สรุปงาน Digital Video Platform Seminar 4D โอกาสยกระดับอุตสาหกรรมสื่อไทยที่เป็นไปได้ | Techsauce

สรุปงาน Digital Video Platform Seminar 4D โอกาสยกระดับอุตสาหกรรมสื่อไทยที่เป็นไปได้

บทสรุปงาน Digital Video Platform Seminar 4D โอกาสยกระดับอุตสาหกรรมสื่อไทยที่เป็นไปได้ จากมุมมองโดยผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์จริง

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการ Disrupt ขึ้น ผู้คนเริ่มหันมาใช้ Digital platform ต่างๆ มากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมสื่อเองก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้ พฤติกรรมในการรับชมสื่อของประชาชนที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อรายได้และ Business Model เห็นได้จาก ตัวเลขรายได้ของกิจการสื่อในประเทศไทยที่ลดลง และมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนที่มาของรายได้ไปยังธุรกิจอื่นซึ่งไม่ใช่บริการหลักเดิมของกิจการ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลการพัฒนาคุณภาพการผลิตเนื้อหาของกิจการสื่อในภาพรวมของอุตสาหกรรมอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA กล่าวว่า ทุกวันนี้ Digital Platform มีสิทธิ์เป็นผู้คัดเลือกเนื้อหานำเสนอแก่ผู้ใช้บริการ รวมถึงแสวงหารายได้จากการกระตุ้นยอดนำเสนอเนื้อหา ก็นับเป็นผลกระทบประชาชนโดยตรง และกระบวนการตรวจสอบวิธีการคัดเลือกเพื่อนำเสนอเนื้อหาซึ่งทุกคนควรมีส่วนร่วมได้ก็ขาดความชัดเจน นอกจากนี้ยังมีข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในประเด็นของเกณฑ์ส่วนแบ่งรายได้ที่ไม่ได้สะท้อนต้นทุนการผลิตเนื้อหา และการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลแสวงหารายได้ผ่านการกระตุ้นยอดนำเสนอ 

โดยกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ETDA เห็นความสำคัญของปัญหาข้างต้นจึงเสนอกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ในการเข้าไปดูแล Digital Platform ซึ่งผ่านความเห็นชอบของ ครม.เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติใด ถ้ามีวัตถุประสงค์ในการให้บริการกับคนไทย จำเป็นต้องมาแจ้งให้ ETDA ทราบว่ามีบริการเหล่านี้อยู่ และต้องแสดงเงื่อนไขในการให้บริการอย่างโปร่งใส และมีกลไกดูแล รับเรื่องร้องเรียนได้อย่างเหมาะสม 

และเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นรวมถึงต่อยอดไปยังการสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมสื่อ ETDA จับมือกับ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด, บริษัท Thai Livestream X จำกัด, Spring News และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดงาน "Digital Video Platform Seminar 4D : เผย 4 มิติ ดิจิทัลวิดีโอแพลตฟอร์ม ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย" ชวนนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารธุรกิจสื่อชั้นนำของประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ย้อนอดีต เปิดมุมมองทิศทางอนาคตอุตสาหกรรมสื่อไทย จากผลกระทบของ Digital Video Streaming Platform ในรูปแบบ Virtual Seminar ในวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเจาะลึกสถานการณ์ โดยเรียนรู้มุมมองจากนักวิชาการที่ทำการศึกษาประเด็นนี้และรับฟังประสบการณ์จากผู้บริหารของกิจการสื่อตัวจริง

โดย Techsauce ได้ติดตามสัมมนาและสรุปมาให้ทุกท่านได้ติดตามอย่างครบถ้วนทั้ง 2 Session ดังนี้

Session ที่ 1 : ดูแลเพื่อหนุน สร้างกลไกให้เกิด และเพิ่มโอกาสพัฒนา Digital Media Platform ของคนไทย

โดยในช่วงแรกของงานเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนและตั้งคำถามกับนักวิชาการถึงก้าวต่อไปของการสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อไทยและ Digital Platform รวมถึงการปรับตัวของผู้กำกับดูแล ดำเนินรายการโดย นายระวี ตะวันธรงค์ บรรณาธิการบริหาร Springnews และ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  ซึ่งในมิติแรกได้รับเกียรติจากผศ.ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอนุกรรมการกฎหมายภายใต้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ความเห็นในมิติกฎหมายในเรื่องของการแข่งขันที่หลายประเทศกำหนดบทบาทและการกำกับดูแลให้เหมาะสมกับการแข่งขันระดับโลก รวมถึงการเตรียมรับมือกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ และสร้างความพร้อมในเรื่องของ Cyber Security ส่วนประเด็นที่ต่างชาติจับตามองไทยมากที่สุดก็คือปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งการบริหารจัดการและความโปร่งใส อีกประเด็น คือ การส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานในอุตสาหกรรมสื่อ หลักความโปร่งใสและความเป็นธรรมดังที่ ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA ได้กล่าวเปิดงาน นอกจากนี้การที่ไทยจะสามารถไปแข่งขันในระดับโลกได้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนที่มีความชัดเจน

