ในยุคที่โซเชียลมีเดียมีความ toxic สูงมาก และส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้งาน ทำให้เกิดไอเดียการสร้างโซเชียลมีเดียเชิงบวกอย่างแอปพลิเคชัน Gas ที่มีฟีเจอร์หลักคือ ‘การชมเชย’ และให้กำลังใจกัน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นในโรงเรียนอย่าง Gen-Z ที่มักจะเจอปัญหา low self-esteem หรือความมั่นใจในตัวเองต่ำนั่นเอง
อะไรทำให้ Gas เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น แล้วทำไม Discord ถึงตัดสินใจเข้าซื้อแอปนี้ มาหาคำตอบผ่านบทความนี้กัน
แอป GAS ก่อตั้งโดย Nikita Bier, Dave Schatz และ Isaiah Turner ในปี 2022 เป็นแอปพลิเคชั่นที่ใช้โมเดลของการชมเชยคนอื่น ที่มาของชื่อ Gas มาจากศัพท์แสลงของ Gen-Z “gassing someone up” แปลว่าการอวยหรือทำให้คนอื่นให้มีกำลังใจมากขึ้น
โดยฟีเจอร์หลักของ GAS นั้น จะไม่มีหน้าฟีดให้โพสต์คอนเทนต์ หรือช่องทาง Direct Message หาผู้ใช้คนอื่นแบบโซเชียลมีเดียทั่วไป Gas เป็นแอปตอบคำถามแบบไม่ระบุตัวตน คล้ายๆ กับ NGL ที่ช่วงหนึ่งเป็นกระแส
หลังจากเราล็อคอินและซิงค์ตำแหน่งของเรากับแอปแล้ว แอปจะใช้ข้อมูลโลเคชั่นของเราในการเลือกโรงเรียนที่เราอยู่ และจะมีระบบโหวตแบบไม่แสดงตัวตน แต่จะใช้เป็นนามแฝงแทน เช่นเราอาจจะใช้นามแฝงว่า ผู้ชายที่อยู่ ม.6 เป็นต้น
ตัวอย่างโพลเช่น “ใครสวยที่สุดในห้อง?” หรือ “คนที่เจอหน้าแล้วใจละลาย?” จากนั้นก็จะขึ้นชื่อให้โหวต โดยโพลจะเปลี่ยนใหม่ทุก 1 ชั่วโมง และทุกคำถามจะมีแต่คำถามเชิงบวก
ผู้ชนะผลโหวตจะได้รับ “เปลวไฟ” เป็นเครื่องหมายแสดงถึงจำนวนที่คุณได้รับคำชม และสำหรับผู้ที่ตอบโพลนั้น ๆ หรือมีส่วนร่วมในการโหวต ก็จะได้รับเหรียญเพื่อใช้ในการเข้าร่วมการโหวตครั้งต่อไป โดยคำชมจะเป็นแบบสุ่มที่ถูกเขียนไว้ก่อนแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการบูลลี่หรือคำพูดเชิงลบ
ตัวแอป GAS นั้นใช้งานฟรี แต่ถ้าหากอยากได้ฟีเจอร์พิเศษเพิ่มอย่าง “God Mode” ต้องจ่ายค่าสมัคร $6.99 - $9.99 ต่อสัปดาห์ สำหรับ God Mode นั้น ผู้ใช้งานสามารถดูนามแฝงได้ไม่จำกัดจำนวนและดูได้ว่าใครโหวตเราบ้าง 2 ชื่อต่อสัปดาห์ แถมคูณสองจำนวนเหรียญที่จะได้รับจากการตอบโพลอีกด้วย
ในเวลาเพียงแค่ 3 เดือน Gas ก็สามารถสร้างรายได้ถึง 3 ล้านดอลลาห์และ 5 ล้านในเดือนธันวาคม 2022 ส่วนตัวเลขผู้ใช้งานนั้นสูงถึง 1 ล้านคน มากไปกว่านั้นคือเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว Gas ติดอันดับ 1 แอปที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดในสหรัฐอเมริกาแซง BeReal และ TikTok อีกทั้งจำนวนการดาวน์โหลดยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดเกิดจากกระแสตอบรับการใช้งานในหมู่วัยรุ่นวัยเรียนที่ออกมารีวิวว่าการเล่นแอป Gas ทำให้พวกเขารู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้นและรู้สึกอยากที่จะส่งต่อพลังงานบวกผ่านการชมผู้อื่น หนึ่งในกลุ่มนักเรียนให้สัมภาษณ์ในรายการ TODAY ว่ามันทำให้เขายิ้มออก
“เราได้รับข้อความจากวัยรุ่นหลายร้อยคน ว่าแอปส่งผลดีต่อชีวิตพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโรคซึมเศร้า อาการวิตกกังวล หรือแม้กระทั้งทำให้พวกเขาไม่รู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง” - Bier กล่าวระหว่างการสัมภาษณ์
กระแสการใช้งานแบบใหม่นี้ทำให้ Gas ได้รับการเจรจาเข้าซื้อเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมาจากแอปชื่อดังอย่าง Discord ที่ได้รับเงินระดุมทุนสูงถึง 100 ล้านดอลลาห์เมื่อปี 2020 ถึงแม้ดีลการซื้อจะยังไม่เปิดเผยตัวเลขแต่ Discord เปิดเผยว่าตั้งใจจะให้ Gas เป็นแอปแยกไม่นำมารวมกับ Discord และให้ทีมของ Gas เข้ามาทำงานกับทีมของ Discord ในการพัฒนา
นับเป็นการตัดสินใจที่ดีของ Discord เพราะมีฐานผู้ใช้งานเป็นวัยรุ่นอยู่แล้ว ทำให้อาจจะมีการแชร์ไอเดียระหว่างสองแอปเพื่อการพัฒนาไปในทางที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น
ปัจจุบัน Gas ให้บริการเฉพาะประเทศแคนาดาและในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา โดยมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังประเทศอื่นในอนาคต
ผู้ปกครองอาจจะกังวลในเรื่องของการใช้งานเนื่องจากตัวแอปเคยมีข่าวลือเรื่องปัญหาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวและตำแหน่งที่ตั้งของผู้ใช้งาน แต่ข้อกล่าวหานั้นก็ถูกหักล้างไป โดยให้เหตุผลว่าตัวแอปเก็บข้อมูลไปเพื่อการหาตำแหน่งของโรงเรียนเท่านั้น อีกทั้งในการใช้งานก็จะมีแต่หน้าต่างของโพลอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้ผู้ใช้งานจะไม่เห็นคอนเทนต์ที่รุนแรง
อย่างไรก็ตามเรื่องที่อาจจะต้องระวังคือ การเสพติดความสุขจากการที่เราได้รับคำชมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ใช้งานอาจะติดนิสัยเช็คโทรศัพท์อยู่บ่อยๆ และอาจจะอยากได้รับการยอมรับมากเกินไป
Discord acquires Gas, the popular app for teens to compliment each other
An anonymous app called Gas is taking high schools by storm
Discord acquires Gas, a compliments-based social media app for teens
Gas Revenue and Usage Statistics (2023)
Gas App: Everything About the Viral Social Media App
Sign in to read unlimited free articles