เปิดดูกรณีศึกษา บริษัทใหญ่ที่สุดระดับท็อปของโลก มีวิธีปรับตัวกับการมาของสตาร์ทอัปอย่างไรบ้าง | Techsauce

เปิดดูกรณีศึกษา บริษัทใหญ่ที่สุดระดับท็อปของโลก มีวิธีปรับตัวกับการมาของสตาร์ทอัปอย่างไรบ้าง

500 Startups เป็นกลุ่มผู้ลงทุนในสตาร์ทอัปที่เรียกได้ว่าแอคทีฟที่สุดในโลก โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาลงทุนไปราวๆ 1,600 ทุนทั่วโลกแล้ว อีกทั้งยังร่วมก่อตั้ง 500 Tuktuks ที่เป็นกองทุนสำหรับลงทุนในสตาร์ทอัปในประเทศไทยโดยเฉพาะด้วย ล่าสุดกลุ่ม 500 Startups ได้ร่วมมือกับ Insead graduate business school เพื่อศึกษาว่า บริษัทใหญ่ที่สุด 2,000 บริษัททั่วโลก (จากการจัดอันดับโดย Forbes) มีวิธีปรับตัวและรับมือกับสตาร์ทอัปอย่างไรบ้าง ในรายงานชิ้นนี้จะครอบคลุมบริษัทใหญ่ที่สุดของโลก 500 บริษัทจาก 69 อุตสาหกรรม ใน 37 ประเทศ ซึ่งเป็นการศึกษาและรวบรวมข้อมูลรอบด้านจากรายงานประจำปีและเว็บไซต์ของบริษัทเพื่อดูว่าสถานการณ์ของบริษัทเหล่านั้นกับตลาดสตาร์ทอัปเป็นอย่างไร

Arnaud Bonzom Director of Corporate Innovation ใน 500 Startups กล่าวว่า “เราค้นพบความจริงชิ้นใหม่ที่ว่า บริษัทใหญ่ที่สุดของโลกหลายๆบริษัทนั้น ไม่ได้ 'สูญเสีย' มากขนาดที่พวกเราคิด”

arnaud-how-do-enterprises-deal-with-startups2

“โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป” เขากล่าว “รวมถึงโมเดลธุรกิจของบริษัทใหญ่ๆ ด้วย” ตัวอย่างเช่น

  • Uber - บริษัทแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่มีรถแท็กซี่สักคัน
  • Alibaba - บริษัทขายปลีกที่มูลค่ามากที่สุดในโลก ไม่มีคลังเก็บสินค้า
  • Facebook - บริษัทมีเดียที่เป็นที่นิยมที่สุดในโลก ไม่ได้ผลิตเนื้อหาเองด้วยซ้ำ

มีกรณีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นแล้วว่า จะเลือกเปลี่ยน หรือเลือกจะตายไป Blockbuster บริษัทเช่าหนังที่เคยเป็นเพื่อนรักของเราตั้งแต่สมัยเด็กหายไปไหนแล้วในปัจจุบัน หรือทำไม Kodak ถึงไม่ได้มีชื่อเสียงในตลาดกล้องดิจิทัล แล้วคุณเชื่อหรือไม่ว่า Blockbuster เคยได้โอกาสในการจะซื้อ Netflix แต่สุดท้ายก็ปล่อยมันผ่านไป เหมือนกับที่ Kodak มีโอกาสจะเข้ามาร่วมแจมในวงการกล้องดิจิทัล แต่ก็ไม่ได้ทำ สำหรับในปัจจุบันบริษัทต่างๆ มีสองทางเลือกนั่นก็คือ เปลี่ยนแปลง หรือ ตายไป ซึ่งเราคงไม่แปลกใจที่จะได้ยินว่า

1. บริษัท 100 บริษัทแรกในลิสต์ Forbes’ Global 500 กำลังดำเนินความร่วมมือกับสตาร์ทอัปอย่างจริงจังเป็นสองเท่าของ 100 บริษัทสุดท้ายในลิสต์นั้น

