค่าใช้จ่ายระหว่างทางไหม ข้อมูลที่ควรจะเตรียมเพิ่มเติม คือตัวเลขที่เกี่ยวกับภาคธุรกิจ ตัวเลขของการเติบโตว่าเป็นอย่างไร มีคู่แข่งคือใครบ้าง

นักลงทุนปกติเข้าถือหุ้นเท่าไหร่ อัตราส่วนในการถือหุ้นที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร

การลงทุนของ Startup จะเป็นรอบๆ ที่เรียกว่า Investment by stage การที่ Startup ระดมทุนในแต่ละรอบ จะต้องมีช่องว่างให้กับนักลงทุนรายต่อไปเข้ามาในรอบถัดไป นอกจากจะมีช่องว่างให้นักลงทุนรอบต่อไปเข้ามาแล้ว จะต้องมี Margin เพียงพอที่ให้นักลงทุนในรอบก่อนหน้าสามารถ Exit ได้ด้วย การลงทุนและ Valuation ควรจะทำให้เหมาะสม อย่าทำอะไรที่มันเกินความจริงและมันจะไปต่อไม่ได้ ก็คือต้องปรับสมดุลให้ได้ระหว่างเงินลงทุนที่ขอกับหุ้นที่ให้ เช่น ถ้ามีการลงทุนในรอบแรกแพงเกินไป การระดมทุนในรอบต่อไปก็จะต้องมีราคาที่สูงขึ้นไปอีก ก็จะหานักลงทุนใหม่ได้ยาก แต่ถ้าตั้ง valuation ต่ำไปและให้นักลงทุนรอบแรกได้หุ้นเยอะ เราก็จะมีสัดส่วนหุ้นไม่มากพอให้สำหรับนักลงทุนรายต่อไปเข้ามา ก็อาจทำให้เรามีเงินทุนไม่เพียงพอไปขยายกิจการ

คำแนะนำง่ายๆ คือ ขอเงินทุนเท่าที่คุณคิดว่าพอใช้ในรอบนี้และให้หุ้นออกไปที่พอเหมาะไม่เยอะมากนัก ประมาณ 15-30 % ในรอบแรก จะได้มีช่องว่างให้นักลงทุนรอบต่อไปมาลง

สำหรับ Startup ที่ต้องการรู้รายละเอียดเชิงลึก เร็วๆ นี้เราจะมีการจัดงาน Startup CEO Forum เราเล็งเห็นว่าการทำธุรกิจ Startup ถ้าจะเติบโตในรูปแบบบริษัทอย่างจริงจังแล้ว จะเก่งแค่เรื่องพัฒนา Product อย่างเดียวไม่ได้ CEO ของบริษัทต้องเรียนรู้ในเชิงธุรกิจ,กฏหมายและเรื่องบัญชีด้วย

เกี่ยวกับ Invent โครงการ Invent โดยบริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นโครงการสนับสนุน Startup ในรูปแบบ Corporate Venture Capital โดยมุ่งเน้นการร่วมลงทุนกับ Startup ที่อยู่ในสายธุรกิจหลักคือ ธุรกิจโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และ ดิจิตอล คอนเท้นท์  และมีผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่สามารถสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มของอินทัชได้ ณ.ปัจจุบัน Invent ได้เข้าร่วมลงทุนแล้วทั้งหมด 6 บริษัท ได้แก่ Ookbee, MediTech, Computerlogy, Infinity Level, Sinoze และ Playbasis รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้นกว่า 180 ล้านบาท

บทความนี้เป็น Advertorial

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เช็คจุดน้ำท่วมเรียลไทม์ ผ่านแอปฯ BMA Traffic น้ำท่วม-รถติด-อุบัติเหตุ ดูได้หมด

BMA Traffic เป็นแอปพลิเคชันที่เราสามารถดูระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถสำรวจพื้นที่น้ำท่วมหรือรถติดผ่านแอปฯ ได้ทันที...

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

2024 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยต้องโฟกัสอะไร? รู้จักกลยุทธ์ 2C โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย เจาะปัจจัยหลักที่นักการตลาดดิจิทัลต้องรู้

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 2 กุญแจชิ้นสำคัญอย่าง Content & Convenience ที่กุมชะตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในยุคดิจิทัล...