รู้จักความน่ากลัวของ Boredout ภาวะเบื่อหน่ายที่กระจายไปทั่วโลก | Techsauce

รู้จักความน่ากลัวของ Boredout ภาวะเบื่อหน่ายที่กระจายไปทั่วโลก

Burnout (ภาวะหมดไฟ) ที่ว่าน่ากลัว ยังไม่สู้ Boredout ภาวะเบื่อหน่ายที่เกิดจากพนักงานในบริษัทขาดแรงจูงใจ และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดฮวบ !

Boredout คืออะไร มาจากไหน ?

คำว่า Boredout เป็นที่พูดถึงครั้งแรกในหนังสือ Diagnose Boreout ของ Philippe Rothlin และ Peter R. Werder ในปี 2007 และเริ่มได้รับความสนใจจากผู้คนบางส่วนในปี 2022 

Boredout หมายถึง ‘ภาวะ’ ที่พนักงานรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานของตัวเอง ขาดแรงจูงใจ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง จากที่เคยมีไอเดียดี ๆ มานำเสนอ ก็เริ่มคิดงานไม่ออก ส่วนงานที่ออกมาก็แค่พอผ่าน ไม่ได้อยู่ในระดับดีเหมือนที่เคยเป็น

พูดง่าย ๆ ก็คือ ภาวะที่พนักงานหมดความสนใจกับงานที่ทำอยู่ไปโดยสิ้นเชิง (หรือหมดใจนั่นเอง) เพราะการทำงานเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน ทำให้พวกเขาเหนื่อยหน่ายเต็มทน ต้องทำงานแบบฝืน ๆ แค่ให้งานเสร็จโดยไม่คาดหวังคุณภาพ

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้พนักงานเกิดภาวะ Boredout ก็คือ ‘งานที่รับผิดชอบมีความสำคัญน้อยเกินไป’ ซึ่งทำให้บางคนรู้สึกว่างานที่ทำนั้นไร้ค่า ไม่มีความหมาย และไม่มีความท้าทายใหม่ ๆ ให้ได้พัฒนาตัวเอง จนเกิดเป็นภาวะเบื่อหน่ายขาดแรงจูงใจในการทำงาน

ทำไม Boredout ถึงน่ากลัวกว่า Burnout ?

ความจริงแล้วทั้ง 2 ภาวะนี้ถือว่าเป็นปัญหาสำหรับองค์กรทั้งคู่ แต่สาเหตุที่ทำให้ Boredout น่ากลัวกว่า Burnout มาจาก 2 ปัจจัย คือ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเหล่านี้: 

Burnout เกิดจากการทำงานหนักมากเกินไปสะสมเป็นเวลานาน จนไม่มีสมดุลที่ดีระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว แต่สำหรับ Boredout เกิดจากพนักงานรู้สึกว่างานที่ทำไม่มีความหมาย ไม่ท้าทาย และไม่สำคัญอะไรกับชีวิตเลย 

หากมองถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเหล่านี้ Burnout ดูจะเป็นภาวะที่องค์กรเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้ง่ายกว่า เช่น จัดหาคนให้สมดุลกับภาระงาน แต่ในส่วนของ Boredout การแก้ปัญหาขององค์กรอาจต้องเข้าไปแก้ไขในส่วน Mindset ของพนักงาน ซึ่งยากกว่าการแก้ไขปัญหางานหนักอย่างแน่นอน

สังคมยังขาดความตระหนัก:

ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักภาวะ Burnout กันอย่างแพร่หลาย และหลาย ๆ องค์กรก็เริ่มเห็นความสำคัญของการดูแลพนักงานไม่ให้ต้องแบกรับงานหนักอยู่คนเดียว แต่สำหรับภาวะ Boredout ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ร้ายแรงพอ ๆ กัน กลับไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนักในปัจจุบัน อาจเป็นเพราะคนที่ตกอยู่ในภาวะนี้ไม่ได้คิดว่าความเบื่อหน่ายเป็นปัญหา แต่มองว่าเป็นเรื่องปกติ จึงไม่ได้ขอคำปรึกษาจากใคร 

รายงานจาก Gallup เผยว่า ทั้ง 2 ภาวะนี้สามารถสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกได้ถึง 9% แต่เนื่องจากผู้คนไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับ ‘Boreout’ มากนัก จึงอาจกลายเป็นภัยเงียบที่บ่อนทำลายองค์กรได้มากกว่าภาวะ Burnout

วิธีที่องค์กรจะรับมือปัญหา Boredout ในวันที่พนักงานหมดใจ

Josh Bersin ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า องค์กรสามารถรับมือและป้องกันไม่ให้ภาวะ Boredout เกิดขึ้นกับพนักงานได้ด้วย 4 วิธีนี้

1. สร้างวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน

การที่พนักงานทุกคนรับรู้เป้าหมายขององค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเมื่อพนักงานเข้าใจว่าบริษัทต้องการจะทำอะไร และแต่ละคนมีหน้าที่ในการบรรลุเป้าหมายแบบไหน สิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความสำคัญในหน้าที่ของตนเอง และกระตือรือร้นกับงานมากขึ้น เนื่องจากงานของพวกเขาสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร

2. ทุกตำแหน่งสำคัญต่อบริษัท

ในปัจจุบันแต่ละบริษัทมีทั้งพนักงานที่ทำงานแบบเข้าออฟฟิศ 100%, พนักงานแบบ Hybrid Work, และพนักงานแบบ Remote Work 100% ซึ่งรูปแบบการทำงานแบบนี้มีส่วนทำให้พนักงานแต่ละประเภทรู้สึกถึงความสำคัญของตนเองที่มีต่อองค์กรแตกต่างกัน 

เช่น คนที่ Remote Work อาจรู้สึกว่าตนเองสำคัญน้อยกว่าคนที่เข้าออฟฟิศ 100% เพราะคนเหล่านั้นสนิทกับหัวหน้าและคนอื่นๆ ในบริษัท แถมยังรับรู้ข่าวสารของบริษัทมากกว่า องค์กรจึงควรจัดกิจกรรมที่ทำให้คนในบริษัทได้พบปะพูดคุย ไม่ให้รู้สึกห่างเหินจนเกินไป เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของพนักงานทุกคน

3. มอบหมายงานที่ท้าทายให้บ้าง

พนักงานบางคนอาจรู้สึกดีที่ได้อยู่ใน Safe Zone ของตัวเอง แต่ก็มีหลายคนที่รู้สึกว่าการทำงานซ้ำ ๆ จำเจ ไม่มีความท้าทาย คือ หายนะของชีวิตการทำงานชัด ๆ เพราะมันทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสได้พัฒนาตัวเอง หัวหน้าทีมจึงควรมอบหมายงานที่มีความท้าทายให้กับลูกทีมบ้าง เพื่อที่เขาจะได้พัฒนาตัวเอง และรู้สึกถึงโอกาสในการเติบโต

4. ให้ความเชื่อใจและเชื่อมั่น

ข้อนี้สำคัญที่สุด ผู้นำควรเชื่อใจและเชื่อมั่นว่าทีมของตนสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ อย่าคิดว่าพวกเขายังไม่เก่ง อย่าแสดงออกถึงความไม่ไว้ใจ เพราะสิ่งเหล่านี้บั่นทอนพนักงาน และทำให้พวกเขารู้สึกไร้ค่า ไร้ความสามารถ 

ดังนั้น ผู้นำจึงควรสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างแรงบันดาลใจให้แต่ละคนกล้าที่จะพัฒนาตัวเอง ลองในสิ่งที่ไม่เคยทำ เมื่อผู้นำศรัทธาในศักยภาพของทีม บริษัทจะกลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนมองเห็นโอกาสในการพัฒนาตนเองและเห็นการเติบโต ซึ่งเป็นแรงจูงใจชั้นดีในการทำงาน

อ้างอิง: dictionary, inc, forbes

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำยังไง ถ้าไม่ได้เป็น ‘ลูกรัก’ เจ้านาย

‘ระบบลูกรัก’ ที่ฝังรากลึกในองค์กร เป็นอีกหนึ่งปัญหาช้างในห้อง (Elephant In The Room) ปัญหาใหญ่ที่คนส่วนใหญ่รับรู้ แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง หรือพูดไม่ได้ ทำยังไงดี...

Responsive image

รู้จักประโยชน์ Reverse Mentoring ที่ให้คนรุ่นใหม่มาสอนผู้ใหญ่ในองค์กร

เมื่อนึกถึงการทำงานในองค์กรแล้วส่วนใหญ่คนที่อายุมากกว่าหรืออาวุโสจะต้องให้คำแนะนำรุ่นน้อง แล้วถ้ากลับกันลองให้รุ่นน้องเป็นคนแนะนำผู้ใหญ่บ้างจะเป็นอย่างไร?...

Responsive image

พนักงาน 47% ไม่คิดอยากเลื่อนขั้น เพราะต้องทำงานหนักกว่าเดิม

จากสำรวจล่าสุดพบว่ามนุษย์เงินเดือนไม่ต้องการเลื่อนขั้น เพราะต้องการความสุขและพึงพอใจในบทบาทปัจจุบัน มากกว่าต้องก้าวหน้าไปรับผิดชอบงานที่มากขึ้น...