ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำทีมรองผู้อำนวยการทั้ง 4 คน เปิดเวทีทอล์คเป็นครั้งแรกในงาน “DEPA: Digital Transformation Thailand” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดวิสัยทัศน์และประกาศตัวเพื่อเป็นองค์กรยุคใหม่ ในการใช้ดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยภายในงานได้มีการเชิญหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สมาคม กลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี รวมไปถึงเครือข่ายพันธมิตร และองค์กรผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อร่วมกันฟังแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานฯ ในปี 2561 รวมถึงโครงการสำคัญ (Mega Project) ที่ได้ร่วมส่งเสริมและสนับสนุน การเดินหน้าของประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
คุณฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการฯ กลุ่มงานเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า จากคำถามที่ว่าทำไมประเทศไทยยังเป็น Digital Innovation Hub ไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากมีหลายปัจจัย ซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องก้าวผ่าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกฎระเบียบ หรือข้อจำกัดทางด้านเงินทุน และเป็นโจทย์ที่ดีป้ามุ่งมั่นที่จะแก้ไขทั้งการสร้าง การจับคู่ธุรกิจ ระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการดิจิทัล ซึ่งรวมถึง Startup และกลุ่มผู้ใช้งานที่เข้าข่ายการส่งเสริมด้านเงินทุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาไอเดียผลงานออกสู่ตลาดได้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนตัวเลขเศรษฐกิจให้สามารถหมุนพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการสร้าง Digital Ecosystem ที่แข็งแกร่งให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อีกด้วย
ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการฯ กลุ่มสังคมและกำลังคนดิจิทัล กล่าวว่า ปัญหาที่หลายองค์กรเจอคล้ายๆ กัน คือ เรื่องการสร้างคน ซึ่งดีป้าในฐานะหน่วยงานหนึ่งของภาครัฐ ที่มีพันธกิจหลายประการในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อตอบสนองต่อเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลและหนึ่งในนั้นก็คือการสร้างบุคลากรในประเทศให้พร้อมสำหรับการพลิกโอกาสธุรกิจด้วยดิจิทัลหรือ Digital Transformation โดยมองว่าการสร้างความเข้าใจให้กับธุรกิจดิจิทัลในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และบุคคลทั่วไปให้เข้าใจในบริบทดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และพร้อมให้การสนับสนุนพัฒนาศักยภาพเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรเพื่อสร้างขุมกำลังคนพันธุ์ดิจิทัลสายเลือดใหม่ ป้อนสู่อุตสาหกรรม และการใช้ “ยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ” คือการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโอกาสทางการศึกษา โอกาสในการทำงาน โดยให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนให้สูงขึ้นกว่าเดิม
ด้าน ดร.ภาสภร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการฯ กลุ่มงานศูนย์ดิจิทัลและนวัตกรรม กล่าวว่า คงไม่เกินเลยไปนัก หากดีป้าจะบอกว่าเมืองไหน ๆ ก็สามารถสมาร์ทได้ภายใต้แนวคิด “Smart City คู่หลักธรรมแบบพอเพียง สู่ความยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา 77 พื้นที่ใน 77 จังหวัด เป็น Smart City ภายใน 5 ปี โดยนำร่องใน 7 จังหวัดในปีแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ระยอง, ขอนแก่น, ภูเก็ต, ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยแก้ปัญหาจากการมีส่วนร่วมของของภาคประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรและบริการของเมือง บูรณาการทั้งคนและข้อมูล สู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่ มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนมีการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม แก้ไขปัญหาได้ตรงตามเป้าอย่างคุ้มค่า
ขณะที่ ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการฯ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และบริหาร มองว่า โครงการและนโยบายแผนงานต่าง ๆ ในแต่ละด้านจะไม่สามารถบรรลุผลได้เลย หากปราศจากกลยุทธ์ ที่ดีมาเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนให้แผนงานเหล่านั้นสามารถดำเนินไปในแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งดีป้าเองมีแนวทางที่เป็นแนวทางปฏิบัติ และมีการกำหนดเป้าหมายในแผนงานให้มีความสะดวกในการปฏิบัติงานได้จริง ตลอดจนการขยายกรอบความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด
ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการฯ กล่าวว่า ดีป้าเกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างด้านเศรษฐกิจและ สังคม ตามแนวคิดทำน้อยได้มากในการส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในวงกว้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน รวมไปถึงเวลาที่ใช้ในการทำงานน้อยกว่าเดิมแต่ได้ผลผลิตที่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ระบบกงล้อของเศรษฐกิจดิจิทัลสามารถรุดหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“DEPA พร้อมแล้วกับการเป็นองค์กรภาครัฐยุคใหม่ หรือ E-Government ที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างคุณค่าสู่สังคมไทย เพื่อขับเคลื่อนกงล้อที่เรียกว่า Digital Ecosystem ให้มีความแข็งแกร่ง และสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง มาลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมีองค์ความรู้สมัยใหม่เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ในชุมชน จากความเชี่ยวชาญของดีป้าเองในอุตสาหกรรมทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและกำลังคนดิจิทัล ด้านโครงการพิเศษและศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม รวมไปถึงด้านยุทธศาสตร์และบริหาร ผนวกเข้ากับกับความเป็นอิสระในการค้นหาโซลูชั่นที่จะมาแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มสตาร์ทอัพ หรือเอสเอ็มอี รุ่นใหม่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่เข้า มาจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เราพร้อมแล้ว ที่จะส่งมอบคุณค่าเหล่านี้ในทุกมิติของสังคมไทย” ดร.ณัฐพล กล่าว
โดย ดร.ณัฐพล ยังเปิดเผยกับ Techsauce ว่าทาง DEPA กำลังจะมีโครงการให้เงินทุนสนับสนุน Startup โดยแบ่งเป็น 3 ก้อนใหญ่ ๆ ได้แก่
โดยรายละเอียดจะเปิดเผยอย่างชัดเจนในช่วงเดือนธันวาคมนี้ สามารถรอติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.depa.or.th
นอกจากนี้ ดร.ณัฐพล ระบุว่า DEPA เร่งสนับสนุนด้านข้อบังคับและกฎหมายสำหรับ Startup โดยระบุว่าหากมีกฎหมายใดที่มีอยู่แล้วก็จะดำเนินการติดตามการใช้กฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนกฎหมายใดที่ยังไม่มีการร่างหรือปรับปรุง ทาง DEPA ก็จะทำการส่งข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น เรื่องการขยายระยะเวลาของ VISA จากเดิม 90 วันเป็น 2 ปี เพื่อช่วย Startup ที่เป็นชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำธุรกิจได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งก็อยู่ในขั้นตอนของการเสนอต่อไป
Sign in to read unlimited free articles