2. Wall-Street journal ได้ระบุถึงรายชื่อของบริษัทสตาร์ทอัปที่จะจัดอยู่ภายใต้ Billion Dollar Startups Club ว่า มี Unicorn Startups มากกว่าครึ่ง (61.7%) ที่ระดมทุนจากอย่างน้อย 1 บริษัทระดับคอร์เปอเรท (ไม่รวมสถาบันทางการลงทุนหรือธนาคาร)

3. สตาร์ทอัปสามารถระดมทุนจากบริษัทได้โดยตรง โดยไม่ต้องพึ่งพา VC แล้ว ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นว่า VC เองจะเริ่มโดนลดความสำคัญ (disruption) ลงไปในอนาคตอันใกล้นี้

Arnaud ยกตัวอย่างบริษัท DocuSign ในสหรัฐอเมริกา ที่ระดมทุนใหญ่ระดับ Series E จากเพียงกลุ่มนักลงทุนที่เป็นรูปแบบบริษัทหรือองค์กรเท่านั้น (SalesForce, Google, Recruit, Mitsui & Co, BBVA, NTT Docomo, Telstra and MKI) ไม่ได้มีจาก VC เลย กลายเป็นว่ารูปแบบการลงทุนแบบเดิมจาก VC ไม่ใช่แหล่งเงินทุนเดียวสำหรับสตาร์ทอัปอีกแล้ว เหมือนกับเป็นการพิสูจน์ว่าในโลกธุรกิจนี้ ใครก็สามารถโดน ‘disrupt’ ได้

4. บริษัทต่างๆ ไม่ได้ลงทุนแค่ในกลุ่มธุรกิจที่ใกล้เคียงกับตัวเองเท่านั้น เช่น บริษัทสตรีมมิ่งเพลงชื่อดังของโลกอย่าง Spotify ก็ได้ทุนจาก Coca-Cola

มีคำถามว่าทำไมแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลงถึงไประดมทุนจากบริษัทเครื่องดื่ม “เมื่อเรามองดูการลงทุนหรือการพาร์ทเนอร์ร่วมมือกันในรูปแบบนี้ ระหว่างบริษัทใหญ่กับสตาร์ทอัป มันเป็นเรื่องของการที่บริษัทเหล่านั้นกำลังเผชิญกับความท้าทายหรือการแข่งขันอะไรอยู่” นาย Arnaud กล่าว ความท้าทายอย่างหนึ่งของ Spotify ก็คือการที่จะโปรโมทผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก และสิ่งที่ Spotify ได้จากการพาร์ทเนอร์กับ Coca Cola ก็คือความร่วมมือและการสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่ที่ขายผลิตภัณฑ์อยู่แล้วทั่วโลก สิ่งที่เราอาจนึกไม่ถึงก็คือ Coca-Cola เป็นบริษัทเครื่องดื่มที่มีรถบรรทุกมากกว่ารถบรรทุกทั้งหมดของ UPS, DHL และ FedEx รวมกันเสียอีก! จากจุดนี้ทำให้คิดได้ว่า Coke เป็นบริษัทด้านการขนส่งที่ใหญ่ที่สุดของโลกเลยทีเดียว และในอีกมุมหนึ่ง Coke เองก็ได้ประโยชน์จากความร่วมมือนี้เช่นกัน คือการที่ลูกค้าของ Coke ได้สิทธิ์ฟังเพลงฟรีจาก Spotify ก็ช่วยให้เสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่าง Coke กับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

