เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการ EIC คาดเศรษฐกิจไทยปี 2023 อาจไม่สดใสมาก จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและความไม่แน่นอนรอบด้าน
เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ติดต่อกันที่ 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐาน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามของปี 2021 ยังเผชิญมาตรการควบคุมการระบาดCOVID-19 เข้มงวด
และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามขยายตัวถึง 1.2% หลังปรับปัจจัยฤดูกาล (QOQ_sa) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน กอปรกับภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัวดีตามการเปิดเมืองและเปิดประเทศ ส่งผลให้ในภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2022เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.1%
หากพิจารณากิจกรรมเศรษฐกิจด้านภาคการผลิต (Production approach) พบว่า หลายภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี นำโดยภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวจากเดิมที่หดตัวในไตรมาสก่อน ภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นกับการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ภาคการก่อสร้างยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการลดลงของการก่อสร้างภาครัฐ ประกอบกับการหดตัวของภาคเกษตรตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยราว 10.3 ล้านคนในปี 2022 จากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) การผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก
โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่เป็นช่วง High season นักท่องเที่ยวจากประเทศเมืองหนาวจะเดินทางมาไทย อีกทั้ง จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเองก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาคบริการในภาพรวม โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การฟื้นตัวของภาคบริการท่องเที่ยวมีส่วนสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนเติบโตดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น สำหรับการส่งออกสินค้าในช่วงท้ายปีอาจได้รับอานิสงส์จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และวัตถุดิบที่เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในช่วงท้ายปี ด้านความช่วยเหลือจากทางภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีน้อยลงจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเต็มจำนวนแล้ว และเหลือเพียงราว 42,000 ล้านบาทที่รอเบิกจ่าย
สำหรับปี 2023 EIC คาดเศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง เป็นแรงกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกที่จะชะลอตัวลงมากจากที่เคยเติบโตดีในช่วงที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญปัญหาหลายมิติ รวมถึงตลาดสำคัญในยุโรปและสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้และกลางปีหน้า ตามลำดับ ส่งผลต่อเนื่องทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนอาจขยายตัวชะลอลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในส่วนที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก สำหรับความช่วยเหลือจากทางภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีน้อยลง เนื่องจากข้อจำกัดทางการคลังทำให้รัฐบาลระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
เศรษฐกิจไทยในปี 2023 จะมีการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน เช่น ความไม่แน่นอนของจีนในการผ่อนคลายมาตรการ Zero covid ที่อาจใช้เวลานานกว่าคาด ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยน้อยลงและช้าลง
รวมถึงอาจทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกคลี่คลายช้าลง ภาวะเงินเฟ้อสูงในประเทศที่อาจยาวนานกว่าคาดจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่อาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในช่วงต้นปี 2023
สำหรับปี 2023 EIC คาดเศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง เป็นแรงกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกที่จะชะลอตัวลงมากจากที่เคยเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศจากการส่งออกที่ชะลอลง และปัจจัยภายในประเทศจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ซบเซาและฟื้นตัวช้า รวมถึงตลาดสำคัญทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้และกลางปีหน้า ตามลำดับ
ส่งผลต่อเนื่องทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนอาจขยายตัวชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ด้านแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐจะมีน้อยลง เนื่องจากข้อจำกัดทางการคลังทำให้รัฐบาลระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในปี 2023 ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ปรับสูงขึ้นและความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเศรษฐกิจไทยจะได้ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ แต่ยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน
(1) เศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านนโยบายเศรษฐกิจและความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทย
(2) การใช้นโยบาย Zero covid ของจีนที่อาจยาวนานกว่าคาด ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยได้น้อยลงและช้าลง รวมถึงอาจทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกคลี่คลายได้ช้าลง
(3) ภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่อาจยาวนานกว่าคาดจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง
(4) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากผลกระทบค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จนอาจกระทบต่อความสามารถ ในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
(5) ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในช่วงต้นปี 2023 รวมถึงภาระทางการคลังที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายอุดหนุนต่าง ๆ ภายหลังการหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการใช้มาตรการการพยุงค่าครองชีพเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ EIC กำลังติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ และจะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน
อ่านรายละเอียดบทวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ที่ https://www.scbeic.com/th/detail/product/gdp-21112022
Sign in to read unlimited free articles