บทเรียนจากฟุตบอลยูโรสู่ฟุตบอลโลกของ Meta ปกป้องนักเตะอย่างไรจากข้อความเหยียดผิว | Techsauce

บทเรียนจากฟุตบอลยูโรสู่ฟุตบอลโลกของ Meta ปกป้องนักเตะอย่างไรจากข้อความเหยียดผิว

ฟุตบอลโลก 2022 ได้เปิดม่านขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ท่ามกลางความตื่นเต้นของแฟนลูกหนังทั่วโลก Meta บริษัทแม่ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Instagram กำลังพยายามจัดการและหาวิธีควบคุมเนื้อหาที่ดูหมิ่นหรือสร้างความเกลียดชัง เพื่อปกป้องทั้งนักกีฬาและแฟนบอล หลังมีบทเรียนจากศึกยูโรเมื่อปีที่ผ่านมา

ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียถูกตั้งคำถามถึงมาตรการควบคุมและสกัดกั้นเนื้อหาเชิงลบ ที่ไม่สามารถปกป้องนักเตะผิวดำของทีมชาติอังกฤษ จากการถูกโจมตีทางโลกออนไลน์ได้

ย้อนรอยยูโร เกิดอะไรขึ้น ทำไมคนถึงพากันแบน Meta

คู่ชิงชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ระหว่างทีมชาติอิตาลีและทีมชาติอังกฤษ จบลงด้วยชัยชนะของทีมชาติอิตาลี หลังดวลจุดโทษชนะ 3 ประตูต่อ 2  มาร์คัส แรชฟอร์ด, บูคาโย ซาก้า และเจดอน ซานโช่ ตกเป็นเป้าโจมตีของแฟนบอลในโลกออนไลน์ที่กระหน่ำแสดงความเห็นด้วยข้อความที่มีเนื้อหาเชิงลบ หลังทั้งสามคนพลาดจุดโทษ

ทำให้ Facebook Instagram รวมถึง Twitter ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่มีมาตรการหรือขั้นตอน ที่จะสามารถปกป้องนักกีฬาได้ บูคาโย ซาก้า หนึ่งในนักเตะที่ถูกโจมตี ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงแพลตฟอร์มเช่นกัน

สำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Facebook Instagram และ Twitter ผมไม่ต้องการให้เด็กหรือผู้ใหญ่ได้รับข้อความที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและทำร้ายจิตใจ แบบที่ผม มาคัส (แรชฟอร์ด) และเจดอน (ซานโช่) ได้รับ ผมรู้ได้ทันทีถึงความเกลียดชังที่ผมกำลังจะได้รับ และนั่นเป็นความจริงที่น่าเศร้า ที่แพลตฟอร์มอันทรงพลังของคุณไม่ได้ทำอะไรมากพอที่จะหยุดข้อความเหล่านี้

เหตุการณ์ครั้งนั้นสะเทือนไปทั้งเกาะอังกฤษ อดีตนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน และเจ้าชายวิลเลียม เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาประนามการกระทำดังกล่าว ด้านทีมกีฬาชั้นนำและนักกีฬาทั่วทั้งประเทศออกมาคว่ำบาตรและโจมตีการทำงานของแพลตฟอร์ม เพื่อประท้วงความล้มเหลวของบริษัทในการจัดการโพสต์เหยียดผิวและเหยียดเพศ

ในแถลงการณ์ของ Premier League ลีกฟุตบอลสูงสุดของอังกฤษ ระบุว่า พวกเขาสนับสนุนการคว่ำบาตรแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2021 และเรียกร้องให้พวกเขาออกมาทำอะไรมากกว่านี้ เพื่อกำจัดความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ ซึ่งรวมถึงการหาวิธีคัดกรอง บล็อก ลบโพสต์ที่ไม่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว และให้ความช่วยเหลือกับหน่วยงานด้านกฎหมาย ในการระบุตัวตนและลงโทษผู้กระทำผิด

นอกจากนั้น ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องไปถึงรัฐบาล เพื่อให้แน่ใจว่าภาครัฐจะมีการบังคับใช้กฎหมาย Online Safety Bill หรือร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางออนไลน์ ที่มุ่งเน้นสร้างพื้นที่ปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต ในขณะเดียวกันก็ปกป้องการแสดงออกเสรีภาพในการแสดงออกด้วย

