ความยั่งยืน กลายเป็น Buzzword หรือคำพูดติดปากในแวดวงธุรกิจ ทุกธุรกิจบอกว่าเราต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน แต่หลายคนอาจสับสนระหว่างนิยามและแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนของ SDGs และ ESG ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร แล้วแนวปฏิบัติไหนจะถูกนำมาใช้ในการทำธุรกิจ
SDGs หรือ Sustainable Development Goals คือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก” ที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกของ UN เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2015 และตั้งเป้าบรรลุการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ภายในปี 2030 อีกชื่อหนึ่งถูกเรียกว่า “วาระการพัฒนา 2030” (Agenda 2030) หรือ Global Goals ประกอบด้วยแนวทางการพัฒนาด้วยกัน 17 ข้อ ความหมายง่ายๆคือ สิ่งนี้คือวาระระดับโลก โดยสามารถจัดกลุ่ม SDGs ตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ (5P) ได้แก่
การพัฒนาคน (People) มุ่งขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
สิ่งแวดล้อม (Planet) มุ่งเน้นการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศเพื่อพลเมืองโลกรุ่นต่อไป
เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและสอดคล้องกับธรรมชาติ
สันติภาพและความยุติธรรม (Peace) ยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคมที่สงบสุข และไม่แบ่งแยก
ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เดิมทีมุ่งเน้นการทำไรและลดต้นทุน จำเป็นต้องคำนึงถึงบริบทของโลกปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ปรับรูปแบบธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตและสร้างผลตอบแทนไปพร้อมกับร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน นำมาซึ่ง "ESG" กรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่เริ่มได้รับการยอมรับและมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน
ในขณะที่ SDGs คือ เป้าหมายระดับโลกที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติและกินความไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่กว้างกว่านอกเหนือจากมิติทางธุรกิจ ESG คือ กรอบแนวคิดพื้นฐานที่ว่า ธุรกิจควรเติบโตโดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ สร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ใส่ใจรับผิดชอบสังคม และ การจัดการด้านธรรมาภิบาล (Environment : E, Social : S, Governance : G) ขณะเดียวกัน ESG ยังเป็นการวัดผลการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชน
ปัจจุบัน ESG ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาการลงทุน โดยจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้าน ที่ใช้เป็นตัวชี้วัด เช่น การชี้วัดความรับผิดชอบของบริษัทที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การดำเนินงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การชี้วัดว่าบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์กับ พนักงาน ลูกค้า รวมถึงชุมชนและสังคมโดยรวม การชี้วัดว่าบริษัทมีการจัดการกำกับดูแลที่ดีเพื่อให้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใสตรวจสอบได้อย่างไร
กรอบแนวคิดทั้ง SDGs และ ESG ในวันนี้จึงสอดรับกันในทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้การอยู่ร่วมกับอย่างรับผิดชอบและแบ่งปัน SDGs นั้นไม่เพียงพอในตัวเองที่จะบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือสร้างแนวทางในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมได้เพียงพอ
ESG เปรียบเหมือนกระจกที่สะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัท หากธุรกิจมีคะแนนวัดผล ESG ที่ดี ก็แปลว่าธุรกิจมีรูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน ทำให้ธุรกิจเป็นที่น่าสนใจในมุมมองของนักลงทุน สร้างความไว้วางใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักลงทุน รวมถึงยังเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายใหญ่ด้านความยั่งยืนตามแนวทาง SDGs
นอกจากนี้ภาคการลงทุนยังมี The Global Impact Investing Network ที่ได้ประกาศนโยบายการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสังคมและสิ่งแวดล้อมนอกเหนือจากผลประกอบการเพียงอย่างเดียว ซึ่งเชื่อมโยงเป้าหมายของ SDGs กับมิติของ ESG เพื่อให้มุ่งสู่ทิศทางเดียวกันตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลก
Sign in to read unlimited free articles