รู้จัก Drama Culture ตัวขัดความเจริญที่องค์กรมองข้าม | Techsauce

รู้จัก Drama Culture ตัวขัดความเจริญที่องค์กรมองข้าม

แก่งแย่งชิงดี ติฉินนินทา พูดจาให้ร้าย โลกการทำงานก็แบบนี้ มีกันหมดทุกที่แหละ…

ประโยคยอดฮิตที่ทำให้เรื่องดราม่า กลายเป็น Drama Culture ในที่ทำงาน เพราะถูกมองข้ามและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เนื่องจากถูกคำพูดเหล่านี้กล่อมให้มองว่า เรื่องดราม่า = เรื่องปกติ ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องใส่ใจ แต่รู้หรือไม่ว่าพนักงานกว่า 53% พร้อมลาออกหากต้องเจอปัญหาดราม่าในองค์กร

บทความนี้ Techsauce จะพามารู้จักกับ Drama Culture ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่บริษัทไหนก็มี แต่ความจริงส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่คิด

Drama Culture คืออะไร ?

Drama Culture ก็เป็นประเภทหนึ่งของ Toxic Culture แต่จำเพาะเจาะจงไปที่เรื่อง ‘ดราม่า’ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเรื่องน้ำเน่า ซึ่งมักจะไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน แต่พัฒนามาจากความรู้สึกไม่ดีต่อเพื่อนร่วมงานหรือคนในองค์กรเดียวกัน เช่น การอิจฉากันในที่ทำงาน นำไปสู่การนินทา ใส่ร้ายป้ายสี หรือการปล่อยข่าวลือเสียๆ หายๆ ให้ฝ่ายตรงข้ามเสื่อมเสียชื่อเสียง

รวมถึงการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) อย่างการหยอกแซวด้วยคำพูดที่ส่อไปในเชิงชู้สาวหรือทะลึ่ง ก็เป็นอีกประเด็นที่ส่งผลให้พนักงานอึดอัดและไม่สบายใจ ซึ่งก็ถือเป็นดราม่าในที่ทำงานเช่นเดียวกัน

ทำไม ‘ดราม่าในองค์กร’ ถึงเป็นตัวขัดความเจริญ ?

ในการทำงานต้องใช้ทั้งแรงกายและพลังสมองในทุก ๆ วัน ลองคิดว่าถ้าพนักงานต้องเสียแรงเหล่านั้นเพื่อมาจัดการกับเรื่องดราม่าและอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง พวกเขาจะเหลือพลังในการทำงานให้บริษัทมากน้อยแค่ไหน ?

ดังนั้น Drama Culture จึงถือเป็น ‘ความสิ้นเปลืองทางอารมณ์และประสิทธิภาพในการทำงาน’ สำรวจพบว่า 

  • พนักงาน 38% จงใจลดคุณภาพงานของตน เพราะหมดแรงไปกับการต่อกรปัญหาดราม่า
  • พนักงาน 66% เผยว่าประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาลดลง
  • พนักงานถึง 78% รู้สึกมีความมุ่งมั่นในการทำงานน้อยลง และไม่สนใจผลดีหรือผลเสียที่เกิดต่องานและบริษัทอีกต่อไป
  • พนักงาน 12% ลาออกจากงาน เพราะทนไม่ไหวกับพฤติกรรมดราม่าของเพื่อร่วมงาน

นอกจากนี้ผลวิจัยจาก Wakeman ยังชี้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วพนักงานใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 26 นาทีต่อวัน ในการจัดการกับปัญหาดราม่าและอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง หากบริษัทมีพนักงาน 100 คน โดยแต่ละคนมีรายได้ 30 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ค่าใช้จ่ายที่บริษัทอาจสูญเสียจะมากกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์ต่อปี (59 ล้านบาท) คิดเป็นเกือบ 29 % ของค่าจ้างทั้งหมดที่จ่ายไป

เห็นได้ชัดว่า ‘เรื่องดราม่าที่มีกันทุกบริษัท’ สามารถส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้โดยตรง และประสิทธิภาพการทำงานที่ถดถอยก็ย่อมส่งผลเสียต่อองค์กรในระยะยาวอย่างแน่นอน

องค์กรจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ?