มีอีกหลายข้อน่าสนใจจากรายงาน คือ

  • ฝ่ายวิจัยและพัฒนา (R&D) ภายในบริษัทเองก็เปิดโอกาสสำหรับการร่วมทุนใหม่ๆ: เก้าในสิบของบริษัทที่ใช้งบวิจัยและพัฒนามากสุดในโลก เป็นบริษัทที่ได้ร่วมมือกับสตาร์ทอัปแล้ว
  • ไม่ใช่แค่บริษัทอย่าง Google เท่านั้นที่ลงทุนก้อนใหญ่ในบริษัทสตาร์ทอัป แต่บริษัทรูปแบบดั้งเดิมอื่นๆ ก็มีการวิธีการลงทุนอย่างชัดเจนเช่นกัน เช่น กลุ่มบริษัทประกันภัย Ping An มีกลุ่มทุน Ping An Ventures
  • การลงทุนในสตาร์ทอัปไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะร่วมมือกับบริษัทนั้นๆ ตัวอย่างเช่น บริษัทมีเดีย ProSiebenSat.1 Media AG ให้ค่าแอร์ไทม์เป็นรายได้และหุ้นตอบแทน ผ่านบริษัทร่วมทุนในเครืออย่าง SevenVentures
  • อีกหนึ่งวิธีที่นิยมในวงการสตาร์ทอัปคือการสร้าง accelerator เพื่อค้นหาธุรกิจที่น่าสนใจใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้บริษัทที่ไม่ใช่บริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ทำได้แล้ว เช่น Diageo (ดิอาจิโอ) มี accelerator สำหรับผลิตเหล้ายี่ห้อใหม่ๆ เรียกว่า Distill Ventures หรือแม้กระทั่ง CIA ก็มีบริษัท IN-Q-TEL
  • การร่วมมือแบบเพียงบริษัทเดียวต่อสตาร์ทอัปไม่ใช่แค่ทางเลือกเดียวเท่านั้น: บริษัทระดับโลกต่างๆ ก็ร่วมมือกันเองเช่นกัน อย่างกองทุน The Ecomobility Ventures ถูกรวมมาจาก 5 บริษัทใหญ่ คือ Air Liquide, Michelin, Orange, SNCF และ Total
  • ในขณะที่มีถึง 8 วิธีในการจะเกี่ยวดองกับเหล่าสตาร์ทอัป (หรือที่ 500 Startups เรียกว่า ความสัมพันธ์กับสตาร์ทอัปแบบมีดพกสวิส - Swiss Army Knife of Startup Engagement) ซึ่งก็คือ การควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ (M&A), การลงทุน (investments), การนำบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมเข้าจดทะเบียน (spin-offs), การเข้าร่วมสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ (accelerators & incubators), การสนับสนุนด้านงานอีเว้นท์ (events), การสนับสนุนด้านบริการ (support services), การจัดโปรแกรมต่างๆ สำหรับสตาร์ทอัป (startup programs) และ ธุรกิจประเภท co-working space
  • ประเทศที่ตื่นตัวที่สุดในการร่วมมือกับสตาร์ทอัพคือ ฝรั่งเศส ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา โดยมี 23 จากบริษัท 25 บริษัทระดับท็อปของฝรั่งเศสที่ได้มีการร่วมมือกับสตาร์ทอัปแล้ว
  • จาก 5 ประเทศที่มีการร่วมมือกับสตาร์ทอัปมากที่สุด มีประเทศจากยุโรปมากถึง 4 ประเทศ (ฝรั่งเศส 92.0%, เยอรมนี 71.4%, สวิสเซอร์แลนด์ 71.4%, และ สหราชอาณาจักร 53.3%) ญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 4 มี 56.8% ส่วนสหรัฐอเมริกาไม่ได้ติดหนึ่งในห้า มีอัตราความร่วมมืออยู่เพียง 45.5% จากบริษัทสหรัฐอเมริกาทั้งหมด
  • บริษัทด้านเภสัชกรรม, โทรคมนาคม และธนาคาร เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความร่วมมือกับสตาร์ทอัปเหนียวแน่นที่สุด

arnaud-how-do-enterprises-deal-with-startups

ข้อเสนอแนะ สำหรับบริษัทที่จะร่วมมือทำงานกับสตาร์ทอัป

มีหลายๆ บริษัทกำลังมองหาจังหวะที่เหมาะสม และจะเป็นประโยชน์สูงสุดในการเริ่มร่วมงานกับสตาร์ทอัป เช่น dtac ซึ่งได้เปลี่ยนจากการลงทุนในระดับ series A ซึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นการสู้ชนกับนักลงทุนรายใหญ่ต่างๆ มาเป็นการทำโครงการ accelerator ทำให้ dtac เองก็ได้สิทธิ์เข้าร่วมมือกับสตาร์ทอัปตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น แต่ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะบริษัทสตาร์ทอัปในช่วงต้นยังมีมูลค่าต่ำมาก

