เมื่อวันที่ 20 และ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทาง ETDA และ Techsauce พร้อมด้วยพาร์ทเนอร์บริษัทเทคโนโลยี ได้จัดกิจกรรมสุด Exclusive ประกอบไปด้วย Workshop และ Mentoring Sessions จากเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี หลากหลายสาขา ที่มาร่วมถ่ายทอด แลกเปลี่ยนความรู้ ให้กับ Service Provider 10 ทีมสุดท้าย ที่ผ่านเข้าสู่รอบไฟนอล กับกิจกรรม Hackathon: Finding the Best Enabler ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรม ปลดล็อกธุรกิจ SMEs ไทย
เริ่มต้นด้วย Open House เข้าสู่กิจกรรมด้วย Special Talk ในหัวข้อ Hackathon กับการยกระดับนวัตกรรมเพื่อเข้าสู่ ETDA Sandbox โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ที่ปรึกษาและผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่มาแนะนำโครงการ ETDA Sandbox โครงการที่จะร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมไปกับ Service Provider ให้ทั้ง 10 ทีมได้ทำความรู้จักกัน
ETDA Sandbox หรือชื่อเต็มคือ โครงการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเปรียบเสมือนกระบะทรายที่เปิดโอกาสให้เจ้าของนวัตกรรม หรือ ผู้ให้บริการดิจิทัล ได้นำนวัตกรรม หรือ โซลูชัน ของตนเองมาทดสอบการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่จำกัด ก่อนให้บริการจริงเพื่อให้รองรับโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ รวมทั้งให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์และเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นับเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อมุ่งต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศไทย โดยได้มีการดำเนินการมาโดยตลอด และในปีที่ผ่านมา e-Office ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของโซลูชันที่ทาง ETDA ให้ความสำคัญซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจทั้งหลายต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และกิจกรรม Hackathon ในครั้งนี้จึงถือเป็นการขยายขอบเขตการพัฒนาให้ครอบคลุมนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ Digital Transformation ที่จะรองรับและตอบโจทย์ความต้องการของ SMEs และในอนาคต ETDA Sandbox จะเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Healthtech เพิ่มเข้ามาด้วย
“Sandbox ของ ETDA ทำในคอนเซ็ปต์ Regulatory Sandbox ที่มีบทบาทในรูปแบบ Co-Sandbox เชื่อมโยงการดำเนินงานกับหน่วยงาน Regulator อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ธปท., กลต. โดยสิ่งที่เราดูเป็นหลักคือเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ควบคู่กับการผลักดันนวัตกรรม เพราะกฎต่างๆ ที่เรามีนั้น อาจทำให้การพัฒนานวัตกรรมมีความยากลำบาก เพราะกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่ง ETDA Sandbox จะเข้ามาช่วยจัดการในเรื่องนี้ และ Hackathon ในครั้งนี้จะเป็นเหมือนเส้นทางสุด Exclusive ที่จะทำให้นวัตกรรม e-Office ได้เข้ามาอยู่ใน ETDA Sandbox” ดร.ตฤณ กล่าวในพิธีเปิด
กิจกรรม Hackathon ในครั้งนี้ได้มุ่งให้ผู้เข้าแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับการพัฒนา SMEs ในไทยให้เติบโตมากยิ่งขึ้น โดย ดร.ตฤณ ได้กล่าวถึงความสำคัญของ SMEs ว่าถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และทางสภาพัฒน์ฯ ได้ตั้งเป้าให้ SMEs เข้ามาเป็นตัวจักรสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง แต่กลับพบว่าเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วย SMEs ยังไม่มีความพร้อม
ดังนั้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม ทาง ETDA จึงให้ความสำคัญกับ SMEs โดยทำการรวบรวมบรรดา Innovator ผ่านกิจกรรม Hackathon: Finding the Best Enabler ภายใต้โครงการ e-Solution: Opportunity Enabler for SMEs เพื่อเสริมแกร่งให้กับ SMEs ไทย โดยการจับมือเพื่อมาร่วมค้นหาโซลูชันในการแก้ Pain Point ด้าน Digital Transformation ให้กับเหล่า SMEs
หลังจากทำความเข้าใจในจุดประสงค์ของโครงการและรู้จักกับ ETDA Sandbox กันแล้วก็เข้าสู่กิจกรรม Workshop แรก ที่มาในหัวข้อ Customer Insight for Solution Development โดย ดร.เพิ่มสิทธิ์ นำประสิทธิผล ผู้ก่อตั้ง บริษัท Modular Consulting ที่ได้ยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อสร้างธุรกิจให้มีจุดแข็งกว่าเจ้าอื่น ทั้งยังทำให้ผู้เข้าแข่งขันทราบถึงโอกาสที่ธุรกิจจะสามารถเติบโตจาก Business Matching เนื่องจากเป็นการพบกับผู้ใช้งานจริงที่จะต่อยอดไปสู่การเป็นพาร์ทเนอร์ในระยะยาวได้ พร้อมแนะนำให้ผู้พัฒนานวัตกรรมออกไปพูดคุยกับลูกค้าเพื่อพิจารณาว่าโซลูชันที่มีอยู่นั้นแมทช์กับความต้องการของผู้ใช้งานและอาจจะหา Pain Point เพื่อนำมาใช้พัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
