4 วิธีที่องค์กรจะช่วยปลุกไฟให้คนรุ่นใหม่ หลังสถิติชี้ Gen Z ยุคโควิดหมดไฟ หมดใจให้ที่ทำงาน | Techsauce

4 วิธีที่องค์กรจะช่วยปลุกไฟให้คนรุ่นใหม่ หลังสถิติชี้ Gen Z ยุคโควิดหมดไฟ หมดใจให้ที่ทำงาน

‘เด็กจบใหม่กำลังไฟแรง’  คือภาพจำของคนรุ่นใหม่ วัยหนุ่มสาวที่ออกจากรั้วมหาลัยหมาดๆ และก้าวสู่โลกการทำงานครั้งแรก แม้ประสบการณ์และวัยวุฒิจะไม่มากเท่ารุ่นพี่ในออฟฟิศ แต่ข้อดีของพวกเขาคือความกระตือรือร้น เป็นอิสระไม่มีพันธะทางครอบครัว ไม่มีลูกต้องคอยห่วง ร่างกายยังแข็งแรงพร้อมสู้งาน และอยากจะมีส่วนร่วมกับทุกโปรเจกต์ของบริษัท

แต่ไฟนั้นกำลังค่อย ๆ มอดดับลงไป หลังจากโควิด-19 เข้ามา

 

Gen Z ไม่มีส่วนร่วมกับองค์กรสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ

จากการสำรวจของ Gallup บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านองค์กรระดับโลก พบว่าในช่วงปี 2019-2022 พนักงานอายุต่ำกว่า 35 ปี ที่มีส่วนร่วมกับการทำงานและเป้าหมายของบริษัท ลดลงจาก 37% เหลือ 33% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2011 

แต่สัดส่วนของคนที่หมดไฟ ไม่อยากมีส่วนร่วมในการงานใดๆ ของบริษัท เพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 17% และความรู้สึกนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากจนทำให้การมีส่วนร่วมระหว่างคนหนุ่มสาวกับผู้ใหญ่ในที่ทำงานแทบไม่มีเหลือ 

แล้วการมีส่วนร่วม ความรู้สึกได้มีส่วนร่วมในที่ทำงานที่ลดลงไปนั้นมีอะไรบ้าง 

  • ความรู้สึกได้รับการดูแล
  • ความรู้สึกที่มีคนคอยส่งเสริมการพัฒนา
  • มีโอกาสเรียนรู้และเติบโต
  • มีเพื่อนซี้ในที่ทำงาน
  • เชื่อว่าความเห็นของพวกเขาสำคัญ

เราจะเห็นว่าหลายปัจจัยชี้ไปที่ข้อสรุปเดียวกันนั่นก็คือ บางอย่างในองค์กรกำลังทำให้พนักงานอายุน้อยที่สุด ที่จะเป็นอนาคตและความหวัง กำลังรู้สึกผิดหวัง 

ภาระที่จะเป็นปัญหาขององค์กรและองค์กรช่วยจัดการได้

ระดับของการมีส่วนร่วมในที่ทำงานที่ต่ำลงไปนั้นทำให้พนักงานออกจากบริษัทมากขึ้น (Job turnover) และบริษัทมีผลกำไรลดลง จึงถือเป็นข่าวร้ายและความท้าทายสำหรับองค์กร ส่วนในภาพใหญ่ ปรากฎการณ์นี้อาจทำให้ทั้งโลกต้องสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงถึง 7.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

หากคุณเป็น Gen Z ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ นั่นก็เป็นเรื่องแย่สำหรับคุณเช่นกัน เพราะภาวะหมดไฟ ลาออก มันอาจจะวนลูปไปเรื่อยๆ ถ้าไม่หาวิธีจัดการ 

"หากพนักงานไม่มีส่วนร่วม อาจมีบางอย่างเกี่ยวกับวิธีการการทำงานที่ไม่เหมาะ ถ้าคุณปรับสิ่งนั้นให้เหมาะสมได้ คุณจะปลดล็อกศักยภาพทั้งหมดของพวกเขา (Gen Z)" Caitlin Duffy ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Gartner กล่าว 

ทำไมหลังโควิดพนักงานคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในองค์กรน้อยลง 

ก่อนเราจะไปดูว่าองค์กรจะช่วยพนักงานเหล่านี้ได้อย่างไร ต้องพาไปดูสาเหตุก่อนว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่อาจทำให้พนักงานเด็กจบใหม่ หรือ Gen Z หลายคนมีส่วนร่วมกับองค์กรน้อยลง 

นโยบาย Work from home 100 % ไม่ได้ดีกับเด็กจบใหม่ 

สำหรับเด็กจบใหม่พึ่งจะออกจากรั้วมหาลัย พวกเขาต้องการสังคม ต้องการคำแนะนำและอยากปรึกษาพี่ๆ ในที่ทำงานที่มีประสบการณ์สูง และการทำงานแบบทางไกล (Remote) หรือแบบผสมผสาน (Hybrid) อาจทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่างานที่ทำไม่สนุก และไม่ได้ความรู้ 