บริษัทใหญ่ๆในลิสต์ 500 บริษัทใหญ่ที่สุดของโลกใช้วิธีควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (Mergers & Acquisitions - M&A) และบางบริษัทก็ทำวิจัยและพัฒนาด้วย (Research & Development - R&D) จากงานวิจัยระบุว่า ความร่วมมือระหว่างบริษัทและสตาร์ทอัปส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน 2 ช่วงนี้ โดยนาย Arnaud ได้แนะนำแนวทางสำหรับบริษัทต่างๆ ดังนี้

  • บริษัทที่สนใจเข้าร่วมกับสตาร์ทอัปที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นมากๆ สามารถเข้าร่วมกับโปรแกรมอย่าง Startup Grind, Startup Weekend หรือ Lean Startup Machine ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เน้นบ่มเพาะกลุ่มคนที่มีไอเดีย ถือว่ากำลังเข้าร่วมในช่วงต้นของกระบวนการ คล้ายกับช่วง R&D แบบปกติของบริษัท หมายเหตุ จาก Techsauce: สามรายชื่อข้างต้นเป็นตัวอย่างโปรแกรมจากต่างประเทศที่นาย Arnaud หยิบยกขึ้นมา ซึ่งมีจัดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน ในขณะเดียวกัน ในประเทศไทยก็มีโปรแกรมในกลุ่มประเภทนี้ เช่น HUBBA Stadium
  • ส่วนบริษัทที่ลงทุนในระดับ Series D และ E จะใกล้เคียงกับการเข้าร่วมแบบการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพราะเป็นการเข้าร่วมในตอนที่ตัวผลิตภัณฑ์เอง สถานการณ์ตลาด หรือส่วนประกอบอื่นๆ ลงตัวแล้วหมายเหตุ จาก Techsauce: สำหรับในไทย Series การลงทุนจะไม่ใหญ่มาก อาศัยการเติบโตด้วยตนเองด้วย สตาร์ทอัปในระดับ Series A ของไทยเอง ก็ถือว่าเป็นสตาร์ทอัปที่เริ่มมีส่วนประกอบต่างๆ ลงตัวแล้ว

โดยสรุปแล้ว รายงานจาก 500 Startups และ Insead แสดงให้เห็นว่าบริษัทส่วนใหญ่เล็งเห็นประโยชน์จากการร่วมมือดำเนินความสัมพันธ์กับเจ้าของกิจการ และได้ร่วมลงทุนในสตาร์ทอัปไม่วิธีการใดก็วิธีการหนึ่งแล้ว ทีนี้ก็เหลือแค่เมื่อไรเท่านั้น ที่เราจะได้เห็นบริษัทใหญ่ๆ ที่เหลือ แห่เข้าร่วมแจมมหกรรมความร่วมมือสร้างความสัมพันธ์กับเหล่าสตาร์ทอัปต่อไป


สำหรับบริษัทที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มจาก 500 Startups และ Insead’s จำนวน 51 หน้าได้ที่: How do the Biggest Companies Deal with the Startup Revolution? รวมถึงติดตาม Techsauce เพิ่มเติม เรายังมีสาระความรู้ และข่าวคราวเรื่องสตาร์ทอัปและคอร์เปอเรท มานำเสนอเพิ่มเติมแน่นอน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SpaceVIP จัดทริปกินมื้อหรูระดับมิชลินบนอวกาศ สนนราคาต่อหัว 17.8 ล้านบาท

โอกาสสำหรับการทานอาหารสุดหรูบนอวกาศมาถึงแล้ว SpaceVIP เตรียมเปิดประสบการณ์การทานอาหารจากเชฟระดับ Michelin Star ที่ความสูงกว่า 100,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลในการผจญภัยบนขอบอวกาศ โอกา...

Responsive image

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? แหล่งข่าวชี้ Selena Gomez เตรียมขายแบรนด์

Rare Beauty จะเปลี่ยนเจ้าของ? ข่าวจาก Bloomberg ออกมาว่าตอนนี้ Selena Gomez ได้เริ่มดำเนินการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนเพื่อประเมินมูลค่าแบรนด์แล้ว...

Responsive image

ลุยตลาด EV ปตท.ตั้งบริษัทลูก ‘X Mobility Plus’ เป็นดีลเลอร์ขายรถไฟฟ้าจีน XPENG

PTT ตั้งบริษัทลูก ‘X Mobility Plus’ เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า XPENG...