มิติที่สองคือรูปแบบธุรกิจของตลาด OTT โดยได้รับเกียรติจาก รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมวิเคราะห์ตลาด OTT หรือการแพร่ภาพผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านโมเดลของต่างประเทศ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี และ อังกฤษ ซึ่งรศ.พิจิตรา มองว่าถ้าไทยจะทำแฟลตฟอร์ม OTT ก็น่าจะไปทางโมเดลของประเทศเกาหลี ที่ผู้ผลิตสื่อหลักร่วมมือกัน และสนับสนุนเงินทุนโดยรัฐ และใช้ Synergy Business ผลักดันให้คนเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มมากที่สุด แต่ก็ต้องไม่หวงแหนพื้นที่นี้ถึงขั้นไล่แพลตฟอร์มต่างชาติไป  และพิจารณาแรงจูงใจของผู้ผลิตสื่อที่จะมาลงใน “ไทยแลนด์ แพลตฟอร์ม” เพื่อให้มีเนื้อหาคุณภาพ รวมถึงต้องตระหนักถึงความสมดุลของการลงทุน เพราะเป็นที่รู้กันว่าการสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อเป็นการใช้ Soft Power รูปแบบบหนึ่ง เพราะสินค้าสื่อสามารถแสดงอัตลักษณ์ของชาติได้

มิติสุดท้ายคือมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์ ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งประเมินว่าสิ่งที่รัฐสามารถช่วยผู้ประกอบการไทยได้ คือ สนับสนุนให้สื่อแข่งขันในตลาดโลก และสนับสนุนคอนเทนต์ที่มาจากไทยมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีเนื้อหาที่ดี เมื่อมีคอนเทนต์ดีแล้วแต่ละแฟลตฟอร์มก็จะซื้อเนื้อหาไปอยู่บนแพลตฟอร์มของเขา เพราะท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันการแข่งขันในโลกออนไลน์เข้มข้นมาก โดยในต่างประเทศรัฐมีการเก็บค่าทีวีไลเซนส์จากประชาชน เช่น ช่อง BBC จากอังกฤษ จ่ายประมาณ 7,242 บาทต่อปี, ช่อง NHK ของญี่ปุ่น ประมาณ 3,000-7,000 บาทต่อปี, ช่อง ABC ของออสเตรเลีย รัฐใช้เงินภาษีประชาชนจ่าย 7-8 เซนต์ต่อคนต่อวัน หรือในสหรัฐฯ เก็บค่าดูช่องข่าวอย่างเช่น CNN, MSNBC และ FOX News จาก Cable Subscription  

จากทั้ง 3 มุมมองจากนักวิชาการในแต่ละแขนงนั้นต่างเห็นพ้องกันว่าควรมีการสนับสนุนให้เกิด National Video Streaming Platform (NVSP) เพื่อให้อุตสาหกรรมสื่อไทยสามารถอยู่รอดท่ามกลางการ Disruption และมีความสามารถในการแข่งขันกับสากลได้ รายได้ไม่ไหลออกนอกประเทศ และประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาสื่อที่มีคุณภาพอย่างหลากหลาย ซึ่งจำเป็นต้องรีบดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้ทันกับสถานการณ์โลกที่หมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ

Session ที่ 2  Traditional Media Adaptation เผยเส้นทางการปรับตัวของสื่อดั้งเดิมสู่อนาคตยุค Full-Scale Digital Platform

ในช่วงที่ 2 ของงานเป็นการเสวนาร่วมกันในหัวข้อ “Traditional Media Adaptation เผยเส้นทางการปรับตัวของสื่อดั้งเดิมสู่อนาคตยุค Full-Scale Digital Platform” โดยได้รับเกียรติจากนายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร Workpoint Today นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อใหม่ Thai PBS, นายนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจสื่อใหม่ สถานีโทรทัศน์ PPTV36 มาร่วมแสดงความคิดเห็น และดำเนินรายการโดยนายพิภู พุ่มแก้วกล้า Program & Content Creator Director บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด

วิทยากรแต่ละท่านได้เล่าถึงการปรับตัวในช่วงที่ผ่านมาจากสื่อเดิม มาสู่ยุคทีวีดิจิทัล และเข้าสู่ยุคสื่อออนไลน์ที่มีการแข่งขันสูงมาก โดยวิธีการและมุมมองทางธุรกิจที่ต่างกันไปด้วยความพยายามอย่างหนัก แต่สุดท้ายนั้นผลตอบแทนที่ได้รับกลับไม่คุ้มกับต้นทุนที่เสียไปเมื่อเทียบกับอดีต เพราะส่วนหนึ่งของรายได้สื่อมาจากค่าใช้จ่ายโฆษณา ซึ่งรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจึงส่งผลต่อสัดส่วนรายได้อย่างมาก รวมถึงการต้องเสียค่าใช้จ่ายให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเช่น  Facebook, Youtube, Twitter หรือ TikTok ดังนั้นเมื่อรายได้ลดลง ต้นทุนสูงขึ้น งบประมาณที่ใช้สำหรับผลิตเนื้อหาจึงถูกบีบอัดลงมา การจะผลิตเนื้อหาที่ดีจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก สุดท้ายจำนวนสื่อก็จะค่อยๆ ลดลงและหายไป ความหลากหลายทางเนื้อหาอาจลดลงและถูกแทนที่ด้วยเนื้อหาจากต่างชาติ ฉะนั้นในยุคออนไลน์ที่ข้อมูลผู้ใช้งานมีมูลค่ามหาศาลการสนับสนุนให้เกิด NVSP ของไทย จึงเป็นทางออกที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมสื่อไทย

 นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร Workpoint Today ระบุว่าสื่อมวลชนปัจจุบัน ทำงานบนความกดดันอย่างมากเนื่องจากต้องไล่ตามตัวเลขวัดค่าต่างๆ ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาภายนอกหลายอย่างซึ่งสรุปเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ 1) สื่อทำงานซ้ำซ้อนกัน (Redundancy) 2) ขาดการทำงานข่าวเฉพาะด้าน (Expertise) และ 3) ขาดการทำงานเชิงลึกที่มีคุณค่า (Value) อย่างไรก็ในการจะทำงานทั้ง 3 อย่างนั้นมีต้นทุน ซึ่งปัจจุบัน รายได้ของธุรกิจสื่อลดลงเป็นอย่างมาก จนยากจะบริหารจัดการให้เกิดขึ้นได้

นายนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจสื่อใหม่ สถานีโทรทัศน์ PPTV36 ระบุว่า เห็นด้วยจะมี Digital Platform เข้ามาช่วยธุรกิจ TV แต่ต้องตั้งคำถาม ว่าใครเป็นคนทำ หน้าตาจะเป็นอย่างไร มันจะมี Cost หรือไม่ และมีรูปแบบจัดการอย่างไร โดยมองว่ากลุ่มสื่อต้องคุยกันเรื่อง Business Model และการจัดสรรผลประโยชน์ที่ชัดเจน

นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อใหม่ Thai PBS ระบุว่า จากประสบการณ์ของ Thai PBS ที่มี OTT Platform อย่าง VIPA ทำให้เห็นพฤติกรรมของผู้ชมและการแข่งขันที่ชัดเจน โดยเห็นว่าการมาทีหลังเป็นความท้าทาย Function และ Feature ต้องไม่ด้อยกว่าผู้ที่มาก่อน ซึ่งตามมาด้วยการทำงานที่หนักและต้นทุนที่สูงอย่างเลี่ยงไม่ได้

โดยผู้ร่วมเสวนามีความเห็นว่ารัฐควรอยู่ในฐานะผู้สนับสนุนในเรื่องของการดำเนินการและเงินทุน แทนที่จะดำเนินกิจการเองเพื่อความคล่องตัว ภาครัฐต้องลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน ให้ความอิสระในการผลิตและเผยแพร่เนื้อหา ซึ่งไทยจะมี NVSP ออกมาในรูปแบบธุรกิจไหนควรมีการศึกษาและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อน โดยเฉพาะในเรื่องการคำนวนเรตติ้งและการแบ่งสัดส่วนรายได้ 

สำหรับในงานเสวนาในครั้งนี้ ETDA ไม่เพียงหวังให้เสวนานี้เป็นเพียงการเผยแพร่ความรู้ในอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่หวังให้เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมสื่อไทย รวมถึงเป็นการพัฒนาเครือข่ายของผู้ประกอบการกิจการสื่อเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากร ข้อมูล และการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงต่อไป

สามารถรับชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่นี่

 


Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เช็คจุดน้ำท่วมเรียลไทม์ ผ่านแอปฯ BMA Traffic น้ำท่วม-รถติด-อุบัติเหตุ ดูได้หมด

BMA Traffic เป็นแอปพลิเคชันที่เราสามารถดูระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถสำรวจพื้นที่น้ำท่วมหรือรถติดผ่านแอปฯ ได้ทันที...

Responsive image

เส้นทางของ Kakao จากสตาร์ทอัพสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแถวหน้าในอุตสาหกรรมบันเทิง

สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยคนเพียง 2 คน สู่อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ บทความนี้ Techsauce จะชวนดูความสำเร็จของ ‘Kakao’ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 24.7 ล้านล้านวอน หรือราว 6.7 ...

Responsive image

2024 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยต้องโฟกัสอะไร? รู้จักกลยุทธ์ 2C โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย เจาะปัจจัยหลักที่นักการตลาดดิจิทัลต้องรู้

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 2 กุญแจชิ้นสำคัญอย่าง Content & Convenience ที่กุมชะตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในยุคดิจิทัล...