ถอดบทเรียน CEO Hello Tomorrow กับ 3 ทักษะที่ผู้นำต้องมีในยุคแห่งนวัตกรรม | Techsauce

ถอดบทเรียน CEO Hello Tomorrow กับ 3 ทักษะที่ผู้นำต้องมีในยุคแห่งนวัตกรรม

บ้านที่สร้างด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ ถนนคอนกรีตที่ซ่อมแซมได้เอง หุ่นยนต์ที่ช่วยแพทย์ในการศัลยกรรม นี่คือไม่กี่ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ Deep Tech โซลูชันเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานจากนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์ ในการแก้ไขปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในมนุษยชาติ

แม้ว่า Deep Tech จะได้รับความสนใจจากองค์กรอย่างล้นหลาม เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือด และแต่ละองค์กรก็ได้คาดหวังถึงผลตอบแทนสูง อย่างไรก็ตาม องค์กรส่วนมากถึง 82% กลับไม่กล้าเริ่มลงทุนในเทคโนโลยี Deep Tech รวมไปถึงนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในชีวิตจริง 

เพราะการใช้เทคโนโลยี Deep Tech ให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับองค์กร ต้องมีผู้นำที่สามารถรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง ซึ่งกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในตลาดที่มีการแข่งขันสูง (Red Ocean) อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป 

บทความนี้ได้เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ของ Arnaud de la Tour ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัท Hello Tomorrow  ผู้คร่ำหวอดในระบบนิเวศสตาร์ทอัพ และเล็งเห็นถึงประโยชน์ของ Deep Tech ที่จะช่วยเร่งการเติบโตขององค์กรได้อย่างก้าวกระโดด ได้กล่าวถึงทักษะที่ผู้นำจะต้องมีในยุคแห่งนวัตกรรม

ภาพจาก forbes

ในภาคการเกษตรและภาคการผลิต ปกติจะไม่ได้ให้ความสนใจในเทคโนโลยีเป็นทุนเดิม จนกว่าจะประสบปัญหาที่ว่า เทคโนโลยีได้สร้างแรงสั่นสะเทือน และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจของตน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทสาธารณูปโภคที่มีรายได้หลักจากการบำบัดน้ำเสียให้กับบริษัทเหมืองแร่ ปัจจุบัน บริษัทเหมืองแร่พัฒนาเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียได้เอง จนไปถึงสามารถใช้แบคทีเรียในการรวบรวมโลหะที่มีค่าขึ้นมาจากน้ำเสียอีกด้วย ทำให้บริษัทเหมืองแร่ไม่ต้องพึ่งพาบริษัทสาธารณูปโภคอีกต่อไป 

Interviewer : จากสิ่งที่คุณ Arnaud กล่าว แสดงให้เห็นว่ารายได้หลักของธุรกิจที่เคยมีนั้นหายไปเลย ?

Arnaud: ใช่ เช่นเดียวกันกับกรณีที่โควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาวัคซีนที่ทำมาจากชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) ที่อาศัยอุณหภูมิที่เย็นจัดเพื่อให้ยังคงคุณภาพไว้ บริษัทโลจิสติกส์ทั่วโลกก็ต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อรองรับการขนส่งวัตถุที่มีอุณหภูมิเย็นจัดตลอดระยะทาง

Interviewer : ด้วยเหตุนี้ คุณจึงเหมือนเป็นคนกลางที่คอยจับคู่สตาร์ทอัพ Deep Tech ให้กับองค์กรที่มองหาเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา

Arnaud:  ใช่ นั่นเป็นบริการที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ของ Hello Tomorrow เช่น กรณีที่บริษัทการบินและอวกาศต้องการจะสร้างโมเดลรูปแบบดิจิทัลของเครื่องบิน ทาง Hello Tomorrow ก็จะแบ่งปันเอกสารแสดงข้อมูลและความต้องการของธุรกิจดังกล่าว หรือที่เรียกว่า Request for Proposal (RFP) สำหรับสตาร์ทอัพ Deep Tech ที่อยู่ในเครือข่ายเพื่อเฟ้นหาเทคโนโลยีที่สามารถทำ Digital Twins หรือฝาแฝดทางดิจิทัล ทำสำเนาของวัตถุทางกายภาพอย่างเครื่องบิน ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่จำลองวัตถุได้เสมือนจริง และมีกลไกเชื่อมต่อกับวัตถุจริงได้ 