โดยกฎหมาย Online Safety Bill มีส่วนหนึ่งที่ระบุให้ แพลตฟอร์มต้องจัดการกับเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในพื้นที่ของตน รวมถึงข้อความที่มีการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว และจะต้องมีกระบวนการที่เหมาะสมเพื่อหยุดผู้กระทำผิดที่ใช้แพลตฟอร์มของพวกเขาเพื่อเผยแพร่ความเกลียดชัง และจะต้องตอบสนองอย่างรวดเร็วหากมีผู้ใช้งานโพสต์เนื้อหาที่มีการเหยียดเชื้อชาติ โดยบริษัทที่ละเลยหน้าที่อาจต้องเสียค่าปรับจำนวนมากถึง 10% ของมูลค่าการซื้อขายทั่วโลก 

อย่างไรก็ตาม การผลักดันการใช้กฎหมายดังกล่าวปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า และไม่มีรายงานว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียถูกเทียบปรับแต่อย่างใด นอกจากนั้น จากผลสำรวจของ CCDH (Center for Countering Digital Hate) พบว่า 65 % ของ 206 บัญชีบน Instagram และ Twitter ที่ถูกรายงานว่าเหยียดเชื้อชาติต่อนักกีฬา ยังคงใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มในปีต่อมา ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวในการจัดการ 

ต่อข้อสงสัยนี้ โฆษกของ Meta ได้ออกมาตอบกลับว่า "ไม่มีใครควรถูกเหยียดผิว และเราไม่ต้องการให้มันปรากฏอยู่บน Instagram โดยปกติเราจะไม่ปิดบัญชีของใคร สำหรับการทำผิดกฎครั้งแรก เพราะเราเชื่อว่าผู้คนควรมีโอกาสแก้ไขพฤติกรรมของพวกเขา" 

เธอยังยืนยันว่าบริษัทไม่ได้เพิกเฉยต่อข้อความดูหมิ่น และทำการลบออกทันทีเมื่อพบเห็น รวมถึงจะปิดบัญชีสำหรับผู้ที่กระทำผิดซ้ำ ๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถพูดได้ว่าบริษัทไม่ทำอะไรเลย เพียงเพราะยังพบบัญชีผู้ใช้ที่กระทำผิดยังคงออนไลน์อยู่ 

ฟุตบอลโลก 2022 บททดสอบครั้งใหญ่อีกครั้ง 

จริงอยู่ที่เหตุการณ์หลังนัดชิงยูโรเมื่อปีก่อนได้สร้างการรับรู้ถึงการเหยียดเชื้อชาติบนโลกออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักกีฬาผิวดำมักตกเป็นเป้าโจมตีอยู่เสมอ และเป็นมานานแล้วด้วย และไม่ใช่ครั้งแรกที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียถูกตำหนิถึงระบบตรวจสอบที่ไม่มีประสิทธิภาพพอจะปกป้องพวกเขา ฟุตบอลโลกครั้งนี้จึงเหมือนเป็นเวทีที่ Meta จะได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง

ในบล็อกของ Meta ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ระบุว่าบริษัทได้วางกฎเกณฑ์และบทลงโทษที่ชัดเจนเพื่อจัดการข้อความกลั่นแกล้ง การคุกคาม และข้อความแสดงความเกลียดชัง และบริษัทจะเดินหน้าเชิงรุกด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหาเนื้อหาที่มีแนวโน้มจะละเมิดกฎดังกล่าวและจะลบทิ้งโดยอัตโนมัติ

รวมถึงระบุเพิ่มเติมว่า ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายนปีนี้ บริษัทได้จัดการกับคำพูดแสดงความเกลียดชังมากกว่า 17 ล้านรายการบน Facebook และ Instagram และข้อความกว่า 90 % บริษัทสามารถจัดการได้ก่อนที่จะมีผู้รายงานเข้ามา โดยขณะนี้บริษัทได้พัฒนาฟีเจอร์ที่จะช่วยปกป้องนักฟุตบอลรวมถึงแฟน ๆ จากข้อความแสดงความเกลียดชังผ่าน Instagram เช่น 

