ส่วนหนึ่งของ Session ในวันแรก (26 สิงหาคม 2565) ของงาน Techsauce Global Summit 2022 ที่คุณ Ernest Xue Managing Director ของ Hello Tomorrow ประจำภูมิภาค Asia-pacific ได้พูดถึงในห้อง Vertical 2
Hello Tomorrow ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน เพื่อปลดล็อกศักยภาพของ Deep Tech ในการแก้ปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดย Deep Tech ได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมาจากทั้งความก้าวหน้าและปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านการตั้งสำนักงานในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อเชื่อมโยงความรู้และสร้าง Community ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา
Deep Tech คลื่นลูกที่ 4 แห่งความเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม
คุณ Ernest เล่าถึงคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม (Waves of Innovation) ทั้ง 4 ลูกไว้ดังนี้
- ลูกที่ 1 คือการปฏิวัติอุตสาหกรรม
- ลูกที่ 2 คือ Corporate Lab & Startup
- ลูกที่ 3 คือ Startups & VCs
- ลูกที่ 4 คือ Deep Tech ที่มุ่งเน้นการสร้างสิ่งประเิษฐ์เพื่อแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
การลงทุนและร่วมทุน ส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน Deep Tech
การลงทุนใน Deep Tech เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ เพราะการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนั้นจำเป็นต้องมีทุนในการทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นและนำไปใช้ได้
การลงทุนใน Deep Tech เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา
- ในปี 2016 ที่มูลค่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ในปี 2017 ที่มูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ในปี 2018 ที่มูลค่า 5,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ในปี 2019 ที่มูลค่า 5,600 ล้านเหรียญสหรัฐ
- และในปี 2020 มีมูลค่ามากกว่า 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐ
Deep Tech Ventures มีคุณลักษณะที่สำคัญ 4 ประการคือ
- มุ่งแก้ไขปัญหาพื้นฐาน เช่น การสร้างรถยนต์ไร้คนขับที่มีประสิทธิภาพและใช้งานได้จริง
- การเลือกวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา จากวิธีการแก้ไขปัญหาและเทคโนโลยีที่หลากหลาย
- Startups ด้าน Deep Tech จะมีองค์ประกอบทางกายภาพหรือผสมผสาร
- Startups จะมองจัดวางตัวเองตรงกลางของระบบนิเวศ โดยการทำความเข้าใจ Stakeholder ในระบบนิเวศ ทั้งหน่วยงภาครัฐและเอกชน เพื่อให้รู้ว่าตัวเองจะอยู่ตรงไหนของระบบนิเวศ
โดยการพัฒนานวัตกรรมของ Deep Tech Startup จะผสมผสานระหว่าง
- เทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Science) ที่จะเป็นการนำเอาความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหาในทางที่ดีกว่าเดิม
- วิศวกรรม (Engineering) จะคำนึงถึงการนำสิ่งที่คิดค้นออกมาใช้งานในตลาดให้ได้ในราคาที่เหมาะสม
- การออกแบบ (Design) การเลือกอุปสรรคหรือปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา
คำถามที่ต้องถาม เพื่อให้นวัตกรรมได้นำไปใช้จริง
นอกจากนี้ Startups ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยง 2 ด้านคือ
- ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี (Tech Risk) ที่ต้องคำนึงว่าจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่ หรือเราจะต้องคิดค้นเทคโนโลยีที่ยังไม่มีใครค้นพบ เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหา
- ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk) ที่ต้องคิดว่าผู้บริโภคจะซื้อสินค้าของเราหรือไม่ และตลาดต้องการสินค้านี้จริง ๆ หรือไม่
โดยได้ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงทั้ง 2 ด้านเอาไว้ดังนี้
- สินค้าโภคภัณฑ์ มีความเสี่ยงทั้งเทคโนโลยีและตลาดที่ต่ำ
- BioTech (เทคโนโลยีชีวภาพ) มีความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสูง แต่เสี่ยงต่อตลาดต่ำ (เพราะตลาดต้องการสูง)
- Internet of Things มีความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีต่ำ (เพราะเรามีเทคโนโลยีที่รองรับแล้ว) แต่มีความเสี่ยงด้านตลาดสูง (เพราะยังไม่แน่ใจว่าตลาดหรือผู้บริโภคต้องการซื้อจริงหรือไม่)
- Deep Tech มีความเสี่ยงทั้ง 2 ด้านที่สูง
ดังนั้นนอกจากที่เราจะคิดว่า “จะทำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาอย่างไร ?” เรายังต้องคิดถึงตลาดด้วย เพราะ Solution หรือนวัตกรรมต้องการตลาดเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ และผู้บริโภคสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้จริงอีกด้วย