Chat-effect 

วิธีการสื่อสารผ่านทางแชท ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันลดลงไป ช่วงโควิดระบาดเราเปลี่ยนวิธีการสื่อสารจากการเห็นหน้า นั่งประชุมด้วยกัน ไปสู่การคุยกันในแชท ประชุมทางออนไลน์ แม้ตอนนี้หลายบริษัทจะปรับให้พนักงานกลับมาเข้าออฟฟิศ แต่เรายังคงสื่อสารกันผ่านแอปด้วยความเคยชิน ทำให้ความเฉื่อยชาต่อกัน ความห่างเหินกับเพื่อนร่วมงานตามมา 

มีการศึกษาหนึ่งในจีนสุ่มแบ่งพนักงานออกเป็นสองกลุ่ม 

กลุ่มที่ 1 ทำงานแบบผสมผสาน ทำงานที่บ้านสัปดาห์ละสองวัน 

กลุ่มที่ 2 ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน 

โดยพบว่า สำหรับพนักงานกลุ่มแรกที่สลับทำงานที่บ้านด้วย เข้าออฟฟิศด้วย แม้วันที่เข้ามาทำงานในออฟฟิศพนักงานก็ยังส่งข้อความกันในแชทอยู่ดี นี่จึงเรื่องยากสำหรับกลุ่ม First jobber ที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง 

เป้าหมายและวัฒนธรรมองค์กร 

แน่นอนว่าการทำงานทางไกลหรือแบบไฮบริด พนักงานไม่ได้มาอยู่ร่วมกัน การจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้กับพนักงานเป็นไปได้ยาก นี่ยังไม่นับมาตรฐานและความคาดหวังในการทำงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน สำหรับวัยแรกเริ่มทำงานการมีประสบการณ์ระดับมืออาชีพที่น้อยนิด ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่แน่นอนและไม่ชินเมื่อต้องเข้าสังคม 

ภาวะเครียดหลังโรคระบาด 

สถานการณ์โรคระบาดที่บังคับให้เราต้องอยู่ในบ้าน แยกตัวออกจากสังคม ตามมาด้วยความรู้สึกหดหู่และวิตกกังวล ซึ่ง Gen Z มีโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์นั้นมากกว่าวัยอื่น ๆ และจะต้องใช้เวลาเพื่อจะฟื้นตัวเองให้กลับมา 

แต่การบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศทันทีก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย 

กรณีศึกษาจาก JPMorgan และ Meta บริษัทแม่ของ Facebook เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะบอกว่า ‘การแก้ปัญหาไม่ใช่การเรียกพนักงานกลับออฟฟิศ’ เพราะทั้งสองบริษัทใหญ่นี้สั่งให้พนักงานทุกคนกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ และบอกด้วยว่าพนักงานอายุน้อยเป็นแรงจูงใจหลักในการพาทุกคนกลับไปที่ทำงาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มันจะทำให้เรื่องทั้งหมดแย่ลงไปอีก 

ข้อมูลที่น่าสนใจจาก Gartner ระบุว่า บริษัทที่ให้พนักงานเลือกได้ว่าจะกลับมาทำงานที่ออฟฟิศหรืออยู่บ้าน จะมีอัตราการมีส่วนร่วมของพนักงาน Gen Z มากกว่าบริษัทที่บังคับให้เข้าออฟฟิศ 10%

นอกจากนั้น อีก 65% บอกว่าความเต็มใจของพวกเขาที่จะทำงานต่อไปในบริษัท ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาสามารถทำงานได้อย่างยืดหยุ่นหรือไม่ กล่าวคือมีความยืดหยุ่นของรูปแบบการทำงานนั่นเอง นั่นแปลว่า พวกเขาต้องการมีตัวเลือก เขาต้องการตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะเข้าหรือไม่เข้ามาทำงานในออฟฟิศ

อ่านมาถึงตรงนี้ คนเป็นผู้ประกอบการคงหัวหมุนบ้าง แล้วฉันจะทำยังไงต่อ ในเมื่อการทำงานแบบไม่เจอหน้ากันตามมาด้วยปัญหามากมาย แต่การให้พนักงานทุกคนกลับเข้าออฟฟิศก็ไม่ใช่ทางแก้ที่เหมาะ ลองไปดูวิธีข้างล่างกันต่อ 

4 วิธีเพิ่มการมีส่วนร่วมในที่ทำงาน 

ก็ทำให้ออฟฟิศเราน่าเข้ามาทำงานสิ 

คนรุ่นใหม่ไม่ใช่คนที่คุณจะบังคับ ตั้งกฎให้พวกเขาได้ง่าย ๆ ยิ่งหากเราต้องการสร้างการมีส่วนร่วมในที่ทำงานมากขึ้น จำไว้ว่า ‘Carrots work better than sticks’ เรามีลาอยู่หนึ่งตัว เราเลือกได้ว่าจะทำให้มันเดินด้วยการใช้แครอทล่อมันไว้ข้างหน้า หรือจะใช้ไม้เฆี่ยนมัน