นอกจากนี้ผู้พัฒนานวัตกรรมยังต้องคำนึงถึง Design Thinking เมื่อคิดค้นนวัตกรรมหรือโซลูชัน และควรเริ่มด้วย Empathy หรือความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการของบริษัทส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่ง ดร.เพิ่มสิทธิ์ ได้มีกิจกรรมในเรื่องของ Empathy ให้ผู้เข้าแข่งขันได้ทดลองเป็นนักออกแบบสินค้าเพื่อให้เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้และลงมือทำจริงโดยทดลองตั้งคำถามให้เข้าใจผู้ใช้เพื่อให้เข้าถึง Empathy ได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ผ่านหัวใจสำคัญ ได้แก่ การสังเกต การมีประสบการณ์ร่วมกับลูกค้า และการพูดคุยกับผู้ใช้งาน
ตามมาด้วย Workshop โดย คุณสาโรจน์ ปุญญพัฒนกุล, Head of Technology, Amazon Web Services (AWS) โดยบรรยายร่วมกับ คุณปัญญพล ชื่นวัฒนกุล, Solutions Architect, Amazon Web Services (AWS) ในหัวข้อ Scaling Up to Your First 10 Million Users เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันเห็นถึงการใช้เทคโนโลยี Cloud อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการใช้งาน Cloud นั้นไม่ต้องลงทุนมาก เพราะเป็นการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมปรับเปลี่ยนไปตามการทำงาน
พร้อมแนะนำถึงกระบวนการสร้างแอปพลิเคชันตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นเพื่อให้รองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก และเทคนิคที่ทำให้ไม่ต้องลงทุนเยอะ ทั้งยังสามารถสร้างการเติบโตปรับตัวตามงานที่เข้ามาได้ ซึ่งเป็น Session ที่มีประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เข้าแข่งขันนำไปใช้เลือกเทคโนโลยี และคำนึงถึงสิ่งที่ต้องระมัดระวังในกรณีที่มีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น
หลังจากที่ Service Provider ทั้ง 10 ทีม ได้รับความรู้จากการเข้าร่วม Workshop ในวันแรกไปแล้ว แต่ความรู้และเคล็ดลับสำหรับออกแบบโซลูชันยังมีให้ผู้เข้าแข่งขันได้เรียนรู้เพิ่มเติมกับกิจกรรม Workshop วันที่สองในหัวข้อ B2B strategy to grow your business โดย คุณชาล เจริญพันธ์, ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์, บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด
คุณชาลได้ชี้ให้ผู้เข้าแข่งขันเห็นถึงความท้าทายของการทำธุรกิจแบบ B2B โดยการร่วมแบ่งปันการทำกลยุทธ์ทางการตลาดแบบ Community Marketing ซึ่งเป็นการสร้างชุมชนจากคนที่มีความชอบ ความสนใจร่วมกัน มารวมกลุ่มกันเพื่อให้ง่ายต่อการต่อยอดในการทำการตลาด
โดย Community จะช่วยเสริมธุรกิจ และต้องเริ่มจากการมีคนเข้ามาใน Community ก่อน ซึ่งต้องสร้างความเชื่อใจให้แต่ละคน และการที่จะทำให้ Community เข้มแข็งต่อไปได้ ต้องทำให้คนรู้สึกว่าได้รับความรู้หรือประสบการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนอยู่ และยังต้องมองในมุมของลูกค้า อย่างแรกคือต้องเข้าหาลูกค้า วางกลยุทธ์ให้ชัดเจน ศึกษาพฤติกรรมลูกค้าพร้อมเสนอโซลูชันที่ตรงกับความต้องการ
สำหรับ Workshop สุดท้ายก่อนเข้าสู่สนามจริงในวัน Pitching ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คือ Workshop ในหัวข้อ Data Management โดย ดร.อสมา กุลวานิชไชยนันท์, CEO & Co-Founder, บริษัท Coraline ที่มาให้ความรู้ในเรื่องของการจัดการ Data ด้วยการรวบรวมข้อมูลบนแพลตฟอร์มและนำมาวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับการใช้งานในอนาคต พร้อมอธิบายให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจถึงลักษณะของ Big Data ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นตลอดเวลา มีความหลากหลาย สามารถนำไปใช้งานได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือ ต้องมีความถูกต้องแม่นยำ
ทั้งยังได้ถ่ายทอดความรู้ ทำให้ทุกทีมได้รู้จักกับข้อมูลพื้นฐานของการจัดเตรียม Data และการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อสร้าง Data Platform และทราบถึงการเคลื่อนย้ายข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการข้อมูลสำหรับผู้เข้าแข่งขัน ไปจนถึงการทำ Data Analytic พร้อมแนะนำให้ผู้เข้าแข่งขันเห็นถึงลักษณะ Data ที่ดีว่าจะต้องมีความครบถ้วน สอดคล้องกัน และต้องอัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้ Service Provider สามารถนำไปปรับใช้ต่อไป
หลังจากเข้าร่วม Workshop เพื่อเตรียมพร้อมพัฒนานวัตกรรมหรือโซลูชัน e-Office สู่การประชันกันในวันแข่งขันจริงแล้ว ก็ปิดท้ายด้วยกิจกรรม Mentoring ที่ทาง ETDA และ Techsauce ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้าน Software/ Service Reliability, Security & Data Privacy, Data Management, User Experience, Business Innovation มาร่วมให้คำแนะนำกับ Service Provider ทั้ง 10 ทีมได้อย่างครบถ้วนและครอบคลุมในประเด็นสำคัญ
เรียกได้ว่ากิจกรรม Workshop ตลอดทั้ง 2 วันที่ผ่านมา เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้เข้าแข่งขัน เพื่อให้ทุกทีมสามารถนำความรู้ที่ได้จากการ Workshop และคำแนะนำจาก Mentoring Sessions ไปปรับใช้พัฒนานวัตกรรมหรือโซลูชันของทีมตนเอง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในรูปแบบ Pitching และ Business Matching ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อในวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งทาง ETDA ได้มีการเฟ้นหาสุดยอด e-Office ที่จะมายกระดับ SMEs ไทยในระยะต่อไป
Sign in to read unlimited free articles