การแก้ไขต้องเริ่มต้นจากการมองว่า ‘Drama Culture’ คือปัญหาก่อน ไม่เพิกเฉยและพยายามชินชาต่อมัน โดยวิธีที่องค์กรจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้แบ่งออกเป็น 5 วิธี

1. กำหนดเป็นหนึ่งในนโยบายหรือกฎของบริษัท

วิธีที่ดีและเร็วที่สุดในการหยุดเรื่องราวดราม่าในออฟฟิศ ก็คือ การกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและระบุเอาไว้ในคู่มือพนักงาน เพราะการทำแบบนี้จะเป็นสิ่งย้ำเตือนพนักงานทุกคนให้ตระหนักว่าการสร้างเรื่องราวที่ทำให้ผู้อื่นไม่สบายใจและอึดอัด ถือเป็นเรื่องที่มีความผิด และทุกคนในบริษัทมีหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน

2. กำหนดบทบาทพนักงานแต่ละคนให้ชัดเจน

บางครั้งการแข่งขันกัน หรือการอิจฉาริษยาก็เกิดมาจากพนักงานไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง เช่น การทำงานในส่วนของคนอื่น แม้จะดูเหมือนการให้ความช่วยเหลือแต่สำหรับบางคนก็มองว่าเป็นการไม่ให้เกียรติ และเป็นการก้าวก่าย

การที่บริษัทกำหนดบทบาทพนักงานแต่ละคนให้ชัดเจน ว่าแต่ละคนต้องทำอะไร และไม่ต้องทำอะไร ใครดูแลในส่วนไหน จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดความบาดหมางใจในหมู่พนักงาน

3. หยุดข่าวลือและการนินทาในที่ประชุม

ข่าวลือเป็นสิ่งที่แพร่กระจายไวและหยุดยั้งได้ยาก การพูดคุยและชี้แจงอย่างชัดเจนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้นเมื่อมีข่าวลือหลุดออกมาและกระจายไปทั่วองค์กร วิธีรับมือที่ดีที่สุดและองค์กรสามารถทำได้ คือ กำหนดเป็นหนึ่งในวาระการประชุม และใช้โอกาสที่พนักงานทุกคนอยู่กันพร้อมหน้าชี้แจงถึงประเด็นเหล่านั้น

4. มีการบังคับใช้บทลงโทษ

บทลงโทษ คือหนึ่งในสัญลักษณ์ที่แสดงให้คนในองค์กรรู้ว่า “การสร้างเรื่องดราม่ามีความผิด และจะต้องยอมรับผลที่ตามมาจากการกระทำของพวกเขา” ซึ่งบทลงโทษจะเข้มงวดแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าเรื่องดราม่านั้นสร้างความเสียหายรุนแรงแค่ไหน เช่น การเรียกไปตักเตือน โดนทัณฑ์บน ถูกพักงาน หรือแม้กระทั่งไล่ออก

5. ตั้งมาตรการในการกำกับดูแลการระงับข้อพิพาท

นอกจากจะมีบทลงโทษแล้ว บริษัทควรมีมาตราการที่ใช้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือความขัดแย้งระหว่างคนในองค์กรเช่นเดียวกัน อาทิ รับฟังเรื่องราวและปัญหาของพนักงานแต่ละคนเพื่อช่วยกันหาแนวทางแก้ไข หรือเปิดพื้นที่ให้พนักงานได้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา (แต่อยู่ภายใต้กรอบของการเคารพและให้เกียรติกัน) 

วิธีนี้จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้พนักงานได้มีพื้นที่ในการแสดงออกถึงความคิด ความรู้สึก รวมถึงข้อกังวลที่มีต่อเพื่อนร่วมงาน และอาจนำไปสู่การปรับความเข้าใจ ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว

อ้างอิง: 2021 culture refresh report.pdf (shrm.org), firedupculture, insperity, work.chron

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำยังไง ถ้าไม่ได้เป็น ‘ลูกรัก’ เจ้านาย

‘ระบบลูกรัก’ ที่ฝังรากลึกในองค์กร เป็นอีกหนึ่งปัญหาช้างในห้อง (Elephant In The Room) ปัญหาใหญ่ที่คนส่วนใหญ่รับรู้ แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง หรือพูดไม่ได้ ทำยังไงดี...

Responsive image

รู้จักประโยชน์ Reverse Mentoring ที่ให้คนรุ่นใหม่มาสอนผู้ใหญ่ในองค์กร

เมื่อนึกถึงการทำงานในองค์กรแล้วส่วนใหญ่คนที่อายุมากกว่าหรืออาวุโสจะต้องให้คำแนะนำรุ่นน้อง แล้วถ้ากลับกันลองให้รุ่นน้องเป็นคนแนะนำผู้ใหญ่บ้างจะเป็นอย่างไร?...

Responsive image

พนักงาน 47% ไม่คิดอยากเลื่อนขั้น เพราะต้องทำงานหนักกว่าเดิม

จากสำรวจล่าสุดพบว่ามนุษย์เงินเดือนไม่ต้องการเลื่อนขั้น เพราะต้องการความสุขและพึงพอใจในบทบาทปัจจุบัน มากกว่าต้องก้าวหน้าไปรับผิดชอบงานที่มากขึ้น...