มันคงหมดสมัยแล้วกับคำว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี แครอทเปรียบเหมือนรางวัล สิ่งจูงใจ คำชื่นชม วิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ ไม้ก็คือการทำโทษ คำวิจารณ์ การมองโลกในแง่ร้าย 

หากอยากให้พนักงานเข้ามาออฟฟิศมากขึ้น เราอาจจะลองปรับสภาพแวดล้อม โต๊ะทำงานดี ๆ เก้าอี้สุขภาพ ห้องเล่นเกม อาหารกลางวันหรือขนมฟรี เวลาเข้าออกงานที่ยืดหยุ่น หรือชั่วโมงแห่งความสุข (Happy hour( ที่พนักงานจะมารวมตัวกันเล่นเกม สิ่งเหล่านี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหากผลตอบแทนคือคุณได้คนมีพรสวรรค์และความสามารถเข้ามาอยู่ในองค์กร 

การสื่อสารที่ดียังใช้ได้เสมอ 

ปัญหาการสร้างวัฒนธรรมองค์กร การตั้งมาตรฐาน กฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติ เราบอกแล้วว่าทั้งหมดนี้ทำได้ยากหากเราไม่ได้มาอยู่ร่วมกัน ลองใช้วิธีการสื่อสารและอธิบายอย่างละเอียดให้พวกเขาเข้าใจดู และอย่าสร้างแนวปฏิบัติที่คลุมเครือ 

เมเนเจอร์และเซสชั่น one-on-one นั้นสำคัญ 

นักวิจัยของ Gallup แนะนำให้บริษัทดูแลผู้จัดการระดับกลางให้ดีขึ้น เพราะคนเหล่านี้จะช่วยให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าได้รับความสนใจและมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น แม้จะทำงานระยะไกลหรือแบบไฮบริด ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ระดับเมเนเจอร์จะเรียนรู้ว่าอะไรจะกระตุ้นพนักงานของพวกเขาได้บ้าง อาจจะนัดพนักงานมาคุยแบบ one-on-one สัปดาห์ละครั้ง เพราะจริงๆ เราจะเห็นว่า การที่พนักงานมีส่วนร่วมน้อยลงกับที่ทำงาน ไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้เข้าออฟฟิศ แต่เป็นเพราะวิธีที่เมเนเจอร์จะดูแลจัดการพวกเขาในโลกการทำงาน ซึ่งเป็นโลกใบใหม่ของพวกเขามากกว่า 

“การที่เมเนเจอร์ให้ฟีดแบ็กที่มีความหมายกับพนักงานสัปดาห์ละครั้งมีความสำคัญมากกว่าสถานที่ที่พนักงานทำงานซะอีก” นักวิจัยของ Gallup กล่าว 

สร้างพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออก 

คนรุ่นใหม่เชื่อในกฎระเบียบโลก เชื่อในสิทธิและเสรีภาพที่พวกเขาพึงมี ทำให้พวกเขาต้องการแสดงความเห็น บริษัทต่างๆ ควรคำนึงถึงเรื่องนี้ และสร้างโอกาสให้พนักงาน โดยเฉพาะพนักงานที่มีอายุน้อยกว่า ได้แสดงความคิดเห็น ถามคำถาม และให้ข้อมูลในทุกแง่มุมของธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูงควรจัดการประชุมร่วมกันเป็นประจำ เช่นเดียวกับฝ่ายบุคคลที่ต้องจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นให้มากขึ้น ผู้บริหารต้องรับฟังความคิดเห็น ตอบคำถาม และดำเนินการตามความเหมาะสม หรือพยายามหาตรงกลางร่วมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

อ้างอิง : businessinsider 

ถึงเป็นธุรกิจเล็ก วัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ
เริ่มเปลี่ยนวันนี้ก่อนสาย

.
หากองค์กรของคุณกำลังเจอปัญหา … พนักงานหมดไฟ…ทุกการตัดสินใจล่าช้าเพราะต้องรอ CEO … พนักงานลาออกเยอะ แต่ไม่รู้สาเหตุ และอีกมากมายปัญหาในองค์กรที่คุณแก้ไม่ตก
.
Peoplesauce ช่วยธุรกิจ SMEs /Startups ที่กำลัง Scale up สร้าง “คน” และ“Culture” เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับเราได้ตั้งแต่วันนี้ที่

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...

Responsive image

ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI

ถ้าเราใช้วิธีเก่า ในการแก้ปัญหาใหม่ หรือถ้าเราใช้โมเดลธุรกิจเดิม กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนัก และทางออกของปัญหาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้...