เมื่อ Hello Tomorrow ได้ Startup ที่ตรงตามความต้องการที่วางไว้ ก็จะจับคู่ Startup กับบริษัทการบินและช่วยเหลือตลอดการทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่าย 

ในทุก ๆ ปี มี Startup ได้สมัครเข้าแข่งขันนวัตกรรม Deep Tech ในโครงการ Hello Tomorrow Challenge กว่า 5,000 ราย ซึ่งได้เปิดทางให้ทางบริษัทได้เข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์จำนวนมหาศาล รวมไปถึงมุมมอง เทรนด์ในแง่ของวิทยาศาสตร์และธุรกิจในทุก ๆ 1-3 ปี

Interviewer : สิ่งที่คุณทำไม่ใช่แค่นำ Deep Tech เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นกรอบความคิดที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทด้วย ทั้งวัฒนธรรมองค์กร และวิธีการดำเนินการ

Arnaud: ใช่แล้ว ผมได้พูดคุยกับสมาชิกรัฐสภายุโรปเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า วิธีการนำ Deep Tech มายกระดับองค์กร และทำให้องค์กรประสบความสำเร็จคือ ไม่ใช่แค่นำเทคโนโลยีมาใช้แล้วก็จบ แต่องค์กรเองจะต้องตีกรอบปัญหาใหม่ พัฒนาปัญหาที่มีอยู่เพื่อครอบคลุมหลายมิติมากขึ้น นำมาสู่โซลูชันที่ใช่และตอบโจทย์ตรงประเด็น

ดังเช่นกรณีที่ Adidas ผู้ผลิตเครื่องแต่งกายกีฬา ต้องการจะแก้ไขปัญหาที่ว่าทำอย่างไรจะรีไซเคิลวัสดุพลาสติกจากเครื่องแต่งกายที่มีอยู่มาเป็นสินค้าใหม่ได้ หาก Adidas ใช้เทคโนโลยีโดยยึดติดกับปัญหาที่ว่า “เราจะนำชิ้นส่วนวัสดุกว่า 30 ชนิดมารีไซเคิลผลิตเป็นรองเท้าคู่ใหม่ได้อย่างไร” คงไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ดีเท่าถ้าหาก Adidas เปลี่ยนมุมมอง และวางกรอบคำถามใหม่ว่า “เราจะใช้ขยะพลาสติกโพลีเมอร์ มาผลิตรองเท้าทั้ง 2 ข้างได้อย่างไร”

Interviewer : ฉันชอบแนวคิดนี้ การตีกรอบปัญหาใหม่จะกลายเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้นำในยุคนี้

Arnaud: นอกจากการตีกรอบปัญหาใหม่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือเปลี่ยนคำถามใหม่ด้วยเช่นกัน นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมสตาร์ทอัพถึงได้เปรียบกว่าหากต้องมากำหนดกรอบปัญหาใหม่ เพราะสตาร์ทอัพเริ่มต้นมาจากศูนย์ และใน Deep Tech เป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากการบรรจบกันของเทคโนโลยีอื่น ๆ จึงทำให้เกิดความเป็นไปได้ของสิ่งต่าง ๆ แทบจะไร้ขีดจำกัด 


Interviewer : คุณกำลังจะบอกว่ามีโซลูชันมากมายที่บริษัทอาจมองข้าม ?

Arnaud: ใช่ และองค์กรไม่จำเป็นต้องเข้าใจลักษณะทางเทคนิคของ Deep Tech ทั้งหมด แต่ทุกคนในทีมจะต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีชนิดนี้ทำอะไรได้บ้าง เพราะถ้าหากคุณไม่รู้ว่าบางสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้ ก็จะไม่มีทางที่จะวางกรอบปัญหาได้

Interviewer : เป็นการเน้นพัฒนานวัตกรรมใหม่แบบค่อยเป็นค่อยไป รวมไปถึงปกป้องนวัตกรรมเดิมที่มีอยู่

Arnaud: ใช่เลย หากคุณต้องการจะเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด คุณจะต้องเชื่อมั่นในองค์กร สร้างความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า โดยอิงจากวิสัยทัศน์ที่ว่าอุตสาหกรรม Deep Tech จะเป็นอย่างไรในอีก 5 ปี หรือ 10 ปี เพราะเทคโนโลยี Deep Tech มีความเสี่ยงสูง โครงการกว่าครึ่งอาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่คุ้มกับที่เสี่ยงไป นี่คือมายด์เซ็ตของ VC ไม่ใช่เจ้าของกิจการแบบดั้งเดิม 

Interviewer : แล้วระบบนิเวศของสตาร์ทอัพมีบทบาทอย่างไรในส่วนนี้ ?