  • Hidden word : ฟีเจอร์ที่จะช่วยปิดกั้นและคัดกรองข้อความที่ไม่ผู้ใช้ไม่ต้องการเห็น ที่ส่งมาทาง Direct Message หรือคอมเมนต์ของผู้ใช้งาน 


ภาพจาก : Meta 

  • Limits :  สำหรับนักฟุตบอลหรือครีเอเตอร์หลายคน พวกเขายังคงต้องการติดต่อและสร้างปฏิสัมพันธ์กับแฟน ๆ ทำให้พวกเขาไม่ต้องการปิดกั้นคอมเมนต์ Instagram จึงได้ปล่อยฟีเจอร์ Limits ที่เมื่อเปิดใช้งานแล้ว สามารถซ่อนคอมเมนต์หรือข้อความจากผู้ที่ไม่ได้ติดตามเรามาก่อนหน้านี้ เพราะมีหลายครั้งนักกีฬาถูกถล่มโจมตีหลังจากเกมฟุตบอลจบ จากแอคเคาท์ที่ไม่เคยติดตามพวกเขา 


ภาพจาก : Meta 

Meta มุ่งแก้ปัญหาที่ต้นทางด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อตรวจจับเมื่อมีผู้ใช้งานพยายามโพสต์ความคิดเห็นที่อาจไม่เหมาะสม และเตือนพวกเขาว่าอาจละเมิดกฎ ปล่อยฟีเจอร์ที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหยุดและคิดใหม่อีกครั้ง ก่อนที่พวกเขาจะตอบกลับความคิดเห็นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน

เราจะเตือนพวกเขาให้เคารพ (ผู้ใช้งานสาธารณะ)  ให้พวกเขาระลึกได้ว่า อีกด้านหนึ่งของกล่องข้อความ มีคนจริง ๆ อยู่


คำสัญญาของ Meta

Meta กล่าวในแถลงการณ์ว่า พวกเขาได้พูดคุยกับนักกีฬา ทีมฟุตบอล และสมาคมต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นประจำ ซึ่งรวมถึง FIFA เพื่อแจ้งให้ทราบและทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับนโยบายด้านความปลอดภัย และทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมชาติที่ร่วมแข่งขันในฟุตบอลโลก เพื่อช่วยให้ผู้เล่นสามารถเปิดใช้งานฟีเจอร์ความปลอดภัยได้ รวมถึงกล่าวว่า จะร่วมมือกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายด้วย

“แม้เราจะทราบดีว่าไม่มีอะไรที่จะแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ แต่เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาเครื่องมืออย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องชุมชนของเรา และทำงานอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมฟุตบอลเพื่อให้แอปของเราเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับนักฟุตบอลและแฟน ๆ”

สำหรับผู้เขียน เรารู้สึกเห็นด้วยในถ้อยแถลงของ Meta เพราะไม่ว่าจะมีเครื่องมือ ระบบ ที่จะมาช่วยคัดกรองและหยุดผู้มุ่งจะโจมตีนักกีฬาด้วยถ้อยคำที่ดูหมิ่น เหยียดหยาม ใด ๆ เราก็ไม่สามารถหยุดการกระทำเหล่านั้นได้แบบเบ็ดเสร็จ เพราะฉะนั้น เราควรระลึกอยู่ตลอดเวลาว่า "ในอีกด้านหนึ่งของกล่องข้อความ ยังมีคนจริง ๆ (มนุษย์) อยู่" 


อ้างอิง : theverge, nytimes

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เทียบสวัสดิการหญิง ไทยสู้ใครได้บ้าง?

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามาดูว่าการต่อสู้กว่า 1 ศตวรรษที่ผ่านมา ในปัจจุบัน ‘สิทธิสตรี’ และสวัสดิการหญิงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว...

Responsive image

Bridgit Mendler อดีตดาราเด็ก Disney ผันตัวมาเป็น CEO บริษัทเทคโนโลยีอวกาศ

Bridgit Mendler อดีตดาราเด็กและนักร้องชื่อดังจาก Disney Channel ล่าสุดเธอผันตัวมาทำ Startup สถานีอวกาศภาคพื้นดินแล้ว...

Responsive image

5 เทคนิคการเขียน Journal ที่ช่วยพัฒนาทักษะของผู้นำ

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 5 แนวทางเพื่อพัฒนาทักษะผู้นำผ่านการเขียน Journal...