หลังจำนวนผืนป่าแอมะซอนถูกทำลายเพิ่มสูงถึง 75% ภายในหนึ่งทศวรรษ จากคำกล่าวของ Jair Bolsonaro อดีตประธานาธิบดีของบราซิล สร้างแรงกระตุ้นให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับการบุกรุกป่าด้วย AI
‘Curupiras’ หรือกล่อง AI ขนาดจิ๋ว ใช้งานโดยยึดติดกับต้นไม้เพื่อตรวจจับเสียงที่เป็นภัยคุกคามป่า และจะส่งข้อมูลไปยังส่วนกลาง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความพยายามแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายในภูมิภาคแอมะซอน
‘Curupiras’ ถูกป้อนข้อมูลให้จดจำเสียงเลื่อยไฟฟ้าและรถแทรกเตอร์ รวมถึงเสียงอื่น ๆ ที่บ่งบอกการบุกรุกทำลายป่า เมื่อ AI ตรวจจับแล้ว จะส่งสัญญาณไปยังส่วนกลางเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ซึ่งต่างกับข้อมูลจากดาวเทียมทั่วไปที่จะทราบก็ต่อเมื่อมีการรุกป่าไปแล้วเท่านั้น
“ข้อดีของ ‘Curupiras’ คือสามารถตรวจจับการทำลายป่าได้แบบเรียลไทม์” Raimundo Claudio Gomes นักวิจัยผู้อยู่เบื้องหลังโครงการนี้กล่าว
Gomes ยังกล่าวว่าอีกว่า ‘Curupiras’ เป็นระบบไร้สาย ใช้วิธีส่งข้อมูลผ่านดาวเทียมในระยะไกล จึงแตกต่างกับระบบเซ็นเซอร์รับเสียงทั่วไปที่ต้องใช้เสาอากาศขนาดใหญ่เพื่อส่งข้อมูล ทำให้มีราคาผลิตไม่สูงมาก เพียง 200-300 ยูโรต่อกล่องหรือราว ๆ 7,766-11,649 บาท
ปัจจุบันมีการนำร่องด้วยกล่องต้นแบบ 10 กล่องในพื้นที่ป่าทึบใกล้กับเมืองมาเนาช์ เมืองหลวงของรัฐอามาโซนัสทางตอนเหนือของประเทศบราซิล ซึ่งมีผลลัพท์อยู่ในแนวโน้มที่ดี
ประธานาธิบดี Luiz Inacio Lula da Silva แห่งบราซิล ให้สัญญาว่าจะยับยั้งการทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายในป่าแอมะซอนให้หมดไปภายในปี 2030 ซึ่งกลุ่มผู้รับผิดชอบโครงการ ‘Curupiras’ เตรียมระดมทุนเพื่อเพิ่มจำนวน รวมถึงพัฒนาเพิ่มระบบการตรวจจับควันและไฟป่าด้วยเช่นกัน
ในปี 2023 กลุ่ม PITAK จาก WEDO Young Talent Program โครงการแข่งขันออกแบบนวัตกรรม ได้ออกแบบ Wildfire Detection Device อุปกรณ์ช่วยในการป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่าด้วย AI ถึงแม้ว่าตอนนี้จะเป็นเพียงตัวต้นแบบ แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกที่ใช้ AI มาจัดการกับปัญหาไฟป่าในประเทศไทยและสามารถต่อยอดให้ใช้งานได้จริงในอนาคต
Sign in to read unlimited free articles