Arnaud: เนื่องจาก Deep Tech คือการหลอมรวมของเทคโนโลยีหลากหลายประเภท เช่น การทำชีววิทยาสังเคราะห์ให้เกิดขึ้นจริง จะต้องอาศัยเทคโนโลยีด้านชีวภาพในการสร้างแบคทีเรีย และหุ่นยนต์ในการผลิต รวมไปถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีและออกแบบสิ่งมีชีวิตให้เกิดประสิทธิภาพ บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้มีทักษะที่ครอบคลุมเช่นนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ หรือ สตาร์ทอัพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

Interviewer : นั่นจึงนำไปสู่ Mindset ที่ว่า องค์กรจะต้องเปิดให้สามารถติดต่อกับหน่วยงานอื่น ๆ และ ร่วมมือเพื่อสร้างโซลูชันที่มีประโยชน์ร่วมกันในอนาคต ซึ่งในส่วนนี้เองอาจนำพาให้ทั้งองค์กรและหุ้นส่วนทางธุรกิจเองจับมือกันเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้ 

Arnaud:  เพราะส่วนแบ่งการตลาดระหว่างบริษัทจะไม่ใหญ่ไปกว่านี้แล้ว เรากำลังพูดถึงโอกาสใหม่ที่ยังไม่ได้สำรวจโดยสิ้นเชิง องค์กรสามารถเริ่มต้นบุกเบิกร่วมกับหุ้นส่วนได้ 

แต่ถ้าคุณกลัวว่าบางบริษัทที่เปิดเผยกลยุทธ์ของคุณต่อสาธารณะ คุณสามารถจำกัดจำนวนพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพ ช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายได้ 

เรียกได้ว่าเป็นการทำกลยุทธ์แบบ Open Source ที่ Hello Tomorrow ที่ทำงานร่วมกับบริษัทต่าง ๆ เพื่อหาความท้าทายที่ธุรกิจต้องแก้ไข คุณค่าใหม่ที่ธุรกิจต้องการนำเสนอ (Value Propositions) ช่วยธุรกิจดังกล่าวในการสื่อสารให้แพร่หลายบนโลกโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงทำให้ Startup และบริษัทอื่น ๆ เข้าถึงองค์กรได้ง่ายและช่วยกันหาไอเดียมาต่อยอดสิ่งที่มีอยู่

สรุป

อย่างไรก็ตามหากองค์กรต้องการเข้าสู่โลกเทคโนโลยี Deep Tech สิ่งที่ผู้นำต้องมีได้แก่ จะต้องกำหนดกรอบปัญหาใหม่ เชื่อมั่นในศักยภาพของเทคโนโลยี Deep Tech ที่มี รวมไปถึงมีส่วนร่วมในระบบนิเวศของ Deep Tech อย่างเต็มที่ 

=================

สำหรับในประเทศไทยเอง Techsauce ได้มีการร่วมมือกับ Hello Tomorrow เดินหน้ายกระดับประสิทธิภาพองค์กรด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Tech โดยการเชื่อมโยงองค์กรในประเทศไทยกับกลุ่ม Deep Tech Startups ผ่านการร่วมมือทั้งในรูปแบบพันธมิตรและการเข้าลงทุน สนใจติดต่อได้ที่ [email protected]

=================

บทความนี้ได้เรียบเรียงจาก Forbes ที่ได้มีการสัมภาษณ์ Arnaud de la Tour ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัท Hello Tomorrow




Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เช็คจุดน้ำท่วมเรียลไทม์ ผ่านแอปฯ BMA Traffic น้ำท่วม-รถติด-อุบัติเหตุ ดูได้หมด

BMA Traffic เป็นแอปพลิเคชันที่เราสามารถดูระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถสำรวจพื้นที่น้ำท่วมหรือรถติดผ่านแอปฯ ได้ทันที...

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

2024 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยต้องโฟกัสอะไร? รู้จักกลยุทธ์ 2C โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย เจาะปัจจัยหลักที่นักการตลาดดิจิทัลต้องรู้

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 2 กุญแจชิ้นสำคัญอย่าง Content & Convenience ที่กุมชะตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในยุคดิจิทัล...